โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

อานุภาพของการฟัง


คนส่วนใหญ่คิดว่าการเป็นคนพูดเก่งสำคัญกว่าการเป็นผู้ฟังที่ดี

     การฟังที่ดีเป็นเรื่องหนึ่งที่คนที่ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยหรือ Facilitator ในที่ทำงานของเราได้รับการอบรมสั่งสอนให้ฝึกให้ได้  ในวันนี้จึงอยากที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเตือนสติตัวเองด้วย เพราะปกติถนัดพูดมากกว่าฟัง บางทีก็ไม่ได้ดูว่าคนฟัง เขาอยากฟังหรือเปล่า  

     คุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญของผู้นำที่เก่ง ก็คือความสามารถในการรวบรวมข้อมูลโดยการถาม ตั้งใจฟังอย่างจริงจัง จึงจะสามารถสรุปได้อย่างตรงประเด็นและครบถ้วน  แดเนียล โกลแมน เจ้าพ่อเรื่อง EQ (เป็นเรื่องที่น่าสนใจ วันหลังต้องศึกษาถ้ามีโอกาส) ได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า EQ มีความสำคัญพอๆ กับ IQ ในการช่วยให้เราทำงานสำเร็จ เพราะ EQ เป็นความสามารถในการรับรู้ และไวต่อสิ่งที่คนอื่นพูด ลองสังเกตดูนะคะ ต่อไปถ้าเราต้องไปเข้าสังคม คุณคิดว่าระหว่างคนที่เอาแต่พูดๆ โดยไม่ฟังคนอื่น กับคนที่ฟังแล้วคอยซักถามด้วยความตั้งใจ สนใจ ใครจะดูดีกว่ากันขอเล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับการฟังที่ไปอ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่ง ผู้แต่งคือ Brian Tracy เขาให้หลักการฟังง่ายๆ ดังนี้ค่ะ    

     1. ฟังอย่างสนใจ ก็ต้องฟังโดยไม่ขัดจังหวะ ให้ความสำคัญกับผู้พูด ละวางกิจกรรมอื่นๆ ที่กำลังทำหันมาฟังอย่างจริงจัง ถ้าทำเช่นนี้เขาบอกว่าจะสร้างความรู้สึกดีต่อกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง

     เคยไปเรียนเรื่องการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมสอบ TOEFL มีหัวข้อที่ให้เราเขียนเรียงความอันหนึ่งว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าโทรทัศน์เป็นต้นเหตุให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหา" เราเห็นด้วยอย่างยิ่ง จากที่ใกล้ตัวที่สุด คุณผู้ชายเวลาดูทีวี เธอจะไม่สนใจฟังสิ่งที่เรากำลังพูดซักเท่าไร คนพูดก็จะโกรธ หรือเคยเจอเจ้านายบางคน เวลาเราไปพบอยากคุยกับเขา เขาก็ get mail ไปด้วย แล้วเหลือบมาฟังเราเป็นระยะ ถ้าเป็นแบบนี้เรียกว่าเป็นการฟังที่ไม่ดี ข่าวสารที่ได้ก็บิดเบือน สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ตั้งใจมาพูดให้ฟังอีกด้วย นอกจากนั้นเวลาฟังก็ต้องพยักหน้า หรือพูด อือ อา ไปด้วยไม่ใช่นิ่งเงียบ อันนี้ก็ไปเกี่ยวกับเรื่องภาษากายด้วย ท่าใดที่แสดงถึงความตั้งใจฟัง วันหลังค่อยมาดูเรื่องนี้อีกทีนะคะ

      2.  หยุดก่อนตอบ หลังจากที่ฟังผู้พูด พูดจบ แทนที่เราจะพูดตอบทันที ขอให้หยุดสัก 3-5 วินาที ปล่อยให้ความเงียบเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย    เขาบอกว่าการทำเช่นนี้จะได้ประโยชน์สามอย่าง อย่างแรกคือเป็นการไม่ขัดจังหวะ เพราะบางทีเขาอาจจะยังพูดไม่จบ แต่กำลังเรียบเรียงความคิดอยู่  อย่างที่สอง เป็นสัญญาณที่สื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ  ประการสุดท้าย คุณจะได้ยินคนคนนั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เขาพูด แต่จะสังเกตเห็นความในใจ รวมทั้งอารมณ์ ของเขาในขณะนั้นด้วย     เทคนิคนี้ไม่ค่อยเคยใช้ค่ะ เพราะส่วนใหญ่พี่น้องในบริษัท ชอบบอกว่าเราพูดไม่ทันคนอื่น เลยทำให้เราต้องกลายเป็นคนรีบชิงพูด พอมาอ่านเจอเรื่องนี้ เลยคิดว่าตอนนี้เราเสียนิสัยที่เคยทำดีไปแล้วสินะ     

     3. ถามเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ในหนังสือบอกว่า คนที่รู้จักหลักการถามจะเป็นผู้ควบคุมเกมการสนทนา    เท่าที่ตัวเองสังเกตดู ไม่ว่าจะเป็นวงสนทนาที่ใดก็ตาม การที่มีคำถามแสดงว่าผู้ฟังสนใจ ตั้งใจฟัง ผู้พูดย่อมรู้สึกดีด้วย  ในขณะเดียวกันเมื่อมีการซักถาม และถ้าเรามีเทคนิคในการตั้งคำถามที่ดี ก็จะช่วยให้เกิดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกันได้ดีทีเดียว ซึ่ง อ.เคยสอนว่า คำถาม ที่ขึ้นต้นว่าทำไม จะเป็นคำถามที่มีพลังสูงสุด เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม รู้ที่มาแห่งเหตุและผล เรื่องนี้เราซาบซึ้งจริงๆ เพราะเจอเจ้านายตั้งคำถามเป็นประจำ เวลาที่เขาอยากได้ไอเดียเด็ดๆ  กระตุ้นให้เราคิดตามจนบางทีเมื่อยสมองไปเลย     

    4. การป้อนข้อมูลกลับ หรือทบทวนความเข้าใจด้วยถ้อยคำของเราเอง หากผู้พูดยืนยันกลับว่าใช่ถูกต้องแล้ว เราจึงตั้งคำถาม หรือแสดงความเห็นอื่นๆ ต่อไป เทคนิคสุดท้ายนี้คือบททดสอบประสิทธิภาพในการฟัง การคิดของคุณว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นการฟังที่บังเกิดผล แสดงว่าคุณนั้นได้ฟังและคิดตามไปด้วย ไม่ได้ทอดทิ้งผู้พูดให้รู้สึกเดียวดาย และทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ 

     คนที่เป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา หรือคนที่ทำงานเป็นที่ปรึกษา คนที่ทำหน้าที่เป็นคนนำการประชุม หรือคุณอำนวยอย่างเรา คงต้องฝึกทักษะนี้ให้มากๆ กว่านี้ จนชินเป็นนิสัย นอกจากจะทำให้งานเดินอย่างลุล่วง แล้วยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังอีกด้วย ไม่เว้นแม้แต่จะนำไปใช้ภายในครอบครัวด้วย

คำสำคัญ (Tags): #เทคนิคการฟัง
หมายเลขบันทึก: 93272เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2007 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบพระคุณค่ะพี่ส้ม 
  • หนิงเองก็  แหะๆ  พูดมากอ่ะค่ะ  แต่ออกแนวไร้สาระเนอะ ^__*

สวัสดีค่ะ คุณหนิง

คิดถึงจัง ไม่ได้เจอกันหลายวันเลยนะคะ ครูบายังชมว่าคุณหนิงพูดเก่ง แต่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย บางทีในสิ่งที่ไร้สาระ ก็มีสาระซ่อนอยู่นะคะ

สวัสดีค่ะ

พี่เองก็มีจุดอ่อนอยู่ตรง ไม่ค่อยฟังใครเท่าไร สมัยก่อน ตอนนี้น้อยลงมากแล้วค่ะ

555  อย่างหนิงนี่  เรียกว่า พูดมากค่ะพี่ส้มขา  ไม่ใช่พูดเก่งหรอก  อิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท