รายงานระบบวันที่ 13-19 พ.ค. 2550


สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่ผมฝากเครื่องแม่ข่ายไว้กับโชคชะตาครับ เพราะเป็นสัปดาห์ที่วุ่นมาก ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ หรือการประชุมต่างๆ ที่ซ้อนกันมา และที่สำคัญเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อร่วมงาน KM ของกรมการแพทย์ครับ

การดูแลเครื่องแม่ข่ายนี่ก็เป็นงานที่แปลกอยู่เหมือนกัน เพราะไม่ว่าเราจะไปไหนก็ตาม เราก็จะคอยนึกอยู่ว่า "เครื่องเป็นยังไงบ้างนะ" ที่จริงน่าจะเรียกเครื่องเหล่านี้ว่าเครื่องลูกข่ายแล้วเราเป็นแม่ (พ่อ) ข่ายมากกว่า แต่ที่ทำให้ไม่กังวลก็คือ แม้ว่าเราจะวุ่นจนไม่ได้ดู แต่เรามีพี่เลี้ยง (INET) ดีครับ

ด้วยเหตุวุ่นๆ ของผมดังกล่าว ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบในเชิงการพัฒนาโปรแกรมหรือแก้ไขปัญหาของระบบครับ

ตอนผมอยู่กรุงเทพฯ นั้น ได้พยายามเข้าใช้ GotoKnow ผ่าน GPRS ของ DTAC แต่ผมพบว่าความเร็วของ GPRS ช้ามากกว่าที่เคยใช้ในอดีตครับ เรียกว่าช้าขนาดที่ใช้งานอะไรไม่ได้เลยทีเดียวครับ

เมื่อกลับมาหาดใหญ่ ผมพบว่าจากข้อมูลสถิติเครื่องแม่ข่ายสัปดาห์ที่แล้วทำงานได้เหมือนเช่นสัปดาห์ก่อนหน้านั้น คือไม่ช้าแต่ก็ไม่เร็ว ทั้งนี้ตามศักยภาพของเครื่องแม่ข่ายในการรับผู้ใช้บริการในปริมาณที่เรามีอยู่ในขณะนี้

เรื่องการเพิ่มความเร็วของระบบนี้เป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะผมเชื่ออย่างยิ่งว่าถ้าเราได้มีโอกาสปรับระบบให้เร็วขึ้นกว่านี้ได้ อันดับของ GotoKnow จะเพิ่มขึ้นกว่านี้มากครับ

ในขณะนี้เราเป็นเว็บอันดับ 80-90 ของประเทศไทย แต่ถ้าระบบเราเร็วเพียงพอ ผมเชื่อว่าอันดับที่แท้จริงของ GotoKnow น่าจะอยู่ที่ไม่เกินอันดับที่ 50 ของประเทศไทยครับ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา INET ได้อนุเคราะห์ให้เรายืมเครื่องแม่ข่าย 4 เครื่อง แต่ผมไม่ได้มีโอกาสจัดการใช้เครื่องแม่ข่ายเหล่านั้นเลย (พึ่งได้มีโอกาสเริ่มนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบวันนี้ (22) นี่เอง)

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาคุณ Conductor ได้แจ้งผมว่าเครื่องแม่ข่ายได้ช้าไปมากตั้งแต่วันเสาร์ ผมได้ทำการ restart โปรแกรมของเราและปรากฎว่าการตอบสนองของเครื่องก็เร็วขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผมไม่ได้มีโอกาสแก้ไขมากกว่านั้นครับ

ต่อมาในวันจันทร์เมื่อดูจาก real-time stat ที่ INET ได้กรุณาจัดทำไว้ให้เพื่อ monitor เครื่องแม่ข่ายของเรา ปรากฎว่าระบบได้ช้าลงมากอย่างน่าใจหาย เมื่อสืบค้นต้นตอปัญหา ปรากฎว่าอยู่ที่ NFS อีกแล้ว

ปัญหา NFS นี้เป็นปัญหาที่เราเจออย่างต่อเนื่องมาตลอดเดือนนี้ก็ว่าได้ และก็อยู่ที่ NFS ส่วนที่อยู่กับ Ubuntu เพราะในตอนนี้เรายังใช้ Ubuntu เป็น NFS server อยู่บางส่วน ผมคิดว่าภายในสัปดาห์นี้ต้องพยายามหาโอกาสย้ายงาน NFS มาอยู่ใน FreeBSD ให้หมด เนื่องจากผมมีสมมติฐานว่า NFS ใน FreeBSD ทำงานดีกว่า NFS ใน Ubuntu อย่างมาก

เมื่อค้นหาใน Google ก็พบว่ามีผู้บริหารเครื่องแม่ข่ายทั่วโลกบ่นเกี่ยวกับ NFS ใน Ubuntu อยู่ไม่น้อยทีเดียว เรื่องนี้ต้องค้นหาสาเหตุและแก้ไขปัญหากันต่อไปครับ

ในสัปดาห์นี้ผมจะใช้เครื่องแม่ข่ายที่ได้รับเพิ่มมาอีก 4 เครื่องในการผ่อนแรงเครื่องแม่ข่ายหลัก เชื่อว่าน่าจะทำให้เวลาในการตอบสนองของ GotoKnow ดีขึ้นแน่นอนครับ
คำสำคัญ (Tags): #deadlock#freebsd#nfs#ubuntu
หมายเลขบันทึก: 97956เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์...

เข้ามาเยี่ยม และเป็นกำลังใจ...

อาตมาไม่รู้เรื่องที่อาจารย์เล่ามา...

แต่คาดหมายว่า ความสะดวกในการใช้งานของโกทูโน... จะต้องมีความยุ่งยากอยู่เบื้องหลัง... และอาจารย์ก็เป็นแก่นหลังที่ทำให้ความยุ่งยากต่างๆ คลี่คลายไปตลอด....

เจริญพร 

เดี๋ยวนี้ True มี Wifi ขายแล้วอะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์  

มาแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจค่ะ

คำตอบนี้น่าลองไหมครับ

ผมคิดว่าการระบุ timeo/retrans อาจจะช่วยไม่ให้ Ubuntu ติด race condition หรือหลงตะเลิดเปิดเปิงไปได้บ้างครับ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ เดี๋ยวจะทดลองดูครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่ช่วยดูช่วยแก้ไขตลอดเวลา
  • แวะมามุงให้กำลังใจครับ
ตามมามุงให้กำลังใจอ.ธวัชชัยและส่งข่าวว่าชอบมากค่ะ กับการรายงานทุกสัปดาห์เช่นนี้ มีโอกาสเปิดเน็ตที่จ.ระนองซึ่งใช้ modem ต้องยอมแพ้ไปโดยปริยายค่ะ เพราะช้ามากไปไม่ถึงไหนเลย ทำให้เห็นใจใครต่อใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศในการเข้าถึงข่าวสารความรู้ทางเน็ตนะคะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท