สถาบันวิจัยและพัฒนา TV4 Kids
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.48 ทีมงานวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว มาคุย ชื่อโครงการมันยาวจนจำยาก เขาจึงเรียกสั้น ๆ ว่า TV4 Kids คนที่มาคือ รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร, อ. อิทธิพล ปรีดิประสงค์ ([email protected]) และ อ. ผู้หญิงอีกคนผมจำชื่อไม่ได้ โครงการนี้ได้รับทุนจาก สสส. โดยผู้รับทุนคือ มูลนิธิ ศ. คนึง ฦๅไชย
คำถามที่อาจารย์ทั้ง 3 ท่านต้องการความเห็นจากผมก็คือ ควรมีการจัดตั้งสถาบัน R&D TV4 Kids หรือไม่ ถ้าจะตั้งควรตั้งแบบไหน มีหน้าที่อะไร มีประเด็นที่พึงระวังอย่างไรบ้าง
ผมได้ให้ความเห็นไปว่า ควรตั้ง เป็นโครงการ 10 ปี เน้นงานพัฒนาและวิจัยแล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากันใหม่ตามผลงานและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
จะต้องให้ชัดว่าองค์กร (โครงการ) นี้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเองหรือเป็นผู้ขับเคลื่อนขบวนการ TV4 Kids ซึ่งมีดีมีเสียคนละแบบ และต้องใช้วิธีคิดและ corporate culture คนละแบบในการทำงาน
ถ้าทำเองก็จะพบ "คู่แข่ง" มากมาย และทีมงานต้องสวมวิญญาณ "คุณกิจ"
ถ้าเป็นผู้ขับเคลื่อนขบวนการก็จะต้องพัฒนาทักษะในการทำงานขับเคลื่อนเครือข่ายและต้องมีบารมี มีความอดทน ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
ผมได้ให้ความเห็นว่างานแบบนี้เป็นงานเปลี่ยนวัฒนธรรมและเป็นงานที่ซับซ้อน จะต้องเข้าใจความซับซ้อน และจับ "ตัวละคร" ให้ได้ครบ
"ตัวละคร" ไม่ได้มีอยู่แค่ตัวเด็ก (ผู้รับสาร), สถานีทีวี (ผู้เผยแพร่), ผู้ผลิตรายการ และบริษัทผู้อุปถัมภ์รายการ
จริง ๆ แล้ว "ตัวละคร" มีอยู่เป็นสิบ ที่เพิ่มมาได้แก่ พ่อแม่ พี่เลี้ยง ครูเด็กเล็กหรือพี่เลี้ยงเด็กตามสถานรับเลี้ยง ครู ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักทำงานเพื่อสังคม ฯลฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการ "พัฒนา" TV4 Kids ได้
จุดสำคัญคือเป็น "งานพัฒนา" ที่มีแง่มุมต่าง ๆ มากมายให้ดำเนินการ ยกตัวอย่าง เราควรจะส่งเสริมให้พ่อแม่ใช้รายการทีวีดี ๆ เป็นเครื่องช่วยการสนทนาระหว่างพ่อหรือแม่ (หรือพี่เลี้ยง) กับเด็ก คือดูรายการด้วยกันแล้วคุยกัน ว่าลูกชอบตรงไหน แม่ (หรือพ่อ) ชอบตรงไหน ทำไมจึงชอบ เราจะทำอย่างเขาไหม ทำอย่างนั้นถือว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี ทำไมจึงว่าดี ทำไมว่าไม่ดี โดยแม่ต้องคุยกับลูกแบบเด็ก คุยตามอายุเด็ก หาพ่อแม่-ลูกที่จะลองทำแบบนี้สัก 100-200 คู่ แล้วให้โทรศัพท์แจ้งศูนย์รับแจ้งความประทับใจว่าเกิดผลอย่างไร อยากได้รายการทีวีแบบไหน ฯลฯ ก็จะได้ความรู้สำหรับพัฒนา TV4 Kids นี่เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ เราสามารถจินตนาการโครงการทดลองได้อีกเป็นร้อย
ที่จริงเราคุยกันจิปาถะมากมายครับ เพราะ ดร. พันธุ์ทิพย์กับผมสนิทกันในฐานะที่ท่านเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนา/แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ เชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน เป็นนักกฎหมายเพื่อคนรวยที่เปลี่ยนใจมาช่วยคนจน ผมจึงรักน้ำใจมาก
วิจารณ์ พานิช
21 ธ.ค.48
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
ขอบคุณค่ะอาจารย์
หลายปีต่อมา ทบทวนชีวิต รู้สึกว่า อาจารย์เหมือนคนที่มาดักรอในระหว่างทางเปลี่ยว ทุนนิยมและวัตถุนิยมเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่เลวร้ายทีเดียว แต่ก็เอื้อต่อความนิยมในสิ่งที่เลวร้ายมากๆ หลายๆ เรื่อง หลุดออกมาได้ รู้สึกโล่งอก
แต่ความรู้ในเชิงการจัดการธุรกิจที่ได้เรียนมา ก็ดูเป็นต้นทุนที่เอาไปจัดการสังคมที่ยังมีเรื่องของทุนนิยมและพาณิชย์นิยมได้ดี
แต่ก็รู้สึกว่า ต้องเรียนรู้อะไรมากขึ้นค่ะ
TV4Kids เป็นเพียงการทำกับข้าวแบบเร็วตามคำสั่งของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งยังมีข้อผิดพลาดให้เรียนรู้ และปรุงแต่งอีกมากมาย
แต่ก็มีผลกำไรอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Quality Rating Sysytem ซึ่งอยากเอาไปให้อาจารย์ชิมค่ะ สนใจไหมคะ