ครั้งหนึ่ง ปราชญ์ตะวันตกก็คิดเป็นองค์รวมและคำนึงถึงจริยธรรม


นักปราชญ์ที่แท้จริงต้องพยายามเข้าใจและหาคำอธิบายถึง ธรรมชาติ (natural truth) และมนุษย์ ในทุกๆ เรื่องอย่างเป็นระบบ

สืบเนื่องจากบันทึกเรื่องความดีอยู่ที่ไหนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์   อาจารย์เอื้อมพร ของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ . น้องรักอีกคนเขียนมาเล่าให้ฟัง

   ในยุคโบราณของการสร้างสะสมภูมิความรู้  เราเรียกผู้มี "การศึกษา" ว่า "นักปราชญ์" (Philosopher) นักปราชญ์สมัยก่อนนั้น ต้องรอบรู้ทุกเรื่องไม่มีการแยกศาสตร์ ไม่มีการแยกสายวิทย์ หรือสายศิลป์ ไม่มีการแยกวิชาใดๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น Leonardo Da Vinci เป็นทั้งแพทย์ นักดาราศาสตร์ วิศวกร นักปรัชญา ศิลปิน นักเขียน...  ไม่ใช่มีเพียงเฉพาะ Da Vinci เท่านั้น แต่ยังมีคนอื่นๆ อีกมาก เช่น Descartes หรือ Jean Paul Sartre (ทฤษฎี Existentialism) เป็นต้น...   ที่ไม่มีการแยกศาสตร์ เพราะนักปราชญ์ที่แท้จริงต้องพยายามเข้าใจและหาคำอธิบายถึง ธรรมชาติ (natural truth) และมนุษย์ ในทุกๆ เรื่องอย่างเป็นระบบ ……”

 

มุมมองนี้ ไม่ต่างกับความเป็นปราชญ์ของตะวันออก 

  

แล้วอาจารย์เอื้อมพรก็กล่าวถึง Adam  Smith ผู้ก่อเกิดวิชาเศรษฐศาสตร์

 


หนังสือของ Adam Smith ที่ชื่อว่า The Theory of Moral Sentiments นั้นเป็นผลงานที่ล่ำลือกันในยุคนั้นมาก เมื่อเทียบกับ The Wealth of the Nation ในตอนหนึ่งของหนังสือดังกล่าว Smith ตั้งคำถามพื้นฐานว่า: "Why do we regard certain actions or intentions with approval and condemn others?" (ทำไมเราจึงยอมรับการกระทำหรือเจตนารมณ์บางอย่างว่าดี และทำไมเราจึงไม่ยอมรับการกระทำหรือเจตนารมณ์บางอย่าง)”  

  

ณ เวลานั้น มีหลากหลายความคิดเห็นมาก  บางคนบอกว่า ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับกฎระเบียบสังคม  บางคนบอกว่า Moral principles น่าจะพิสูจน์ได้โดยวิธีทางคณิตศาสตร์   แต่ Smith มีความคิดที่แหวกแนวจากความคิดเดิมๆ ในยุคนั้น คือ คนเราเกิดมามีความรู้สึกทางจริยธรรม (moral sense) ฝังลึกอยู่ข้างใน เช่นเดียวกับมีความคิดเรื่องความงดงาม และความสงบ    ความรู้สึกนึกคิดลึกๆ (conscience) ของตัวเราเอง บอกเราได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก โดยไม่ต้องมีกฎหมายที่เป็นผู้ชี้ขาด อีกส่วนหนึ่งคือความเอื้ออาทร (sympathy) ทั้งสองสิ่งนี้จะเกื้อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างดีและมีความเป็นระเบียบ  เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงเป็นผลิตผลของธรรมชาติ ไม่ใช่ผลิตผลของ 'เหตุผล'



 
ซึ่งบนพื้นฐานที่กล่าวมานี้ ต่อมา ใน Wealth of Nation  Smith จึงจะค่อยๆเริ่มนำเสนอและอธิบายว่า 'invisible hand' หรือมือที่มองไม่เห็น  จะนำไปสู่สังคมที่เอื้ออาทร ไปด้วยกันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”   

 อาจารย์เอื้อมพรสรุปว่า

 

เพราะฉะนั้น โดยคร่าวๆ  ก็คือ ก่อนจะพัฒนามาเป็นศาสตร์ที่แยกออกมาให้เป็นรูปธรรม (และมีความละเอียดอ่อนน้อยลงมาเรื่อยๆแบบทุกวันนี้) แท้จริงแล้วมีเบื้องหลังที่ลึกซึ้งมากกว่าที่อยู่ในตำราสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม  ดังนั้น เมื่อเรามองข้ามปรัชญาเช่นใน The Theory of Moral Sentiments เราก็จะมองเห็นเฉพาะ 'invisible hand' ที่มองแบบหยาบๆว่าสิ่งที่มีค่าทางราคาเท่านั้นที่ควรค่าแก่การให้คุณค่า แล้วมองว่าเศรษฐศาสตร์มีอะไรอยู่เพียงเท่าที่เห็น

  

ไม่ใช่เพียงเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ศาสตร์อื่นๆในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายกัน .....การแบ่งงานกันทำแล้วได้มาซึ่งเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ลงลึก แต่ต้องสูญเสียความเป็นองค์รวม..และมองข้ามความละเอียดของจริยธรรม ... 

   

เราจะทำอย่างไร ... ถ้าไม่ใช่ต้องทำให้ความลึกแต่ละแท่งของนักวิชาการแต่ละคน หลอมละลายรวมกัน  ทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สุขของสังคม

  

...ถึงจุดนี้ นึกแวบไปถึงการ์ตูนญี่ปุ่นแทบทุกเรื่องที่สอนเรื่องเดียวกัน  คือ  ทีมงาน

 
หมายเลขบันทึก: 99085เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมไม่แน่ใจว่าแนวคิดลดทอนมาจากคณิตศาสตร์แคลคูลัสหรือเปล่า? หรือคณิตศาสตร์แคลคูลัสก็มาจากแนวคิดลดทอน/แยกส่วนที่มีมาก่อนหน้านั้น?

การหาความจริงด้วยแคลคูลัสคือการลดทอนวัตถุศึกษาให้เป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆในรูปความสัมพันธ์(สมการ)ทางคณิตศาสตร์ เมื่อทราบความสัมพันธ์ของส่วนเสี้ยวเล็กๆทั้งหมดแล้วก็ผสานรวมกันเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุศึกษานั้น ซึ่งใช้ได้ผลดีมากในกรณีวัตถุสิ่งของที่เป็นสสารในระดับความเร็วต่ำ

(ความรู้ผมมีเท่านี้ ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย)

แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะมีความเป็นอัตวิสัยมาก มีมูลเหตุจูงใจ จากความเชื่อ/วัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทมาก

ในการวิเคราะห์เพื่อหาคำอธิบายผมไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้สามารถลดทอนด้วยคณิตศาสตร์ได้หรือไม่

แต่เราก็พยายามโดยคิดว่าแบบแผนความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวสามารถให้คำอธิบายได้ โดยสร้างเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (ถ้าทำได้จริง               นักคณิตศาสตร์ที่เล่นหุ้นคงรวยไปแล้ว)

 

เรียน อาจารย์ปัทมาวดี

วันนี้ผมอ่านแล้วรู้สึกงุนงงครับ แต่สิ่งที่ผมคิดตามในตอนนี้คือ เราจะใช้อะไรมาเป็นกลไกที่ทำให้ทุกคนมีความสุข มีฐานะ สุขภาพดี มีกำลังใจ และสิ่งนั้นน่าจะเป็น "การเรียนรู้" ครับ  

ยิ่งผมเรียนรู้มากขึ้น ผมก็อยากจะถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนมากขึ้น ผมก้อยากเรียนรู้เรื่องอื่นเพิ่มเติมขึ้นไปอีก และก็อยากถ่ายทอดและเสวนากันอีก ทำเรื่อยไป อย่างเต็มที่และเต็มใจ เท่าที่โอกาสจะอำนวยครับ

ขอบคุณครับ

คุณภีมคะ

เขียนตอบคุณภีมยาวๆ  แต่มันเกิดผิดพลาด ส่งไม่ได้ (หายไปเลย.....)  ก็เลยติดไว้ก่อนนะคะ

คุณโชคธำรงค์

ขอบคุณค่ะ  สิ่งสำคัญที่อยู่ในความเห็นของคุณโชคธำรงค์ คือ "การเรียนรู้" และ "การถ่ายทอดความรู้" เห็นด้วยค่ะว่าทั้งสองกระบวนการสำคัญและเชื่อมต่อกัน  ที่สำคัญคือ จะต้องมี "ปฏิสัมพันธ์" ระหว่างบุคคลต่างๆจึงจะเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้กันได้  แปลว่า ต้องเป็น "ทีม"ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท