I.Q. กับ Competency อะไรดีกว่ากัน?


ศาสตร์ทุกศาสตร์ มีความสำคัญในตัวเอง และก็มีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ด้วย

ผมได้อ่านบทความในคอลัมน์  กระแสคนกระแสโลก  ที่เขียนโดย  ดร.รัชนีวรรณ  วนิชย์ถนอม  ใน น.ส.พ.มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2550  ชื่อบทความว่า “จริงหรือที่ว่าการวัดสมรรถนะ  ดีกว่าการวัดความฉลาด”  เนื้อหาสรุปได้ดังนี้ครับ

David Mc Clelland  เขียนบทความชื่อ “Testing for Competence Rather than for Intelligence”  เมื่อปี 1973  ความโดยสรุปมีดังนี้
      1.  ผลการเรียนไม่ได้ทำนายผลสำเร็จในการประกอบอาชีพ
      2.  แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา  และแบบทดสอบความฉลาด  ไม่ได้ทำนายความสำเร็จทางอาชีพ  หรือความสำเร็จอื่นๆ ในชีวิต
      3.  แบบทดสอบและผลการเรียนที่ดูเหมือนทำนายผลงานได้นั้น  ความจริงแล้วเกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมของผู้เข้ารับการทดสอบ
      4.  แบบทดสอบไม่ยุติธรรมกับคนกลุ่มน้อย
      5.  สมรรถนะ (Competency) ทำนายพฤติกรรมในการทำงานได้ดีกว่าแบบทดสอบ

Barrett, G.V. & Dapinet, R.L. เสนอข้อมูลจากงานวิจัย  เป็นความเห็นที่ขัดแย้ง “Reconsideration of Testing for Competence Rather than for Intelligence.” เมื่อปี 1991  สรุปได้ดังนี้
      1.  ผลการเรียนมีค่าสหสัมพันธ์กับความสำเร็จทางอาชีพ
      2.  ความฉลาด  ทำนายผลการปฏิบัติงานได้
      3.  ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาด  และความสำเร็จในงาน  ไม่ได้เป็นผลมาจากฐานะทางสังคม
      4.  แบบทดสอบยุติธรรมกับคนกลุ่มน้อย
      5.  ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงว่า  สมรรถนะ (Competency) ทำนายผลการปฏิบัติงานได้

งานวิจัยของ Barrett, G.V. & Dapinet, R.L. ได้ผลตรงกันข้ามกับแนวคิดของ David Mc Clelland  โดยสิ้นเชิง

David Mc Clelland  แสดงความเห็นต่องานวิจัยข้างต้นว่า “ความฉลาด (Intelligence)เป็นสมรรถนะพื้นฐาน (Basic Competency) ที่ผู้ที่ทำงานทุกคน  ทั้งที่มีผลงานโดดเด่น  และผู้ที่มีผลงานปานกลาง  จำเป็นต้องมีเหมือนๆ กัน  เมื่อทุกคนมีความฉลาดในระดับหนึ่งแล้ว  ความฉลาดจะไม่แสดงความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงานอีกต่อไป (Mc Clelland 1993)

ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมครับ?

ข้อสรุปของ David Mc Clelland  ก็คือเครื่องชี้บ่งระดับเชาวน์ปัญญา (I.Q.) เป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะ (Competency) และถือเป็นสมรรถนะพื้นฐาน (Basic Competency)

ต้องทบทวนเล็กน้อยนะครับ

I.Q. (Intelligence Quotient) เป็นคะแนนที่ใช้เพื่อให้ทราบถึงระดับความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของบุคคล  ในช่วงระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการทดสอบว่าอยู่ในระดับสูงต่ำ  มากน้อยเพียงใด  เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยของบุคคลที่มีระดับอายุเดียวกันกับตน  และเมื่อมีการพูดถึงค่า I.Q. ที่เป็นจำนวนตัวเลข  ก็ควรจะมีชื่อแบบทดสอบซึ่งเป็นที่มาของ I.Q. นั้น  กำกับอยู่ด้วย  เช่น  จากแบบทดสอบสแตนฟอร์ด  บิเนท์  สมชายมี I.Q.  150  ระดับเชาวน์ปัญญา Very Superior (อัจฉริยะ) เป็นต้น

Competency ความหมายแรก “ทักษะ  สมรรถนะ  ความรู้  ความสามารถ  ความชำนาญ  แรงจูงใจ  หรือคุณลักษณะที่เหมาะสมของบุคคลที่จะสามารถปฏิบัติงานให้ประสบผลสำเร็จ” ส่วนความหมายที่สอง  หมายถึง “บุคลิกลักษณะของคนที่สะท้อนให้เห็นถึง  ความรู้ (Knowledge)  ทักษะ (Skills)  ทัศนคติ (Attitude)  ความเชื่อ (Belief)  และอุปนิสัย (Trait)

Competency  แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ  1) Core Competency  2) Job Competency  และ 3) Personal Competency

ผมเดาเอาว่า David Mc Clelland  อาจทึกทักว่าความฉลาด  เป็น  Core Competency  หรือ Basic Competency ก็ได้

สำนวนไทยว่า “ความรู้ท่วมหัว  เอาตัวไม่รอด” จะหมายถึง  มีเชาวน์ปัญญา (I.Q.) อย่างเดียวเอาตัวไม่รอด  หรืออย่างไร?

พระสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร)ว่า  “อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว  ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”  จะหมายถึงมีเชาวน์ปัญญา (I.Q.) แล้ว  ต้องมีสมรรถนะ (Competency) ด้วย  หรือเปล่าหนอ?

ถ้าใช่  โบราณเรา  กวีไทยเรา  ก็คิดได้ก่อน David Mc Clelland  และ Barrett, G.V. & Dapinet, R.L. เป็นไหนๆ  ใช่ไหมครับ?

ลองทำวิจัยด้วยตัวเองง่ายๆ ดูซิครับ

ตลอดชีวิตการเรียนตั้งแต่ประถมศึกษา  มัธยมศึกษาตอนต้น  มัธยมศึกษาตอนปลาย  ปริญญาตรี (ถ้าเรียนปริญญาโท  ปริญญาเอกด้วยก็เอามานึกนะครับ)  นึกดูว่าเพื่อนๆ ที่เรียนเก่งกว่าเราในทุกระดับ  เดี๋ยวนี้ไปอยู่ไหนกัน?  ทำอาชีพอะไรกัน?  ประสบความสำเร็จในอาชีพหรือไม่?  ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่?

วิจัยแล้ว  ได้คำตอบอย่างไรครับ?

ศาสตร์ทุกศาสตร์  มีความสำคัญในตัวเอง  และก็มีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ด้วย

การเรียนรู้แต่ละศาสตร์ (Single disciplinary) การเรียนรู้ศาสตร์ที่เป็นเพื่อนกัน  ที่เรียกว่า สหวิทยาการ (Inter-disciplinary) และการเรียนรู้ศาสตร์ที่แตกต่างแต่สัมพันธ์กัน  ที่เรียกว่า พหุวิทยาการ (Multi-disciplinary) เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

สำหรับผู้บริหาร  นอกจากเรียนรู้แล้วต้องรู้จักใช้ให้เป็นด้วย

การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด  แต่ยากตอนลงมือทำครับ

 

หมายเลขบันทึก: 98110เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตอนแรกคิดว่า IQ อยุ่ใน Competency  เพราะการที่คนจะมีสมรรถนะ ความสามารถ ก็ต้องมี IQ ในตัวเอง แต่สงสัยเข้าใจผิด
  • การบริหารไม่ยาก การคิดก็ไม่ยาก ดูแต่ละอย่างง่ายไปหมด แต่ที่สำคัญคือขั้นตอนลงมือทำ(ให้ประสบความสำเร็จนี่แหละ)

  • กำลังจะเข้าใจนะนี่   
  • คนละอย่างเลยใช่ไหมคะ
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท