เรื่องเล่า"การทำKMในผู้เป็นเบาหวานต่างตำบล"


“หมอครับพวกเบาหวานที่อื่น เค้าทำอะไรกันมั่งครับ หมอไปมาตั้งหลายที่เล่าให้ฟังหน่อยซิครับ”

กลับจากตลาดนัดเบาหวานครั้งที่ 1
      มีความรู้สึกว่าชอบจัง ..ชอบวิธีการ แต่ ... จะเริ่มตรงไหน โอกาสไหน วิธีไหนดีนะ ถึงจะทำให้ความฝันเป็นจริง คุณหมอนิพัธและทีมงานทุกคน มีฝันที่จะเห็นภาพชมรมเบาหวานในแต่ละตำบล เป็นจิ๊กซอ ที่มาต่อ ต่อกัน จนเป็นภาพชมรมเบาหวาน จังหวัดพิษณุโลก และมีการขับเคลื่อนความเข้มแข็งโดยประชาชนเอง หยั่งรากแก้ว ที่มั่นคง แข็งแรง ดิฉันเริ่มขายความฝัน  การขายในครั้งนี้ไม่ได้เงิน แต่เราได้ภาพฝันที่เหมือนกันทั้งทีมงาน เขต อ.เมือง  เราเลือกสิ่งที่เราทำได้ก่อน นั่นคือ ทำชมรมเบาหวานในแต่ละพื้นที่ PCU หลักและขยายเครือข่าย .ค่ะ. ความฝันกำลังจะเริ่มเป็นจริง  คุณหมอนิพัธ และคุณหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ได้เริ่มขยาย การดูแลผู้เป็นเบาหวานในรูปแบบชมรมลงใน PCU เครือข่ายอีก 2 แห่ง  พร้อม ๆ กับมีการเพิ่มยาเบาหวาน ยาความดัน ลงในบัญชียาของ PCU
      ทีมงานที่เข้มแข็งของ PCU ปากโทก โดยคุณหมอเหมียว ของชาวบ้านเริ่มดำเนินงานชมรมเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง 4 เดือน และ  ครั้งแรกที่ดิฉันได้มีโอกาสลงไปร่วมกิจกรรมชมรมที่นี่ กิจกรรมเป็นแบบกึ่งๆสอนสุขศึกษาและเกือบจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เมื่อดิฉันถามว่า คุณลุง คุณป้า ผลน้ำตาลวันนี้ได้เท่าไหร่ คุณลุงกับคุณป้า ก็จะบอกว่าไปถามหมอดูเถอะ ดูในแฟ้มก็ได้ ส่วนใหญ่ไม่รู้เกือบทุกคน........และดิฉันเริ่มขายรูปแบบกิจกรรมให้พี่ๆทีมงานปากโทกฟัง...กิจกรรมของเราก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
      วันนี้ดิฉันและน้องอุ๋ยมาทำกิจกรรมที่นี่เป็นครั้งที่ 2  ดิฉันเริ่มบอกผลน้ำตาลให้สมาชิกทุกคนทราบ ..สมาชิกทุกคนเริ่มมีความกระตือรือร้นสนใจใคร่รู้ว่าวันนี้ผลน้ำตาลของตนเองได้เท่าไหร่  ความดันเท่าไหร่ ดีหรือไม่ดี พร้อมกันให้สมาชิกช่วยกันบอกผลของตนเอง ทุกคนสนุกสนานกับผลน้ำตาลของตนเอง, ผลความดัน, ผลวัดรอบเอว, และน้ำหนัก มีสมาชิกหลายท่านน้ำตาลขึ้น สมาชิกก็จะตบมือให้กำลังใจและบอกว่า " เอาใหม่เน้อ เล่าให้ฟังซิไปทำอะไรมา และคราวหน้าเอาใหม่ แต่อย่าบ่อยนะ "
      คุณลุง ถามว่า “หมอครับพวกเบาหวานที่อื่น เค้าทำอะไรกันมั่งครับ หมอไปมาตั้งหลายที่เล่าให้ฟังหน่อยซิครับ” ดิฉันสังเกตดูกริยาของสมาชิกท่านอื่น ด้วยท่าทีอยากรู้ ดิฉันเล่าให้ฟัง ทุกคนนั่งฟังอย่างสนใจเหมือนดิฉันกำลังเล่าเรื่องหนังสนุก ๆ สักเรื่องหนึ่ง”
...........ค่ะ...และแล้วดิฉันก็นึกถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามตำบล ...ไชโย ไชโย ไชโย ในใจ 3 ทีแล้ว ถามว่า ไปเที่ยวเยี่ยมหาเพื่อนเบาหวานตำบลท่าทอง กันไหม (แล้วคิดในใจ มือใหม่หัดทำ) ใครอย่าไปยกมือขึ้น ..พรึบ...ทุกคนยกมือสมัคร ดิฉันใจแข็งรับได้ 24 ท่าน จากตอนแรกกะไว้ที่ 10 ท่าน คือใช้ 1 รถตู้ก็พอ ก็มือใหม่นีน่า. แต่ก็ตัดแล้วตัดอีกเต็มที่ต้องรับสมัคร 24 ท่าน
เพิ่มเป็น 2 รถตู้ ส่วนดิฉันและน้องอุ๋ย.คุณลุงบอกว่า  "หมอเอารถมาเองเน้อ.. ลุงๆกับป้าๆจะได้นั่งกันได้เยอะๆ " พูดไปก็หัวเราะชอบใจ  แล้วกระบวนการ learning by doing เกิดขึ้น
       ดิฉันและน้องอุ๋ยประสานงานกับทีมท่าทองสมาชิกก็งง ว่า....เค้าจะดูอะไรกันดิฉันบอกว่าเพื่อนเบาหวานต่างตำบลจะมาเที่ยวหา และก็มีเรื่อง ดี ดี เกี่ยวกับการคุมเบาหวานอย่างมีความสุข มาเล่าให้ฟัง ลุง ๆ ป้า ๆ ก็เตรียมเรื่องเล่าให้เค้าฟังด้วยนะ ส่วนการเตรียมตัวจะรับเลี้ยงอะไร ตามสบายนะคะ  ในใจก็คิด โอ้โห... ช่างเป็นการทำงานที่สบายจริง ๆ หนังสือราชการเซ็นมาเซ็นไปก็ไม่ต้อง คำกล่าวคำปิด – เปิด ก็ไม่ต้องมี ขั้นตอนการประสานงาน ง่าย ๆ สบาย จริง ๆ

ชมรมปากโทก มีการเตรียมตัว และตื่นเต้นก็การมาเที่ยว, ชมรมท่าทอง แต่งเพลง ซ้อมร้องเพลง นัดกันมาซ้อมร้องเพลง บ้านคนโน่น คนนี้  ฮั่นแน่... เริ่มมีการร่วมกลุ่มกันมากกว่า 1 ครั้ง ต่อเดือน ซะแล้ว...คนเตรียมก็สนุก คนจะมาก็สนุก ดิฉันก็สนุกอดนึกถึง อาจารย์วัลลา ไม่ได้   อาจารย์จะว่าอะไรไหมนะ  ดิฉันจะทำอะไรผิดไหมนะ แต่วันนี้ ความสนุกสนานจากการเตรียมตัวของสมาชิกทั้ง 2 ฝ่าย ก็คงบอกได้ว่าไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูกนะคะ

แล้ววันนี้รอคอยก็มาถึง
8.00 น. สมาชิกปากโทก แต่งตัวสวยรอยู่ที่ PCU ดิฉันกับน้องอุ๋ยไปถึง ถูกแซวว่ามาช้าจัง (ขอสาบานว่านัดกันเวลา 8.30 น. จริง ๆ นะ)
เริ่มเดินทางมา PCU ท่าทอง ระยะทาง เกือบ 30 กิโลเมตร ลงรถกันมาต่างคนต่างเขิน เนียม อาย คุณปูนักสุขศึกษาและน้องอุ๋ย เล่นเกมส์ซะเลย เรียกเสียงหัวเราะและความคุ้นเคยเกินพิกัด
-          เราเริ่มแนะนำตัว เล่นเกมส์หาคู่ ต่างฝ่ายต่างกล่าวต้อนรับ และบอกเป้าหมายการมาเยี่ยมเยียนในครั้งนี้ เราเริ่มแนะนำตัวว่า ชื่ออะไรกันบ้าง ผู้มาเยือนเริ่มรู้สึกอบอุ่นเพราะบรรยากาศเป็นแบบกันเองจริง ๆ มีการแอบบอกว่า “ถ้าจัดที่บ้านลุงแทนที่อนามัยนะ  มันกว่านี้อีก” ดิฉันก็นึกในใจจริง ๆ ด้วยแฮะ..เจ้าบ้านเตรียมคำกล่าวเพราะ ๆ มาต้อนรับทั้งบทกลอนแสนหวาน และเพลงที่ไพเราะ ดิฉันสังเกตดูสมาชิกที่ไหนที่ไหนก็ชอบร้องรำทำเพลง ..รำวงจนครบ 30 นาที  ปรี๊ด..หมดเวลา สมาชิกเริ่มแซวว่า..."รำวงต่อเนื่อง 3 ครั้ง/สัปดาห์ อย่างนี้ใช้ออกกำลังกายไหม " หลังจากเริ่มสนิทสนมคุ้นเคยอย่างดี สมาชิกเริ่มบอกเป้าหมายของการเยี่ยมเยือนในครั้งนี้ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มเกิดขึ้น ต่างฝ่าย ต่างเล่าถึงประสบการณ์การควบคุมน้ำตาล อย่างออกรสชาติ เล่าได้สักพัก ..ก็ร้องเพลงรำวงสลับไปสลับมา
โดยมีสั่งที่อยากแลกเปลี่ยนดังนี้
      1.  รูปแบบการจัดกิจกรรมในชมรมตำบลท่าทอง
      2.  ประสบการณ์การคุมน้ำตาลอย่างมีความสุขของเพื่อน ๆ เบาหวาน
      3.  ต้องการรู้จักเพื่อนเบาหวานต่างตำบล
สรุปขุมความรู้
1.  การจัดกิจกรรมเป็นอะไรก็ได้ที่สนุก ๆ ให้เพื่อน ๆ (ร่วมโรค) มากันเยอะ ๆ มาช่วยกันให้กำลังใจกันจะได้ไม่เครียด
2.  ได้ความรู้ในการคุมปริมาณอาหารโดยนำความรู้ของคุณหมอที่เคยฟัง มาสอนแบบง่าย ๆ เช่น เวลาสมาชิกตั้งวงพูดคุยกัน ชอบกินถั่ว ก็เลยให้เพื่อนเอามือ กำไปในถุงถั่ว กำได้แค่ไหนก็กินถั่วได้แค่นั้น ไม่งั้นนะก็กินกันตาย ไม่ไล่ไม่เลิก มันก็เกินเลยเถิด ยิ่งกินยิ่งมัน
3.  ลุงแขกเล่าเรื่องประสบการณ์ Hypoglycemia ที่เป็นขณะพายเรือไปหาปลา เล่าแบบเห็นภาพ  ได้ความรู้สึก ว่า ความตายอยู่แค่เอื้อม เป็นลมในเรือขณะพายเรือหาปลา ถ้าหัวคว่ำตกน้ำ ตายแน่แต่ดีที่เป็นเท้า ไม่งั้นตาย ลุงแขกบอกนึกไม่ถึงว่า  ตกปลาแบบติดลม ลืมกินข้าว จะเอาเรื่องขนาดนี้ ลุงบอกเป็นทีเดียว คุมน้ำตาลไม่ได้ไป 4 เดือน เวลาใจสั่น หิวปุ๊บ กินปั๊บ เพราะกลัวตาย กว่าจะตั้งหลักคุมน้ำตาล

4. ลุงตาบเป็น CA larynx ผ่าตัดกล่องเสียงไปแล้ว แต่งกลอนมาอ่านให้ฟัง และบอกว่าพึ่งไปฝึกร้องเพลงมา และร้องเพลงให้ฟังโดยที่ไม่มีกล่องเสียง ลุงตาบ กลายเป็นพระเอก สะกดเพื่อน ๆ เหมือนร่ายมนต์ งานนี้ประทับใจ ในสิ่งที่ลุงตาบบอก ด้วยเสียงที่ค่อนข้างฟังยากแต่ตั้งใจถ่ายทอด ว่ารักหมอทุกคน ดีใจที่มีเพื่อนมาเที่ยวหา และให้กำลังใจทุกคน ว่าสุข-ทุกข์อยู่ที่ใจ ทำใจให้มีความสุขเหมือนลุงตาบดีกว่า

ภาพลุงตาบและเพื่อนๆรำวงอย่างมีความสุข

 

ผู้เล่าเรื่อง

 รัชดา

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9393เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2005 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณรัชดาเล่าเรื่องได้เห็นภาพเห็นบรรยากาศของกิจกรรม น่าสนุกดีนะคะ ไม่มีผิดหรอกค่ะ ถ้าทำแล้วผู้ป่วยมีความสุข มีการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลองติดตามดูนะคะว่าแต่ละฝ่ายได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง แล้วเอาความรู้ที่ได้ไปใช้อย่างไร

อยากให้เอาเรื่องดีๆ ของผู้ป่วยมาเล่าบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ดูแลตนเองดีแล้วยังทำให้ผู้ป่วยรายอื่นดูแลตนเองได้ดีตามไปด้วย อยากรู้ว่าเขามีเทคนิคหรือวิธีการอย่างไรบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท