โครงงานวิทยาศาสตร์


3 เด็กไทยนำ "การหุบใบของไมยราบ" คว้าโครงงานชนะเลิศระดับโลก

       เด็กไทยนำ "การหุบใบของไมยราบ" คว้าโครงงานชนะเลิศระดับโลก

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 พฤษภาคม 2550 20:58 น.

1 สาวกับ 2 หนุ่มรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา "พลอย" ณัฐนรี ศิริวัน "ท็อป" กรวิชญ์ นิยมเสถียร และ "บอล" ณฐพล สุโภไควณิช 3 เยาวชนที่ไปสร้างชื่อให้กับประเทศไทย โดยคว้ารางวัลชนะเลิศ (Grand Awards) ในการแข่งขัน "อินเทล ไอเซฟ 2007" (Intel International Science and Engineering Fair: Intel ISEF 2006) ระหว่างวันที่ 13- 18 พ.ค. ณ เมืองอัลบูเคอร์กี มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

http://img.icez.net/i/p7/umyj8.jpg

       
       เยาวชนทั้ง 3 นำการศึกษาในโครงงาน "รูปแบบการหุบของไมยราบ" ไปคว้ารางวัลยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้จัดแถลงข่าวและแสดงความยินดี แก่น้องๆ ทั้ง 3 โดยพวกเขาเผยว่า ได้รับประสบการณ์มากมาย และเป็นโอกาสสำคัญได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นความสามารถ แนวคิด และการทำงานร่วมกันของเยาวชนจากประเทศอื่นๆ ซึ่งปรับใช้กับการทำงานของตัวเองต่อไปได้
       
       คว้าที่ 1 รางวัลใหญ่สาขาพฤกษศาสตร์
       
       สำหรับการประกวดครั้งนี้ ทั้ง 3 เล่าว่า มี 51 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน และมีโครงงานวิทยาศาสตร์ร่วมประกวดถึง 1,500 โครงงานด้วยกัน โดยโครงงานวิทยาศาสตร์ของพวกเขาสามารถชนะเลิศรางวัลแกรนด์อะวอร์ดส์ รางวัลที่ใหญ่ที่สุดของการประกวดประเภททีมในสาขาพฤกษศาสตร์ (Plant Science) มาได้ และได้รับคัดเลือกจากเอ็มไอที ลินคอล์น แล็บบอราทอรี (MIT Lincoln Laboratory) เสนอนามสุกลของทั้ง 3 ไปยังสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (เอไอยู) เพื่อตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยเป็นลำดับที่ 4, 5 และ 6 หลังจากรุ่นพี่รั้วเตรียมอุดมศึกษาในทีม "การแตกตัวของฝักต้อยติ่ง" ซึ่งชนะการประกวดเวทีเดียวกันเมื่อปีที่แล้วเพิ่งได้รับการเสนอชื่อใน 3 อันดับแรกเมื่อไม่นานนี้
       
       ทั้งนี้ "พลอย" ว่าที่นักศึกษาแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ, "ท็อป" ว่าที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ "บอล" ว่าที่นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เช่นกัน ยังเป็นตัวแทนเพียงทีมเดียวจากเวทีอินเทล ไอเซฟ 2007 ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในงานการประกวดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งสหภาพยุโรป ที่เมืองบาเลนเซีย ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 14 -19 ก.ย.นี้ด้วย
       
       เริ่มจากสังเกต และทำด้วยใจรักอยากรู้
       
       ส่วนโครงงานวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น สมาชิกทีม "รูปแบบการหุบของใบไมยราบ" เล่าถึงที่มาของโครงงานนี้ว่า เกิดมาจากความสนใจของท็อป ที่ได้สังเกตลักษณะการหุบใบของต้นไมยราบซึ่งมีอยู่ทั่วไปในโรงเรียนโดยบังเอิญ จากนั้นจึงชวนพลอยและท็อปซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นไปเล่นไปสังเกตจนนำมาสู่การตั้งคำถามร่วมกันว่า มีปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้ใบของต้นไมยราบหุบตัว และการหุบตัวของใบไมยราบจะเหมือนๆ กันในทุกๆ รูปแบบการกระตุ้นหรือไม่
       
       พร้อมกันนี้ ทั้งหมดยังได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่อย่างทีม "คลื่นการเดินของกิ้งกือ" และทีม "การแตกของฝักต้อยติ่ง" รวมกับคำปรึกษาจากที่ปรึกษาโครงงานคืออาจารย์นิพนธ์ ศรีนฤมล ผลักดันให้เกิดการคิดตั้งคำถาม จนถึงการตั้งสมมติฐาน การทดลอง การลองผิดลองถูกเรื่อยมากว่า 1 ปีจนโครงงานประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดระดับประเทศของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ มาได้ โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเวทีอินเทล ไอเซฟ 2007 ในที่สุด
       
       "ทีมของเราพยายามพิสูจน์ว่าทำไมใบไมยราบถึงหุบตัว โดยการหยดน้ำแป้งข้าวโพดจากระดับความสูงต่างๆ 15 ระดับความสูงด้วยสายน้ำเกลือตามโรงพยาบาลซึ่งหาง่ายและเที่ยงตรงสูง ไม่ต้องใช้เครื่องมือแพงๆ ทั้งนี้เพื่อหาความสัมพันธ์ของแรงกระทำจากน้ำแป้งที่ส่งผลต่อการหุบของใบไมยราบ โดยพบว่าเมื่อน้ำแป้งมากระทบกับใบแล้วจะทำให้ใบใหญ่ของไมยราบทั้งใบแกว่งขึ้นลง จนแรงสั่นสะเทือนไปกระตุ้นให้ใบไมยราบหุบตัวทั้งใบอย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนของใบย่อยและใบใหญ่ ไล่จากจุดที่ได้รับการกระตุ้นไปสู่จุดๆ อื่นและใบข้างเคียง"
       
       "หากหยดน้ำแป้งที่ปลายใบ การหุบก็จะเริ่มที่ปลายใบและไล่ไปยังโคนใบ และกลับกันหากหยดน้ำแป้งลงที่โคนใบ มันก็จะหุบใบจากโคนใบไปหายอด" สมาชิกทีมเล่าถึงการหุบใบของไมยราบ ซึ่งไมยราบเป็นพืชที่ภายในหนึ่งใบใหญ่ประกอบด้วยใบย่อยเรียงกันเป็นคู่ๆ หลายสิบคู่ โดยคาดว่าการหุบใบน่าจะเป็นกลไกหนึ่งของการพรางตัวและป้องกันตัวจากอันตรายของต้นไมยราบ
       
       การหุบใบของไมยราบมี 2 รูปแบบ
       
       ไม่เพียงเท่านั้น 3 เยาวชนยังตั้งข้อสังเกตต่อว่า หากหยดน้ำแป้งโดยไม่ทำให้ก้านใบแกว่งไปทั้งใบ ไมยราบจะมีรูปแบบการหุบใบเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ ทั้งหมดจึงออกแบบการทดลองใหม่ซึ่งไม่ทำให้ก้านใบแกว่งเมื่อได้รับแรงกระตุ้น ก็พบว่า รูปแบบการหุบใบเปลี่ยนไป คือ ไม่ได้หุบทั้งใบ แต่จะค่อยๆ หุบใบย่อยทีละคู่ๆ เฉพาะของใบใหญ่ที่ถูกกระตุ้น ทั้ง 3 จึงตั้งสมมติฐานได้ในเบื้องต้นว่า ปัจจัยที่ทำให้ไมยราบหุบใบลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงสั่นสะเทือนแน่นอน
       
       อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 เผยว่า ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าแรงสั่นสะเทือนจะเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ใบไมยราบหุบตัว จึงทดลองตัดใบไมยราบและการให้ความร้อนจี้ไปที่ใบเพื่อสังเกตรูปแบบการหุบใบเพิ่มด้วย โดยพบว่าการตัดใบและการให้ความร้อนจะมีผลทำให้รูปแบบการหุบใบเปลี่ยนไป แต่มีการตอบสนองน้อยกว่าการทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างเห็นได้ชัด โดยการใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์มาสร้างกราฟเปรียบเทียบผลการทดลองให้เห็นผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
       
       "ไมยราบมีรูปแบบการหุบ 2 แบบเมื่อกระตุ้นด้วยการสัมผัส ผลการทดลองพบว่า รูปแบบการหุบแบบแผงเกิดขึ้นเมื่อกระตุ้นแล้วเกิดการแอ่นของก้านใบย่อย ส่วนรูปแบบการหุบแบบเรียงคู่ใบเกิดจากเมื่อกระตุ้นแล้วเกิดสัญญาณที่เป็นคลื่นกลตามยาว ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาณอื่นคือ มีการสูญของสัญญาณ เช่น เมื่อเรากระตุ้นด้วยพลังงานที่มากขึ้น จำนวนใบย่อยที่หุบจะมากขึ้นด้วย แต่ใบย่อยในหนึ่งใบใหญ่อาจจะไม่หุบทั้งหมด และอัตราเร็วของสัญญาณชนิดนี้จะมากกว่าสัญญาณอื่นๆ" ทีมทดลองสรุป
       
       ใช้ "ไมยราบ" คาดการณ์แผ่นดินไหวได้
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เข้าร่วมการประกวด ทั้ง 3 ก็ยอมรับว่า ตื่นเต้นและประหม่าไปบ้างกับการเดินทางไปร่วมการประกวด และการที่ต้องนำเสนอผลงานให้กับคณะกรรมการหลายต่อหลายรายได้รับทราบ โดยต้องนำเสนอผลงานให้คณะกรรมการฟังรอบแล้วรอบเล่าก็เหน็ดเหนื่อยพอตัว แต่พวกเขาก็ทำด้วยความเต็มใจและกระตือรือร้นที่จะนำเสนอผลงานให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ได้ลงแรงลงใจทำโครงงานมากว่า 1 ปี
       
       ขณะเดียวกันทั้ง 3 ยังเสนอด้วยว่า ประโยชน์ที่เชื่อว่าจะได้จากการทดลองนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ไมยราบเพื่อตรวจวัดความรุนแรงและทิศทางของการสั่นสะเทือน ซึ่งอาจนำไปใช้ตรวจวัดความรุนแรงและทิศทางของการเกิดแผ่นดินไหวได้ด้วย หรือแม้กระทั่งนำไปใช้ตรวจดูโครงสร้างของตึกและอาคารต่างๆ ได้เช่นกัน
       
       
เผยอยากเห็นเด็กไทยทำโครงงานวิทย์มากๆ
       

       สุดท้ายนี้ เมื่อมองกลับมาที่วิทยาศาสตร์ของไทยบ้าง บอล 1 ใน 3 สมาชิกสะท้อนว่า ประเทศไทยยังไม่เห็นความสำคัญของโครงงานวิทยาศาสตร์มากเหมือนในต่างประเทศที่ทุ่มเทกับการเรียนรู้ด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ชัดเจน โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐอเมริกา จึงอยากเห็นเด็กไทยทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น
       
       "ผมมองว่าหากจะทำโครงงานวิทย์ เราควรเริ่มจากเรื่องที่เราสนใจจริงๆ ก่อน เพื่อให้มีแรงบันดาลใจทำได้ตลอด เพราะการทำงานนานๆ มันต้องมีเบื่อและท้อบ้าง หากเป็นสิ่งที่เกิดมาจากเราเอง เราก็จะไม่เลิกกลางคัน เพราะเราทำเพราะสนใจอยากรู้และรักที่จะทำจริงๆ" บอล พูดทิ้งท้าย เชิญชวนให้เพื่อนเยาวชนอื่นๆ หันมาเรียนรู้จากโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยกัน

ความสามารถของเด็กไทยเราก็มีมาก  ไม่แพ้ชาติอื่น ๆ  อย่างนี้น่าสนับสนุนมากครับ  เรามาช่วยกันเสริมสร้าง  สนับสนุนเด็กไทยให้มีความสามารถก้าวไกลระดับโลกกันดีกว่า 

หมายเลขบันทึก: 99489เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เห็นด้วยค่ะครูนพดล
  • และทราบว่าโครงงานของเด็กอู่ทองก็น่าสนใจ
  • อยากให้ครูนำเล่าบ้างนะคะ  จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
  • บันทึกของครูนพดล น่าสนใจมากครับ
  • คนไทยจริงๆแล้วเก่ง แต่วัฒนธรรมของเราเหมือนว่าจะปิดกั้น ความคิดวิทยาศาสตร์ไปเสียหมด ยังคิดว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จากรายการ Patent files ส่วนมากจะมาจากUSAเกือบ 100% เห็นว่าประเทศจีนเป็นประเทศเก่าแก่ น่าจะสามารถคิด เทคโนโลยี เองได้ก่อน แต่เนื่องจากวัฒนธรรมของตะวันออก จึงไม่ปรากฎ ว่าจีน(เอเซีย) จะคิดได้เองแต่เรา ชาวเอเซีย จะ ลอกเลียนได้เก่งมากๆนะนพดล

โครงงานนี้เจ้งมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท