ได้รับโอกาสดีให้เป็น "วิทยากร"


สาขาการจัดการความรู้ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มักจะได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรสร้างกระบวนการถอดองค์ความรู้ขององค์กรต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็ก อาจารย์มักจะชวนข้าพเจ้าไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในการจัดกิจกรรม และได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการทำกิจกรรมด้วย  

ครั้งนี้ทางอาจารย์ได้รับเชิญจากพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นวิทยากรในสร้างกระบวนการในการถอดบทเรียนที่เกิดจากการทำงานร่วมกับชุมชน ใช้ชื่องานว่า "การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนด้านเทคนิคการจัดการความรู้และวิทยากรกระบวนการในงานพัฒนาชุมชน" โดยจัดขึ้น 2 วัน  มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมวันละประมาณ 40 คน

เหมือนเช่นเคย อาจารย์มักจะชวนให้ไปช่วยอาจารย์เสมอ โดยบอกล่วงหน้าประมาณ 2-3 วันก่อนวันงาน ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจเช่นเคย เพราะจะได้ประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ อีกแล้ว 

การจัดกระบวนการครั้งนี้มีอาจารย์ที่ต้องไปเป็นวิทยากร 4 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านจะมีประเด็นที่ต้องถ่ายทอดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนละ 1 ประเด็น และมีเพื่อนนักศึกษาช่วยงานเหมือนข้าพเจ้าอีก 1 คน (รวมวิทยากร 4 คน และผู้ช่วยวิทยากร 2 คน)

แต่เวลา 16,00 น. ก่อนจะถึงวันงาน(คือพรุ่งนี้) อาจารย์ท่านหนึ่งโทรมาแจ้งให้ข้าพเจ้าเป็นวิทยากรแทนอาจารย์ เนื่องจากอาจารย์ติดภาระงานสำคัญ  ตอนนั้นรู้สึกตกใจ รับปากอาจารย์ว่า "ได้เลยค่ะ"  หลังจากวางสายจากอาจารย์ "ตายละจะทำยังไงดี จะเอาอะไรไปพูด จะเตรียมอะไรบ้าง คนตั้ง 40 คน จะรีบมือได้ไหม......" คำถามสารพัดเกิดขึ้นในใจ เริ่มรู้สึกตื่นเต้น ๆ ที่สำคัญคือ นี่เราต้องทำออกมาให้ดีด้วยสินะ เพราะมันค่อนข้างเป็นทางการ และเป็นวิทยากรในนามของสาขา และคณะด้วย มันไม่ใช่คุยกันในวง 5-10 คนเหมือนที่เคยทำ อาการเครียดก็เริ่มพรั่งพรู.....แต่ข้าพเจ้าต้องหยุดความคิดทุกสิ่งอย่าง เพื่อเตรียมสไลด์?

เช้าวันใหม่ (เช้าเร็วมากกกกกกก ความรู้สึกตอนนั้น) ข้าพเจ้ารีบออกไป เพื่อที่จะนำสไลด์ไปให้อาจารย์และเพื่อนช่วยดูและติเพื่อปรับแก้ก่อนจะเป็นวิทยากรในภาคบ่าย มีการปรับแก้นิดหน่อย หลังจากนั้นก็สร้างความคุ้นเคยกับห้องประชุม พยายามเรียกกำลังใจและความมั่นใจให้ตัวเอง โดยการทำสมาธิ และหายใจลึก ๆ ยาว ๆ หลาย ๆ รอบ

เมื่อถึงเวลาทุกสิ่งทุกอย่างที่ข้าพเจ้ากังวลมาตลอดคืนและอีกครึ่งวัน มันหายไปไหนหมดไม่รู้ รู้แต่ว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องพูดนั้น จะต้องพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ พูดตามที่ตัวเองเข้าใจมาและสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจได้มากที่สุด (แต่ในความเป็นจริงผู้ฟังทุกท่านจะเข้าใจได้ดีแค่ไหนนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบเลย ฮ่า ๆ ) โชคดีที่มีเพื่อนที่มาเป็นผู้ช่วยวิทยากรนั่งข้างเป็นเพื่อน อย่างน้อยก็รู้สึกอุ่นใจ หากข้าพเจ้าพูดผิดพลาด เพื่อนน่าจะช่วยเสริมได้ (มารู้ทีหลังว่าเพื่อนข้าพเจ้าตื่นเต้นกว่าอีก ทำอะไรไม่ถูกกว่าอีก ฮ่า ๆ )

ประเด็นที่พูดนั้นจะเป็นเรื่องของความแตกต่างของแผนที่ความคิด (Mind Map) และแผนที่ความคิด (Knowledge Map หรือ k-map) หลังจากนั้นเน้นในเรื่องของการถอดความรู้ด้วยแผนที่ความคิด (K-Map) โดยข้าพเจ้าได้ยกตัวอย่างการทำแผนที่ความคิดด้วย "การปลูกผักชี" จะต้องทำอะไรบ้าง????

หลังจากนั้นให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำแผนที่ความคิด โดยกำหนดประเด็นว่า "ทำไข่เจียวให้อร่อย" จะต้องนึกถึงอะไร ต้องทำอย่างไร และเพราะอะไร  เพื่อให้ได้แนวคิดและเข้าใจหลักการถอดความรู้จากงานของตนเอง 

จากกิจกรรม "ทำไข่เจียวให้อร่อย" สังเกตเห็นผู้เข้าร่วมทุกคนมีความคิดที่หลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ในการทำไข่เจียวให้อร่อยไม่เหมือนกัน  จึงทำให้ได้ราละเอียดของการทำไข่เจียวให้อร่อยมากมาย และทุกคนก็มีความสุขจากการทำกิจกรรม มีเสียงหัวเราะ มีบรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นและการแลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย..... ณ เวลานี้ วิทยากร (ข้าพเจ้าเอง) รู้สึกดีขึ้น คลายความตึงเครียดลง เพราะคุ้นเคยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น

หลังจากทำกิจกรรม "ทำไข่เจียวให้อร่อย" แล้ว ได้ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้แบ่งกลุ่ม(ซึ่งแบ่งอยู่แล้ว) ตามหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง เพื่อทดลองถอดความรู้โดยใช้แผนที่ความคิด (K-Map) ซึ่งมีทั้งหมด 10 กลุ่ม สมาชิกในกลุ่มมีมากและน้อยแต่ต่างกันไปตามภาระงาน  ให้ทุกกลุ่มเขียนทุกอย่างลงบนกระดาษบรุ๊ฟ และจะมีวิทยากรเดินเวียนให้ครบทุกกลุ่ม เพื่อตรวจสอบว่าทุกกลุ่มทำได้ถูกต้องหรือไม่ และร่วมกันแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้ความรู้และทักษะในการใช้ K-map มากที่สุด


ภาพที่ 1 :โต๊ะตัวนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประหม่าและตื่นเต้นมาก เพราะสายตาของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคู่จ้องมาที่ข้าพเจ้าและเพื่อน

ภาพที่ 2 เชิญให้เข้าร่วมกิจกรรม มีส่วนร่วมในกิจกรรม "ทำไข่เจียวให้อร่อย"

ภาพที่ 3 กิจกรรม "ทำไข่เจียวให้อร่อย"

ภาพที่ 4 แบ่งกลุ่มและถอดความรู้จากภาระงานของตนเอง ด้วย k-map

ภาพที่ 5 แบ่งกลุ่มและถอดความรู้จากภาระงานของตนเอง ด้วย k-map

ภาพที่ 6 แบ่งกลุ่มและถอดความรู้จากภาระงานของตนเอง ด้วย k-map

ภาพที่ 7 ผลงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

หมายเลขบันทึก: 570317เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2018 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ทำได้ดีมากเลยครับ

นี่ขนาดครั้งแรกนะครับ

ต้องมีครั้งต่อไปแน่นอน 555

ครั้งแรกปกติจะตื่นเต้นครับ แต่เป็นช่วงแรกๆ ต่อไปก็จะสบายแล้ว ถ้ามีการเตรียมการที่ดี

ขอบคุณมากที่เขียนให้อ่าน ดูบรรยากาศแล้ว เยี่ยมจริงๆ ดีกว่าการบรรยายอย่างเดี่ยว

เอาบรรยาากาศการอบรมมาฝากด้วย

http://www.gotoknow.org/posts/569641

รออ่านการเป็นวิทยากรครั้งต่อไป เย้ๆๆ

ขอบคุณอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ที่รออ่านและให้กำลังใจค่ะ

เติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้วนะ ดอกหญ้าน้ำ ;)...

ขอบคุณค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn บางทีก็รู้สึกไม่อยากโตค่ะ แต่มันถึงเวลาที่จะต้องเติบโตและก้าวข้ามสิ่งที่ไม่เคยทำหรือทำไม่ได้เสียทีค่ะ

เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจมากค่ะ

เยี่ยมยุทธเลยครับ
ขนาดมีเวลาเตรียมตัวไม่นาน  ยังสร้างงานได้อย่างมากโข
เป็นคุณสมบัติของวิทยากรกระบวนกรอย่างไม่ต้องสงสัย.
วันหน้า  มีโอกาส จะขออนุญาตเป็นลูกศิษย์ เรียนรู้ในเวที นะครับ

ขอบคุณค่ะคุณ แผ่นดิน

ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่คุณแผ่นดินชมเชยค่ะ และไม่บังอาจให้เป็นลูกศิษย์ด้วยค่ะ  เรียกว่าแลกเปลี่ยนกันดีกว่า และจะขอความรู้จากคุณแผ่นดินด้วยค่ะ

เอาภาพมาฝาก

ดีใจที่ได้พบ

เสียดายที่มีเวลาคุยกันน้อย

แต่มั่นใจว่าจะได้พบกันอีกแน่นอน

ขอบคุณมากๆครับ

http://www.gotoknow.org/posts/573532

สวัสดีครับครู ตามบันทึกของอ.ดร.ขจิต มาครับ...สงสัยอยู่เหมือนกันครับว่า "ความแตกต่างของแผนที่ความคิด (Mind Map) และแผนที่ความคิด (Knowledge Map หรือ k-map)" แตกต่างกันอย่างไร?

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ยินดีที่ได้รู้จักอย่างเป็นทางการค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณ "พี่หนาน" ที่ติดตาม

ขอแลกเปลี่ยนตามความเข้าใจของตนเองนะค่ะ

mindmap คือ การเขียนสรุปสาระต่าง ๆ ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งมีได้มากมายตามความรู้ความเข้าใจของผู้เขียน mindmap เองนะค่ะ ในหัวข้อเรื่องเดียวกัน บางคนสามารถเขียนขยายสาขาได้หลากหลาย บางคนสามารถเขียนได้นิดเดียว แต่เมื่อนำไปให้คนอื่นอ่านตามที่ตนเองเขียน เขาอาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ได้ค่ะ

K-map แปรตรงตัว คือ แผนที่ความรู้ (knowledge map) เป็นการเขียนแผนที่ของความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ให้ผู้ใช้ (User) สามารถนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันจะนิยมใช้ถอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในองค์กร ที่จะเกษียณอายุราชการแล้ว เพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นต่อไปในองค์กรได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติต่อไปค่ะ

สรุปสั้น ๆ คือ mindmap เป็นแผนที่ความคิดที่ยังไม่สามารุนำไปปฏิบัติได้ แต่ k-map เป็นแผนที่ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้เลยค่ะ

รบกวนคุณ"พี่หนาน"ช่วยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้เขียนบอกเล่าไม่ครอบคลุมด้วยนะค่ะ จะได้ต่อยอดความรู้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท