กระเป๋านักเรียน : ต้นเหตุเด็กไทยโครงสร้างเพี้ยน


กระเป๋านักเรียน : ต้นเหตุเด็กไทยโครงสร้างเพี้ยน

กระเป๋านักเรียน : ต้นเหตุเด็กไทยโครงสร้างเพี้ยน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2550 07:57 น.
       ปัจจุบัน ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า สภาพร่างกายและโครงสร้างทางร่างกายของเด็กไทยยุคปัจจุบันนี้ผิดเพี้ยนจากเดิมไปมาก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำรงชีวิตที่ไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นเพราะหิ้วกระเป๋าหนักมากเกินไป หรือก็นั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
       
       มงคล ศรีวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปรับสมดุลและเพิ่มพลังชีวิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อธิบายว่า การที่หิ้วกระเป๋าหนักๆ หรือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ นั้น ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว โดยเส้นจะตึงไปตลอดทั้งตัว ซึ่งจากการที่เคยตรวจสภาพความยืดเหยียดให้เด็กนักเรียนพบเด็กไทยมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นยึดเส้นตึงเป็นจำนวนมาก และนำมาซึ่งปัญหาด้านข้อต่อของกระดูก
       
       “สังคมไทยเข้าใจผิดอย่างมากคิดว่า ปัญหาเรื่องเส้นยึดหรือข้อต่อเสื่อมนั้น เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุวัยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กไทยเป็นจำนวนมาก แต่พ่อแม่ ครูหรือบุคคลทางการแพทย์ยังไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เพราะคิดว่าวัยเด็กเป็นวันที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากนัก เริ่มตั้งแต่เด็กในวัยประถมศึกษาเรื่อยไปจนถึงมัธยมศึกษา ที่ต้องหิ้วกระเป๋าใบโตไปโรงเรียนจะประสบปัญหาเหล่านี้อย่างมาก เด็กที่หิ้วกระเป๋าหนักมากๆ จะเกิดอาการไหล่เอียงและทำให้กระดูกสันหลังคด โค้ง”
       
       “ต่อมาแม้ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อนุญาตให้ใช้กระเป๋าเป้สะพายหลัง เพื่อให้น้ำหนักเกิดความสมดุล แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่กระดูกสันหลังยังไม่แข็งแรง เมื่อมีกระเป๋าไปกดทับตรงแนวไหล่ ข้อต่อไหล่ของเด็กจึงเริ่มใช้ไม่ได้ สังเกตได้จากเด็กจะยกมือชูขึ้นเพื่อให้ขนานกับกกหูไม่ได้ และหากไม่ช่วยแก้ไขปัญหาให้เด็ก อาการที่เส้นถูกกดทับไหล่จะรุนแรงมากขึ้น เด็กบางคนเกิดปัญหาเส้นที่ถูกกดทับจะไปกดทับเส้นเลือดที่ต้องไปเลี้ยงหัวใจ เด็กจะเริ่มเหนื่อย หายใจไม่เต็มปอดเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจเกิดตีบ ในที่สุดอาจจะเป็นโรคหัวใจได้”
       
       มงคลแนะนำว่า พ่อแม่และครูต้องคอยสังเกตเด็กและทดสอบเด็กในเรื่องของความยืดหยุ่นของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อไหล่ และต้องพยายามปรับแก้ท่าทางของเด็กให้เกิดความสมดุล นอกจากนี้กระเป๋านักเรียนควรจะใช้กระเป๋าลากดีกว่ากระเป๋าหิ้วและกระเป๋าสะพาย เพราะการลากกระเป๋าจะทำให้น้ำหนักลงที่พื้น ดีกว่าให้น้ำหนักกระเป๋ามาลงบนร่างกายเด็ก เพราะร่างกายเด็กยังไม่แข็งแรงพอ
       
       ดังนั้น อยากให้ ศธ.และโรงเรียนทุกโรงในสนใจปัญหาโครงสร้างร่างกายเด็กให้มาก ถ้ายังไม่ช่วยกันการกดทับลงไปสู่กระดูกสันหลังของเด็ก หมอนรองกระดูกจะเกิดปัญหา และถ้าเมื่อไหล่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเด็กจะทุกข์ทรมานมาก อาจจะส่งผลในขณะที่กำลังเรียนอยู่หรือมีอายุมากขึ้น เป็นการสั่งสมมาจากการใช้โครงสร้างทางร่างกายแบบผิดๆ ตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยเรียนแทบทั้งสิ้น ทุกวันนี้เราจึงเห็นคนเดินไหล่เอียงมากขึ้น โดยที่เจ้าตัวไม่เคยรู้มาก่อน
       
       สำหรับวิธีการทดสอบและสังเกตเด็กๆ เกี่ยวกับโครงสร้างร่างกายวิธีง่ายๆ ก็คือให้เด็กยืนตรงจากนั้นให้เขายกขาข้างหนึ่งขึ้น และให้ยืนบนขาที่ถนัดที่สุด ต้องทรงตัวให้อยู่นิ่งๆ จากนั้นให้เด็กหลับตา พร้อมกับนับ 1-10 ให้ได้ ถ้ายืนได้แสดงว่าสภาวะจิตของเด็กคนนั้นปรับสมดุลตัวเองได้ แต่บางคนทรงตัวไม่ได้ ต้องช่วยปรับการใช้โครงสร้างที่ถูกให้เด็กๆ ทันที ด้วยการแก้ปัญหาเส้นด้วยการนวด จากนั้นต้องสอนวิธีบริหารร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งการบริหารร่างกายด้วยโยคะควรคู่กับไทเก๊กจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และต้องปรับวิถีชีวิตในการใช้โครงสร้างของร่างกายให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นคุณภาพชีวิตในอนาคตของเด็กไทยจะแย่ลงๆ
หมายเลขบันทึก: 97848เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 05:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เพิ่มเติมจาก นสพ.แนวหน้าครับ

สกู๊ปแนวหน้า
เรื่องหนักๆ ในกระเป๋านักเรียน..... เด็กแบกหนังสือเกินตัว/เสี่ยง"หลังหัก" (สกู๊ปแนวหน้า)
"เปิดเทอม".....

เมื่อไร ภาพที่เราจะได้เห็นคงหนีไม่พ้นบรรดานักเรียนทั้งหิ้ว ทั้งแบก "กระเป๋าใบใหญ่" ที่บรรจุอุปกรณ์การศึกษา ทั้งหนังสือ เครื่องเขียน ฯลฯ เดินเข้าโรงเรียน เด็กหลายคนอาจตัวใหญ่ ไม่มีปัญหาถ้ากระเป๋านักเรียนจะใหญ่กว่ารูปร่าง แต่กับเด็กตัวจิ๋ว ถ้าต้องแบกกระเป๋าใบมหึมา หนากว่ารูปร่าง รู้หรือไม่ว่านั่นคือ.....

"อันตราย"!!!

"อิฐบูรณ์ อ้นวงษา" บรรณาธิการวารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ทุกวันนี้เด็กไทยจำนวนหนึ่งต้องเข้าเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจนถึงเกือบบ่าย 3 โมงเย็น ใช้เวลาอยู่ในห้องเรียน 7-8 ชั่วโมง ต้องเรียนหนังสือกันวันละ 6 คาบ คาบละ 50-60 นาที ตกสัปดาห์ละ 30-40 ชั่วโมงเรียน ตลอดสัปดาห์เด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ซึ่งมีอายุระหว่าง 6-12 ปี ต้องใช้หนังสือเรียนและสมุดคู่มือประมาณ 20 รายการ แต่ละรายการอาจมีน้ำหนักตั้งแต่ 50-300 กรัม บางวิชาต้องใช้ร่วมกัน 2-3 เล่ม ในแต่ละวันมีหนังสือที่เด็กต้องนำไปโรงเรียนด้วยตั้งแต่ 3 กิโลกรัมเศษๆ ไปจนถึงเกือบ 5 กิโลกรัม ถ้าอยากจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเด็กต้อง "แบก" หนังสือและอุปกรณ์การเรียนมามากน้อยแค่ไหนใน คงต้องวัดน้ำหนักกันจริงๆ

"ผลจากการสำรวจ พบว่า กว่า 80% ของนักเรียนชั้นประถมต้องแบกสัมภาระต่างๆ ไปโรงเรียน โดยมีน้ำหนักที่มากกว่า 10% ของน้ำหนักตัว ซึ่งไม่เหมาะสมกับวัยและร่างกายของนักเรียน ในขณะที่อีกกว่า 25% ต้องแบกหิ้วสัมภาระที่มีน้ำหนักมากกว่า 20% ของน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นน้ำหนักที่อันตรายอันจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังของเด็กได้ และยังพบว่านักเรียนในจำนวนนี้กว่า 70% ใช้กระเป๋าแบกหลังเป็นหลัก ทำให้น้ำหนักกดทับโดยตรงที่กล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ หลังและกระดูกสันหลัง ซึ่งพบว่าร้อยละ 29% ของเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง มีอาการปวดคอ ไหล่ หรือหลัง ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง" อิฐบูรณ์ กล่าว

ด้าน "รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า มีการศึกษาชัดเจนว่าถ้ามีอาการ "ปวดหลัง" ตั้งแต่ตอนเด็กๆ โตขึ้นไปอาการปวดหลังก็จะเกิดเรื้อรังได้ ในต่างประเทศ พบว่า คนที่ปวดหลังเรื้อรัง เช่น ในวัยแรงงานก็มีปัญหามาตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น และถ้าแบกกระเป๋าที่หนักมากกว่า 20% ของน้ำหนักตัวจะเห็นเลยว่ามีลักษณะของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ความโค้งงอของกระดูกสันหลังผิดปกติไป ในขณะที่แบกอยู่เวลาเอาออกหรือไม่ได้แบกอาจจะหาย แล้วจะกลับมาอยู่ในท่าเดิม ขณะแบกอาจจะมีการคดงอมากขึ้น นั่นหมายความว่าถ้ามีการแบกมากๆ ย่อมมีผลต่อรูปร่างกระดูกสันหลังได้เช่นเดียวกัน

"ดังนั้นเด็กๆ ไม่ควรแบกของหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว และถ้าแบกน้ำหนักเกิน 20% ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเด็กชั้น ป.1-3 แบกน้ำหนักเกินกว่า 10% ของน้ำหนักตัวเกินกว่า 90% ของเด็ก จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้การแบกกระเป๋าที่ผิดวิธี เช่น แบกด้วยไหล่ข้างเดียว แบกต่ำกว่าเอว มีโอกาสทำให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระเป๋าล้อลากก็มีโอกาสที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เช่น การขึ้นรถเมล์ การขึ้นบันได ได้เช่นกัน" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า เด็กในระดับชั้น ป.1 ป.2 และ ป.3 จะต้องแก้ไขก่อน น้ำหนักกระเป๋านักเรียนทุกรูปแบบไม่ควรหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว น้ำหนักที่อันตรายต้องจัดอยู่ใน "ข้อห้าม" และต้องรีบแก้ไขเร่งด่วน คือ กระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่า 20% ของน้ำหนักตัว อีกทั้งโรงเรียนเองต้องจัดให้นักเรียนมีตู้เก็บหนังสือ หรือเก็บหนังสือไว้ในลิ้นชักได้เพื่อลดน้ำหนักสัมภาระต่างๆ

นอกจากนี้การใช้กระเป๋าแบกหลังต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับเด็ก มีช่องวางของเพียงพอและจัดวางอย่างเหมาะสมให้น้ำหนักกระจายตัวได้ทั่วกระเป๋า สายสะพายไหล่ควรมีความกว้างกว่า 6 ซม. สายที่เล็กจะทำให้กดทับบริเวณไหล่ ซึ่งอาจกดลึกจนมีผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้ อีกทั้งการใช้กระเป๋าแบกหลังต้องปรับสายสะพายเพื่อให้กระเป๋าแนบหลัง ไม่ห้อยต่ำ ก้นกระเป๋าต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าบั้นเอว และผู้ใช้ต้องเดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปด้านหน้า การแบกกระเป๋าต้องใช้สายสะพายไหล่ทั้งสองข้างเพื่อให้น้ำหนักกระจายตัวอย่างสมดุล การสะพายไหล่ข้างเดียวจะมีความเสี่ยงสูงต่อการปวดต้นคอ ไหล่ และหลังได้

"อีกประการ คือ คุณครูต้องหมั่นตรวจสอบ เพราะเด็กบางคนนอกจากมีหนังสือเรียนยังมีหนังสืออื่นๆ เช่น หนังสือการ์ตูน อุปกรณ์ของเล่นต่างๆ ที่แบกกันเข้ามา บางทีมีกระติกน้ำ หรืออาหารที่ห้อยมาข้างๆ ซึ่งรวมแล้วก็หนักเกินไป บางทีเด็กก็ไม่ยอมจัดตารางสอน คือ ร.ร.จัดตารางสอนให้ เด็กก็เลยเหมาเลย ทุกวันก็อยู่ในกระเป๋าใบเดียวกันจะได้ไม่เสียเวลาจัดตารางสอน ดังนั้นพ่อแม่ต้องสอนให้เด็กจัดตารางสอน หนังสือที่ไม่ใช้เอาไว้ที่บ้าน บางทีก็เป็นแฟ้มเอกสาร ไม่ใช่หนังสือเรียนตามวัน เป็นแฟ้มที่เขาใส่การบ้าน เอกสารหรือเป็นกระดาษที่ทำงานมา 10 ปี 10 ชาติ ก็ไม่เอาออก กองหนาปึกเลย เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ "นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์" กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า ปัญหากระเป๋าหนัก ของนักเรียนสะท้อนถึงระบบการศึกษาไทย คือ สวัสดิการของเด็กถูกละเลย เพราะภาวะกระเป๋าหนักของนักเรียนเป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานแล้ว แต่ไม่มีการแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้น พ่อแม่หลายคนต้องดิ้นรนหากระเป๋าที่มีล้อลากให้ลูกเอง อีกทั้งโรงเรียนก็ไม่มีที่เก็บหนังสือหรือล็อกเกอร์ให้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีใครเห็นถึงสวัสดิการของเด็กในโรงเรียน นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าจากการที่มีเอกสาร-ตำราเรียนทุกอย่างอยู่ในกระเป๋าเรียน ทำให้เกิดหลักการเรียนการสอนแบบ "ตัวใครตัวมัน" ทุกคนต้องมีทุกอย่างเพื่อได้เรียนรู้ได้ตัวเอง ต้องมีทุกเล่มเป็นของส่วนตัว ทำให้เกิดความขัดแย้งกับกระบวนการเรียนรู้ที่อยากเน้น คือ ขาดการเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน

นพ.โกมาตร กล่าวอีกว่า เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องมีหนังสือทุกเล่ม ควรสร้างการเรียนรู้ให้เกิดเป็นชุมชน สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ร่วมกัน หนังสือบางเล่มควรเป็นหนังสือที่ใช้ค้นคว้าร่วมกันและเป็นที่น่าสังเกตว่าการสร้างการเรียนรู้แบบนี้เป็นการสร้างค่านิยมแบบตัวใครตัวมันให้เด็กหรือไม่ อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การที่เรามีเนื้อหาทุกอย่างอยู่ในหนังสือเพื่อให้เด็กแบกไปเรียนนั้นได้สะท้อนปรัชญาการเรียนการสอนแบบเนื้อหาสำเร็จรูปให้เปิดอ่าน มากกว่าจะเน้นให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้ที่อื่น อาจทำให้เด็กขาดความขวนขวายในการหาความรู้ได้ ไม่ได้ไปแสวงหาความรู้ในที่อื่นๆเลย เพราะทุกอย่างมีอยู่ในหนังสือแล้ว

"การที่พบสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเรียน สมุดเรียนในกระเป๋าเด็กนั้น สะท้อนอะไรได้บ้าง บางโรงเรียน หรือครูบางคนนำหนังสือมาขายให้กับเด็กเพื่อประกอบการเรียน โดยที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ระบุ ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นแค่ไหน หลายครั้งที่มีความพยามจะแก้ปัญหาเรื่องกระเป๋าหนักของเด็กนักเรียน ทั้งคิดออกแบบเป้ หรือกระเป๋านักเรียนรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักเรียนถือกระเป๋าได้สบายขึ้น แต่ควรคิดว่าอะไรที่หนักในกระเป๋านักเรียนกันแน่ นอกจากน้ำหนักของกระเป๋านักเรียนแล้ว" นพ.โกมาตร กล่าว

ส่วน "สุชาติ วงศ์สุวรรณ" ผู้อำนวยการสำนักวิชาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน เสนอทางออกเรื่องการกระเป๋านักเรียนหนัก ว่า ควรจะมีการออกแบบกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมว่าควรทำอย่างไร เพราะเวลานี้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ทางกระทรวงจะไปบังคับอะไรลำบาก ทำอะไรก็ต้องมีข้อมูลรองรับเพราะไม่อย่างนั้นกระทรวงก็จะถูกฟ้องศาลปกครองได้

"บางโรงเรียนเอกชนใช้กระเป๋าเป็นเครื่องมือบังคับให้ต้องจ่ายค่าเทอม ถ้าไม่จ่ายจะไม่ให้กระเป๋าใบใหม่ ทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี บีบให้ผู้ปกครองต้องหาเงินมาจ่ายค่าเทอม ทั้งที่บางครั้งเงินก็ต้องหมุน อาจจะจ่ายพร้อมกันไม่ได้" สุชาติกล่าวทิ้งท้าย
วันที่ 9/5/2007
น่าเป็นห่วงมากนะครับ ท่านคิดอย่างไรบ้างครับ
  • มาทักทายอาจารย์
  • สงสัยว่ากระเป๋านักเรียนจะหนักจริงๆๆครับ
  • ขอบคุณครับผม

สวัสดีครับ

P

เรื่องนี้น่าห่วงครับ 

ผมขออนุญาติคัดข้อความบางตอนไปรวมในที่

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณครับ อ.ขจิต และ คุณสิทธิรักษ์ ที่มาร่วมด้วยช่วยกันครับ

P

P

           รู้สึกว่ากระเป๋านักเรียนกับระดับการศึกษาจะเป็นสมการผกผันกันนะครับ เมื่อหันไปดูเด็กเล็ก ๆ กระเป๋าเนี่ยหนักมากเลยครับ บางคน 2 ในแนะ พอระดับการศึกษาสูงขึ้นแระเป๋าเล็กลงครับ สูงขึ้นอีกไม่ต้องใช้กระเป๋า

            อีกประเด็นเวลาเรียนเด็กเล็ก ๆ เรียนเยอะมาก 6 วิชาต่อวัน (เพราะสาเหตุนี้เองกระมังเป๋าเลยใหญ่และหนัก) ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงเรื่องการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของเด็กประเทศเรานะ  -เป็นห่วงมากครับ -

ผมชื่อ ด.ช.พงศ์พันธุ์ สระคูพันธ์

เพิ่งย้ายจาก ร.ร. อนุบาลนครศรีธรรมราช ผมรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่าง ร.ร. อนุบาลลพบุรีและ ร.ร.อนุบาลนครศรีธรรมราช อย่างสิ้นเชิง เพราะเท่าที่ดูภายนอก ร.ร.อนถบาลลพบุรี มีสิ่งที่เหมือนกับ ร.ร.อนุบาลนครศรีธรรมราช อย่างมาก

และจากนี้ผมขออวยพรให้ คุณครูทุกท่าน

ผมขอให้ คุณครูทุกคนสุขภาพแข็งแรงและมีกำลังใจสอนนร.ทุกคนด้วยนะครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนและ เพื่อนพี่น้องพวกพ้องของผมให้ตั้งใจเรียนและสุขภาพดีแข็งแรงเผชิญหน้ากับโรคได้อย่างปลอดภัย ขอให้ ร.ร.อนุบาลนครศรีธรรมราช สร้าง อาคารใหม่เร็ว ๆนะครับ

Good night

From Pongpan Srakupan

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท