ค่ายเสริมพลัง Young Writer + นักวิจัยน้อย : นวัตกรรม 2 in 1


นี่เป็นการสร้างสำนึกให้เด็กชนชายขอบมองเห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะชาวบ้านมาทำสิ่งดีๆ มาให้เกียรติเด็กอย่างพวกเขา ซึ่งเป็นเด็กนอกสายตาของรัฐและระบบการศึกษาแบบอุตสาหกรรมนิยม ในคืนนี้ พวกเขาถูกปรับเปลี่ยนบทบาทจาก การเป็นเด็กกะโปโล กลายมาเป็น แขกของชุมชน ผมคิดว่ากระบวนการอย่างนี้ ได้สร้างสำนึกที่ดีต่อตัวเขาเอง ให้รักตัวเอง และพยายามที่จะเป็นคนดียิ่งๆขึ้นไป

ค่ายนี้ จัดเป็นค่ายที่สองในรอบปีของ สยชช. แต่กล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ เพราะเอาโครงการหนังสือทำมือ กับโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้านสิทธิเด็กตามจารีตประเพณีมาผสมผสานกันเป็นครั้งแรก   จะเป็นการทดลอง การเสียบกิ่งกันดูของสองโครงการ

อันที่จริง ผมก็ยังไม่ได้หารือกับเจ้าของทุนเขาหรอกนะครับ ถ้าหารือก็เกรงจะไม่ทันจัด ก็เอาเป็นว่าประชาคมเด็กและทีมงานเห็นพ้อง ก็ลองดูละกัน  

 

เรื่องสืบเนื่องมาจากเข้าหน้าฝนแล้ว การจัดค่ายพักแรมกลางแจ้งลำบาก ทั้งเด็กจะเดินทางมาจากหมู่บ้านต่างๆก็ไม่สะดวก เราก็ไม่อยากให้เด็กลำบากลำบนบ่อยครั้ง ไหนๆเด็กๆก็สนใจโครงการทั้งสองอยู่แล้ว เพื่อประหยัดเวลา และการจัดการ ก็เลยจัดร่วมกันซะเลย แต่ขยายเวลาค่ายจากเดิมที่ตั้งไว้สองวันหนึ่งคืนเป็นสามวันสองคืน  

 

ค่ายพักแรมครั้งนี้ จัดที่หมู่บ้านเมืองแพมซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงในอำเภอปางมะผ้า ประชุมประชาคมหมู่บ้านและประชาคมเด็กก็เห็นพ้องกันว่าเอาวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2550 สะดวกที่สุด

สถานที่ตั้งค่ายก็เป็นนาของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เดินห่างจากหมู่บ้านไปประมาณหนึ่งชั่วโมง   ผมเห็นฝนฟ้าตกทุกวันก็ได้แต่ภาวนาว่าวันจัดงานอย่าให้มีฝนหนักเลย ฝนเบาๆพอไหว แต่ถ้าฝนหนักก็ต้องเลื่อนค่ายออกไป ยิ่งทำให้ต้องไปเสียเวลาประสานงานกันใหม่  

 

10 พ.ค. ฝนยังคงตกอยู่ปรอยๆ ทำให้เราไม่สามารถตั้งค่ายกลางแจ้งได้ น้ำลำคลองก็ขุ่น จะใช้ดื่มกินก็ไม่สะดวก ผมเลยขอใช้โรงเรียนบ้านเมืองแพมเป็นที่ตั้งค่ายพักแรมแทน เพราะงานนี้เด็กๆมากันเยอะ สามสิบกว่าคน  ส่วนใหญ่เป็นเด็กประถมปลายเสียด้วย หากดูแลไม่ดี เดี๋ยวจะวุ่น   

เด็กที่มาร่วมค่ายมาจากสี่หมู่บ้าน สี่กลุ่มชาติพันธุ์ เยอะสุดคือ เด็กไทใหญ่ รองลงมาเป็นลัวะ ไทยพื้นราบ และกะเหรี่ยง ตามลำดับ งานนี้เราขาดกลุ่มเด็กลาหู่ไปเพราะ ไม่ได้ประสานงานไว้  แต่ค่ายหน้าไม่พลาด และน่าจะได้กลุ่มเด็กลีซูมาร่วมด้วย  

วันแรก เริ่มตอนบ่าย  ด้วยการแนะนำตัวและละลายพฤติกรรม ทางผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านได้เข้ามากล่าวต้อนรับอย่างง่ายๆแต่อบอุ่น พร้อมทั้งประกาศเสียงตามสายเชิญชวนให้เด็กๆในชุมชนเข้ามาร่วมอีกด้วย  อาหารมื้อแรกค่อนข้างวุ่นวาย เพราะข้าวของยังไม่เข้าที่ น้ำท่ายังขุ่นอยู่ เพราะใช้ประปาภูเขา ฝนตกน้ำมักจะขุ่น แต่การหุงหาอาหารก็เสร็จสิ้นลงด้วยดี   

 

ตกค่ำ  กรรมการหมู่บ้าน พร้อมลูกบ้านบางส่วนก็มาทักทายชาวค่ายอีกครั้ง เสียดายที่ไม่ได้นำผู้ใหญ่มาเล่นเกมกับเด็ก  ก็เลยมีแต่เกมนันทนาการกันเอง แม้ว่าจะครื้นเครงกันอยู่ แต่ก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ผมก็เลยมาคิดว่า น่าจะดี ถ้าค่ายหน้า ได้จัดกระบวนการให้ผู้นำชุมชนมาเล่นเกมกับเด็กบ้าง เพื่อลดช่องว่างให้มากกว่านี้   

 ·       การสร้างวินัยเชิงบวก และการจัดการความขัดแย้งแบบมีส่วนร่วมในค่าย 

เด็กๆส่วนใหญ่เคยผ่านกิจกรรมที่ สยชช. จัดขึ้นมาแล้ว จึงคุ้นเคยกับรูปแบบค่ายพักแรมไม่ยาก จะยากหน่อยก็คือการสร้างวินัยเชิงบวกนี่แหละ เพราะวิทยากรส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นกับกระบวนการ พอเจอเด็กกลุ่มหนึ่งในค่าย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากคอบครัวที่มีปัญหา มาป่วนกันมากๆ เด็กแกล้งกัน กลางคืนไม่ยอมหลับยอมนอน โดยเฉพาะเด็กชายมักจะไปแหย่เด็กหญิง ก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร

แต่พอเข้าวันที่สอง เราให้เด็กๆประเมินตัวเอง ซึ่งก็คือกระบวนการหวนคืนสู่สติ และนำมาเป็นโจทย์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน และวางกติกาสำหรับผู้ละเมิด โดยให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่บ้าน โดยมีวิทยากรและพี่เลี้ยงช่วยเป็นกรรมการและสักขีพยาน ผลก็คือเด็กๆสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีขึ้นมาก  โดยที่ทีมพี่เลี้ยงไม่ต้องดุด่า หรือลงโทษแต่อย่างใด 

   

อันนี้ เป็นประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้ใหม่ ในการจัดการค่ายพักแรมที่มี

เด็กก้าวร้าว นะครับ 

วันที่สองของค่าย หลังจากเราให้เด็กร่วมกันทบทวนบทเรียน สิ่งที่ประทับใจ สิ่งที่อยากจะแก้ไข และวางระเบียบร่วมกันใหม่แล้ว ก็นำสู่กระบวนการเสริมสร้างความรู้ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามฐาน  

·       ฐานที่ 1หนังสือทำมือ กับสุขภาวะเด็กและเยาวชน

ฐานนี้ให้ความรู้เรื่องหนังสือทำมือสำหรับเด็กใหม่ และให้ไอเดีย และตัวอย่างใหม่ๆแก่เด็กเก่าที่เคยทำหนังสือมาแล้ว โดยมอบหมายให้เป็นการบ้านแก่เด็กๆไปจับกลุ่มตามความสมัครใจแล้วมาเบิกวัสดุอุปกรณ์ไปสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องทำ แต่ขอให้มาจากใจรักจะทำ

 

ประเด็นที่ให้เด็กๆเขียนมีอยู่สามอย่างคือ เรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านที่เรามาจัดค่าย , เรื่องราวเกี่ยวกับความรู้สึกที่ได้มาค่าย, เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็กเอง ไม่มีถูกมีผิด แต่ให้อิสระเด็กเขียนเต็มที่ และขอให้ทำด้วยความสนุก ทำด้วย สุขภาวะจะมีเว้นไว้ก็แต่ไม่ให้เขียนอะไรที่หยาบคาย หรือละเมิดคนอื่นเป็นพอ ให้เวลาสองสัปดาห์ ใครเสร็จก่อนก็นำมาส่งได้เลย ทำดีก็มีรางวัลให้ด้วย

 ·       ฐานที่ 2 เด็กกับการมีส่วนร่วมในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ฐานนี้ เราโชคดี ได้วิทยากรจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาร่วมเป็นพี่เลี้ยง พอดีผมเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมา ก็เลยให้เด็กดูวีซีดีแนะนำว่า เด็กๆที่อื่นเขาก็ทำงานวิจัยได้ และเด็กๆอย่างพวกเขาก็ทำได้เช่นกัน ให้เด็กๆเกิดกำลังใจ อย่างน้อย ก็รู้ว่า งานวิจัยท้องถิ่นที่เด็กๆทำได้นั้นก็มี และทาง สกว. ก็พร้อมจะลงมาช่วยสนับสนุน หากพวกเขาสนใจที่จะทำ

 เด็กบางคนในค่ายก็กำลังดำเนินโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นอยู่ จึงน่าสนใจว่าน่าจะสามารถพัฒนาเป็นแกนนำ หรือยุวววิจัยตัวอย่าง ให้กับเด็กใหม่ได้  แต่ต้องรอดูต่อไป 

·       ฐานที่ 3 เด็กกับการสืบค้น ของดีของชุมชน

ทุกชุมชน ล้วนมีสิ่งภาคภูมิใจ มีที่มาที่ไปที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และศักยภาพ ภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น แม้จะเป็นชุมชนเล็กยากจน ก็มีขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมซุกซ่อนไว้เสมอ” นี่เป็นกรอบคิดหลักในการมองชุมชนในฐานที่ 3

  

ฐานนี้ เริ่มตอนบ่ายด้วยการให้ผู้นำหมู่บ้าน พาทัศนศึกษาถ้ำ ซึ่งได้แก่ ถ้ำเจดีย์ และถ้ำลอดยาว รวมถึง วังปลา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน

 

 

จากนั้น แบ่งเด็กออกเป็นสามทีม แต่ละทีมไปหา ของดีในชุมชนตามประเด็นที่แต่ละกลุ่มจับฉลากได้ อาทิ  ประวัติชุมชน  วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ประเพณีสิบสองเดือน  การเลี้ยงดูเด็ก เด็กกับการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาชุมชน ปัญหาเด็กและการแก้ไขโดยชุมชน ฐานเหล่านี้ ได้อาสาสมัครผู้รู้ของชุมชนมาช่วยเป็นวิทยากรโดยไม่หวังค่าตอบแทน

 

เด็กๆได้ฝึกตั้งคำถาม สัมภาษณ์ จดบันทึก และได้รู้เรื่องราวอีกมากมายที่ต่างกลุ่มชาติพันธุ์วัฒนธรรมกับตน แต่เป็นกลุ่มชนที่เป็นเสมือนเพื่อนบ้านกัน และได้รู้จักภาษากะเหรี่ยง และมิตรภาพจากชุมชนแห่งนี้กลับไปฝากผู้ปกครองด้วย 

·       การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในพิธีรอบกองไฟ

แรกทีเดียวพิธีรอบกองไฟจะมีการแสดงของเด็กๆชาวค่ายด้วย แต่เด็กเตรียมไม่ทัน ก็เลยออกมาเต้นให้ชาวบ้านดูตามประสาเด็ก และมีการสาธิตศิลปะการป้องกันตัว (วิชาไอคิโด) ให้ชาวบ้านรับชม ในส่วนของชาวบ้านเอง ได้มาเป่าเขาควาย และรำดาบแบบกะเหรี่ยงให้ชม สร้างความอบอุ่นให้กับเด็กๆ และทีมงาน น่าเสียดายที่งานจัดช่วงกลางคืน ทำให้บันทึกภาพออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ภาพเหล่านี้ น่าจะยังคงอยู่ในใจของพวกเขาไปอีกนาน ผมก็หวังเช่นนั้น  

ผมคิด (เอาเอง) ว่านี่เป็นการสร้างสำนึกให้เด็กชนชายขอบมองเห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะชาวบ้านมาทำสิ่งดีๆ มาให้เกียรติเด็กอย่างพวกเขา ซึ่งเป็นเด็กนอกสายตาของรัฐและระบบการศึกษาแบบอุตสาหกรรมนิยม  ในคืนนี้ พวกเขาถูกปรับเปลี่ยนบทบาทจาก การเป็นเด็กกะโปโล กลายมาเป็น แขกของชุมชน ผมคิดว่ากระบวนการอย่างนี้ ได้สร้างสำนึกที่ดีต่อตัวเขาเอง ให้รักตัวเอง และพยายามที่จะเป็นคนดียิ่งๆขึ้นไป 

แต่จะยาวนานได้แค่ไหนนั้น  ลำพังผมคนเดียวก็คงไม่พอ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อไป......อืม 

วันที่สาม ...

หลังจากมื้อเช้า  เด็กๆร่วมการทบทวนบทเรียนของเมื่อวาน โดยเฉพาะความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่ชุมชน ผมตั้งโจทย์เอาไว้ 10 ข้อ โดยดึงมาจากข้อมูลที่เด็กๆผลัดกันมานำเสนอ แล้วให้เด็กตอบคำถามกัน ใครได้คะแนนสูงสุดก็มีรางวัลให้ นอกจากนี้ เราก็มีการโหวต ดาวในดวงใจ ของชาวค่าย และก็มีการสัมภาษณ์ และให้ดาวฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมาเต้นประกอบเพลงให้เพื่อนๆเป็นการขอบคุณ

 จากนั้น ก็แบ่งกลุ่มกันไปพัฒนาทำความสะอาดที่พักและบริเวณโดยรอบ เพื่อรอทำพิธีรับมอบวุฒิบัตร และ มัดมืออวยพรจากผู้อาวุโสตามแบบกะเหรี่ยง ระหว่างที่รอพิธีนั้น ก็พักผ่อนกันตามอัธยาศัย บางคนอาจจะอยากพัก  และบางกลุ่มก็ไปเล่นกัน แต่กลุ่มใหญ่ก็ไปจับกลุ่มเตะบอลกันเอง ทั้งเด็กชาย เด็กหญิง วิทยากรพี่เลี้ยงมาเตะบอลด้วยกัน ก็เฮ กันไปอีกแบบ  

·       พิธีอวยพร ก่อนการจากลา

พิธีมอบวุฒิบัตรและพิธี มัดมืออวยพร กระทำกันอย่างเรียบง่าย กันเอง โดยได้รับเกียรติจากคนในชุมชนมาทำพิธีให้ ผมไม่รู้ว่าด้ายสายสิญน์เส้นเล็กๆนี่จะผูกใจเด็กไว้กับความทรงจำที่ดี ระหว่างตัวเขา เพื่อนๆ ผู้ใหญ่ และประสบการณ์ที่นี่ไปอีกนานเท่าไร  แต่ผมคิดว่าเรามาถูกทาง ลองดูรูปละกันครับ

  <p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal">            มื้อสุดท้าย เป็นอาหารที่กลุ่มแม่บ้านปรุงมาอย่างดี ใครว่าอาหารกะเหรี่ยงไม่อร่อยนี่ ผมเถียง ทั้งน้ำพริก และต้มไก่ กับผัดผักกูด กินกันอิ่มหมีพีมันถ้วนหน้า คิดถึงทีไร อยากกลับไปกินอีก</p><p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal"></p><p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal"></p><p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal"><div style="text-align: center"></div></p>  <p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal">              เด็กๆรำลากันง่ายๆ ด้วยเพลงสามัคคีชุมนุม ที่ร้องถูกบ้างผิดบ้าง จับมือไขว้เชื่อมกันและกัน ก่อนจะโบกมือลา และตั้งใจว่าจะมาพบกันใหม่ </p>   <p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal">อีกไม่เกินสองอาทิตย์ เราจะเห็นผลงานหนังสือทำมือของพวกเขา แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และบ่มเพาะให้พวกเขารู้คุณค่าของตัวเอง ผู้อื่น ชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถจัดวางความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างตัวเองกับสรรพสิ่งเหล่านั้น ได้เริ่มทำงานแล้ว</p><p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal"></p>  ผมไม่กล้าคาดหวังกับผลงานจากค่ายให้เต็มร้อย แต่สิ่งที่ผมอยากทราบมากกว่า คือความคาดหวังและสมหวังของเด็กๆครับ…    



ความเห็น (4)

เป็นกิจกรรมที่ดีและน่าชื่นชมมากจริงๆ ขออนุญาตนำมาปรับใช้ในพื้นที่บ้างนะคะ

ว่าแต่ว่าอย่าลืมพักผ่อนและช่วยเลี้ยงเจ้าตัวเล็กที่บ้านด้วยนะ

สวัสดีครับ

 รู้สึกดีๆ  และมีความสุบกับสิ่งที่ชายทำมากๆครับ

สิ่งที่พี่ทำคือความฝันของน้องคนนนี้นะครับ

ดีใจที่มีคนคอยทำความฝันบางอย่างให้เกิดขึ้น

ขอร่วมแบ่งปันความสุข ความปีติด้วยคนนะครับ  กับงานดีๆที่มีค่ามากมายครับ

  • ขอบคุณทุกความเห็น....และขอบคุณเด็กๆที่ช่วยให้เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างนี้
  •  จะนำความปรารถนาดีของทุกท่าน ห่อเป็นของขวัญไปฝากเด็กครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท