๙.ฝนคอนกรีต...ความแปรปรวนของฤดูกาลกับการเรียนรู้ทางสังคม


".... การที่หน้าร้อนแล้งกลับกลายมาเป็นหน้าฝนและน้ำท่วมขัง โอกาสที่ผืนดินควรจะได้ผึ่งแสงแดด และเมื่อน้ำหลาก หน้าดินก็จะได้รับการชะล้าง ก็กลับเป็นการมีน้ำท่วมขังมากมายหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมอย่างนี้ เอื้อต่อการเกิดแหล่งเพาะเชื้อโรคและเป็นช่องทางในการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอีกมากมาย ....."

              ฝนตกมาอย่างต่อเนื่องกว่าสัปดาห์แล้ว  ตกราวกับเป็นฤดูฝน ทั้งที่ควรเป็นหน้าแล้งและย่างเข้าสู่หน้าไถแปร เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมาสองปีแล้ว  ผมโทรถามเพื่อนและคนรู้จักหลายที่ตามภาคต่างๆ ก็พบว่าฝนตกอย่างมากมายทั้งภาคใต้  ภาคกลาง  และภาคเหนือ  เรียกว่าเกือบทั้งประเทศ

            ผมนึกถึงเมื่อตอนเป็นเด็กและต้องทำนาช่วยพ่อแม่ บทเรียนชีวิตที่อยู่กับการทำนาทำไร่บอกให้ผมรู้ว่า  ฝนที่ตกกระหน่ำแบบผิดฤดูกาลและเทลงมามากมายแบบนี้  ชาวนาและเกษตรกรไทยจะเจอกับวิกฤติแน่   เพราะจะเกิดความเสียหายมากมายที่สำคัญ  3  เรื่อง

             1)  นาปรังจะล่มสลาย

                  ช่วงนี้  ข้าวนาปรังในทุกพื้นที่จะกำลังสุกและรอการเก็บเกี่ยว  ฝนตกแบบนี้นอกจากรวงข้าวจะหักเสียหาย  เก็บเกี่ยวด้วยความยากลำบากแล้ว ข้าวจะชื้นและขึ้นรา ขายไม่ได้ราคา  และถ้าหากฝนยังตกอย่างนี้อีก  น้ำก็จะท่วมให้ผลผลิตต้องเสียหาย  ชาวนาปรังน้ำตาตกแน่นอนครับ

             2)  การไถแปรนาปีเหนื่อยยากและต้นทุนจะสูงขึ้นมากมาย

                   ช่วงนี้สำหรับข้าวนาปีนั้น จะเป็นการพักดินและเตรียมไถแปร  แต่ฝนแบบนี้จะทำให้ชาวนาทำนาไม่ได้  เพราะหญ้าจะขึ้นอย่างงอกงาม  ไถนายาก  ไถมือก็เหนื่อย  ไถเครื่องก็เปลืองทั้งน้ำมันและความสำบุกสำบันของเครื่องมือซึ่งต้องมากกว่าภาวะปรกติ  และถ้ามากกว่านี้อีก  ผืนนาก็จะเละเป็นดินโคลน  ไม่เป็นขี้ไถและก้อนดิน 

           นัยของการไถแปรนั้น มีความสำคัญมากต่อวิถีการผลิตของเกษตรกรที่มีความเอื้ออาทรต่อถิ่นฐานและปัจจัยเกื้อหนุนจากธรรมชาติอยู่ในการปฏิบัติ  เป็นการพลิกหน้าดินและผึ่งแดดไว้สักระยะหนึ่งก่อนจึงจะสามารถทำนาในฤดูกาลต่อไปได้ หญ้าและซังข้าวในท้องนาจะยังไม่ขึ้นมากเพราะเป็นฤดูร้อนแล้ง อีกทั้งฝนต้องตกลงมาเพียงเล็กน้อยแค่พอให้ดินอ่อนนุ่มสะดวกแก่การไถแปร ทว่า  ฤดูฝนแบบตกหนักๆอย่างนี้  ชาวนาและเกษตรกรจะทำอย่างนั้นไม่ได้  เมื่อต้องทำไปโดยรอให้ผืนนามีการเตรียมดินที่ดีไม่ได้  เชื่อได้เลยว่าต้องนำไปสู่การอัดปุ๋ยเคมี  ล้มละลายต่อเนื่องแน่เลย

            3)  การเพาะปลูกข้าวนาปีจะเสียหายนับแต่เริ่มต้น

                  นอกจากเตรียมผึ่งหน้าดินแล้ว   ผืนนาบางแปลงที่ดีที่สุดและมีทำเลเหมาะสมที่สุด  ชาวนาต้องเจียดให้เป็นแหล่งเตรียมต้นกล้า และถ้าหากไม่ใช่นาดำ  แต่เป็นนาหว่าน ชาวนาก็ต้องเตรียมที่จะหว่านข้าว  ซึ่งหากฝนตกไม่มาก  ข้าวก็จะเริ่มงอก  และเมื่อเริ่มโต  ฤดูฝนและน้ำหลาก  ก็จะมาถึงพอดี

            แต่เมื่อผิดฤดูกาลอย่างนี้  นอกจากข้าวพันธุ์จะไม่สามารถงอกและหยั่งรากลงดินให้มั่นคงได้ทันก่อนน้ำหน้าดินจะหลากมาแล้ว  เมล็ดข้าวของชาวนาที่หว่านลงไป  ก็กลับจะลอยและถูกน้ำหน้าดินจากฝนตก  พัดไปกองรวมกัน  เสียหายแน่นอน  หากจะรอไปอีกสักระยะ  ฝนที่เหมาะกับการเพาะปลูกก็จะหมดไปอีก

            สำหรับปีนี้  ชาวนาและเกษตรกรแย่แน่ครับ  ให้ความรู้เพื่อการตัดสินใจของชาวนา  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือกับวิกฤติที่ต่อเนื่องได้แน่เลย

           ผมสังเกตมาหลายปีแล้ว  ทฤษฎีแบบเบ็ดเสร็จที่บอกว่า ฝนตกและน้ำท่วม  เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่านั้น น่าจะมีอะไรที่ต้องเรียนรู้ตัวเองใหม่ของสังคมไทย  น่าจะมีเงื่อนไขแวดล้อมที่ต้องคิดกันใหม่มากกว่านั้น

          หากสังเกต...ครั้งแรกที่ฝนเริ่มตกของปีนี้  หากเรียกแบบพายุและทะเลคลั่งแบบใน อุกาฟ้าเหลือง  หนังของ ส.อาสนจินดา  ซึ่งผมเคยดูเมื่อกว่า 20 ปีก่อน  การเริ่มตั้งเค้าและกระหน่ำลงมาอย่างรวดเร็วของฝนในปีนี้ก็เป็นแบบนั้นเลย

         ในพื้นที่เขตเมือง  ฝนจะเริ่มตั้งเค้า  ก่อตัวเมฆฝน และตกลงมาอย่างรวดเร็ว บางครั้ง  แม้ในฤดูร้อนแล้ง ก็มีกระบวนการเหมือนอย่างเป็นฤดูฝนแบบนี้ 

           เป็นไปได้หรือไม่  ที่สัดส่วนพื้นที่หน้าดินซึ่งเป็นคอนกรีตมีน้ำขังมากกว่าเดิมตามแหล่งต่างๆของเมือง  โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร  เมื่อถูกแสงแดดแผดเผา  ก็จะเป็นเหมือนแอ่งกะทะ  ก่อให้เกิดไอน้ำจากน้ำที่ท่วมขัง ระเหยในปริมาณที่มากและรวดเร็วกว่าปรกติ   เมื่อมีความหนาแน่นและเริ่มกรองความร้อนจากแสงแดด  ก็จะทำให้ผืนดินเย็นตัวเร็วกว่าปรกติเช่นกัน 

           ทำให้เกิดปริมาณน้ำฟ้าเป็นเมฆฝน  ขณะเดียวกัน  พื้นดินก็คลายความร้อนและผันเป็นความเยือกเย็นให้เมฆกลั่นตัวเป็นหยาดฝนทั้งรวดเร็วและฉับพลันกว่าในพื้นที่ป่าเขา   ผมรู้สึกว่าหลายปีมานี้ ฝนตกในกรุงเทพฯง่ายและมากกว่าในพื้นที่ชนบทหรือในพื้นที่ป่าเสียอีก  ผมใช้เรียนรู้เอาจากการเป็นอยู่  ซึ่งก็ไม่แน่ใจเสียแล้ว  ไม่เหมือนเมื่อวัยเด็ก ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องฝนฟ้าได้ดี  เพียงดูลักษณะก้อนเมฆและผ่าวชื้นไอดิน  ผมก็สามารถออกไปหาแหล่งของเห็ดบานค่ำจากโคนไม้ท้องนา มาให้แม่ผัดกับใบโหรพาให้กินได้

          ในฤดูหนาวก็เช่นกัน  หากเป็นชนบทและแหล่งที่มีสัดส่วนของผืนดินมาก เวลาเดินกลางแจ้งหรือเวลาลมหนาวพัดมา เราจะสัมผัสได้ถึงไอผ่าวของผืนดิน  ทว่า ในชุมชนเขตเมืองและในกรุงเทพมหานคร  ก็กลับจะรู้สึกหนาวเหน็บอย่างรวดเร็วเช่นกัน 

           ถิ่นฐานประเทศไทยเป็นเมืองร้อนชื้น นอกจากการมีป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นตัวกำกับฤดูกาลและความเป็นไปของฝนตกแล้ว  การจัดการน้ำฝน  น้ำหลาก  และน้ำหน้าดิน  น่าจะมีเหตุปัจจัยและเงื่อนไขจำเพาะ  อีกทั้งจะเป็นความเสียหายที่ต้นทุนและความสูญเสีย นอกจากจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในทุกๆปีแล้ว อาจจะเพิ่มมากขึ้น

           ยิ่งไปกว่านั้น  การที่หน้าร้อนแล้งกลับกลายมาเป็นหน้าฝนและน้ำท่วมขัง  โอกาสที่ผืนดินควรจะได้ผึ่งแสงแดด  และเมื่อน้ำหลาก  หน้าดินก็จะได้รับการชะล้าง  ก็กลับเป็นการมีน้ำท่วมขังมากมายหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง  สภาพแวดล้อมอย่างนี้  เอื้อต่อการเกิดแหล่งเพาะเชื้อโรคและเป็นช่องทางในการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอีกมากมาย 

            เมื่อเช้านี้ผมเดินออกจากห้องพัก  แวะรดน้ำให้กับต้นพลูด่างที่อยู่ในกระถางเล็กๆมุมตึก แล้วผมก็คุยกับต้นพลูด่างอยู่ในใจ.....สังคมยังมีอนาคตร่วมกัน  เรื่องส่วนรวม  และความทุกข์ร้อนร่วมกันรออยู่ข้างหน้ามากมาย เกินกว่าจะเผชิญด้วยความเป็นตัวกูของกู และการมองเพียงการอยู่รอดเฉพาะหน้าแบบของใครของมัน  สังคมไทยหัวใจจตุคามฯ และรัฐธรรมนูญฉบับต้องสามารถกินได้แต่จะต้องเจอกับความไม่มีให้กิน จะเป็นอย่างไรบ้างนะ.... ผมคิดและเสียดสีตนเองแบบโพสต์โมเดิร์น.

หมายเลขบันทึก: 96430เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท