ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ
ทพญ. ฉลอง ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ เอื้องสุวรรณ

โรคเบาหวานกับสุขภาพในช่องปาก


ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีความไวต่อการติดเชื้อในช่องปาก รวมทั้งโรคปริทันต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ดีการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี และกลับกันการที่มีโรคปริทันต์ที่มีอาการสามารถทำให้เสียการควบคุมระดับน้ำตาลได้ การมีโรคปริทันต์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานด้วย

                  วันนี้เจอผู้ป่วยโรคเบาหวานรายหนึ่ง มาด้วยอาการฟันโยก และต้องการทำฟันปลอม ฉันได้ซักประวัติโรคทางระบบพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงถึง 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สภาพในช่องปากโดยทั่วไปมีแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินปูนโดยทั่วไปทั้งปาก พบมีอาการฟันโยกในบริเวณฟันหน้า ซึ่งได้รับการเข้าเฝือกยึดฟันไว้ มี............ปริทันต์สึกประมาณ 5-8 มิลลิเมตรแล้วแต่บริเวณ และใส่ฟันปลอมอยู่ 2 ซี่ วันนี้มาด้วยอาการฟันปลอมหลวมต้องการทำฟันปลอมใหม่
                 โดยทั่วไปแล้วก่อนทำฟันปลอม เราจะทำการรักษาสภาพของเหงือกให้อยู่ในอาการปกติ ไม่มีหินปูน เหงือกปกติ ไม่บวกแดง และผู้ป่วยดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองได้เป็นอย่างดี ถ้ามีฟันผุก็จะได้รับการอุดฟันให้เรียบร้อย เพราะว่าการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้นั้น ฟันปลอมจะไปวางแนบกับเหงือกและฟันทำให้สามารถมีเศษอาหารไปเกาะบริเวณใต้ฟันปลอม พวกเราทำความสะอาดไม่ดี ก็จะทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย
                   ในผู้ป่วยรายนี้ทราบจากคุณหมอผู้ให้การรักษาโรคปริทันต์ว่าผู้ป่วยไม่ยอมให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาโรคสุขภาพในช่องปาก เช่น ไม่ยอมใช้เส้นไหมขัดซอกฟัน หรือแปรงฟันให้สะอาดโดยทั่วถึง จึงไม่สามารถควบคุมการเกิดของโรคปริทันต์ได้ ในขณะเดียวกัน ระดับน้ำตาลในเลือดก็ยังสูงถึง 200-300 มล./ดล.
                  ฉันขออนุญาตผู้ป่วยขูดหินปูนและทำความสะอาดฟันก่อนพิมพ์ปากใส่ฟันปลอม ผู้ป่วยค่อนข้างกลัวการทำฟัน เนื่องจากมีประวัติไม่ดีจากการถอนฟันมาก่อน ฉันพยายามบอกว่าการทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดปราศจากหินปูน เป็นสิ่งจำเป้นที่ต้องทำก่อนฟันปลอม เพื่อฟันปลอมจะได้แนบสนิทกับตัวฟันได้ดีมากขึ้น โชคดีที่เขายินยอม
                      ฉันยอมทำฟันปลอมให้กับผู้ป่วยรายนี้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคปริทันต์ได้ เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้ป่วยและฟันปลอมเก่าหลวมมาก และได้บอกเขาว่าหลังทำฟันปลอมเสร็จแล้วคงจะต้องรักษาโรคปริทันต์ค่ะ
                       จากผลการศึกษาที่มีนัยสำคัญทางสถิติแสดงว่า โรคเบาหวานเป็นปัจจัยนำปัยจัยหนึ่งของการเกิดโรคปริทันต์ พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ มีการอักเสบของเหงือกมากผิดปกติ มากกว่าผู้ที่ควบคุมได้ ทั้ง ๆ ที่มีคราบจุลินทรีย์เพียงเล็กน้อย

                     ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมได้ดีมีความชุกของเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์เหมือนผู้ที่ไม่ป่วยโรคเบาหวาน โรคปริทันต์ของผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและผู้ใหญ่มีอาการแสดงอาการทางคลินิกรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ป่วย
                  การเพิ่มความชุกของโรคเหงือกและโรคปริทันต์ในผู้ป่วยเบาหวานมีข้อสรุปว่า มีสาเหตุจากหลายปัจจัยร่วม ได้แก่ การสะสมของ advanced glycosylated end product (AGE) ในเส้นเลือดของเหงือก สะสมในคอลลาเจนของเยื่อยึดปริทันต์และกระดูกเบ้าฟัน การเพิ่มของระดับไขมัน LDL ร่วมกับการมีการหนาตัวของผนังเส้นเลือดแดง การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง รบกวนการหายของโรคปริทันต์ การเปลี่ยนแปลงปฎิกิริยาของภูมิคุ้มกัน การเพิ่มออกซิเจน การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของ polymorphonuclean leukocyte และพันธุกรรม เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโรคปริทันต์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
                ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยังแย่  จะทำให้โรคปริทันต์รุนแรงขึ้น และมีหลายการศึกษาพบว่าถ้าผู้ป่วยดูแลสภาวะปริทันต์ได้ดีก็จะสามารถทำให้สภาวะโรคเบาหวานดีขึ้น
                 ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีความไวต่อการติดเชื้อในช่องปาก รวมทั้งโรคปริทันต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ดีการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี และกลับกันการที่มีโรคปริทันต์ที่มีอาการสามารถทำให้เสียการควบคุมระดับน้ำตาลได้ การมีโรคปริทันต์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานด้วย
                        นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการคลอดบุตรก่อนกำหนดแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อโรคปริทันต์เพิ่มขึ้นด้วย
                     ดังนั้นการคัดกรอง และส่งต่อและรักษาโรคปริทันต์ จึงจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย
                      นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี มีความเสี่ยง่ต่อการเกิดโรคฟันผุมากขึ้น เนื่องจากมีความเข้มข้นของน้ำตาลในน้ำลายสูง นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวน lactobacilli เพิ่มขึ้นเมื่อมีระดับน้ำตาลในน้ำลายเพิ่มขึ้น
                     ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีด้วย เพื่อลดความเสี่ยงความรุนแรงของโรคเบาหวานด้วย

 

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคเบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 93266เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2007 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
โอ...อันนี้มีประโยชน์กว้างขวางนะคะ ยังไม่ค่อยได้ยินคำเตือนนี้ในคนไข้เบาหวานเท่าไหร่เลยค่ะ ต้องช่วยๆกันบอกต่อแล้วล่ะ ขอบคุณหมอหลองที่เก็บมาเตือนค่ะ

ข้อมูลเป็นประโยชน์มากๆเลยนะคะ เพราะว่าคุณแม่เป็นโรคเบาหวานอยู่แต่ตอนนี้ควบคุมเรื่องการทานอาหาร ระดับน้ำตาลก็ปกติแล้วคะ ต้องขอบคุณข้อมูลของคุณหมอนะคะ ที่แนะนำเรื่องสุขภาพช่องปากของผู้ทีเป็นโรคเบาหวาน จะได้ใส่ใจและดูแลสุขภาพของตนเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท