ใช้ KM ในการพัฒนาทีมประเมิน รพ.ส่งเสริมสุขภาพ


เวลาที่เราจัดการความรู้ เราต้อง เปิดใจ “ให้” และ เปิดใจ “รับ”

 

วันนี้ไปถึง รร.เวียงใต้ ค่ะ รร.เก่าแก่ ที่คุ้นเคยกันมานานแล้วในอดีต ปัจจุบันก็ยังทันสมัยนะคะ อยู่ที่บางลำภูค่ะ ... โดยเฉพาะอาหารบุฟเฟต์มื้อเที่ยง อร่อยมาก มีหลากหลาย ที่มีชื่อ อาทิ ขนมเบื้อง ข้าวแช่ ขนมปังกระเทียม ลาซานย่าผักโขม ยำขมิ้น กะท้อนลอยแก้ว ... โอ๊ย อีกเยอะ จาระไนไม่หมดค่ะ แหม แต่ว่า เดินทาง 1 ชม. ครึ่ง ละจ้า (... ก้อ ไม่เคยทางเน๊าะ)

... เออ ก็เลยลืมเลยว่าจะเล่าเรื่องอะไร ... กลับมาเรื่องเล่าดีกว่านะคะ

ทีมงานวัยทำงาน ของสำนักส่งเสริมฯ ละค่ะ มีคุณหมอชื่น เป็นโต้โผใหญ่ ไปประชุม ลปรร. เพื่อพัฒนาทีมประเมินโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ค่ะ ซึ่งมาจาก ทุกหน่วย รพ. ของ ศูนย์อนามัย ของกรมอนามัย ละค่ะ งานนี้ รพ. ต้องรับผิดชอบในเรื่องของการไปประเมิน รพ. ในส่วนภูมิภาคทั้งหลาย ที่จะก้าวเข้ามาเป็น รพ.ส่งเสริมสุขภาพ

คุณหมอนันทา เป็นวิทยากรค่ะ ท่านได้นำ KM มาใช้ในการนำเรื่องราวความสำเร็จของผู้เข้าประชุม ที่ได้ทำงานด้านการไปประเมิน รพ. ส่งเสริมสุขภาพ มาแล้ว

คุณหมอนันทา ก็เลยนำเอา "เสียงกู่จากครูใหญ่" มานำ เพื่อเร้าอารมณ์ให้กับผู้ฟัง และก็มาต่อตอนจบละค่ะ ว่า แล้วผู้ฟังทั้งหลายนั้น ได้อะไร จากการดูภาพยนตร์ "เสียงกู่จากครูใหญ่" ... นั่นก็คือ

  • ความเป็นผู้นำ ... leader is action not position … ครูใหญ่มีความเป็นผู้นำ โดยสร้างความศรัทธาจากการทำงาน ชัดเจนมาก คือ ทำเป็นตัวอย่างก่อน ใครไม่สนใจไม่ว่า ใครขี้เกียจไม่ว่า ... เพราะว่าสิ่งที่ทำเห็นผลลัพธ์ที่ดี คนก็เห็นตัวอย่างที่ดี เป็นครูในอุดมการณ์จริงๆ ... ผู้นำไม่ใช่ผู้สั่งการ แต่ผู้นำทำเป็นตัวอย่าง และมีความอดทนที่จะทำ ...
  • ครูใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เกิดการพัฒนาจิตใจขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องสอน พูดว่ายังงั้นยังงี้ ทำดี สวรรค์ก็มาช่วยจริงๆ โดยมาจากคนใกล้ๆ นี่เอง คนใกล้ชิดก่อน จนกระทั่งรัฐบาลเข้ามาชื่นชม ช่วยเหลือ
  • ความมุ่งมั่นในการทำงาน ... ถ้ามีเป้าหมายชัดเจน เราก็จะไปสู่เป้าหมายนั้นๆ ได้ ด้วยความภาคภูมิใจและความสำเร็จ ... ครูใหญ่พัฒนา รร. และหมู่บ้าน ให้เป็นหมู่บ้านที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ... ครูใหญ่ตั้งเป้าหมายแบบมีส่วนร่วม ที่ไปชวนครู ชาวบ้าน และมาร่วมคิด โดยตอนแรกตั้งเป้าหมายร่วมกันกับครูน้อยว่า การทำงานหนัก เป็นดอกไม้ของชีวิต … และมาร่วมกันคิด สื่อสารผ่านเด็ก ไปติดตามที่ต่างๆ มีทั้งกระดาษ และมีแผนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายด้วย
  • สร้างความศรัทธา โดยใช้วาทศิลป์ในการจูงใจคน มีการประสานความคิด ประสานจิตใจ ซึ่งครูใหญ่เห็นว่ามีการประชุมที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และมีเข็มมุ่งในการทำงาน โดยการสร้างคำขวัญในการทำงาน ... แม้ครูใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรกที่ใส่รองเท้าขาดมา ครูใหญ่ก็ใช้วาทศิลป์ในการพูดจนคนที่มารับเกิดความศรัทธา จึงช่วยแบบข้าวของเสื้อผ้า และก็ใช้ในการทำงานมาตลอด
  • เห็นการทำงาน วางแผนการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน โดยคำนึงถึงบริบทของท้องถิ่น เช่นที่บอกว่า ชุมชนค่อนข้างยากจน แต่มีทรัพยากรที่มีคนมาเที่ยวบ่อน้ำแร่ และมาซื้อไข่กลับไป จึงคิดถึงเรื่องเลี้ยงไก่ เพื่อการขายไข่ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ จนขยายเป็นผัก เป็นไม้มีขายจนมีรายได้ ... เป็นการทำงานที่วางแผนเป็น shot shot ต่อเนื่องกันไป จนในที่สุด ผลดีก็ตกอยู่กับชุมชน ... ครูใหญ่เป็นคนสำรวจข้อมูล สังเกต จากสิ่งแวดล้อม และชุมชน จะเอาสิ่งที่อยู่ตรงนั้นมาใช้ประโยชน์ สร้างคุณค่ากับทุกจุด ไม่เพียงแต่สำรวจเพื่อสร้าง แต่ว่าวิเคราะห์และสังเคราะห์ ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้
  • ครูใหญ่มีความรอบรู้แทบทุกเรื่อง ทั้งวาทศิลป์ สร้างศรัทธา หาได้ยาก ... ครูใหญ่อาจเป็นคนหายากคนหนึ่ง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ครูใหญ่ไม่ได้รู้เรื่องมาตั้งแต่แรก แต่ค่อยๆ รู้ไป ด้วยความตั้งใจ สิ่งที่ครูใหญ่ทำ คือ มีเป้าหมายของชีวิต เพื่อทำให้เด็กนักเรียน แต่ไม่ได้มีเป้าหมายพัฒนาอะไรเกิดก่อน หลัง แต่ใช้ตามสถานการณ์
  • เห็นขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความศรัทธา ความตั้งใจดี ... ที่โน้มน้าวให้ชาวบ้านเกิดการสร้างพลังขับเคลื่อน ทำตัวเป็นตัวอย่าง มีการแบ่งหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้าง รร. และสร้างหมู่บ้าน ทำให้เกิดความร่วมมือ ให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น และ รร. ก็พัฒนาขึ้นไปพร้อมๆ กัน
  • ที่ทำสำเร็จ เราก็ต้องมองว่า อะไร ทำอย่างไร เช่น ครูใหญ่สร้างกำลังใจอย่างไร ครูใหญ่มีวิธีการสร้างกำลังใจตัวเอง ... ไปนั่งที่ในที่สงบ มีน้ำ และย้อนไปถึงวัยเด็ก คือ เป็น microsuccess ส่วนหนึ่งของชีวิตครูใหญ่ ... เวลาที่เราจัดการความรู้ เราก็อยากให้ทุกคนสร้างกำลังใจ
  • ครูใหญ่ทำยังไงที่ทำให้เด็กๆ มาเลี้ยงไก่ ก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวัน เด็กได้ประโยชน์จากคะแนนที่เพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ด้วย
  • เราเล่าเรื่อง microsuccess กันคนละเรื่อง สุดท้ายเมื่อมารวมกันก็จะเห็นภาพรวมความสำเร็จได้ ด้วยวิธีการที่อาจจะแตกต่างกัน

ส่วนนี้คงจะเป็น tactics ที่ไม่ลับนะคะ ของ อ.หมอนันทา ที่แนะนำกับผู้ที่จะ ลปรร. กันในวันนี้

  • เวลาที่จะจัดการความรู้นี้ วิธีหนึ่ง คือ การเอาของจริงมาพูดกัน และขณะที่เล่า เราก็เปิดใจ
  • เวลาที่เราจัดการความรู้ เราต้อง เปิดใจ “ให้” และ เปิดใจ “รับ”
  • ... เปิดใจ “ให้” คือ ผู้เล่าเต็มใจให้สิ่งที่มีแก่คนอื่น เล่าด้วยความเต็มใจ ให้คนอื่นเข้าใจ เปลี่ยนใช้คำพูด วิธีการที่มีชีวิตชีวา ให้คนอื่นสนใจ แต่ไม่ใช่ว่าใส่สีจนเกิดเหตุ แต่ละคนก็คงมีความต่างกัน ไม่ต้องกังวลว่า เล่าไม่เก่ง เราพูดเรื่องจริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของเรา ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเรา เรื่องที่เล่า อาจเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติเองก็ได้ หรือทำร่วมกับหน่วยงานก็ได้
  • ... เปิดใจ “รับ” ผู้ฟังก็ต้องเปิดใจ ไม่มีอคติ ว่า ไม่ชอบหน้าคนนี้ เคยทะเลาะ เคยคัดค้าน หรือพูดมากจัง เราก็เปิดรับ สนใจกับเรื่องที่เขาเล่า มองตาเขา หรือแสดงท่าทีที่คล้อยตาม ซึ่งพวกเราเล่าความสำเร็จ จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ มีอารมณ์ตามที่เขาเล่า นี่เป็นกระบวนการ
  • วันนี้ เราจะเก็บความรู้ ความพยายามที่ทำได้สำเร็จไว้เป็นสมบัติของหน่วยงาน กรมอนามัย ที่จะให้กับคนที่เข้ามาใหม่ ให้มาอ่านกัน และรับทราบได้ทันที ... เราก็จะมาแบ่งปัน care & share โดยการเล่าปัจจัยแห่งความสำเร็จ และซักถามให้ลงลึกถึง วิธีการที่ทำให้ปัจจัยเรื่องนั้นสำเร็จ และสกัดความรู้ (capture & learn) ว่า สิ่งที่เรารู้ที่จะทำให้สำเร็จมีเรื่องอะไร และ tacit knowledge ที่ได้คืออะไร และเพื่อไม่ให้หายไปก็บันทึกไว้ ครูใหญ่ก็มีการบันทึก จนคนทั้งหลายรู้ผลงานของครูใหญ่ และความช่วยเหลือก็เข้ามา ก็เพราะครูใหญ่มีการจดบันทึกไว้เป็นประจำ มีเวลาก็ได้ใช้จริง และมีประโยชน์
  • การจดบันทึกก็จะทำให้เราได้เรียนรู้จากตรงนั้น และจะปรับวิธีการทำงานของเราต่อไปได้อย่างไร ก็จะยิ่งประเสริฐยิ่งขึ้น
  • เพราะฉะนั้น การเล่า ก็จะมีการบันทึก มีอุปกรณ์ช่วย คือ เครื่องบันทึกเสียง และระหว่างเล่ามีคนในกลุ่มบันทึกไว้ และจบแต่ละเรื่องก็ดึงปัจจัยแห่งความสำเร็จออกมา แต่ถ้ายังไม่ชัดเจน ก็มีการซักถามเพิ่มเติม และควรซักถามอย่างเป็นมิตร
  • ... บางทีจากเรื่องก็จะไปปิ๊งเรื่องอื่นๆ ได้ต่อไป และอาจไปทดลองนำไปใช้ และไปแลกเปลี่ยนได้อีก พอมีมากจำนวนหนึ่ง ก็สามารถเอาไปทำเป็นตำรา และเก็บไว้เป็น explicit knowledge ต่อไป และนำไปสู่การทำปัจจัยแห่งความสำเร็จต่อไป
  • การเลือกเรื่องเล่า คือ เรื่องที่ท่านไปใช้ทำงาน แล้วประสบความสำเร็จ เขาทำตาม หรือชื่นชม ยอมรับ ไม่ต้องกังวลว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรื่องการสร้างกำลังใจ การทำให้คนอื่นมาทำตาม ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยที่มีประโยชน์
  • การเล่าไม่ต้องยาวมาก เอาเรื่องจริงที่เกิดขึ้นตรงนั้น (ประมาณ 5 นาที)
  • สิ่งที่สำคัญ ผู้ฟังตั้งใจฟัง ซักถามด้วยความชื่นชม ไม่ขัดจังหวะ
  • แต่ละกลุ่มจะมีคุณอำนวย หรือ Facilitator ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก กระตุ้นให้กลุ่มมีการแลกเปลี่ยน สร้างบรรยากาศในกลุ่ม ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน
  • มีคุณลิขิต คอยบันทึกสิ่งที่ได้พูดคุย
  • ประเด็น “ความสำเร็จของการไปเยี่ยมและรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ”
  • ต่อไปก็จะนำเรื่องเล่า มาสกัดปัจจัยองค์ประกอบว่า ความสำเร็จนั้นคืออะไร และนำมารวมกัน มาสรุปเป็นปัจจัยความสำเร็จกัน

นี่ก็เป็นการนำเข้า เพื่อให้กลุ่มได้มีการรวมตัวกัน ลปรร. เพื่อที่จะได้รายละเอียดในกระบวนการต่อไปละค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 96893เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาเรียนรู้ด้วยคนนะครับ (ฟังเพลงด้วย)
  • อ่านบันทึกของคุณหมอนนทลีทำให้ผมได้เรียนรู้เทคนิคดีๆ เพิ่มมากขึ้นเลยครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมา ลปรร.
  • อ่านบันทึกของคุณสิงห์ป่าสัก ก็เหมือนกันนะคะ
  • อยากไปเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มเติมจริงๆ
  • จากบริบทของกรมส่งเสริมการเกษตร
  • น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท