ปัจจัยมองผ่านแว่นระบบสวัสดิการชุมชน


ระบบการจัดการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อสร้างสวัสดิการตามเป้าหมายข้างต้นคือแก่นแกนของเรื่อง

การศึกษาจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เชื่อมโยงเป็นความสัมพันธ์ในกลุ่มใดบ้างผมมีความเห็นดังนี้

ระบบพื้นฐานคือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์
ในช่วงเริ่มแรก ตอนที่มนุษย์ยังต้องเดินท่องหาอาหารเป็นสังคมเร่ร่อน มนุษย์จะย้ายที่ไปเรื่อยๆตามแหล่งอาหาร ในลำน้ำ ป่า ทะเล หาที่หลบภัยคือถ้ำ เมื่อมนุษย์ตั้งหลักแหล่งและเริ่มรู้จักการเพาะปลูก  ฐานทรัพยากรตามภูมินิเวศจะกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์
การเรียนรู้คือปัญญาทั้งทักษะการผลิตและความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติกำหนดวัฒนธรรมที่ผูกโยงเข้ากับการผลิต และการละเล่นเพราะชีวิตคือการผลิตอาหาร การต่อสู้กับภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ สัตว์และผู้รุกรานซึ่งเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่รังสรรค์เป็นการละเล่น/บวงสรวงเทพเหนือ ธรรมชาติอยู่ในนั้นด้วย

การผลิตและการแลกเปลี่ยนซึ่งก็คือระบบเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยชุดที่2ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทักษะการผลิต(ภูมิปัญญา)ที่เชื่อมโยงการผลิต การละเล่นของคนภายใต้ทวยเทพ และผีต่างๆ คือระบบสังคมวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยชุดที่3และ4

ที่จริงสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุคเร่ร่อนจนถึงปัจจุบันย่อมมีผู้นำและผู้ตามรวมทั้งความสัมพันธ์ที่จัดตัวอย่างเหมาะสมเพื่อการอยู่ร่วมกันคือสิ่งที่เรียกว่าระบบการเมืองการปกครองในปัจจุบันซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อทำความเข้าใจระบบโดยรวมของวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์

แว่นที่ใช้มองพลวัตของระบบสวัสดิการชุมชนในปฏิสัมพันธ์กับระบบอื่นๆตามเงื่อนไขเพราะสิ่งนี้43 ปัจจัยคือ 1)ระบบการเมืองการปกครอง 2)ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ 3และ4)ระบบเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

คำอธิบายว่าทำไมลุ่มเจ้าพระยาซึ่งดินดีเหมาะแก่การปลูกข้าวจึงกลายเป็นเมือง อุตสาหกรรมและพานิชกรรม ถมที่นาสร้างตึกระฟ้าไปทั่ว  คำอธิบายของผมคือ

เริ่มแรกมาจากปัจจัยด้านการเมืองและทรัพยากรธรรมชาติ ภายหลังมาจากปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเป็นสำคัญโดยเฉพาะศก.เสรีนิยมภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ด้วยระบบสังคมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เป็นเมืองหลวงเชื่อมต่อกับโลกภายนอก

ปัจจัยทั้ง4 เป็นกรอบเรื่องราวที่ครอบคลุมปัจจัยภายในทั้งหมด       ซึ่งระบบการจัดการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อสร้างสวัสดิการตามเป้าหมายข้างต้นคือแก่นแกนของเรื่อง

งานสังเคราะห์ความรู้ในเรื่องนี้(พลวัตระบบสวัสดิการชุมชนในประเทศไทย)ก็เพื่อตรวจสอบงานศึกษาที่มีมาทั้งจากเอกสาร ผู้รู้ และการสังเกตเท่าที่เวลาอันจำกัดจะทำได้ เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวม เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น และประมวลรวมทั้งประเมินขบวนสวัสดิการชุมชนที่น่าสนใจซึ่งกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน
สุดท้ายคือประเด็นสำคัญที่เป็นข้อเสนอเพื่อปรับดุลยภาพของระบบต่างๆทั้งด้านนโยบาย/กฎหมาย และกลไกปฏิบัติของรัฐส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น เอกชนและประชาสังคม กับระบบ/ขบวนสวัสดิการชุมชนเพื่อไปสู่เป้าหมายคือสร้างสวรรค์บนดินร่วมกัน
  
หมายเลขบันทึก: 98103เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

จะเอางานอาจารย์ภีมทั้ง 4 เรื่องมาเรียงต่อกันแล้ว comment รอบเดียวในบล็อก econ4life นะคะ

แต่ว่า ... ท่านจะมีตอนที่ 5 รึเปล่า ...จะได้รอ

 

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

พอดีอ่าน 4 ตอนจบได้เร็วกว่าที่คิด  และเห็นว่าแสดงความเห็นทีละประเด็นไว้ที่บล็อกนี้จะง่ายกว่า 

 

ประเด็นนิยาม 

 

 

การกำหนดว่า ระบบสวัสดิการชุมชน เป็นสิ่งที่คนในชุมชนร่วมกันทำ หรือ ระบบการจัดการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน   ช่วยให้ตีกรอบการวิเคราะห์ได้มาก แต่ฝากอาจารย์ภีมช่วยพิจารณาว่า  การวางกรอบดังกล่าวจะมีนัยยะต่อไปนี้ใช่หรือไม่  เช่น 

  

  กิจกรรมระดับปัจเจกไม่ใช่สวัสดิการชุมชน  เช่น   ชาวนาแต่ละครัวเรือนปลูกข้าวไว้กินไว้ขาย  แม้จะเป็นการสร้างปัจจัยสี่ ก็ไม่ใช่สวัสดิการชุมชน   แต่ถ้ามีกลุ่มสหกรณ์ชาวนามาวางแผนการผลิตร่วมกันจึงจะเป็นหนึ่งใน ระบบสวัสดิการชุมชน

 

  กิจกรรมที่อยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบหนึ่งต่อหนึ่งหรือหนึ่งต่อสอง หรือ หนึ่งต่อสิบไม่ใช่สวัสดิการชุมชน   เช่น   ลูกบ้านพึ่งพาผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ตัวเองมีความปลอดภัย    การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันระหว่างเพื่อนบ้านข้างเคียง  ไม่ใช่ระบบสวัสดิการชุมชน

 

  สวัสดิการที่จัดการโดยครอบครัวไม่ใช่ระบบสวัสดิการชุมชน     ทั้งที่สวัสดิการในระดับครอบครัวเป็นฐานสำคัญของระบบสวัสดิการในเมืองไทยมาแต่อดีต  เช่น  คนแก่มีลูกหลานดูแล

  แต่ด้วยนิยามของอาจารย์ภีมข้างต้น ก็อาจทำงานง่ายขึ้น คือ ไปดูว่า  ในยุคสมัยต่างๆ ชุมชนมีการรวมตัวกันทำอะไรบ้าง  เพื่ออะไร   พัฒนาไปอย่างไร เป็นต้น

 

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

การสร้างสวัสดิการเพื่อตนเอง
การสร้างสวัสดิการเพื่อคนในครอบครัว และ
เพื่อนละแวกบ้าน รวมทั้ง
การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดสวัสดิการร่วมกัน

มีเส้นตัดตามนิยาม "ระบบสวัสดิการชุมชน"ตรงไหน?

ผมคิดว่า เส้นตัดอยู่ตรงที่
การสร้างสวัสดิการเพื่อตนเอง และ
การสร้างสวัสดิการเพื่อคนในครอบครัว ถือว่า         เป็นการจัดสวัสดิการเพื่อตนเองและครอบครัว
แยกออกได้เลย

สำหรับ การสร้างสวัสดิการของเพื่อนละแวกบ้านหากเป็นเฉพาะกลุ่มเล็กๆของคนรู้จักกันภายใน"ชุมชน" เช่น บ้านจัดสรร ไม่ถือว่าเป็นระบบสวัสดิการชุมชน

จะนับว่าเป็นก็ต่อเมื่อในชุมชนนั้นมีกลุ่มดังกล่าวอยู่ทั่วไปหมดจนสามารถแกะหาโครงสร้างที่มาของระบบความสัมพันธ์นั้นได้ เช่นในหมู่บ้านที่มีการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มๆตามฐานเครือญาติกระจายไปทั่ว ถือว่า
เป็นระบบสวัสดิการชุมชนบนฐานเครือญาติ

สำหรับการรวมกลุ่มร่วมกันจัดสวัสดิการที่มีโครงสร้างระบบการจัดการชัดเจน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน จัดเป็นระบบสวัสดิการชุมชนที่ใช้ฐานเครือญาติ/คนรู้จักกันเป็นเครื่องมือที่สามารถหลอมรวมการจัดสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเครือญาติให้กว้างขวางขึ้น

ในกรณีการรวมกลุ่ม หากเป็นกลุ่มในที่ทำงาน
หากรวมกันเฉพาะจุดเล็กๆก็อาจเปรียบได้กับคนละแวกบ้าน ความหมายอยู่ที่คำว่า"ชุมชน"       ซึ่งควรจะครอบคลุมโครงข่ายความสัมพันธ์ร่วมในเชิงพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย/กิจกรรมใดๆในระดับหนึ่ง เช่น คุณส้มจากสกว.ปรึกษาผมว่าจะทำกองทุนสวัสดิการในสกว. ถ้าทำกันในกลุ่มไม่กี่คนโดยที่คนทั่วไปในองค์กรไม่รับรู้หรือไม่อาจเข้าร่วมได้   ถือว่าไม่ใช่สวัสดิการชุมชน แต่ถ้าคนรับรู้แต่ไม่เข้าร่วมก็ไม่เป็นไร ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรับรู้และโอกาสที่เปิดให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

อย่างไรก็ตาม ก็คงมีภาพเหลื่อมซ้อนที่ไม่รู้ว่าจะตัดตรงไหนได้เหมือนกัน เพราะเป็นความคิดนามธรรม ไม่เหมือนตัวเลขที่บอกว่าต่ำกว่า50ก็ตัดได้เลย    นอกจากนี้ รูปธรรมของนิยามนี้ก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เช่น ระบบสวัสดิการชุมชนบนฐานเครือญาติในสังคมไทยลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ในขณะที่มีรูปแบบใหม่ๆที่ก่อรูปขึ้นเป็นระบบสวัสดิการชุมชน ทั้งนี้เพราะ "ชุมชน"มีการปรับตัวเปลี่ยนรูปอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งครับ

      ตามอ่านบันทึกของอ. ภีมมาตลอดเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประโยชน์กับการทำงานโดยตรง  มีประเด็นแลกเปลี่ยนเรื่องนิยามของคำว่าสวัสดิการ ที่สำนักงานพอช. พวกเรามีกลุ่มกิจกรรมอยู่กลุ่มหนึ่งในตอนแรกใช้ชื่อว่ากลุ่มเพื่อนเพื่อเพื่อน (พพพ.)เป็นกลุ่มกิจกรรมที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อสังคมเช้นกิจกรรมออกค่ายพัฒนาชนบท ซึ่งคนส่วนหนึ่งที่ทำงานสนับสนุนส่วนกลางจะไม่ค่อยมีโอกาศทำงานในชุมชน กิจกรรมเพื่อเด็กผู้ยากไร้ ต่อมากลุ่มกิจกรรมดังกล่าวก็พัฒนา เป็นการคิดเรื่องสวัสดิการของคนทำงานที่เกิดจากความสมัครใจ ใช้ชื่อว่า " กองบุญเกื้อกูล " ที่มาของกองบุญก็ได้จากการบริจาคเงินของพนักงานโดยสมัครใจ ระเบียบการใช้กว้างขวางครอบคลุมทั้งคนที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก  จนดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งเงินกองบุญเหลือน้อย และมีกระแสจากเพื่อนร่วมงานว่าน่าจะปรับระเบียบการใช้ดดยคำนึงถึงคนที่บริจาคและเป็นสมาชิกก่อนและให้กองบุญนี้ครอบคลุมถึงการจ่ายสวัสดิการให้กับบุคคลในครอบครัว (ซึ่งปัจจุบันระเบียบพอช.ไม่มีสวัสดิการถึงครอบครัว และใช้ชื่อกองทุนใหม่ว่า " กองทุนสวัสดิการผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว " ที่มาของกองทุนก็มีการระดมจากผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยเดือนละ 50 บาท ต่อคน ใครจะจ่ายมากกว่า50 บาทก็จะดีมาก  โดยระเบียบการจ่ายก็จะจ่ายในส่วนที่หน่วยงานไม่สามารถเบิกได้ และในเรื่องนี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ให้และรับอย่างมีศักดิ์ศรีและในฐานะองค์กรที่ทำงานสนับสนุนเรื่องนี้จะได้มีประสบการณ์ตรงด้วย
เท่าที่ร่วมประชุม และอ่านบล็อกของคุณภีม  คิดว่าพอจะสรุปกรอบการสังเคราะห์ได้ดังนี้ค่ะ โจทย์ 1. การจัดสวัสดิการโดยชุมชนเป็นอย่างไร  เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  เพราะเหตุใด  ผลเป็นอย่างไร 2. ดุลยภาพที่เหมาะสมสำหรับการจัดสวัสดิการชุมชนโดยรัฐ  เอกชน และชุมชน ควรเป็นอย่างไร  (คิดว่าคงมองทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์  ทิศทาง  รูปแบบ และขนาด)   สมมติฐาน (เป็นการประมวลจากสิ่งที่ทีมงานคุยกัน  แต่คิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องพิสูจน์หรือสังเคราะห์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นระบบ ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่เพราะอะไร)  1.  นิยามของสวัสดิการชุมชนเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมที่เปลี่ยนไป  (ความเห็นหลายท่าน) 2. ในเชิงพลวัตร การแปรรูปของระบบความสัมพันธ์ทำให้ระบบการจัดสวัสดิการในชุมชนเปลี่ยนรูปไปด้วย  (ความเห็น อ.ภีม)  (คิดว่า  เราคงต้องมีสมมติฐานอีกหลายข้อที่จะอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อพลวัตรระบบสวัสดิการชุมชน) 3. ณ.เวลาหนึ่ง ฐานวัฒนธรรมและฐานทรัพยากรที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ทำให้เป้าหมายของสวัสดิการ   รูปแบบ และความสำเร็จของการจัดสวัสดิการในแต่ละพื้นที่ต่างกัน  (อ.สีลาภรณ์) 4.   การจัดสวัสดิการบนฐานวัฒนธรรมและฐานทรัพยากรมีความเชื่อมโยงกัน (อ.เพิ่มศักดิ์) 5.   วัตถุประสงค์การจัดสวัสดิการโดยรัฐ  โดยเอกชน  และโดยชุมชนแตกต่างกัน (อ.ภีม) 6.  การเข้ามาแทรกแซงโดยรัฐ  หรือการจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐ มีความขัดแย้งกับฐานวัฒนธรรมและมีผลกระทบต่อชุมชน  (ปลัดผึ้ง  อ.นฤมล  อ.อรศรี)  (นี่เป็นปัจจัยอีกข้อที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการชุมชนทำนองเดียวกับข้อ 2  แต่ดูเหมือนทีมงานจะมองในเชิงลบ   ซึ่งต้องพิสูจน์  เพราะจริงๆแล้ว อาจมีบางกิจกรรมที่ส่งผลในเชิงบวก   การวิเคราะห์ว่ากิจกรรมหรือนโยบายโดยรัฐส่งผลด้านบวกหรือลบเพราะเหตุใด  จะช่วยในการหาคำตอบเรื่อง  ดุลยภาพที่เหมาะสมได้) 7.   รัฐ  เอกชน  ชุมชน มีเครื่องมือในการจัดสวัสดิการที่ต่างกัน (ข้อเสนอเพิ่มเติมของปัทเอง  ....ตามทฤษฎี  รัฐมีอำนาจสั่งการและควบคุมโดยมีกฎหมาย และ งบประมาณเป็นเครื่องมือ    เอกชนใช้วิธีสร้างแรงจูงใจ คือ ประโยชน์สุทธิ    ส่วนชุมชนใช้กติกาที่ยอมรับร่วมกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และมีข้อมูลดีกว่า …. เนื่องจากแต่ละสถาบันมีเครื่องมือต่างกัน จึงมีจุดแข็งต่างกัน  รัฐมีค้อน  เอกชนมีเงิน  ชุมชนมีใจ  เครื่องมือแต่ละอย่างย่อมทำงานได้ดีในสถานการณ์หรือวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน   การนำจุดแข็งทุกเครื่องมือมาใช้ตามสถานการณ์  น่าจะมีประโยชน์กว่า) 8.   มีสวัสดิการบางมิติที่ชุมชนไม่สามารถจัดการเองได้เองทั้งหมด  จึงควรมีการสนับสนุนโดยรัฐ หรือ เอกชน  (ข้อเสนอเพิ่มเติมของปัท ...สวัสดิการในมิติที่ว่า คืออะไร?  ข้อจำกัดของชุมชนคืออะไร?)  

ถ้าไม่มีสมมติฐานข้อที่ 8  โจทย์เรื่องดุลยภาพก็ไม่จำเป็น  เพราะให้ชุมชนจัดการเองทั้งหมดทุกเรื่องได้

 

เป็นปัญหาการจัด format ค่ะ

ขอเพิ่มเติมอีกนิดว่า...  จากบทสังเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่สอง  คงจะบอกได้ว่า อะไรที่รัฐควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ ...เพราะเหตุใด

แสดงความเห็นมาเพื่อแลกเปลี่ยนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท