วัฏจักรแห่งความเสื่อม นำพาสังคมสู่โมหะภูมิ ที่ไร้ภูมิคุ้มกัน


ผู้เขียน พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส วัดสุทัศนเทพวราราม กทม.

ทำไมทุกฝ่ายในสังคมดูจะแย่ลง เราต้องสาวไปถึงเหตุว่าเพราะ ขาโรงเรียนไปเตะขาวัฒนธรรมแล้ว โยกไปเย้มา บนกระแสคลื่นอันเลวร้าย เชี่ยวกราก ที่พัดกระหน่ำมาเรื่อย สังคมไทยก็ยืนด้วยตัวเองไม่ได้ อย่าพูดถึงว่าจะก้าวไปข้างหน้าเลย เอาแค่พอประคองตัว ก็ลำบากมากแล้ว เราจะเห็นภาพสะท้อนสังคมไทยได้มากๆ ที่เราต่างก็ยอมรับว่า เราติดโรค “บริโภคนิยม” ในระดับที่เข้มข้นรุนแรงมาก ทำไม? ทำไมสังคมเราเป็นอย่างที่ในหลวงทรงมีพระดำรัสเปรียบเปรยไว้ว่าเป็น “โมหะภูมิ” ทำไมเราจึงเป็นเหมือนดั่งคนที่ “ไร้ภูมิคุ้มกัน”

เราเป็นประเทศพุทธศาสนา มีชาวพุทธอยู่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมสังคมอันทันสมัยล้ำยุคอย่างปัจจุบันนี้ มันเลวร้ายมาก เสื่อมทรามมาก อาชญากรรมเยอะ อบายมุขเยอะ สิ่งมอมเมาเยอะ โกงกินคอรัปชั่นมาก โสเภณีมาก ฆ่ากันมาก ขโมยกันมาก เดี๋ยวนี้เริ่มเป็นกันตั้งแต่เด็ก ๆ เราก็หาทางแก้แบบตาบอดคลำช้าง เป็นพักๆ ไป แก้ด้วยทางการเมืองบ้าง ทางเศรษฐกิจบ้าง ด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นกระแสมาจากตะวันตกบ้าง ทางสารพัดนโยบายกิจกรรมที่สวยหรู แต่สุดท้ายเราก็จะต้องถามหาความยั่งยืน มันไม่เคยแก้อะไรได้จริงจัง แค่พอประทังไว้ ประคองไว้เท่านั้นเอง มันแค่เส้นผมบังภูเขาเท่านั้นเอง
       
       เพราะวัฏจักรแห่งความเจริญที่เราก้าวเดินไปด้วยสองขา ทั้งขาแห่งการเรียนในระบบโรงเรียนและขาวัฒนธรรมเราโดนเตะเดี้ยงไปเสียแล้ว เมื่อก่อนมีวัฏจักรแห่งความเจริญที่หมุนสืบต่อไปในสังคมทุก 7-8 วัน มีกระบวนการเรียนรู้ที่งดงามสมบูรณ์อยู่ทุกๆ วันพระ แต่พอเราเปลี่ยนวันหยุดจากวันโกนวันพระ เป็นวันเสาร์- อาทิตย์ เกิดอะไรขึ้น นอกจากไม่ได้กระบวนการเรียนรู้ที่ดีงามอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว กลับหมุนกลับเป็น “วัฏจักรแห่งความเสื่อม” พอหยุดวันเสาร์อาทิตย์ ก็เป็นวันแห่งการเสพ เสพบริโภคกันอย่างหนักเป็นวันแห่งความมัวเมาลุ่มหลง เป็นวันที่เราขอหมกหมุ่นอยู่ในกระแสหายนธรรมที่ดาษดื่นในสังคมบริโภคนิยมด้วยความเต็มใจ แลโฆษณาสะกดจิตเรากันเองให้เป็นค่านิยมขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ
       
       วิถีชีวิตอย่างนี้จึงเป็นความสืบต่อแห่งวังวนของหายนธรรม ที่เราเต็มใจเชื้อเชิญให้เข้ามาแย้งชิงโอกาสที่วัฒนธรรมอันดีงามเคยโอบล้อมคนในสังคมอยู่อย่างอบอุ่น เราปล่อยให้หายนธรรมอันเลวร้ายเข้ามาครอบงำคนในสังคม ครูและเด็กในโรงเรียน หมอในโรงพยาบาล พระในวัด หรือแม้แต่เด็กในอ้อมอกของแม่ ยังถูกหายนธรรมเข้ามาครอบงำได้ แม่ตัวจริงที่อุ้มอยู่ได้ตายจากสังคมไทยไปนานกว่า 30-40 ปีแล้ว เป็นภัยที่มองไม่เห็น และยังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดจึงจะทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้เห็นได้

ที่มา: Dhamma and Life - Manager Online

หมายเลขบันทึก: 95510เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 02:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันเห็นด้วยกับพระคุณเจ้า ทุกวันนี้ เกือบจะทุกคน ที่ได้รับ เชื้อโรคนี้ โดยไม่รู้ตัวว่าป่วยทางจิต คำว่าโมหะภูมิ ซึ่ง ในหลวงท่านได้ทรงมองเห็นมานานแล้ว และได้บอกเรามาในพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ตรงกับปัจจุบัน แต่คงจะเป็นเรื่องที่น่าสงสาร คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแม้แต่ตัวเอง วันหนึ่งๆ เขาเหล่านั้นทำหน้าที่คือ หาเงิน ทุกคนหาเงิน เกินความกินอยู่ และเป็นลูกโซ่ เพราะความอยาก ในจิตสันดาน ใครก็แก้ไม่ได้ นอกจากจะรู้ตัวเอง แม้แต่เด็กในโรงเรียนที่คิดว่าตนนั้นเลิศ เรียนเป็นผู้เลิศ แข่งขันกัน คำว่าคิดว่าได้แข่งขันกัน ว่าฉันรู้มากกว่า เท่กว่า ก็เป็นโมหะแล้ว แต่ในเมื่อ วันนี้ เราต่างหากที่อยู่ในนคร โมหะภูมิ ทุกคนเป็น คนที่รู้ตัวว่าไม่ใช่ แต่เขาเป็นส่วนน้อย ไม่อาจต้านทานความชั่วร้ายได้ ความหลง เป็น มิจฉาทิฐิ เสียแล้ว แม่ที่ต้องปกป้องลูก กลับสนับสนุนลูก หรือนำพาลูกให้ได้รับเสียเอง ธรรมชาติหายไปแล้ว มีแต่ต้องดำรงชีวิตอยู่ เท่านั้น ผิดถูกไม่พูดถึง มีแต่ความถูกใจ มิใช่ถูกต้อง การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด

แต่สำหรับดิฉัน ไม่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร เราเป็นผู้ที่ดูเท่านั้น คนที่ไร้สติ ก็ทำไป ใครบอกก็เชื่อ ดิฉันคิดว่า พระพุทธเจ้า หรือ ผู้ที่ได้เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้นที่น่าเชื่อถือ เราจะรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นปัจจัตตัง เหมือนได้กินเองนั้นแหละ ใครบอกอร่อย ก็ได้แต่ฟังแล้วจินตนาการไปเอง คงได้แค่นั้น ต้องแล้วแต่บุญจริงๆ ในครั้งนี้ อาจจะเป็นการร่วมตัวของคนชนิดเดียวกันก็ได้ เวลาธรณีสูบจะได้ไปพร้อมกัน

สาธุ

พระอาจารย์ท่านเขียนบทความชิ้นนี้ด้วยการมองโลกตามความเป็นจริงครับ การแข่งขันแม้ทำให้วัตถุพัฒนาแต่ก็ทำให้้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้นด้วย ระบบการศึกษา่ไม่ได้สอนรากเหง้าของความเป็นชาติศาสนา แถมยังปลูกฝังเชื้อร้ายให้กับคนในชาติมากยิ่งขึ้น

ความจริงการแข่งขันหรือกิฬานั้น ถือว่าเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ กิฬาแปลว่าการเล่น แต่ผู้เล่นกิฬาและผู้ชมผู้เชียร์ถือว่าเป็นจริงเป็นจังมาก หากบุคคลได้เรียนรู้จากความจริงเสมือนนี้ ก็จะสามารถพัฒนาจิตใจตนเองได้

หากมีเพียงคำพูดที่สวยหรู ที่ว่า รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย โดยที่ความเป็นจริงแล้ว เราและระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้เด็กๆได้เรียนรู้จากนวัตกรรมที่เรียกว่ากิฬาเลย

การแข่งขันมีข้อดี แต่ต้องมีวิธีดึงคนออกจากการแข่งขันหรือรู้เท่าทันด้วย

เมตตา = กลาง > +

กรุณา = - > +

มุทิตา = + > ++

อุเบกขา = เมื่อไม่สามารถวางใจได้ทั้ง 3กรณี ก็ต้องวางเฉยอย่างฉลาด

หากได้เรียนรู้จากการแข่งขันเช่นนี้ การแข่งขันหรือกิฬา จะเป็นเครื่องมือความจริงเสมือนที่ใช้ปฏิบัติธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม

ในทางตรงกันข้าม หากไม่เรียนรู้ การแข่งขันและระบบการศึกษาจะทำให้คนเห็นแก่ตัว แถมปัจจุบัน นวัตกรรมการเรียนรู้ชิ้นนี้ ถูกนำไปโยงกับการพนันอย่างแยกกันไม่ออก

ความชั่วที่ทำกันเป็นระบบ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขาย ระดมทุนเข้าตลาดหุ้น ส่วนความดีถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแล้วแต่กำลังหลวงพี่หลวงพ่อจะทำได้ หากหมดแรงโดนแรงเสียดทานเยอะๆก็เลิกล้มกันไป รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง

น่าเอน็จอนาจใจยิ่งนัก

ขอบคุณคุณจุฑามาสที่ได้สนทนาด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท