เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี
เด็กหญิง ประเสริฐ (أُخْتٌ صَغِيْرَةٌ ) รัศมีแห่งดวงตา เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี

มุสลิมในทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส (ตอนแรก)


มีหลักฐานหลายประการที่บ่งบอกว่าชาวมุสลิมได้เดินทางจากสเปนและแอฟริกาเหนือมุ่งสู่ทวีปอเมริกาก่อนการเดินทางของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นเวลา 5 ศตวรรษเป็นอย่างน้อย ซึ่งประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ อาทิเช่น ในกลางศตวรรษที่ 10 แห่งคริสต์ศักราช ในช่วงการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอะมะวิด (บนีอุมัยยะฮฺ) ที่อันดาลูเซีย อับดุลเราะหฺมานที่ 3 (ปกครองระหว่างปี ค.ศ. 929-961)
มุสลิมในทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส icon_new2.gif | พิมพ์ |  ส่งเมล
เขียนโดย Abu Asybal   

มีหลักฐานหลายประการที่บ่งบอกว่าชาวมุสลิมได้เดินทางจากสเปนและแอฟริกาเหนือมุ่งสู่ทวีปอเมริกาก่อนการเดินทางของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นเวลา 5 ศตวรรษเป็นอย่างน้อย ซึ่งประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ อาทิเช่น ในกลางศตวรรษที่ 10 แห่งคริสต์ศักราช ในช่วงการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอะมะวิด (บนีอุมัยยะฮฺ) ที่อันดาลูเซีย อับดุลเราะหฺมานที่ 3 (ปกครองระหว่างปี ค.ศ. 929-961)

ชาวมุสลิมจากเชื้อสายแอฟริกันได้ล่องทะเลจากท่าเรือสเปน เดลบา/ปาโลส (Delba/Palos) มุ่งสู่มหาสมุทรที่มืดสนิทและปกคลุมด้วยหมอก (Ocean of darkness and fog) ต่อมาพวกเขาก็เดินทางกลับหลังจากที่พวกเขาได้หายไปเป็นเวลานานพร้อมกับทรัพย์สินที่ได้มาจากสงคราม (เฆาะนีมะฮฺ) อันมากมายที่นำมาจากแผ่นดินต่างถิ่นและห่างไกลนั้น (a strange and curious land)

ข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งอย่างหนึ่งคือ ชาวมุสลิมพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งที่รู้จักเส้นทางได้เดินทางติดตามไปพร้อมกับโคลัมบัสด้วย ซึ่งต่อมานักสำรวจชาวสเปนกลุ่มหนึ่งก็ได้ไปถึงยังโลกแห่งใหม่นี้

ศูนย์กลางสำคัญแหล่งสุดท้ายของชาวมุสลิมที่สเปน ฆ็อรนาเฏาะฮฺ (Granada) ซึ่งได้ตกเป็นของชาวคริสเตียนในปี ค.ศ. 1492 เป็นเวลาเพียงไม่นานก่อนที่จะเริ่มการปฏิบัติการสำรวจแผ่นดินใหม่ของชาวสเปน มีผู้ที่ไม่ใช่ชาวคริสเตียนจำนวนหนึ่ง (โดยเฉพาะชาวมุสลิม) จำเป็นต้องหลบหนีจากการถูกกลั่นแกล้งและข่มเหงของชาวคาทอลิก หรือไม่ก็แสร้งยอมเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์เพื่อหลีกเลี่ยงจาการถูกข่มเหงดังกล่าว

มีสองพยานหลักฐานเป็นอย่างน้อยที่บอกเป็นนัยว่ามีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ที่สเปนอเมริกาก่อนปี ค.ศ. 1550 จะอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของประกาศิตสวรรค์หรือพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยกษัตริย์สเปนชาร์เลสที่ 5 ในปี ค.ศ. 1539 ได้บีบคั้นให้ลูกหลานชาวมุสลิมต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังแผ่นดินอินดีสเหนือ (West Indies) และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้รับการรับรองในปี ค.ศ. 1543 แล้วด้วยมติดังกล่าวทำให้ชาวมุสลิมทั้งหมดถูกขับออกจากดินแดนของสเปน

เช่นเดียวกับที่มีหนังสืออ้างอิงจำนวนมากที่ยืนยันถึงการเดินทางเข้าสู่ทวีปอเมริกาของชาวมุสลิมก่อนหน้านั้น ซึ่งสามารถกล่าวพอสังเขปได้ดังต่อไปนี้

ก. เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ (HISTORIC DOCUMENTS)

1. นักประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์มุสลิม อบู อัลหัสสาน อะลี บิน อัลหุเสน อัลมัสอูดีย์ (ค.ศ. 871-957) ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ “มุรูจ อัซซะฮับ วะมะอาดิน อัลเญาฮัร (The meadows of gold and quarries of jewells) ว่าในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอับมุสลิมแห่งสเปนดุลลอฮฺ บิน มุหัมมัด (ค.ศ. 888-912) กลาสีเรือมุสลิมชาวกุรฏุบะฮฺ (Cordova) ชื่อ อัลค็อชคอช บิน สะอีด บิน อัสวัด ได้ออกแล่นเรือจากเดลบา (ปาโลส) ในปี ค.ศ. 889 และได้ตัดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกจนไปถึงยังแผ่นดินที่ไม่เป็นที่รู้จัก และเดินทางกลับพร้อมกับขุมทรัพย์ที่ล้ำค่า และในแผนที่ของอัลมัสอูดีย์ได้อ้างถึงแผ่นดินที่กว้างใหญ่ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรที่มืดสนิทและและปกคลุมด้วยหมอก (Ocean of darkness and fog) และระบุว่าเป็นแผ่นดินที่ไม่เป็นที่รู้จัก (the unknown territory) (อันหมายถึง ทวีปอเมริกานั่นเอง) (AL-MAS’UDI, Muruj Adh-Dhahab (Arabic), Vol. 1, P. 138)

2. นักประวัติศาสตร์มุสลิมชื่ออบูบะกัร บิน อุมัร อัลกูฏิยะฮฺ ได้เล่าว่า ในช่วงการปกครองของเคาะลีหะฮฺมุสลิมที่สเปนชื่อฮิชามที่ 2 (ค.ศ. 976-1009) ได้มีกลาสีเรือชาวมุสลิมอีกท่านหนึ่งนั่นคือ อิบนุฟัรรูค อัลฆ็อรนาฏีย์ (ชาวแกรนาดา) ได้เดินเรือออกจากกาดีช (Kadesh) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 999 ไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกและได้แวะลงจอดเทียบยังเกาะแกนโด (Gando) หนึ่งในหมู่เกาะแคนารีที่ใหญ่โต (Great Canary islands) เพื่อเยี่ยมกษัตริย์กัวนารีกา (King Guanariga) หลังจากนั้นเขาจึงได้เดินเรือต่อและมุ่งหน้าไปทางตะวันตก จนกระทั่งเขาได้พบและตั้งชื่อเกาะไว้สองเกาะ นั่นคือ แคปราเรีย (Capraria) และปลุยตานา (Pluitana) และเขาได้เดินทางกลับไปยังสเปนในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 999 (ON MANUEL OSUNAY SAVINON, Resumen de la Geografia Fisica...,Santa Cruzde Tenerife, 1844)

3. โคลัมบัสได้เดินทางล่องเรือจากปาโลส (เดลบา) สเปน และได้ไปถึงยังเกาะโกมีรา –ฆุมัยเราะฮฺ- (GOMERA) เป็นหนึ่งในบรรดาหมู่เกาะแคนารี (Canary Islands) โกมีราหรือฆุมัยเราะฮฺ (غميرة) เป็นชื่อภาษาอาหรับ -ที่มาในรูปของคำนามที่ถูกทำให้ความหมายเดิมมีความหมายที่เล็กลง (ตัศฆีร) ซึ่งผันมาจากคำเดิมว่า “ฆุมรน หรือฆ็อมรน” (غمر)- หมายถึง “กลุ่มเล็กๆที่ชอบก่อความไม่สงบ ทะเลาะวิวาท และสร้างปัญหา” (small firebrand)

ที่นั่นโคลัมบัสได้ตกหลุมรักเบตริซ โบบาดิลลา (Beatriz BOBADILLA) ลูกสาวของผู้นำสูงสุดแห่งเกาะดังกล่าว -ตระกูลโบบาดิลลานี้ผันมาจากชื่อภาษาอาหรับว่า อบู อับดิลลาฮฺ (أبو عبد الله)- ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ตระกูลโบบิลลาก็เพิกเฉยและไม่ให้ความสนใจต่อเขาแต่อย่างใด

ต่อมา ฟรานซิสโก (Francisco) ทายาทของตระกูลโบบิลลาอีกท่านซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้ตรวจการณ์ของกษัตริย์ได้จับตัวโคลัมบัสและมัดเขาไว้ด้วยโซ่ตรวนและจัดการส่งตัวเขากลับจากแซนโต โดมินิโก (Santo Dominigo) สู่สเปน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1500 ครอบครัวโบบิลลามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์อัลอับบาดิยะฮฺแห่งเมืองอิชบีเลีย (Abbadid Dynasty of Seville) (ค.ศ. 1031-1091)

ในวันที่ 12 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1492 โคลัมบัสได้จอดเทียบเรือยังเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งในบาฮามัส (Bahamas) มีชื่อว่า กวนนาฮานี (GUANA HANI) ด้วยความช่วยเหลือของชนพื้นเมืองที่นั่น ซึ่งต่อมาเกาะนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ซาน ซัลวาดอร์ (SAN SALVADOR) โดยโคลัมบัส

คำว่า GUANA HANI เป็นสำนวนที่มาจากภาษามันดินกา (Mandinka) ซึ่งเป็นคำประสมของภาษาอาหรับสองคำเข้าด้วยกัน นั่นคือ GUANA ที่เพี้ยนมาจากคำว่า IKHWANA (إخوان) ที่หมายถึงพี่น้อง (brothers) ส่วนคำว่า HANI เป็นชื่ออาหรับ (هانيء) ดังนั้นชื่อเดิมของเมืองหรือเกาะนี้ก็คือ อิควานฮานีอ์ (إخوان هانيء) ทีแปลว่า พี่น้องของฮานีอ์ (HANI BROTHERS) (OBREGON ,MAURICIO The Columbus Papers,The Barcelona Letter of 1493, The Landfall)

เฟอร์ดินันด์ โคลัมบัส (Ferdinand Columbus) บุตรชายของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้บันทึกเกี่ยวกับชนผิวดำที่บิดาของเขาได้พบเห็นที่เมืองแฮนดูรัส (Handuras) ว่า “ประชาชนที่อาศัยอยู่ ณ ตะวันออกโพ้นในเขตคาวีนาส (Pointe Cavinas) เหมือนกับชาวแหลม Gracios a Dios ซึ่งพวกเขาเกือบทั้งหมดเป็นชนผิวดำ”

ในเวลาเดียวกัน ในเขตเดียวกันนี้มีกลุ่ม/เผ่าชาวมุสลิมพื้นเมืองอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของอัลมามีย์ (ALMAMY) ในภาษามันดินกา (Mandinka) และภาษาอาหรับผันหรือเพี้ยนมาจากคำว่า อัลอิมามิ (الإمامِ) หรืออัลอิมามุ (الإمامُ) ที่หมายถึงผู้นำละหมาด หรือบางครั้งจะหมายถึงผู้นำหรือหัวหน้าชุมชน และ/หรืออาจจะเป็นนามที่ใช้เรียกกลุ่มมุสลิมชีอะฮฺอิมามีย์ إمامي (Imami) (CAUVET, GILES Les Berbers de L'Amerique,Paris 1912,P.100-101)

4. ลีโอ เวเนอร์ (LEO WEINER) นักประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ได้เขียนในหนังสือของเขาที่ชื่อ AFRICA AND THE DISCOVERY OF AMERICA “แอฟริกาและการสำรวจของอเมริกา” ฉบับพิมพ์ปี 1920 ว่า “โคลัมบัสนั้นทราบเป็นอย่างดีว่ามีชาวมันดินกาอาศัยอยู่ในแผ่นดินใหม่แห่งนั้น และชาวมุสลิมแถบแอฟริกาเหนือได้กระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่งตามแนวเขตทะเลคาริบเบียน, เขตใจกลาง, ทางใต้และเหนือของแผ่นดินทวีปอเมริกา ซึ่งรวมถึงประเทศแคนาดาด้วย ซึ่งพวกเขาได้ประกอบอาชีพค้าขาย และได้แต่งงานมีครอบครัวกับชาวตระกูลอีโรกุยส์ (Iroquois) และอัลก็อนควีน (Algonquin) แห่งเผ่าอินเดียนแดง (WEINER,LEO Africa and the Discovery of America, Philadelphia 1920,Vol.2 P.365-6)

คำสำคัญ (Tags): #อบูอัชบาล
หมายเลขบันทึก: 99849เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท