ชีวิตที่พอเพียง : 287. ไปเยี่ยมลูกที่โอซาก้า และซานตา คลาร่า


         เดือน พ.ค. ๒๕๔๓ ผมลาพักร้อนไปเยี่ยมลูกสาวที่ทำงานอยู่ที่โอซาก้าคนหนึ่ง      ที่เมืองซานตา คลาร่า รัฐแคลิฟอร์เนีย อีกคนหนึ่ง      ตอนนั้นผมยังเป็น ผอ. สกว. อยู่     ลูกๆ บอกว่าพ่อแม่ควรจะพักผ่อนเสียบ้าง      และตอนนั้นลูก ๒ คนทำงานอยู่แล้ว น่าจะถือโอกาสไปเที่ยว     เรื่องเที่ยวนี้ ผมชอบ    ยิ่งควงเมียไปเที่ยว ยิ่งชอบ     และต้นเดือนหน้า ผมก็จะควงเมียไปเที่ยวอียิปต์

         เวลาผ่านไป ๗ ปีพอดี     เพราะตอนไปเที่ยวนั้นเป็นวันที่ ๔ - ๑๕ พ.ค. ๔๓     ลูกสาว ๒ คนเปลี่ยนชีวิตไปโดยสิ้นเชิง     คนหนึ่ง เลิกทำงานวิศวกรวิจัยด้าน ซอฟท์แวร์ ในบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่น ที่เงินเดือนและสวัสดิการสูงลิ่ว     กลับมาอยู่เมืองไทย    หันไปทำงานมูลนิธิเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่เขาเรียกว่า rural empowerment      โดยไม่มีรายได้จากการทำงานประจำเลย   อีกคนหนึ่งเลิกทำงานวิศวกรวิจัย     ไปเข้าเรียน MBA     จบแล้วทำงานด้าน investment management อยู่ที่นิวยอร์กกับสามี     ในปี ๒๕๔๓ ลูกสาวทั้งสองคนนี้เรียนจบปริญญาโทวิศวะจากต่างประเทศทั้งคู่     คนพี่จาก โอซาก้า - ฮาร์วาร์ด     คนน้องจบจาก เอ็มไอที

         ว่าจะเล่าเรื่องไปเที่ยว เถลไถลไปเล่าเรื่องลูกอีกแล้ว       

          ๔ - ๘ พ.ค. เราไปพักอยู่กับลูกสาว ที่อพาร์ทเม้นท์ชานเมืองโอซาก้า     ในมาตรฐานญี่ปุ่นนับว่าเป็นอพาร์ทเม้นท์ที่กว้างขวาง     โดยทางบริษัทมัตสึชิตะช่วยออกค่าเช่าให้ส่วนหนึ่ง     อยู่ในบริเวณที่สภาพค่อนข้างเป็นชนบท ไม่พลุกพล่าน     คนเดินทางโดยขี่จักรยานกันเป็นพื้น    ชีวิตของผู้คนไม่รีบร้อน     แต่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน     ระบบขนส่งมวลชนดีมาก     ลูกสาวไม่มีรถ แต่มีจักรยาน     เป็นบรรยากาศที่ผมชอบมาก และยังนึกออกจนบัดนี้     ลูกสาวพาเราไปเที่ยวสวนสาธารณะ ซูรูมิ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพักแค่ ๒ ก.ม.     ดอกไม้สวยมาก    ตอนเช้าผมได้ออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะกับลูกสาวด้วย      สดชื่นจริงๆ อุณหภูมิประมาณ ๑๘ องศาเซลเซียส    

          เรานั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองโอซาก้าและเกียวโต     บ้านลูกสาวอยู่ใกล้สถานี Keihan Nishisanso     ตอนนั้นผมศึกษาว่าน่าจะซื้อกล้องถ่ายวิดีโอขนาดเล็กหรือไม่     แล้วก็ไม่ได้ซื้อ     แต่ก็ทำให้ได้ความรู้ว่า เครื่องใช้อีเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่จะออกจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นก่อน     ไปซื้อที่ร้านค้าปลอดภาษีที่สนามบินจะได้รุ่นที่ไม่ใช่ใหม่ที่สุด     และราคาจะแพงกว่าซื้อที่ร้านที่คนท้องถิ่นรู้จัก ว่าเป็นร้านราคาถูก นับ ๑๐ - ๑๕% ทีเดียว
   
          ที่เกียวโต ลูกสาวพาไปเที่ยววัดเซน ชื่อวัดเงิน (Ginkakuj) ซึ่งอยู่เชิงเขา มีสวนสวยงามมาก    ไปชม โบสถ์ (shrine) เฮอาน ซึ่งมีสวนสวยเช่นกัน    แล้วไปชมวัด ๓๓ เทพ (Sanju - sangendo Temple) มีรูปอรหันต์ ๑๐๐๑ องค์    เที่ยวครึ่งวันลูกก็เห็นว่าพ่อแม่เหนื่อยแล้ว     พาไปกินอาหารกล่องโดยซื้อไปนั่งกินที่ริมแม่น้ำ     มีความสุขสดชื่นเป็นอย่างยิ่ง

          ผมซื้อหนังสือภาษาอังกฤษได้หลายเล่ม     เล่มที่ติดใจเป็นพิเศษชื่อ No one's perfect เขียนโดย Hirotada Hirotake พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Kodansha Ltd, 1998.     ผมอ่านจบที่โอซาก้านั่นเอง     คุณ Hirotada Hirotake เกิดมาไม่มีแขนขา     แต่สมองดีมาก และไม่มีปมด้อย   ผมจดไว้ว่า คุณฮิโรทาดะ พิเศษตรงที่
               - ไม่คิดว่าตนพิการ    
               - มองว่าตนต่างจากคนอื่น   คือตนมีสิ่งที่คนอื่นไม่มี (มีสภาพที่ไม่มีแขนขา)
               - ใช้ความแตกต่าง (unique) ของตนทำประโยชน์ให้แก่สังคม
               - คนพิการไม่ใช่มีแต่จุดด้อย    แต่มีจุดที่คนอื่นๆ ไม่มีอยู่ด้วย
หนังสือเล่มนี้มีคนแปลเป็นภาษาไทยแล้ว     เป็นหนังสือที่ให้มุมมองต่อโลกต่อชีวิตที่ดีมาก    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองโลกมองชีวิตด้านบวก  

          จากการพูดคุยกับลูกสาว ทำให้ผมได้ทราบว่า ระบบ civil society ของญี่ปุ่นเข้มแข็งมาก    คนจำนวนไม่น้อยมี civic mind     ไม่วัตถุนิยมเกินไป    และชอบช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากกว่า    ผมมีข้อสังเกตว่า ใน post-industrial society คนมีวัฒนธรรมใช้ public space ร่วมกัน     ดังนั้นเขาจึงจัดพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะสวนสาธารณะ อย่างดีมาก     ดังนั้น การเดินทางที่ญี่ปุ่นเราใช้ public transport เป็นพื้น     โดยตอนไปสนามบิน Kansai ซึ่งอยู่ไกล ๗๐ - ๘๐ ก.ม. เราก็นั่ง Airport Bus ไป     โดยนั่งแท๊กซี่จากบ้านไปยังสถานีรถบัส   

          ที่ห้องรอขึ้นเครื่องบินการบินไทยไป ลอสแอนเจลีส เราพบ ศ. ดร. พรชัย และ ดร. อรพรรณ มาตังคสมบัติ    และ ดร. คนึงนิจ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มน. ด้วย     ว่าจะไปประชุมสมองไหลกลับที่ ชิคาโก   

          จากสนามบิน ลอสแอนเจลีส เราขึ้นเครื่องบิน ยูไนเต็ต แอร์ไลน์ ต่อไปยัง ซานฟรานซิสโก ใช้เวลาชั่วโมงเดียว      แต่เครื่องบินเสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมง     ลูกสาวมารับที่สนามบิน     แล้วขับรถพาไปบ้านที่เมือง ซานตา คลาร่า     ซึ่งอยู่ทางใต้ของซานฟรานซิสโก  เป็นบริเวณที่เรียกว่า Silicon Valley     เราเห็นความแตกต่างกันสุดขั้วระหว่างลีลาชีวิตของลูกสาว ๒ คน    ที่อเมริกา โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนีย รถยนต์เป็นสิ่งจำเป็น     เพราะเมืองกว้างใหญ่ สิ่งต่างๆ อยู่ห่างกัน และระบบ public transport ไม่ดีนัก     คนนิยมใช้รถยนต์กันมากกว่าใช้รถไฟ      และมักจะขับรถไปคนเดียว ทำให้เปลืองถนน (และเปลืองน้ำมัน)      เขาจึงให้สิทธิพิเศษแก่คนที่ขับรถแบบ car pool คือในรถเก๋งมีคนนั่งตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป (รวมคนขับ) ให้สิทธิ์ขับเลนซ้ายสุดได้ตลอด    ทำให้ได้รับความสะดวกมาก   

          ๙ - ๑๓ พ.ค. ๔๓ เราอยู่กับลูกสาวคนเล็ก     ซึ่งเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน ในบริษัท start up พัฒนา micro chip ความเร็วสูงและ broad band ชื่อ Sibyte ที่เมื่อเริ่มต้นมีวิศวกรทำงานเพียง ๓๐ คน     และคนที่เป็นหัวหน้าอายุเพียง ๓๐    เวลาที่ผมไปเยี่ยมมีวิศวกร ๑๐๐ คน    เงินเดือนที่ได้ไม่สูงนัก แต่เขาให้ stock option ที่จะช่วยให้เป็นเศรษฐีหากงานสำเร็จ     ซึ่งต่อมาอีกปีเดียวคือในปี ๒๕๔๔ ลูกก็ได้เป็นเศรษฐี (ในกระดาษ) อยู่ ๒ - ๓ เดือน     ที่แปลกใจมากคือเงินเดือนที่ได้ ๑/๓ เป็นภาษี  อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินประกันสังคม    ที่เหลือพอจะใช้เช่าอพาร์ตเม้นต์ดีๆ อยู่     แล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายประจำเดือนได้อย่างประหยัดเท่านั้น     และในปีถัดมาลูกสาวต้องย้ายไปอยู่อพาร์ตเม้นต์ที่ราคาถูกลง เพราะเขาขึ้นค่าเช่า สู้ไม่ไหว     อย่าลืมว่าที่นั่นคือ Silicon Valley ทุกอย่างจึงแพงเป็นพิเศษ

          อพาร์ตเม้นต์ของลูกสาวเป็นบ้านสองชั้นทำด้วยไม้     ลูกสาวอยู่ยูนิตชั้นล่าง     ห้องกว้างขวางสะดวกสบายกว่าของพี่สาวที่โอซาก้า     และบริเวณเป็นย่านที่มีการพัฒนาใหม่     ไม่ใช่เมืองเก่าแบบที่โอซาก้า      บริเวณก็กว้างขวาง     ผมอาศัยบริเวณเป็นที่วิ่งออกกำลังอย่างมีความสุข     ยิ่งมีเสียงนกร้องเสียงระฆังเงินแล้วผมยิ่งชอบ     เจ้านกนี่มันตื่นขึ้นมาร้องตั้งแต่ตีสาม    ตอนนั้นผมใช้เทปอัดเสียงไว้ด้วย แต่ทำหายไปแล้ว    

          ลูกสาวขับรถไปจอดที่สถานี และพาขึ้นรถไฟ Caltrain จากป้าย Lawrence ไปซานฟรานซิสโก ใช้เวลา ๑ ๑/๒ ชม.    เป็นรถไฟ ๒ ชั้น นั่งสะเทือนกว่ารถไฟญี่ปุ่นมาก    จากสถานีรถไฟเรานั่งรถบัสสาย ๔๒ ไปที่ Pier 39 เพื่อลงเรือไปชมเกาะ Alcatraz ที่เคยเป็นคุกกักกันนักโทษฉกรรจ์     และเคยทำเป็นภาพยนตร์ด้วย     เกาะนี้อยู่ห่างฝั่งเพียง ๑.๕ ไมล์ แต่ไม่เคยมีนักโทษว่ายน้ำหนีได้เลย เพราะกระแสน้ำแรงมาก    ผมแปลกใจที่ความเป็นอยู่ของนักโทษดีมาก    นอนคนละห้อง     จุนักโทษได้ ๓๐๐ คน แต่ไม่เคยเต็ม   

          เรานั่งเรือกลับมากินอาหารเที่ยงที่ Fisherman's Wharf    หมออมรากิน Clam Chowder ใน bowl ขนมปัง ซึ่งผมไม่เคยเห็นมีขายที่อื่น    นั่งรถไฟกลับมาสถานี Lawrence แล้วลูกขับรถกลับบ้าน     เรากินอาหารจีนที่เหลือจากเมื่อวาน     ลูกสาวไปทำงานต่อและกลับมาตอนตี ๑     ลูกสาวทั้ง ๒ คนขยันทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำคล้ายกัน     แต่พี่สาวที่ญี่ปุ่นดูจะผ่อนคลายกว่า     เป็นบุคลิกของแต่ละคน     แม่เขาบอกว่าลูกสาวคนเล็กมีบุคลิกบ้างานเหมือนพ่อ     แต่ลูกสาวคนรองมีนิสัยชอบผจญภัยเหมือนพ่อ   

          ผมชอบเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์    วันรุ่งขึ้นลูกสาวจึงพาไปทิ้งไว้ที่ The Tech Museum of Innovation ที่ West San Carlos Street, San Jose    ส่วนภรรยาไม่ไป เขาเบื่อที่จะรอผมชมพิพิธภัณฑ์     แล้วลูกสาวไปทำงานและขับรถมารับภายหลัง     และพาไปเที่ยวเมือง Palo Alto และมหาวิทยาลัย Stanford     ที่ร้านหนังสือของ สแตนฟอร์ด ผมซื้อหนังสือได้ถึง ๕ เล่ม    เย็นนั้นเราไปกินอาหารอิตาเลียนที่ร้านที่อร่อยมาก     มีข้อเสียคืออาหารจานใหญ่มาก เรากินไม่หมด    

          แล้วลูกสาวก็ใช้เวลา ๑ วัน ขับรถพาเราไปเที่ยว ชิม และซื้อไวน์ที่ Napa Valley    แหล่งปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา      ที่จริงลูกสาวยังขับรถไม่เก่ง แต่ก็แข็งใจพาไป     ไปแล้วสนุกมาก ได้ความรู้มาก     ได้เข้าใจศาสตร์ว่าด้วยการปลูกองุ่นทำไวน์     และการผลิตไวน์ ชนิดของไวน์     เป็นความรู้เบื้องต้นที่ช่วยให้ผมพอจะรู้เรื่องไวน์บ้าง      มี winery มากมาย ที่เป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว มีไวน์ให้ชมและชิม     บางแห่งก็ชิมฟรี บางแห่งก็เสียเงิน     บางแห่งเสียเงิน แต่ถ้าชิมแล้วซื้อก็คืนเงินค่าชิม    เราเลือกแวะ ๓ แห่ง ได้แก่ Robert Mondavi Napa Wine Co., Niebaum Coppola, และ Rutherford Grove    วิธีชิมไวน์ต้องชิมชนิดที่แรงน้อยไปหาแรงมาก    ตอนนั้นผมชิมแล้วแยกไม่ออกระหว่างชนิดแพงกับชนิดราคาถูก    แต่เดี๋ยวนี้ผมพอจะแยกออกได้ดีกว่าสมัยโน้นมาก     คงเป็นเพราะได้มีประสบการณ์มากขึ้น   

           เราไปเยี่ยม (ที่จริงไปให้ลูกพาเที่ยว) ลูกสาวคนละ ๔ วัน     แล้วกลับมาเมืองไทยอย่างมีความสุข     แต่ก็อดเป็นห่วงลูกที่อยู่เผชิญชีวิตในต่างแดนไม่ได้

วิจารณ์ พานิช
๑๙ พ.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 99298เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

  • อ่านแล้วสนุกมากครับ
  • ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราเกือบทุกคน ได้มีโอกาสไปเห็นบ้านเมืองอื่นที่พัฒนา ทีเขาจัดสิ่งดีๆ ให้ประชาชนของเขา แต่ทำไมกลับมาแล้ว ไม่เอาประสบการณ์ที่พบเห็นมาจัดให้กับบ้านเราบ้าง

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

    อ่านแล้วพลอยมีความสุขไปด้วย ชอบอ่านค่ะ

    ตอนที่ลูกเรียนอยู่ต่างประเทศ และทำงานอยู่ต่างประเทศ ดิฉันก็คิดถึง และไปเยี่ยม ให้ลูกพาเที่ยวอย่างนี้ค่ะ

   แต่ลูกชายจะติดบ้าน พอหมดภาระกิจ ก็กลับบ้านเลย เพราะรู้ว่าแม่คิดถึง มีอยู่ทีหนึ่ง บริษัทที่ทำงานด้วย จะส่งไปประจำที่ New York เขาขอไม่ไป เพราะเขาบอกว่า ไปแล้ว กลับยาก การทำงานด้านCorporate Investment Banking แต่ละ Project ใช้เวลามาก และจะมี Project ต่อเนื่องตลอด ขอบินไป บินมาดีกว่า เหนื่อยเดินทาง แต่ได้อยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว

     ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆแบบนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท