BAR กิจกรรมเชียร์และรับน้อง (3)


               ต่อจากบันทึกที่แล้วนะครับ

  • กิจกรรมทันตแพทย์ที่ดีในความคิดของฉัน

                กิจกรรมนี้จะรวมนิสิตใหม่และรุ่นพี่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 12-15 คน ใช้กติกาการพูดคุยแบบเดิม คือ ฟังอย่างตั้งใจ ห้ามแทรกระหว่างคนอื่นกำลังพูด และมองตาผู้เล่า

               โจทย์ก็คือ ทันตแพทย์ที่ดีในความคิดของแต่ละคน เป็นอย่างไร เมื่อจบการศึกษาแล้วนิสิตอยากเป็นทันตแพทย์แบบไหน อยากทำอะไร ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ให้น้องใหม่พูดก่อนแล้วค่อยให้รุ่นพี่พูด ทีมงานคอยจดบันทึกเพื่อรวบรวม

                  สิ่งที่คาดหวังคือ อยากให้นิสิตมีจุดมุ่งหมายในชีวิตการศึกษา ได้แลกเปลี่ยนความฝัน ความหวัง ความตั้งใจกับเพื่อน กับรุ่นพี่ รุ่นน้อง

  • กิจกรรมเก็บคะแนนด้วยการคุยกับเพื่อนและรุ่นพี่

                ในสมุดเชียร์ของนิสิตปีหนึ่ง  จะมีส่วนที่เป็นคำถามหลายๆคำถาม ที่น้องใหม่จะต้องไปคุยกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ เพื่อเติมเต็มในช่องว่างของคำถามนั้นๆ (เช่น เป็นคนนิสัยยังไง ชอบทำงานอดิเรกอะไร ทำไมถึงชอบ) โดยเอาคะแนนเป็นตัวล่อให้คุยกับเพื่อนๆให้เยอะที่สุด (จริงๆคะแนนก็ไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไรครับ)

               จุดประสงค์คือกระตุ้นให้นิสิตใหม่ กล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนใหม่ รุ่นพี่ และคุยกันให้ลึกกว่ารู้จักชื่อ อยากให้รู้จักตัวตนหรือนิสัยบางส่วนของผู้ที่เข้าไปพูดคุยด้วย

              

หมายเลขบันทึก: 98308เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรียน อ.พิชิต คะ

อ่านกิจกรรมที่จะทำแล้ว รู้สึกดีจังคะ ชอบคะกับกิจกรรมที่มุ่งหา "ความฝัน ความหวัง" ที่ตั้งไว้

อ่านแล้วนึกภาพตามเลยคะ ถ้าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ  "ความหวัง ความฝัน" แล้วมีการจัดบรรยากาศที่เอื้อให้ความรู้สึกทั้งหลายนั้นสามารถพลั่งพลูออกมาได้ทั้งจากรุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็น่าจะดีนะคะ เช่น บรรยากาศตอนกลางคืน มีเทียนไข (เพื่อให้คนที่จะเล่าสามารถกล้าที่จะถ่ายทอดความรู้สึกข้างในออกมาได้โดยไม่รู้สึกอายหรือกังวล)  มีดนตรีประกอบเบาๆ

คิดว่าความประทับใจทั้งจากบรรยากาศ อารมณ์ความรู้สึก ที่เต็มไปด้วยทั้งความหวังและกำลังใจ จะเป็นแรงผลักดันให้น้องนิสิต (อาจไม่เฉพาะปีหนึ่ง) มีแรงบันดาลใจและพลังที่จะทำเรื่องต่างๆได้ และความทรงจำที่ดีๆที่น่าจดจำที่ต้องการให้เกิดก็คงไม่ยากมั้งคะ

อาจมีกิจกรรมประเภท "ทำความดีแบบจดหมายลูกโซ่" นึกรูปแบบไม่ออกคะ นึกได้เพียงแต่ Concept ที่ทำความดีแล้วกระจายต่อไปเหมือนจดหมายลูกโซ่ จากหนึ่งเป็นสอง เป็นสี่ เป็นแปด อะไรประมาณเนี้ยคะ (ถ้านึกไม่ออกลองหาหนังเรื่อง  Pay It Forward มาดูก็ได้นะคะ) อาจให้มีการจดบันทึก แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกัน ก็น่าจะดีนะคะ พลังแห่งความดีจะได้ตลบอบอวนให้หมู่เด็กนิสิตทันตะคะ

ขอโทษทีนะคะ ที่เขียนเสียยาวยืด อ่านที่ อ.เขียนแล้วแล้วพอคิดตาม ความคิดมันปิ๊งขึ้นมาเลยอยากเอามาเสนอคะ แต่ที่เสนออาจไม่ค่อยมีประโยชน์นักก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

ปล.จะรอดู รอฟัง กิจกรรมที่พวกทีมงานของ อ.จะสรรค์สร้างออกมานะคะ เต็มที่คะ

จากที่ได้อ่านมาก็ทำให้รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับน้อง โดยวางแผนแบบมีหลักการและเจตนาที่ดี แต่ก็ทำให้เกิดคำถามภายในใจว่า เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดจากความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้เป็นรูปแบบนี้จริงหรือเปล่า และได้ศึกษาถึงผลกระทบและวิธีการแก้ไขรองรับไว้หรือไม่ และเมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีการประเมินผลอย่างไรได้บ้าง ถึงความสำเร็จของแผนการในครั้งนี้ ไม่ใช่การวาดฝันในอุดมคติ โดยขาดการนึกถึงหลักความเป็นจริง

P

ขอบคุณค่ะ สำหรับความคิดเห็น

เรื่องทำความดีแบบลูกโซ่ จะเก็บไปคิดต่อค่ะ

เสนอว่าการเรียนการสอนแบบต่อเนื่องในภาคชุมชน น่าจะทำกิจกรรมทำความดีแบบลูกโซ่ได้ดี

ขอแลกเปลี่ยนกับคุณ 1234 ครับ

ถ้าถามว่าเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้เป็นรูปแบบนี้หรือเปล่า

ผมลองมาคิดต่อครับว่า คนส่วนใหญ่ในที่นี้หมายถึงใคร

หากหมายถึงนิสิตส่วนใหญ่ทุกคนในคณะ ตอบได้ว่า ไม่ครับ เพราะไม่ได้ถามคนส่วนใหญ่กลุ่มนี้ ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับน้องมั้ย แต่ผมลองมาคิดดูว่า ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น นิสิตคิดว่าการรับน้องและประชุมเชียร์ในรูปแบบที่ผ่านมา นิสิตเห็นด้วยมั้ย มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ  การรับน้องแบบที่ผ่านมามีผลกระทบอย่างไรต่อตัวนิสิตในแง่อารมณ์ จิตใจ สังคม ความรู้สึก (ทั้งในแง่บวกและลบ) ฯลฯ

หากหมายถึงนิสิตที่ทำงานสโมสรนิสิต คิดว่าใช่ครับ เราคุยเรื่องนี้กันมาตั้งแต่ประชุมเชียร์ปีที่แล้วเสร็จสิ้น มาถึงสัมมนาสโมสรตอนปลายปี แล้วก็มาถึงช่วงเตรียมงาน

ผมมาคิดต่อว่ากิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ที่ทำๆกันอยู่ทุกคณะนั้น มาจากความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในคณะนั้นๆหรือเปล่า หรือเกิดจากคนที่ก้าวเข้ามาทำกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง ที่คิดว่ารูปแบบที่ตัวเองถูกกระทำมาเป็นสิ่งที่ดี จึงก้าวเข้ามาทำในรูปแบบเดิมด้วยความเชื่อที่ว่าต้องการถ่ายทอดสิ่งที่ดีดีในความคิดของตัวเองไปให้รุ่นน้องต่อไป แล้วคนที่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมเชียร์รูปแบบที่ทำๆกันอยู่ล่ะ

มีมากหรือน้อยกว่าคนกลุ่มที่หนึ่ง อาจจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่า หรือด้วยความที่เป็นรุ่นน้อง (ปี 2) อาจจะลองเสนอความคิดเห็นที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วแต่รุ่นพี่บวกกับเพื่อนที่มีแนวคิดแบบแรกมีอิทธิพลมากกว่าเลยทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย (ซึ่งผมเชื่อว่ามีมากกว่า อาจจะผิดก็ได้นะครับ) ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมนี้เลย มีคณะไหนเคยสำรวจมั้ยครับ ถ้าผ่านมาอ่าน ลองมาแลกเปลี่ยนกันดูครับ สนุกดีที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน

น่าคิดนะครับ ทำให้ผมได้แนวคิดว่า จะไปสำรวจความคิดของนิสิตทุกคนทุกชั้นปีเรื่องนี้ น่าจะดี

 

ขอคุยกับคุณ 1234 ต่อนะครับ

ในเรื่องการศึกษาถึงผลกระทบหรือเตรียมวิธีการแก้ไขรองรับไว้หรือไม่ จะประเมินผลอย่างไร

ขอคุยเรื่องวิธีการแก้ไขก่อนนะครับ ผมไม่ค่อยเข้าใจประเด็นนี้เท่าไหร่ แต่จะลองดูนะครับ ถ้าไม่ตรงกับที่เสนอความคิดเห็นมา มาคุยกันใหม่นะครับ

ผมเข้าใจว่า เมื่อใช้วิธีการนี้แล้ว หากเกิดข้อผิดพลาดหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ขึ้นมาจะมีแผนสองมารองรับหรือไม่ 

ข้อผิดพลาดหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ในความหมายของผม ผมคิดว่าน่าจะเป็นในระดับที่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บต่อจิตใจ ความคิด ความรู้สึกของน้องปีหนึ่ง

เนื่องจากกิจกรรมทั้งหมด เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นเชิงบวกเป็นหลัก ผมไม่คิดว่าจะมีสิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น (เหมือนอย่างเชียร์แบบที่ทำอยู่ ที่มีนิสิตได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ จนถึงเสียชีวิตมาแล้วในมหาวิทยาลัยอื่นๆ)

ในส่วนเรื่องข้อผิดพลาดในวิธีทำกิจกรรมนั้น ก็เตรียมกันอยู่ครับ

 

 

ต่อนะครับ

(และได้ศึกษาถึงผลกระทบและวิธีการแก้ไขรองรับไว้หรือไม่ และเมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีการประเมินผลอย่างไรได้บ้าง ถึงความสำเร็จของแผนการในครั้งนี้ ไม่ใช่การวาดฝันในอุดมคติ โดยขาดการนึกถึงหลักความเป็นจริง)

ในส่วนผลกระทบและการประเมินผล ยังคุยกันไม่จบดีครับ เรื่องการประเมินผล สิ่งที่คิดอยู่คือ จะวัดอะไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าแค่ให้น้องปีหนึ่งรู้สึกดีกับกิจกรรมที่เตรียมไว้เหล่านี้ มีความรู้สึกดีดีกับเพื่อน กับรุ่นพี่ มีความใฝ่ฝันหรือตั้งใจที่จะถ่ายทอดสิ่งดีดี(ในความคิดของเค้า) ให้กับรุ่นต่อๆไป ผมว่าเยี่ยมแล้วครับ

ผมไม่คิดว่ากิจกรรมแค่ไม่กี่วัน(หรือเดือน) จะสร้างให้เกิดความสามัคคี ความมีวินัย ความเคารพรุ่นพี่ได้อย่างยั่งยืนครับ (ไม่อย่างนั้นเราก็คงเห็นนิสิตทุกคนแต่งตัวเรียบร้อย มีวินัยกันทั้งม.น. ไปแล้ว (ผมเปล่าประชดนะครับ แต่นี่คือความจริงที่เห็นอยู่ทุกๆวัน)

ผมคิดว่ามันไม่เป็นเส้นตรงครับ กิจกรรมรับน้องหรือเชียร์ที่ดีที่สุดในโลกเพียงช่วงเวลาเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทุกคนได้ในระยะยาว แต่ผมคิดว่าต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างมาก ที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น (seniority

ขอโทษครับ มือไปโดนปุ่มยังพิมพ์ไม่เสร็จเลย

เช่น ระบบ SOTUS (seniority, order, tradition, unity, s ตัวสุดท้ายจำไม่ได้ครับ)  ผมไม่คิดว่ากิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์จะทำให้เกิดและคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน อาจจะได้กับคนบางกลุ่มจริง แล้วคนส่วนใหญ่ล่ะครับ

อยากจะลองแลกเปลี่ยนดูสักเรื่อง เช่นเรื่องแต่งตัวเรียบร้อย ภาพที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ช่วงเชียร์น้องปีหนึ่งแต่งตัวเรียบร้อยทุกคน พี่วินัย พี่เชียร์แต่งตัวเรียบร้อยทุกคน แล้วพี่ๆที่เหลือล่ะครับ

ลองมาดูนิสิตทันตแพทย์ชั้นปีที่ 3-4-5-6 สิครับ แต่งตัวเรียบร้อยทุกคนครับ ผมไม่ได้ยกหางลูกศิษย์ตัวเองนะครับ  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากองค์ประกอบหลายๆอย่างมากนะครับที่ทำให้นิสิตแต่งตัวเรียบร้อย ทั้งจากตัวนิสิตเอง อาจารย์ทุกคนในคณะ ลักษณะอาชีพ คนไข้ของนิสิตฯลฯ

ออกนอกเรื่องไปหน่อยนะครับ ในเรื่องการประเมินหรือผลกระทบ หรือจะสำเร็จหรือเปล่า ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่าตัวชี้วัด หรือไม้บรรทัดที่เอามาทาบคืออะไร และผมก็คิดว่าไม้บรรทัดชื่อวินัย สามัคคี ไม่เหมาะที่จะใช้วัดครับ

อยากจะคุยต่ออีกเยอะมาก แต่เวลาหมดแล้ว ผมอาจจะไม่ได้เข้ามาอีกหลายวันครับ เพราะจะไปต่างจังหวัด ไม่รู้ว่าจะหาทางเข้ามาได้มั้ย

ขอบคุณ คุณ1234 มากนะครับ ที่เข้ามาคุยกันทางตัวหนังสือ ทำให้ผมเอามาคิดต่อได้สนุกเลยครับ คงจะเอาไปคุยกับทีมงานต่อด้วย

ถ้าบีเวอร์เข้ามาอ่าน มาแลกเปลี่ยนกันดูนะครับ น่าจะได้อะไรอีกเยอะเลย

  • บางสิ่งบางอย่าง หากไม่มีการเริ่มต้นใหม่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นดีกว่า เหมาะกว่า
  • การเปลี่ยนแปลง บางที่อาจไม่ดีกว่า แต่อย่างน้อย เราก็มีการเปลี่ยนแปลง
  • มันคงไม่เสียหายมากมายนักกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หากมีคนไม่เห็นด้วย หรือการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ดีขึ้น เราเองก็จะยอมรับ และก็ไม่ผิดหากจะกลับ ไปใช้วิธีการเดิม
  • คุณ 1234 บางทีก็คิดมากไป กิจกรรมเล่านี้ เป็นกิจกรรมเสริมให้เด็กได้รู้จัก ตัวเอง เพื่อน ครู อาจารย์ สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะวิธีไหน หากเป็นจุดประสงค์เดียวก็นก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร จริงไหมค่ะ
  • ทำต่อไปเถอะค่ะ อ.พิชิต บริทบของแต่ละคณะต่างกัน การจัดกิจกรรมให้เด็กเราย่อมรู้ว่าอะไรจะดึงตัวเด็กออกมาได้ สู้ๆๆ

เป็นนิสิตที่ได้ร่วมกิจกรรมเชียร์แบบเก่า (มีพี่ว้าก มีห้องเชียร์ให้ร้องเพลง) โดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกต่อต้านอะไรหรอกนะคะ แต่ก็ไม่ได้ประทับใจเท่าไหร่ ส่วนดีของกิจกรรมเชียร์แบบเก่าก็มี เท่าที่ได้ฟังความคิดเห็นคนอื่น ๆ มา เช่น สร้างความสามัคคี สร้างความมีวินัย แต่ตัวเองไม่ได้มองว่าการจะเกิดความสามัคคีในหมู่คณะจะเกิดขึ้นจากการเข้าห้องเชียร์ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความมีวินัยนั้นมีเยอะเชียวค่ะ ตลอดระยะเวลา 6 ปีในคณะฯ มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายที่สร้างความกดดันในการเรียน แต่ก็ผ่านพ้นกันมาได้จากความช่วยเหลือของทั้งอาจารย์ เพื่อน รุ่นพี่หรือแม้แต่รุ่นน้อง คิดว่าตรงนี้นี่แหละที่ทำให้รักกัน สามัคคีกัน ส่วนเรื่องระเบียบ วินัย ความซื่อสัตย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย การตรงต่อเวลา หรือการปฏิบัติต่อคนไข้ก็ได้แบบอย่างที่ดีมาจากอาจารย์และรุ่นพี่ จนทำให้ตัวเองรู้สึกละอายถ้าคิดจะทำอะไรที่ผิดระเบียบวินัย รู้สึกละอายจริง ๆ นะคะ ไม่ได้รู้สึกกลัวว่าจะโดนใครต่อว่าเอา

ตัวเองคิดว่าถ้าหากหวังผลเรื่องระเบียบวินัย ความสามัคคีจากในห้องเชียร์ ก็คงได้ผลในระยะเวลาช่วงหนึ่ง แต่ถ้าจะให้เกิดผลยืนยาวคิดว่าต้องอาศัยทั้งระยะเวลาและปัจจัยอื่นอีกมาก (ตรงนี้พูดยากค่ะ)

พอได้รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับน้อง แล้วรู้สึกตื่นเต้นแทนน้อง ๆ ที่จะขึ้นปี 1 นี้จังเลยค่ะ การนำเอาความสุขเป็นหัวข้อในการเข้าห้องเชียร์นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าติดตาม ถ้าได้เริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่ดี บรรยากาศที่เป็นสุข อย่างน้อยก็น่าจะสร้างความประทับใจให้น้องใหม่ปี 1 ได้ เป็นกำลังใจให้กับอาจารย์ (รวมทั้งเพื่อน ๆ ที่เป็นอาจารย์) ทุกคนนะคะ

สุดท้ายขอถามคุณ 1234 หน่อย ว่าหลักความเป็นจริงที่ว่าของคุณนี่คือยังไงหรือคะ แล้วทำไมถึงคิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการวาดฝันในอุดมคติโดยขาดการนึกถึงหลักความเป็นจริง ในเมื่อจุดประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือสร้างความสุขให้กับนิสิต แล้วการสร้างกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นดี ๆ ให้กันเพื่อให้เกิดความสุขก็ไม่เห็นว่าจะเป็นการวาดฝันในอุดมคติตรงไหนเลยเสียหน่อย (ขอโทษค่ะ คือว่าไม่เข้าใจจริง ๆ)

 

Dear Drill team,

This is a great activity during the college years. Knowledge can bring up the good to community, yet the belief and the faith in what you do is neccessary for one's successful life. For the comment#6, the last S in SOTUS is "Spirit"... :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท