GotoKnow

เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(19.1)

Dr. Phichet Banyati
เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2548 21:45 น. ()
แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2555 20:17 น. ()
ระบบการให้บริการทางด้านสุขภาพ(Health service delivery) แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามระดับของรัฐบาลคือระดับชาติ (Federal/National) ระดับรัฐ (State/province) และระดับท้องถิ่น (Local/city)

          ในช่วงที่นั่งรถบัสเพื่อไปที่คอฟฟส์ ฮาร์เบอร์ ก็ได้มีการสนทนากลุ่มกันไปด้วยในเรื่องระบบสุขภาพของออสเตรเลีย รวมทั้งระบบการเรียนการสอนแพทย์ของเขา อีกทั้งอาจารย์ประวิทย์ได้ให้พวกเราทั้ง 9 คน (ทีมนักศึกษา 6 คน ทีมอาจารย์จากเมืองไทย 3 คน) ได้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ ความรู้สึกในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผมได้คิดตามไปด้วยก็พบว่าการจัดทีมมาศึกษาทั้ง 9 คนนี้มีความแตกต่างที่หลากหลายอย่างลงตัว ที่จะสามารถเก็บเกี่ยวเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์พร้อมทั้งจะต้องเปรียบเทียบระบบบริการของไทยและออสเตรเลียเพื่อนำเสนอให้ทีมของออสเตรเลียฟังด้วยในวันศุกร์สุดท้ายของการเรียน   เราได้ฟังคุณเดวิดบรรยายตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของการเรียน ผมจะได้สรุปประเด็นสำคัญๆให้ฟัง ดังต่อไปนี้

           ออสเตรเลียได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนมาก สถาบันเพื่อสุขภาพและสวัสดิการของออสเตรเลียได้กำหนดไว้เลยว่าระบบบริการสุขภาพของออสเตรเลียต้องอยู่ในระดับที่ดีหรือดีกว่า ทำให้คนของออสเตรเลียมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อยๆโดยเฉลี่ยมากกว่า 80 ปี ถือว่าเป็นอันดับสี่ของโลกในปี 2002 โดยจัดทำค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อสุขภาพถึง 10 % ของ GDP ขณะที่ของไทยประมาณ 4 % การมีอายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้น ความชุกของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆลดลง ความอยู่รอดจากการเจ็บป่วยสูงขึ้น คุณภาพบริการที่สูงขึ้น สามารถเข้าถึงบริการง่ายและมีความสะดวกมากขึ้น   แต่ก็ยังคงมีสิ่งที่จะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นก็คือการมีอัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงขึ้น โรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากการออกกำลังกายน้อยลง อัตราการสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทาย ชนกลุ่มน้อยหรือชาวอะบอริจิ้นที่อยู่ชนบทห่างไกลยังมีอายุขัยเฉลี่ยที่น้อยกว่าคนออสเตรเลียส่วนใหญ่ถึง 20 ปี อัตราตายของทารกในออสเตรเลียลงลงกว่าครึ่งหนึ่งในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาแต่เมื่อเทียบกับกลุ่มเอเชียแปซิฟิกกว่าครึ่งกับมีอัตราที่ดีกว่าออสเตรเลีย โดยเฉพาะกลุ่มอะบอริจิ้นที่มีอัตราการตายของทารกแรกเกิดในขวบปีแรกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึงสองเท่า  โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในทั้งหญิงและชาย อันดับสองคือมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด ส่วนในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 45 ปี อัตราตายด้วยการบาดเจ็บถือเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง  ในขณะที่คนอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปพบกับภาวะสมองเสื่อมและอัลไซม์เมอร์ประมาณ 97,800 คน ในขณะที่พื้นที่ชนบทห่างไกลของออสเตรเลียยังคงมีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพที่แย่กว่าเขตเมืองมาก

          ระบบการให้บริการทางด้านสุขภาพ(Health service delivery) แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามระดับของรัฐบาลคือระดับชาติ (Federal/National) ระดับรัฐ (State/province) และระดับท้องถิ่น (Local/city) ประมาณ 70 % มาจากรัฐบาลกลาง ทั้งจากการเก็บภาษีและจากองทุนMedicare กองทุนเมดิแคร์จะสนับสนุนให้กับบริการทางการแพทย์ผ่านแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและค่าใช้จ่ายทางยาตามข้อมูลใบสั่งยาจากร้านขายยา ผู้ให้บริการส่วนใหญ่โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิเป็นภาคเอกชน แพทย์สามารถกำหนดค่าบริการทางการแพทย์ได้เองแล้วให้ผู้ป่วยจ่ายก่อนจึงนำไปเบิกคืนจากกองทุนได้แต่อาจเบิกไม่ได้เต็มทั้งหมดหรือบางคลินิกอาจให้บริการแบบบริการสินเชื่อ(Bulk bill) รัฐบาลมลรัฐจ่ายเงินสนับสนุนบริการในโรงพยาบาลและบริการทันตกรรม(ที่ส่วนใหญ่เป็นบริการของเอกชน) รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐจึงมีความรับผิดชอบร่วมกันในการจ่ายเงินสนับสนุนในระบบบริการสุขภาพ

สรุปในภาพรวมง่ายๆในส่วนของ Finance หรือ Funding ก็คือ

  1. รัฐบาลกลาง (Federal government) สนับสนุน 4 กลุ่มคือกองทุนเมดิแคร์สำหรับการบริการปฐมภูมิ (Primary care) โดยส่งผ่านตรงไปยังแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General practitioner) ที่อยู่ในคลินิกตามจำนวนครั้งบริการในอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งจะแปรตามเวลาที่แพทย์ให้บริการ (Consultation) และจ่ายเป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ผู้ป่วยนอกจากคลินิก (Pharmaceutical Benefit Scheme)  กองทุนสำหรับดูแลผู้สูงอายุ (Aged care) ทั้งในรูปแบบของNursing home & Hostel
  2.  รัฐบาลมลรัฐ (State government) สนับสนุนเงินอุดหนุนให้โรงพยาบาลในการดูแลทุติยภูมิแบบAcute care และ Public health

    3.  รัฐบาลท้องถิ่น (Local government) สนับสนุนในส่วนของPublic health หรืออื่นๆตามแต่ละเมืองแต่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนหลัก


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย