~ ผู้หญิงคนหนึ่งกับตัวเลข AHS ~
นางสาว ~ ผู้หญิงคนหนึ่งกับตัวเลข AHS ~ เซี่ยงว่อง

" ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการก็มีบำเหน็จ หรือ บำนาญ "


ถ้าต้องการความรู้เพิ่ม ติดต่อ ประกันสังคมได้ที่ 1506 นะคะ เพราะมันคือประโยชน์ที่เราควรจะได้รับทราบอย่างมากค๊า

     วันนี้ขอรายงานการเข้าร่วมฟังบรรยาย เรื่อง กองทุนประกันสังคม (วันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ณ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร) ค๊า แหม เนื่องจากเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมค่ะ ความจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ว่า ประกันสังคมที่เรามีสิทธิ์นั้นเราได้อะไรบ้างจากทุกๆ เดือนที่เราต้องโดนหักจากเงินเดือน (ส่วนน้อยนิดของเรา หรือเปล่านะ) 

      เมื่อเราเข้าสู่ระบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง หรือรับราชการ(ถ้าไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ) แล้วหละก็ท่านต้องเข้าร่วมประกันสังคมนะคะ และจากที่ได้รับการฟังบรรยายจากวิทยากรที่ช่างพูดช่างเจรจา โดยท่าน ให้เราเรียกว่า จ่าหมาน.... ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ให้ความรู้ พร้อมให้รางวัลแก่คนที่เข้าร่วมรับฟัง ถ้าท่านตอบปัญหาถูกต้องแล้วคร๊าบๆๆ แล้วดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รางวัลมาซะด้วย

      สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม (ขอเน้นย้ำว่า กรณีเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานนะคะ ถ้าจะเบิกให้ได้เนื่องจากเจ็บป่วยจากการทำงาน ท่านต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนด้วยค๊า) เมื่อท่านเข้าทำงานมีฐานะเป็นลูกจ้าง นายจ้างจะต้องแจ้งขี้นทะเบียนต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงาน หากพ้นกำหนดนายจ้างจะมีความผิด....

      เงินสมทบที่ต้องถูกนายจ้างหักเข้ากองทุน เก็บจาก 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ได้แก่ ลูกจ้างจะถูกหักร้อยละ 5 ของค่าจ้าง (ถูกหักไม่เกินเดือนละ 750 บาท หรือต่ำสุดไม่น้อยกว่าเดือนละ 83 บาท) นายจ้างจะสมทบให้อีกร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เท่ากับลูกจ้าง และ รัฐบาลจะสมทบร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างลูกจ้าง

      อัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างแยกได้ดังนี้

      - ร้อยละ 1.5 จ้ดเก็บใช้ในกรณีเจ็บป่วย,คลอดบุตร,ทุพพลภาพ,ตาย (ไม่มีสะสมคืน)

      - ร้อยละ 3 จัดเก็บเป็นกรณีสงเคราะห์บุตร และ ชราภาพ (สะสมคืนกรณีชราภาพตามที่สำนักงานกำหนด)

      - ร้อยละ 0.5 จัดเก็บสำหรับกรณีว่างงาน (ไม่มีสะสมคืน)

      ประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนประกันสังคม มีสิทธิที่จะได้รับทั้งหมด 7 กรณี คือ

      1. กรณีเจ็บป่วย ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือนก่อนเจ็บป่วย จะได้บัตรรับรองสิทธิฯจากนายจ้าง หรือสำนักงานประกันสังคม โดยท่านต้องเลือกโรงพยาบาลด้วยตนเอง ไม่ต้องให้นายจ้างเลือกให้ เมื่อได้รับบัตรแสดงบัตรฯต่อสถานพยาบาลจะรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียเงิน กรณีทำฟันได้แก่ อุด ขูด ถอน ทำฟันที่ไหนก็เบิกได้ครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 500 บาท สำหรับกรณีทำฟันปลอมฐานพลาสติก เบิกได้ถ้าไม่เกิน 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,200 บาท หากเกิน 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,400 บาท

       2. กรณีคลอดบุตร ถ้าส่งเงินครบ 7 เดือนก่อนคลอดบุตร คลอดที่ไหนก็ได้ ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสจะได้รับค่าคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง ๆละ 12,000 บาท ผู้ประกันตนหญิงจะได้รับค่าหยุดงานเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน

       3. กรณีทุพพลภาพ (ตามหลักเกณฑ์ทุพพลภาพที่สำนักงานกำหนด) ถ้าส่งครบ 3 เดือนก่อนทุพพลภาพ จะได้เงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 1 ก้อน (ตามจำนวนงวดที่ส่งเงินมาแล้ว) และได้รับเงินรายเดือนร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนไปตลอดชีวิต ตายมีค่าทำศพ พร้อมเงินสงเคราะห์ตามหลักเกณฑ์กรณีตาย และยังได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงเดือนละ ไม่เกิน 2,000 บาท

       4. กรณีตาย ถ้าส่งเงินครบ 1 เดือนก่อนตาย ผู้ทำศพจะได้รับค่าทำศพ 30,000 บาท ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย หากส่งตั้งแต่ 36 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย 1 เดือนครึ่งของค่าจ้าง ถ้าส่งครบ 10 ปี ขึ้นไปจะได้ 5 เดือน

       5. กรณีสงเคราะห์บุตร ถ้าส่งเงินครบ 12 เดือน สำหรับบุตรอายุไม่เกิน 6 ปี เบิกบุตรได้คราวละไม่เกิน 2 คน จะได้รับเงินรายเดือนๆละ 350 บาท ถ้าทุพพลภาพ หรือตายก่อนบุตรครบ 6 ปี ผู้ที่ปกครองบุตรจะได้เงินจนบุตรครบ 6 ปี

       6. กรณีชราภาพ! จะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และลาออกจากงานหรือเลิกส่งประกันสังคม จะได้รับสิทธิ์ดังนี้

            6.1 กรณีบำเหน็จชราภาพ (รับเป็นเงินก้อนตอนแก่)

                  - ถ้าส่งเงิน 1-11 เดือน จะรับเงินเฉพาะส่วนกรณีที่ถูกหักกรณีชราภาพของตนเองคืน

                  - ถ้าส่งตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ไม่ถึง 180 เดือน จะได้ทั้งส่วนของตนเองและส่วนของนายจ้างที่หักส่งกรณีสงเคราะห์

            6.2 กรณีบำนาญชราภาพ (เหมือนข้าราชการบำนาญ เลยนะคร๊าบ)

                  - เมื่อส่งสมทบครบ 180 เดือนขึ้นไป จะไม่ได้เงินก้อน แต่จะได้รับเดือนหลังจากเกษียณอายุแล้ว มีเงินไว้ใช้ยามชรา ไม่สามารถทำงานได้ไปจนตาย ปัจจุบันจะได้รับร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท)

       7. กรณีว่างงาน (นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสิ้นสุด) สิทธิที่จะได้รับเงินมีดังนี้ :

            7.1 กรณีหมดสัญญาจ้าง / ลาออกจากงาน จะได้รับเงินร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลา 90  วันต่อปี

            7.2 กรณีถูกเลิกจ้าง (ต้องไม่กระทำความผิด) จะได้รับเงินเดือน ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลา 180 วันต่อปี

        ทั้งนี้ ผู้ประกันตน ต้องอยากจะหางานใหม่ทำอีก มีความรู้ ความสามารถ มีร่างกายที่แข็งแรงสามารถทำงานได้ จะต้องไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ออกจากงาน ถ้าเกินกำหนดจะได้ไม่เต็มสิทธิหรือไม่ได้สิทธิเลย

        ...ถ้าต้องการความรู้เพิ่ม ติดต่อ ประกันสังคมได้ที่ 1506 นะคะ  เพราะมันคือประโยชน์ที่เราควรจะได้รับทราบอย่างมากค๊า...

 

 

หมายเลขบันทึก: 93960เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2007 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ตามมาให้กำลังใจจ้ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะ
อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นเลยครับ ต้องขอขอบคุณ คุณเกตุมากที่นำมาเผยแพร่
ดีมากเลย อบรมมาแล้วถ่ายทอดต่อ ช่วยให้ข้อมูลเยอะค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท