CoP ที่ไหนเกิดง่าย ... ในภาครัฐหรือภาคเอกชน?


CoP ย่อมาจาก "Community of Practice" หมายถึงชุมชนที่คนทำงานด้านเดียวกัน หรือมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มาจับกลุ่มพูดคุย เรียนรู้จากกันและกัน

คุณ citrus อ่านเรื่อง สามเหลี่ยม KM” แล้วเขียนถามมาว่า.... ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องโครงสร้างของ CoP เท่าไรค่ะ ว่าควรเป็นอย่างไร แต่เท่าที่สังเกตจากความคิดพื้นฐานของตัวเอง คนต้องมีจุดสนใจ หรือคอเดียวกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วยหรือเปล่าคะ จึงอยากจะมาเป็น community เดียวกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าในองค์กรของรัฐมีรูปแบบอย่างไรคะ

 

        ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงขอตอบผ่านทางบันทึกนี้ว่า.... ถ้าจะว่ากันไปตามทฤษฎี โครงสร้างการเป็น CoP นั้นเหมือนกับ เก้าอี้สามขา ครับ

ขาที่หนึ่ง คือ มีแรงปรารถนาร่วมกัน ภาษาวิชาการอาจใช้คำว่า มี “Domain” เดียวกัน ภาษาชาวบ้านก็คือมีประเด็นร่วมกัน พูดง่ายๆ ก็คือหัวอกเดียวกัน สนใจเรื่องเดียวกัน นั่นเอง

 

ขาที่สอง คือ จะต้องมีเรื่องที่จะมาแชร์กันได้ หลายๆ ท่านบอกว่าให้หา ความสำเร็จ หรือ “Best Practices” มาแชร์กัน แต่จากประสบการณ์ของผม แนะว่าให้เลี่ยงคำว่า ความสำเร็จ เพราะพอใช้คำนี้ บางทีคนกลับไม่กล้าแชร์ ไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะมองสิ่งที่ตนเรียกว่า ความสำเร็จ นี้อย่างไร ถ้าจะให้ปลอดภัย บอกให้เขาแชร์ ความภาคภูมิใจ จะดีกว่าครับ นอกจากนี้เท่าที่สังเกตดู ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบพูดชอบแชร์เรื่อง ปัญหา มากกว่า ซึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องตั้งเงื่อนไขว่าต้องไม่แชร์เฉพาะแค่ตัวปัญหา แต่ต้องบอกด้วยว่า แล้ว แก้ปัญหาได้อย่างไร

 

ขาที่สาม คือ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อกันนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว CoP ที่มีอายุยืนยาวส่วนใหญ่เป็นเพราะสมาชิกใน CoP นั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสีสัน ออกรสออกชาติ เป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้แชร์กันได้อย่างเปิดใจ จริงใจ และด้วยความเต็มใจ

 

        ไม่ว่าจะเป็น CoP ในภาคเอกชน หรือในภาครัฐ ก็คงต้องมีคุณสมบัติสามข้อนี้เช่นเดียวกัน หากถามว่าระหว่างการสร้าง CoP ในภาครัฐกับภาคเอกชน อันไหนสร้างได้ยากกว่ากัน ผมเองไม่มีคำตอบครับ คงต้องขอให้ท่านผู้อ่านทั้งจากภาครัฐและเอกชนช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 100615เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2007 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขาที่หนึ่ง คือ มีแรงปรารถนาร่วมกัน : ผมมองเป็นการ...เกิดขึ้น เกิดความสนใจร่วมกัน จึงมีการจัดดั้ง CoP เกิดขึ้น

ขาที่สอง คือ จะต้องมีเรื่องที่จะมาแชร์กันได้ : ผมมองว่าเป็น...การตั้งอยู่ คือ มีกิจกรรมการแชร์กันตามประเด็นที่ท่านจารย์ได้กล่าวไปแล้วนั่นเองครับ

ขาที่สาม คือ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน : ผมมองว่าเป็น...การดับไป คือ ถ้าหากยังคุยกันดีอยู่ CoP เหล่านั้นก็ยังคงอยู่ต่อไปได้ ..แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการวงแตก อันเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม CoP เหล่านั้นก็คงจะถึงการอวสาน ..ดับไปในที่สุดครับ

ส่วนประเด็นคำถามที่บอกว่า "ระหว่างการสร้าง CoP ในภาครัฐกับภาคเอกชน อันไหนสร้างได้ยากกว่ากัน" ผมมองอย่างนี้ครับ

ภาครัฐ : การเกิด CoP เป็นเรื่องง่ายมากๆ ครับ แค่นโยบาย แล้วนายก็มีคำสั่งแต่งตั้ง แล้วก็จัดประชุมชี้แจงไม่กี่ครั้ง จากนั้นก็ทำงานตามที่ถูกสั่งมา แล้วก็(ปัดก้น)แยกย้ายกันไป ..เพียงเท่านี้ก็เสร็จกระบวนการ CoP แล้วครับ

ภาคเอกชน : ผมคาดเดาเอาเองครับ ซึ่งจะผิดจะถูกก็ขออภัยไว้ตรงนี้ด้วย... CoP อาจจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าทางภาครัฐ อาจจะไม่ต้องมีคำสั่งตรงๆ ลงไปที่พนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าหากพนักงานมีงานที่จะต้องเกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำอยู่แล้ว ก็คิดว่า..เริ่มก่อตัวเกิดเป็น CoP ได้แล้วครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ประพนธ์

ขอบพระคุณ อ. มากๆ เลยค่ะ ที่กรุณาให้คำอธิบายอย่างละเอียด และเข้าใจมากขึ้น เพราะในบริษัทมีการพูดเรื่องนี้ และพยายามสร้างให้เกิด โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าค่อนข้างยากถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน ส่วนใหญ่จะเกิดได้มักมาจากคำสั่ง หรือนโยบาย ซึ่งก็น่าจะไม่จีรังยั่งยืน เพราะคนไม่ได้มาทำด้วยใจรัก  นอกจากโชคดีจริงๆ ที่จากการเริ่มต้นด้วยบังคับ พอมาทำจริงแล้วชอบ COP นั้นก็จะมีชีวิตอยู่ได้ต่อไป 

ในบริษัทเท่าที่สังเกตถ้าเป็น webbord ที่เป็นความสนใจส่วนตัว หรือเกี่ยวกับงานอดิเรก ดูเหมือนจะเกิดการรวมตัวขึ้นและสานต่ออย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะเหนียวแน่น และยั่งยืนกว่าค่ะ

ขอขอบพระคุณ อ.และคุณสายน้ำแห่งความคิด  ที่ร่วมกันให้ความรู้ และความเห็นต่อยอดค่ะ จะกลับมาตามอ่านอีกว่า มีความคิดเห็นอื่นๆ อีกหรือไม่ค่ะ

ใครเกิดอยากกว่ากัน  ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย  ถ้ามีปัจจัยเอื้อและการจัดการที่ดี  ในองค์กรภาครัฐก็เกิดขึ้นไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ  แต่ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้เกิดปัจจัยเอื้อ..ตรงนี้มากกว่าค่ะ

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ การสร้าง CoP ที่เคยทำมา องค์กรของผม คือ โรงเรียนประถมศึกษาสังกัดราชการ  ผมว่าหลักใหญ่ของ CoP อยู่ที่ผู้บริหารครับ พอดีผมเป็นผู้บริหารเอง ก็พอคืบคลานไปได้ แม้จะไม่เต็มร้อย ในขั้นตอนแรก ของท่านอาจารย์ที่ว่าขาที่หนึ่ง หรือ ปรารถนาร่วมกัน ในขั้นนี้ผมจะ Share Vision ครูในโรงเรียนทุกคนครับ โดยใช้สุนทรียสนทนา  จนได้ Vision ของโรงเรียนจากการมีส่วนร่วมของครูทุกคน ขั้นที่สอง ตรงกับขาที่สอง ที่ท่านอาจารย์ว่ามีเรื่องมาแชร์กัน  ผมจะใช้วิธีให้ครูแต่ละคนเขียนแผน/โครงการตาม วิสัยทัศน์ที่กำหนด ต่างคนต่างเขียนให้เหมาะกับเด็กและงานของตัวเอง หลังจากนั้นจึงนำไปดำเนินการ โดยมีการนำมาพูดคุยแบบ Story telling เดือนละครั้ง  และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ขั้นตอนทั้งสองเกิดขึ้นได้ คือ ความจริงใจครับ ผู้บริหารต้องจริงใจก่อนเป็นคนแรก โดยไม่ต้องไปหวังว่าคนอื่นจะจริงใจหรือไม่ อยู่ที่ผู้บริหารเป็นสำคัญครับ ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านี้ก่อนนะครับ (ผมไม่เคยอบรมหรือเข้ารับฟังที่ใหนครับ  อ่านเองแล้วลองมาทำดู ก็ไม่ทราบว่าถูกหรือผิดครับ)

ขอบคุณ ผอ.วิชชา คุณ citrus คุณ mayana และคุณสายน้ำแห่งความคิด ที่ช่วยกันต่อยอดความรู้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์เรื่อง CoP ครับ

กำลังเรียนรู้เรื่องCoP ชอบเก้าอี้สามขาของอาจารย์ขาที่หนึ่งคือแรงปรารถนาร่วมกัน  

ขาที่สองมีเรื่องมาแชร์กันได้ 

ขาที่สามมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ทำให้เข้าใจความหมายของCoP มากขึ้น และคิดว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะการพัฒนาระบบอะไรก็ตามในองค์กรให้เกิดคุณภาพคิดคนเดียว ทำคนเดียว ไม่สำเร็จแน่ ต้องทำให้เกิดแรงปรารถนาร่วมกัน และมาแชร์กันหลังจากได้นำไปปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆกัน สุดท้ายจะเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน องค์กรนั้นๆ จะมีความสุข และเกิดสันติภาพ 

ขอนำแนวคิดของอาจารย์ไปแชร์ให้เพื่อนในองค์กรเรียนรู้ด้วยนะคะ

ด้วยความยินดีครับคุณดอกแก้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท