ปลาวาฬ บราวเซอร์ PLAWAN BROWSER


ปลาวาฬ บราวเซอร์ PLAWAN BROWSER

 

สวัสดีครับ...ศิษย์รักทุกคน และท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ขอบันทึกถึง ปลาวาฬ บราวเซอร์ PLAWAN BROWSER นะครับเพราะกำลังแนะนำให้นักเรียนใช้อยู่ครับ 
             ด้วยสโลแกนที่ว่า "ท่องเน็ตปลอดภัย ห่วงใยเยาวชน" จากสัญลักษณ์ของโปรแกรม ปลาวาฬตัวใหญ่ใจดีนั้นเปรียบได้กับ ผู้ปกครอง ที่คอยเอาใจใส่ดูแลและห่วงใยเจ้าปลาวาฬวัยเยาว์ตัวเล็กที่ประสบการณ์ยังน้อย ว่ายน้ำไม่เก่งและจำต้องมี ห่วงยาง สวมใส่เพื่อความปลอดภัย และแม้จะเป็นปลาวาฬตัวเล็กเยาว์วัยแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นพร้อมที่จะเรียนรู้และเผชิญบนโลกมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งก็เปรียบได้กับมหาเครือข่ายไซเบอร์สเปซนั่นเอง
             โดยโปรแกรมปลาวาฬ บราวเซอร์ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานต่าง ๆ คือ

         - กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT)
         - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
         -สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
         -สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย

ปลาวาฬ บราวเซอร์


           ปลาวาฬ บราวเซอร์ (Plawan Browser)กำเนิดขึ้นด้วยทีมงานคนไทย ที่สนับสนุนและห่วงใย ให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวไทย สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

           ด้วยความสามารถในการใช้งานที่เหมาะกับคนไทย โดยยึดหลักการที่ใช้ง่าย ภาษาไทย และความสามารถต่างๆภายใต้ความห่วงใยต่อเยาวชน และช่วยเหลือผู้ใช้งาน อาทิเช่น มีระบบแปลภาษา อังกฤษ-ไทยในตัว เพื่อช่วยความเข้าใจด้านภาษา ในการท่องเว็บไซต์ต่างๆ และระบบป้องกันเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน เสมือนตัวแทนแห่งความห่วงใยจากผู้ปกครอง หน่วยงาน หรือทุกฝ่ายในการเข้าถึงข้อมูล อันเป็นสาระประโยชน์ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวไทยอย่างแท้จริง

          เนื่องจากในปัจจุบัน เว็บบราวเซอร์ ที่เป็นที่นิยมใช้งานกันทั่วไป มีค่อนข้างหลากหลายโปรแกรม แต่ยังไม่มีโปรแกรมใดที่เอื้ออำนวยให้ผู้ใช้งานใช้งานได้ง่ายอย่างที่ควรจะเป็น

          ทั้งนี้เนื่องจากเมนูการใช้งานเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดอีกทั้งคำสั่งการใช้งานบางคำสั่งยังเป็นคำสั่งทางเทคนิคที่ค่อนข้างเข้าใจยาก ทำให้เยาวชนหรือผู้เริ่มต้นใช้งานขาดความสะดวกในการใช้งานและใช้ความสามารถของตัวโปรแกรมได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้การใช้งานอินเตอร์เป็นไปโดยขาดประสิทธิภาพอย่างที่ควรเช่นกัน


          Plawan Browser เป็นเว็บบราวเซอร์ ที่ถูกพัฒนาโดยคนไทยเพื่อคนไทย ด้วยความสามารถของตัวโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้ดีในระดับเดียวกับ เว็บบราวเซอร์ ชั้นแนวหน้าอื่นๆ เช่น Microsoft Internet Explorer, Netscape Navigator หรือ Opera แต่มีความสะดวกในการใช้งานมากกว่าทั้งนี้เนื่องจากเมนู การใช้งานสามารถสลับภาษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้

            อีกทั้งตัวโปรแกรม Plawan Browser ยังมี   ระบบ Dictionary อัจฉริยะ  ที่สามารถแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยบนเว็บ พร้อมตัวอย่างการใช้ศัพท์ และประโยคในการใช้งานได้อีกด้วย ทำให้เยาวชนหรือผู้เริ่มต้นใช้งานอินเทอร์เน็ตได้รับความสะดวกในการใช้งานอย่างมาก

วัตถุประสงค์ของโครงการ

           - ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย และผู้เริ่มต้นอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
           - สนับสนุนเด็กและเยาวชน ในด้านการเรียนรู้ จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธี และปลอดภัย

การติดตั้งและใช้งานโปรแกรม ปลาวาฬ บราวเซอร์
ติดตั้งโปรแกรม

การติดตั้งโปรแกรม ปลาวาฬ บราวเซอร์

           ผู้ใช้งานสามารถทำการติดตั้งโดยดับเบิ้ลคลิกไปยังไฟล์ setup.exe จะเข้าสู่การติดตั้งโปรแกรม คลิกที่ปุ่ม Next ในหน้าถัดมาตัวโปรแกรมจะระบุตำแหน่งโฟลเดอร์ในการติดตั้งโดยปกติจะถูกติดตั้งไว้ที่ C:\Program Files\Plawan ให้ผู้งานคลิกที่ปุ่ม Next อีกครั้ง โดยในขั้นตอนการติดตั้งตัวโปรแกรมจะทำการสร้างเมนูในการใช้งานบน Program files จากนั้นให้ผู้ใช้งานทำตามหน้าจอต่อไปจนจบ คลิกปุ่ม Finish สิ้นสุดการติดตั้งโปรแกรมและพร้อมใช้งาน


การใช้งานโปรแกรม ปลาวาฬ บราวเซอร์

           ในการใช้งานผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่โปรแกรม Plawan Browser โดยผ่านเมนู Program files > Plawan Browser > Plawan Browser ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเข้าสู่ตัวโปรแกรม ก็สามารถจะเข้าสู่การใช้งานได้ทันทีโดยการพิมพ์ URL ที่ช่อง Address ได้เลยแต่สำหรับผู้เริ่มใช้งานแล้ว เราลองมาดูกันว่าเจ้า Plawan Browser มีเครื่องมืออะไรน่าสนใจบ้าง

ติดตั้งโปรแกรม
รูปที่ 1.1 แสดงส่วนต่างๆ ของโปรแกรม Plawan Browser
1. เมนูบาร์ (Menu Bar)
           เป็นเมนูสำหรับควบคุมการทำงานทุกอย่างในโปรแกรม ผู้ใช้งานสามารถคลิกเลือกเมนูหลักและเลือกเมนูย่อย เพื่อปรับแต่งและควบคุมการทำงานตามต้องการ

2. ทูลพาเนล (Tool Panel)
           สำหรับการใช้คำสั่งจากเมนูบาร์ บางครั้งอาจทำให้ผู้ใช้งานไม่สะดวกในการเรียกใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานจากทูลบาร์ได้อย่างรวดเร็ว

3. แอดเดรสพาเนล (Address Panel)
           ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ URL ลงไปยังตำแหน่งของ Address เพื่อที่จะเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

4. ไซด์บาร์ (Side Bar)
           ในส่วนของไซต์บาร์ผู้ใช้งานสามารถเรียกเขัาสู่บริการต่างๆ เพื่อความรวดเร็วในการใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น การค้นหาเว็บผ่าน Search Engine อย่าง Google.com หรือ สามารถเก็บบันทึกเว็บโปรดของท่านใน รายการโปรด อีกทั้งยังสามารถเล่น Multimediaไฟล์ทั้ง Movies และ Music ผ่าน มัลติมีเดียได้อีกด้วย

5. เวิร์กสเปซ (Work Space)
           เป็นส่วนที่ใช้ในการแสดงผลเนื้อหาบนเว็บที่ผู้ใช้งานเรียกดู
หมายเลขบันทึก: 99089เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท