teacher researcher1


ครูนักวิจัย

วิจัยในชั้นเรียน : ครูดีเป็นนักวิจัยได้
*Aดร.ภาวิณี  ศรีสุขวัฒนานันท์


ครูเป็นนักวิจัยได้อย่างไร
ความรู้ที่เราเรียนมา  วิธีการทำงานที่เราทำได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว  หรือ สิ่งประดิษฐ์ที่เราสร้างขึ้น ล้วนเป็นอดีต และได้ผล เหมาะสมตามความเป็นไปของเหตุปัจจัยในอดีตทั้งสิ้น   สาระความรู้หลายอย่างยังคงนำมาเล่าท่องกันต่อเนื่องถึงปัจจุบัน  วิธีการเรียน การสอน การแก้ปัญหาหลายอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ได้ผล ก็ยังคงปฏิบัติตามๆ กันมาเสมือนหนึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ขาดไม่ได้   เอาละ  เราน่าจะลองนำมาทบทวนและถามตัวเราว่า ผลที่ได้น่าพอใจหรือไม่  มีประโยชน์หรือคุณค่าต่อเรามากน้อยเพียงไร   คุ้มค่าในด้านของการพัฒนาตนเพื่อการเรียนรู้ หรือ ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นหรือชุมชนหรือไม่   มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าหรือไม่   การทบทวนและตั้งคำถามเช่นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของครูผู้จริงจัง ใฝ่รู้อย่างนักวิจัย 


ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่สอนกันยาก  แต่เกิดที่ตัวเราเองได้ไม่ยากถ้าเราเอาใส่ใจตัวเองในการเรียน การทำงาน อย่างสม่ำเสมอเป็นนิสัย  ตั้งข้อสังเกต ให้คะแนนผลงานของตนเอง ถ้าไม่เต็มร้อย ก็จะสืบสาวหาสาเหตุ เพื่อปรับแก้ ยกเลิก เปลี่ยนแปลง และตามดูการเรียนการทำงานในรอบใหม่  ถ้าทำเช่นนี้ เราได้ฉายแวว  ครูนักวิจัย    และด้วยความใฝ่รู้ ครูสามารถสร้างสังคมของครูเองให้มีนักเรียนที่แวดล้อมเป็นนักเรียนนักวิจัย    แม้แต่ผู้ปกครอง ก็เป็นนักวิจัยได้เช่นกัน  ครูจะเป็นผู้ทำให้ทุกชีวิตที่แวดล้อมเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ถ้าจะสรุปให้เป็นภาพที่กว้างและไกล คือ ครูนักวิจัยจะชี้นำและสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เป็นจริงตามความคาดหวังดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติได้อย่างแน่นอน
การเรียกครูที่ฉายแววและมีคุณสมบัติใฝ่รู้ใฝ่พัฒนาว่า’ครูนักวิจัย‘ (Teacher-Researcher) เป็นความตั้งใจที่จะชี้ให้เห็นว่าการเป็นครูดี มีฝีมือก็เป็นครูนักวิจัยได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไม่น้อยที่กังวลว่า ครูต้องทำวิจัยแบบที่ทำกันตามความนิยมในการเรียนหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ หรือทำวิจัยเพียงหน้าเดียวตามกระแสก็ใช้ได้แล้ว คำตอบก็คงจะย้อนกลับไปหาหลักการข้างต้นว่า สิ่งที่ครูทำ ส่งผลให้เป็นครู มีความเชี่ยวชาญในงานครูมากขึ้นหรือไม่ จากการอ่านทัศนะของครูนักวิจัยคนหนึ่ง คือ คุณครู บิสเสซ (Glenda L. Bissex) 3เขาเคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ทำงานกับนักเรียนวัยต่างๆ  เป็นครูนักวิจัยในโครงการ The Vermont Writing Program  และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ครูในโรงเรียนทำวิจัยในชั้นเรียนหลายปี เขาให้นิยามของคำว่า ครูนักวิจัยในเชิงนิเสธว่า “ครู-นักวิจัยจะไม่ทำอะไรบ้าง” ดังนี้
·      ครูนักวิจัยจะไม่ศึกษานักเรียนนับร้อย สร้างกลุ่มควบคุมและปฏิบัติการสอนที่มุ่งเอาผลมาวิเคราะห์ทางสถิติ
·      ครูนักวิจัยจะไม่เริ่มด้วยการทดสอบสมมติฐาน แต่จะเริ่มจากความสงสัยที่ได้สังเกตอย่างตั้งใจ แล้วติดตามตรวจดูความสงสัยของตนเองว่าสิ่งที่สงสัยคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะเป็นไปอย่างไร เช่น สงสัยว่านักเรียนเกิดความคิดมากน้อยเพียงไร ถ้าให้เขาไปเขียนเรียงความนอกห้องเรียน
·      ครูนักวิจัยไม่กลัวเหตุการณ์วุ่นๆในชั้นเรียน และมีความเชื่อว่าครูเรียนรู้กับสภาพยุ่งเหยิงที่เป็นปกติ ครูจะความเข้าใจงานครูที่แท้จริงได้ ครูอาจสะดุดพบหรืออาจพบด้วยความพยายามในการใช้เหตุผลก็ได้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งครูและนักเรียน
·      ครูนักวิจัยเขียนสิ่งที่ตัวเองค้นพบ โดยไม่ต้องกังวลว่าต้องเขียนให้เหมือนตำรา หรือติดยึดรูปแบบวิชาการ เพราะโดยความเป็นจริง ผู้อ่านคือครูเอง และคนที่อยู่แวดล้อมตัวครู อาจเป็นเพื่อนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ครูใหญ่ และกรรมการโรงเรียน ผู้อ่านจะไม่มาตำหนิสำนวนภาษาที่ใช้ว่าไม่สละสลวย หรือ รูปแบบลีลาการเขียนแบบที่ผู้อ่านไม่คุ้น ขอเพียงให้อ่านแล้วเกิดสร้างสรรค์ปัญญา

        ’‘ (Teacher-Researcher)(Glenda L. Bissex) The Vermont Writing Program  ·      ·      ·      ·     


·      ครูนักวิจัยจะไม่เป็นคนสองบุคลิก คือทำตัวเป็นนักประพันธ์หรือนักตรวจสอบ แต่จะเป็นผู้ที่เขียนสิ่งที่สังเกตได้ และสะท้อนสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่าได้
มาถึงจุดนี้ก็เฉลยได้ว่า
ครูนักวิจัยคือนักสังเกต (an observer),
นักตั้งคำถามหรือเป็นคนเจ้าปัญหา (a questioner)
เป็นผู้เรียน (a learner) และ
เป็นครูที่มีความเป็นครูที่สมบูรณ์มายิ่งขึ้น

ครูนักวิจัยเป็นนักสังเกต

ตามความหมาย วิจัยคือ “การแสวงหาความจริงและแสวงหาความจริงเพื่อการยีนยันความจริงเดิม”  วิจัยไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลใหม่ทุกครั้ง แต่อาจเป็นการพิจารณาซ้ำในข้อมูลเดิมก็ได้ วิจัยจึงให้ความหมายว่า การเข้าไปพิจารณาแล้วพิจารณาอีกในสิ่งที่เกิดในห้องเรียน เราอาจไม่ต้องการข้อมูลสารสนเทศใหม่ แต่เราต้องการคิดทบทวนข้อมูลสารสนเทศเดิมนั้นใหม่ การตั้งข้อสังเกตกับเหตุการณ์ที่พบเป็นโอกาสที่ครูจะเรียนรู้สิ่งมีค่ามากมาย

ครูนักวิจัยเป็นนักตั้งคำถาม

สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเมื่อครูสังเกตและตั้งคำถามเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงดีขึ้น ครูจะพบคำตอบที่จะนำมาพัฒนานักเรียนได้อย่างมีคุณค่า ครูที่ช่างตั้งคำถามจะเป็นครูที่เข้าใจพฤติกรรมนักเรียนดี ปัญหาที่ครูตั้งจากการสังเกตตามสภาพจริงในห้องเรียนจะกลายเป็นคำถามที่ครูเข้าไปค้นหาคำตอบ เป็นคำถามที่ชี้นำการตรวจสอบ ครูจึงได้เรียนรู้มากกว่า การสร้างสถานการณ์ในห้องเรียน และเฝ้าดูเฉพาะปรากฏการณ์ที่กำหนดไว้ก่อนเท่านั้น การทำเช่นนั้นเป็นการจำกัดการรับรู้ข้อมูลไปหลายส่วนอย่างน่าเสียดาย
ด้วยการเรียนรู้ของครูจากการค้นหาคำตอบอย่างสนใจ สามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความหมาย ครูจะเกิดความคิดที่จะนำวิธีสอนใหม่ๆเข้ามาใช้ในห้อง เป็นขั้นการพัฒนาความเป็นครูมีฝีมือขึ้น ผิดกับการกระทำของครูที่ไม่มีพื้นฐานของครูดี แต่ประสงค์จะทำการทดลองแบบลองถูกลองผิด เป็นเพียงการสร้างโอกาสการเรียนรู้ของครูแลกกับการเสี่ยงการเรียนไม่รู้ หรือเรียนรู้ผิดเพียงเพื่อให้มีชิ้นงานเพื่อแจงนับเท่านั้น งานชิ้นนั้น อาจไร้ค่าถึงแม้จะเขียนที่หน้าปกว่า “งานวิจัย”

ครูนักวิจัยเป็นผู้เรียน

ครูนักวิจัยเป็นผู้มีความรู้และเป็นครูมืออาชีพมากขึ้นตามประสบการณ์ของการเป็นครู  ผู้บริหารอาจสร้างบรรยากาศส่งเสริมให้เกิดครูนักวิจัยในสถานศึกษาอย่างจริงจัง เช่น ทักทายครูว่า “วันนี้ครูเรียนรู้อะไร” แทนที่ “วันนี้ครูสอนอะไร” นอกจากนี้ ครูอาจร่วมกันสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการสอน  การติดตามประเมินนักเรียนจากการทดลองปฏิบัติ  นั่นแสดงว่า ความเป็นนักวิจัยได้ซึมลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของครู
วิจัยในชั้นเรียนเป็นอย่างไร

“วิจัย”  คำนี้น่ากลัวแต่ดูเก๋

คำว่า วิจัย เป็นคำที่สร้างความรู้สึกหลากหลายกับใครต่อใครมามาก  บางคนเห็นว่าเป็นคำที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของสิ่งที่จะพูดถึง เช่น "จากการวิจัย พบว่า …"  ครูบางคนมีความรู้สึกทุกข์เมื่อเห็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้ครูต้องวิจัย เพราะเข้าใจว่าวิจัยเป็นเรื่องยากมาก เคยเห็นแต่คนที่ไปเรียนปริญญาโททำกัน และทำด้วยความยุ่งยาก  แต่บางคนเห็นเป็นกิจกรรมที่ท้าทาย เพราะทุกครั้งที่เริ่มต้นค้นหาสิ่งที่สงสัย ด้วยวิธีการที่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นยอมรับได้  จะเกิดความภาคภูมิใจ และสามารถนำสิ่งที่พบเป็นหลักในการทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  ความรู้สึกหลากหลายเช่นนี้  ล้วนเกิดจากความรู้เดิม ๆถูกบ้างผิดบ้าง จากการประชุมเสวนาเรื่อง “การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้”4 ผู้เขียนเป็นวิทยากรรับเชิญร่วมเสวนา มีการหยิบยกประเด็น วิจัยเป็นเรื่องยาก ขึ้นมาเป็นประเด็นที่ร่วมกันคิดว่าจะทำให้ง่ายได้อย่างไร มีวิธีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรู้สึกว่าง่าย และ ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาสามารถทำงานวิจัยให้มีคุณภาพได้โดยไม่ยากอย่างไร  ข้อเสนอมีหลายทางเลือก เช่น ขจัดความกลัวโดยเลี่ยงใช้คำ เมื่อคำว่า “วิจัย” เป็นคำที่สร้างความรู้สึกกลัว ก็เรียกว่า  “ศึกษา” หรือ “วิเคราะห์” หรือให้การอบรมโดยมีรูปแบบที่เรียบง่าย  แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้สรุปว่า “วิจัย” คือ “วิจัย”  มีความหมายในเชิงศาสตร์ ของการค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบ ผู้สนใจจำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจ มิฉะนั้น ความปรารถนาที่จะให้เกิดงานที่มีคุณภาพ ย่อมไม่บรรลุผลอย่างแน่นอน  ดังนั้น เมื่อผู้สนใจที่จะทำวิจัย ก็ต้องมาเรียนให้รู้ ดูให้เข้าใจ และทำให้เป็น และ ทำต่อให้เกิดความชำนาญจนได้คุณภาพในระดับที่สร้างสรรค์จริง ๆ ไม่ใช่ ทำเพียงแค่ชิ้นงานเพื่อไว้แจงนับเท่านั้น   ขอย้อนกลับมาที่ประชุม ข้อสรุปที่เป็นเอกสาร ได้ระบุถึงแนวทางที่เห็นพ้องกัน คือ การสร้างความเข้าใจ ในความหมายของ “วิจัย” ที่ใช้กับการพัฒนาการเรียนรู้ของครู ของผู้บริหาร และ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เน้นวิจัยปฏิบัติการ ไม่ใช้ความหมายของการวิจัยที่พูดกว้างครอบจักวาลของการหาความจริง และที่สำคัญ จะต้องให้เข้าใจวิธีการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จริงของผู้วิจัย ไม่ใช่การเลียนแบบที่มีแต่ความกลัวที่ตนจะทำแล้วไม่เหมือนแบบ  หน่วยงานที่สนับสนุนจำเป็นต้องให้เวลาเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องแก่นักวิจัยมือใหม่  หน่วยงานต้นสังกัดเองต้องไม่ร้อนรนรอเก็บชิ้นงานเพื่อเสนอหน่วยเหนือ จนลืมหน้าที่ที่ตนต้องปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมในองค์กรตามพระราชบัญญัติด้วย หน่วยงานต้นสังกัดต้องทำวิจัยปฏิบัติการของตนเองอย่างยิ่ง เพื่อตอบคำถามวิจัยที่เป็นหน้าที่ว่า การส่งเสริมให้ครูและผู้บริหารทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน หรือในโรงเรียนจะต้องทำอย่างไรในสภาพที่เป็นจริงขององค์กรนั้นๆ จึงจะได้ผล ผลในที่นี้ คือ ผู้บริหารพัฒนาตนเป็นผู้บริหารมืออาชีพ  ส่วนครูก็มีความสุขกับผลงานที่เด็กเก่งมีความสุข จากที่กล่าวมานี้  เป็นสาระยืนยันความคิดที่ว่า วิจัยเป็นวิถีพัฒนาตนของผู้ที่ทำวิจัยด้วยความเข้าใจ มีความภูมิใจในวิชาชีพของตน 

ในพุทธรรมกล่าวถึง ”วิจัย” อย่างไร

คำว่า “วิจัย” ในพุทธรรมหมายถึงกระบวนการพัฒนาปัญญาเมื่อเกิดศรัทธาที่เร้าใจให้อยากพิสูจน์ความจริง เป็นบันไดที่นำไปสู่ความรู้ซึ้ง ตรงกันข้ามกับศรัทธาที่เกิดขึ้นโดยขาดปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้หยุดการคิดหาเหตุผลและเกิดการปฏิบัติตามด้วยความงมงายได้ เมื่อย้อนพิจารณาขั้นตอนของการวิจัยตามหลักพุทธรรม ครูต้องเกิดความศรัทธาในงานครูก่อน และเป็นศรัทธาที่เป็นไปเพื่อปัญญา ซึ่งจะส่งเสริมความคิดให้เกิดการวิจัยวิจารณ์ เกิดความแน่นแฟ้นในงานที่ปฏิบัติ สามารถปฏิบัติได้ด้วยความถูกต้องที่สืบเนื่องจากการยอมรับความจริงที่ตนกำหนด ไม่ได้เป็นเพราะปฏิบัติตามคำสั่ง หรือการกำหนดของผู้อื่น ในทางศาสนาได้กล่าวไว้ว่า “พึงวิจัยธรรมให้ถึงต้นเค้าจึงจะเข้าใจอรรถ (ประโยชน์) แจ้งชัดด้วยปัญญา”5 นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ในหลักการสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้รู้จักการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอย่างมาก ดังตัวอย่างเรื่อง กาลามสูตร เป็นกรณีการสอนในสมัยพุทธกาล ที่มีเหตุการณ์ชักชวนให้ชาวกาลามะหลงเชื่อ และปฏิบัติตามลัทธิต่างๆ จนชาวกาลามะเกิดความสับสน ไม่รู้จะเชื่อหรือนับถือลัทธิใดดี พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้ความวินิจฉัยของตนเอง อย่าเชื่อทันที โดยอาการ 10 อย่าง เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสทางปัญญาของผู้อื่นแม้แต่พระองค์เอง ให้รู้จักเลือกเอาคำสอนที่ดับทุกข์ได้จริงด้วยเหตุผลอย่างใคร่ครวญอย่างเพียงพอก่อน แล้วลองปฏิบัติดูเมื่อได้ผลจึงลองเชื่อ คำสอนนี้เรียกว่า กาลามสูตร ผู้ที่สนใจหาอ่านเพิ่มเติมได้จากสัจจสารจากสวนโมกข์ เรื่อง “กาลามสูตรช่วยด้วย?” ซึ่งจะได้เห็นตัวอย่าง และข้อคิดที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นของคนโดยเฉพาะครูในยุคข่าวสาร ว่าควรใช้ปัญญาในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนเชื่อ ครูมีหน้าที่สอนทั้งในส่วนที่เป็นความรู้และส่วนที่เป็นคุณธรรมในกับศิษย์ จึงต้องไม่เป็นคนหลับตาเชื่อ หรือหลงยึดอยู่กับความเก่าของข้อมูลที่มีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรือตื่นเต้นยอมรับสิ่งใหม่โดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา ขาดการศึกษาวินิจฉัยเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลง อันเกี่ยวเนื่องของเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อสภาพการเรียนการสอนอย่างจริงจัง
ขอให้หันกลับมาพิจารณาความหมายของคำว่าวิจัย ในเอกสารตำราหลักสูตรทั่วไปที่ศึกษากันจากสถาบันอุดมศึกษา ส่วนใหญ่อ้างอิงจากต่างประเทศ ความหมายในเชิงสาระไม่แตกต่างกันมากนัก คำว่า “research” มีความหมายตรงรากศัพท์คือ การค้นหาแล้วค้นหาอีกจนกระทั่งมั่นใจว่าได้ข้อค้นพบที่ถูกต้องแล้ว การค้นในความหมายของการวิจัยต้องหมายถึงการค้นหาข้อมูล หลักฐานอย่างมีระบบระเบียบไม่ลำเอียง เพื่อตอบคำถามที่ผ่านการไตร่ตรองตรวจสอบมาแล้วชั้นหนึ่ง คำตอบในลักษณะนี้ก็คือ ความรู้ และเป็นความรู้ที่เกิดจากการใช้ปัญญาในการสืบค้น ดังนั้น การวิจัยจึงเป็นวิธีพัฒนาตนเองของครูได้อย่างเหมาะสมและเป็นอิสระ ในอดีต ครูเป็นผู้บริโภคผลการวิจัย ซึ่งอยู่ในรูปของคำสอน ตำราหรือบทความโดยเฉพาะสิ่งที่ได้เล่าเรียนมาจากสถาบันต่างๆ และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยปกติครูในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษามักมีภาระงานสอนมาก และมีหน้าที่นอกเหนือจากการสอนด้วย ครูส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานตามที่กำหนด หรือกฎหรือระเบียบในรูปแบบที่บอกต่อๆกันมา และในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นก็มักแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ ครูบางคนได้พยายามหาวิธีการสอนรูปแบบใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน หรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระที่นักเรียนของตนยังขาดอยู่ ความพยายามของครูลักษณะนี้ นับว่าเป็นคุณลักษณะของครูที่มีฉันทะในอาชีพครู มีความรู้สึกอยากทำงานครูให้ได้ผล ถ้าครูเล่านี้ได้มีความวิริยะอุตสาหะต่อไปในการค้นหาสาเหตุด้วยการใช้ปัญญา และทดลองแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่น่าจะเป็น ตรวจตราผลที่ใช้วิธีดังกล่าว ถ้ายังไม่เหมาะก็จะหาสาเหตุลึกซึ้งไป ทดลองใช้วิธีใหม่อีก ทำเช่นนี้เป็นการพัฒนาตนของครูอย่างดีเยี่ยม และวิธีการที่ครูทำนั้นก็คือ การทำวิจัยในชั้นเรียน หรือการวิจัยในเชิงปฏิบัติการนั่นเอง
จากที่กล่าวมานี้ สรุปความหมายของการวิจัยในชั้นเรียนคือการหาความรู้ใหม่ เพื่อประยุกต์กับสภาพการณ์ของการสอนในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการเรียนการสอน หรือการแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ ยังหมายถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ เช่นอุปกรณ์ สื่อการสอนเพื่อใช้ในการสอนโดยอาศัยระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือดัดแปลงอุปกรณ์บางประเภทที่ใช้ในสาขางานอื่นมาใช้กับการเรียนการสอน คุณค่าของผลการวิจัย ดูได้จากความเจริญเติบโตของนักเรียนทั้งในส่วนที่เป็นความรู้และจริยธรรม ข้อค้นพบที่ครูนำไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลนี้จะสามารถสะสมและช่วยให้วิชาชีพครูมีความก้าวหน้า และวิชาทางการศึกษาจะพัฒนาไปได้พร้อมๆกัน
ครูกับบทบาทนักวิจัย
สถานภาพของครูปัจจุบัน จากการวิเคราะห์ของนักการศึกษาหลายๆท่านได้ชี้ให้เห็นว่าครูในปัจจุบันมีสถานภาพทางสังคมด้อยกว่าในอดีตมาก ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในด้านต่างๆเช่น ทางเศรษฐกิจบ้าง ความเสื่อมถอยของคุณภาพบ้าง ระบบการบริหารของรัฐบ้าง หรือเป็นผลจากการประสมประสานของหลายสาเหตุ ดังจะกล่าวเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของครูกับอาชีพอื่นที่จบจากสถาบันอุดมศึกษาในระดับเดียวกัน โอกาสของการหารายได้ในอาชีพครูโดยทั่วไปจะด้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขของระบบราชการ ทำให้ครูจำนวนหนึ่งพยายามมองหาโอกาสในการเปลี่ยนอาชีพ หรือหางานเสริมรายได้ทั้งในและนอกเวลาราชการ ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการสอนอย่างมาก
การเร่งผลิตครูของรัฐในอดีตทั้งที่เป็นภาคสมทบและภาคบุคลากรที่เสริมเข้าไปเรียนในระบบปกติส่งผลให้คุณภาพการเรียนการสอนในสถาบันต่ำลง โดยเฉพาะวิทยาลัยครูในต่างจังหวัดที่ต้องรับนักศึกษาสมทบจำนวนมากตามแรงกดดันทางการเมือง การสอนที่มากเกินไปจนขาดการค้นคว้าเตรียมการสอนที่ดีมีผลต่อคุณภาพของครูที่ผลิตออกมา (มีชัย สายอร่าม 2530 : 112)
การวางแผนการผลิตครูในแผนพัฒนาการศึกษาในอดีต ไม่สอดคล้องกับการใช้งาน ในช่วง พ.ศ.2515-2522 มีผู้สำเร็จ 443,683 คน แต่มีตำแหน่งบรรจุในโรงเรียนของรัฐเพียง 182,853 ตำแหน่ง (พจน์ สะเพียรชัย 2530 : 42) ทำให้ความนิยมในสาขาวิชาชีพครูน้อยลง โดยเฉพาะคนเก่งจะไม่เลือกเลย จากสถิติการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่สอบคัดเลือกได้ส่วนมากเลือกวิชาชีพครูเป็นลำดับสุดท้าย (ลำดับที่ 5 หรือลำดับที่ 6 เมื่อก่อนปีการศึกษา 2534) จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า บุคคลเหล่านี้มีศรัทธาและเจตคติในความเป็นครูต่ำ และพร้อมที่จะสอบคัดเลือกใหม่ในปีต่อไปเพื่อหนีจากอาชีพครู
หลักสูตรและการบริหารหลักสูตรล้าสมัย มีความซ้ำซ้อนในด้านเนื้อหา ความรู้ที่จัดไว้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการในโลกปัจจุบัน ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติขาดความสัมพันธ์กัน การฝึกสอนขาดการดูแลอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้เป็นสามเหตุให้ผู้เรียนเบื่อ (มีชัย สายอร่าม 2530 : 113) สำหรับผู้ที่ทนเรียนต่อไป เมื่อจบออกมาเป็นครูก็จะเป็นครูที่มีประสบการณ์น้อย บางคนที่ไม่สามารถพัฒนาตนเอง ก็จะเป็นครูที่ขาดคุณภาพ
นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่มีวุฒิทางครู หรือไม่ได้ผ่านการอบรมวิชาครู ก็สามารถเป็นครูได้ ซึ่งมีผลต่อภาพพจน์และศักดิ์ศรีของวิชาชีพมาก (พจน์ สะเพียรชัย 2530 : 68)
ในด้านการคัดเลือกเข้าศึกษา เกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษายังไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถคัดนักศึกษาที่มีสติปัญญาสูง ศรัทธา อุดมการณ์และเจตคติที่ดีเข้าสืบต่อหน้าที่ครูในอนาคต ๖พจน์ สะเพียรชัย 2530 : 69)
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ระบบการบริหารครูในส่วนราชการขาดการจูงใจ ทำให้ครูหนุ่มสาว ที่มีฝีมือ หนีจากการสอนระดับประถมไปสูมัธยมมากขึ้น และออกไปสู่อาชีพอื่น (เอกวิทย์ ณ ถลาง 2530 : 10-12)
แนวทางการพัฒนา ที่กล่าวมาแล้วนั้นไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันนี้ครูขาดคุณภาพจนไม่มีความจำเป็นต่อสังคมอีกต่อไป แต่ตรงกันข้ามเรายังได้ยินหรืออ่านพบข้อความที่เน้นความสำคัญของครูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทุกฉบับ จากนักวิชาการ ตลอดจนนักการเมืองอยู่ทุกยุค เช่น คำกล่าวที่ว่า “การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ส่วนครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาและพัฒนาคน ดังนั้น ครูจึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” (ขุนทอง ภูผิวเดือน 2530 : 163) ถ้าพิจารณาถึงพฤติกรรมของคนในสภาพสังคมกลับพบว่าต้องพึ่งพาครูมากขึ้น และพยายามให้วิชาชีพครูได้ทำหน้าที่ต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากเอกสารมากมายที่ระบุให้เห็นเช่น ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัย ตามระเบียบประเพณีครู พ.ศ.2526 เอกสารการดำเนินงานโครงการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกหัดครู กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพิจารณาแนวทางสร้างรูปแบบหลักสูตรการฝึกหัดครู และได้สรุปจุดมุ่งหมายของการผลิตครูให้มีความรู้ความรับผิดชอบในหน้าที่ครู มีคุณธรรมและพัฒนาทักษะคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย เป็นผู้ใฝ่รู้ รู้จักคิดสร้างสรรค์ และมีวิจารณญาณในการแก้ปัญหา (กรมการฝึกหัดครู 2525 : 32-33) นอกจากนี้ยังมีบทความของนักการศึกษาอีกจำนวนมากที่มีความห่วงใยต่อสภาพปัญหาดังตัวอย่างที่กล่าวมา
ในเรื่องของการส่งเสริมให้ครูที่มีฉันทะในอาชีพครูสามารถยืนหยัดในวิชาชีพได้อย่างเต็มภาคภูมิ และมีศักดิ์ศรีเช่นอาชีพอื่นที่มีส่วนพัฒนาสังคมนั้น พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ท่านได้กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพของครูตอนหนึ่งว่าต้องยกฐานะของครูในด้านคุณธรรม ความรู้วิชาการ และยกฐานะในทางเศรษฐกิจ และขอให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายที่เด่นชัด ให้เห็นความสำคัญของครูและมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมครูอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้คนมองเห็นอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย (พระราชวรมุนี 2530 ข : 201-203)
ในท่ามกลางความคิดที่หลากหลายเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของครูนั้น ครูที่มีฉันทะย่อมมีวิริยะจนพบความสำเร็จได้ “พระพุทธศาสนายกย่องผู้ที่พัฒนาตนว่าเป็นบุคคลสูงสุด… คนที่ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด… พระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้… ศักยภาพในตัวมนุษย์พัฒนาขึ้นได้… การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลสูงสุดที่จะนำชีวิตให้เจริญก้าวหน้า… การพัฒนาตนจึงสำคัญยิ่ง” (พระราชวรมุนี 2530 ก : 46-49)
อภิชัย พันธุเสน (2530 : 91-93) ได้วิเคราะห์ปัญหาหลายแง่มุมอย่างลึกซึ้งและเสนอแนวทางแก้ไขที่สอดคล้องกับหลักธรรมะ คือ การศึกษาของครูที่ควรเป็น การศึกษาตลอดชีวิต ครูในระดับวิทยาลัยต้องหาประสบการณ์เพิ่มเติม ความรู้ใหม่ที่จำเป็นส่วนหนึ่งได้จากการทำวิจัย เมื่อนำผลการวิจัยมาประยุกต์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชีวิต จะช่วยให้การทำงานของครูมีประสิทธิภาพขึ้น สำหรับผู้เขียนมองเห็นความเชื่อมโยงของครูในโรงเรียนประถมศึกษาว่า ครูจะได้ข้อค้นพบจากงานวิจัยในสภาพชั้นเรียนหรือโรงเรียนของตนเพื่อพัฒนาชั้นเรียนหรือโรงเรียนของครูอย่างเหมาะสมกับกรณี และถ้าสามารถทำวิจัยต่อเนื่องเป็นงานวิจัยและพัฒนาแล้ว ผลที่ปรากฏจะเห็นคุณภาพของผู้เรียนได้ชัดเจนและเหมาะสมที่สุด
งานวิจัยจะช่วยพัฒนาครู การเรียนการสอนเป็นหน้าที่หลักของครู ซึ่งพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้สรุปไว้อย่างครอบคลุมและรัดกุมว่า ลักษณะงานสอนซึ่งแตกต่างกันตามประเภทวิชาอาจแยกเป็น 2 ประเภท คือ การสอนวิชาประเภทที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น สิ่งที่ครูมุ่งหวังให้ศิษย์ได้รับคือการเรียนรู้เกิดความเข้าใจ เกิดพาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน) (พระราชวรมุนี 2530 ค : 9) ในทฤษฎีการสอนตะวันตก นักการศึกษา เช่น บลูม (Bloom) และคณะ ได้จัดสารบบของวัตถุประสงค์ทางการศึกษา จัดเป็นประเภทตามความรู้ความคิด (cognitive domain) และมีลำดับขั้นตอนของการพัฒนาตั้งแต่รู้จำง่ายๆและยากขึ้นตามลำดับ ให้มีความเช้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ได้เหมาะสม สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และที่สุดคือสามารถประเมินค่า ส่วนงานอีกประเภทหนึ่งคือการสอนศิษย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าในทางประพฤติปฏิบัติ ซึ่งบลูมได้ใช้คำว่า affective domain เป็นงานสอนที่ต้องให้ศิษย์เกิดความรู้สึก มองเห็นคุณค่าความสำคัญจนเกิดมีความเลื่อมใส ศรัทธา และได้นำไปปฏิบัติ งานสอนทั้งสองประเภทจะเกิดความสำเร็จได้มากน้อยนั้น ครูเป็นผู้มีอิทธิพลมาก โดยธรรมชาติของครูระดับประถมศึกษาที่ตัองทำหน้าที่ในการพัฒนาเด็กอย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องมีคุณลักษณะที่จำเป็นอย่างน้อย 4 ด้าน คือ
1)    ด้านคุณธรรมและจริยธรรมของความเป็นครู หมายถึง มีความเมตตากรุณา รักเด็ก ให้ความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่องานครู
2)    มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ เพื่อพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง
3)    มีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัว มีอารมณ์มั่นคง
4)    ด้านสติปัญญา มีความรู้และทักษะในการคิด อ่าน และเขียน โดยเฉพาะการสอนอ่าน มีทักษะการสอนและการแก้ปัญหา
ลักษณะทั้ง 4 ด้าน ทำให้ครูทำงานอย่างใช้ความคิดวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอน ซึ่งก็คือการก้าวไปสู่การทำงานวิจัยในชั้นเรียนนั่นเอง
การพัฒนาทักษะการวิจัยในตัวครูเป็นแนวทางในการสร้างศักยภาพให้ครูประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่พัฒนาเด็กในอย่างน่าชื่นชม    สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่า “ครูดีเป็นนักวิจัยได้”


3 Bissex, Glenda L. ใน Seeing For Ourselves: Case-Study Research by Teachers of Writing.. New Hampshire : Heionemann . 1987. Pp.3-5

4 ที่ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ วันที่ 19 ธันวาคม 2543

5 พระราชวรมุนี, 2529; 648-687

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9275เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เจริญพร อาจารย์

เข้ามาอ่านข้อเขียนของอาจารย์2-3 เรื่องแล้ว รู้สึกว่ามีค่าควรแก่การใส่ใจ อาจเป็นเพราะอาตมาก็เป็นครูมาหลายปีเหมือนกันก็ได้

ตามความเห็นส่วนตัว การทำหน้าที่ครูนั้น ยากเพราะไม่ค่อยมีสูตรสำเร็จ มีปัจจัยในการทำหน้าที่ (เฉพาะในห้องเรียน) มากมาย เช่น นักเรียน วิชา เวลา สถานการณ์ ตลอดถึงความรู้ ความชำนาญ ความพอใจของครูเอง เป็นต้น

งานเขียนเรื่องนี้ของอาจารย์ น่าจะทำให้อาตมาพัฒนาความเป็นครูได้ดียิ่งขึ้น

เจริญพร 

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่มอบและแบ่งปันความรู้ดีๆ ให้กับนิสิตนะคะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่แบ่งปันความรู้ดีๆ ให้แก่นิสิตนะคะ ???

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันข้อมูลดีๆนะคะ เนื้อหามีความน่าสนใจมากคะอาจารย์

ครูนักวิจัยในเชิงนิเสธว่า “ครู-นักวิจัยจะไม่ทำอะไรบ้าง” ดังนี้· ครูนักวิจัยจะไม่ศึกษานักเรียนนับร้อย สร้างกลุ่มควบคุมและปฏิบัติการสอนที่มุ่งเอาผลมาวิเคราะห์ทางสถิติ

ดิฉันชอบใจตรงนี้มากค่ะ เท่าที่สังเกตจากงานของครูที่ส่งเข้ามาเพื่อประเมินเลื่อนวิทยฐานะพบว่าวิธีนี้ครูนิยมมาก อาจไม่ทราบหรือไม่ตระหนักว่าในศาสตร์ของการวิจัย ว่ารูปแบบนี้อ่อนแอที่สุดในด้านความตรงภายใน —ตอบคำถามว่า ผลที่เกิดขึ้นมาจาก เหตุ หรือ วิธีสอนของครู จริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะสาเหตุอื่น ๆร่วมด้วย

ครูควรใช้วิธีการเชิงคุณภาพ สังเกตระยะยาว แล้ววิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อหาข้อสรุป และครูต้องทำซ้ำกับกลุ่มอื่นที่ครูสอนอีกหลาย ๆกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปที่จะพอวางเป็นทฤษฎีได้ ซึ่งก็ต้องมีความรู้และทักษะในการสังเกต บันทึก และวิเคราะห์

ดิฉันแปลกใจว่ามีผู้สอนบางท่าน สอนให้เขียน วิจัยหน้าเดียวหรือแผ่นเดียว เพื่ออะไร

ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆ เรื่องนี้นะคะการเป็นครูนักวิจัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เราก็สามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ การได้อ่านบทความนี้ทำให้ดิฉันยิ่งมีพลังในการเป็นครูการศึกษาพิเศษที่พร้อมจะพัฒนา แก้ปัญหา ปรับพฤติกรรมของนักเรียน โดยการใช้งานวิจัยเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ขอบคุณค่ะ

   ขอขอบพระคุณบทความดีๆและข้อมูลดีๆ เมื่อดิฉันได้อ่านบทความของอาจารย์ดิฉันมีความคิดเห็นสอดคล้องในแง่มุมต่างๆ ที่สรุปได้ว่า การทำวิจัยนั้นจะช่วยพัฒนาครูและนักเรียนได้แท้จริง ถ้าหากครูทำงานวิจัยนั้นเพื่ออยากจะช่วยเหลือและพัฒนานักเรียนจากความสงสัย ความห่วงใยที่เห็นปัญหาของนักเรียนจากใจจริง ไม่เพียงเพราะทำตามหน้าที่ ที่ถูกกำหนดให้ทำ บทความดังกล่าวได้แสดงถึงวิธีการ หลักการที่ครูทำวิจัยควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเป็นนักสังเกต รู้จักตั้งคำถาม เเละควรพัฒนาตนให้เป็นผู้เรียน ที่ต้องรู้จักเรียนรู้ตลอดเวลา รวมถึงพัฒนาทัศนคติต่อการทำวิจัยว่านั้นคือหนทางพัฒนาความรู้ ที่คนเราจะต้องไม่หยุดนิ่งต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัย และรู้จักภาคภูมิใจในอาชีพที่ตนทำเพราะเมื่อเรารักและศรัทธาในสิ่งที่ตนทำแล้ว ดิฉันเองก็คิดว่าจะทำให้มีแรงฮึดและสามารถมีความสุขกับการทำงานและเมื่อมีความสุขแล้ว แน่นอนว่างานที่ทำจะออกมาดีอย่างแน่นอน รวมถึงการที่เราจะได้พัฒนาลูกศิษย์ออกมาอย่างมีคุณภาพต่อไป 

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะค่ะ ที่เขียนบทความดีๆเพื่อให้นิสิตได้อ่าน พร้อมทั้งได้ความรู้ ความคิดริเริ่มในการที่จะศึกษาหาวิธีดูแล หรือช่วยเหลือเด็กให้ประสพผลสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ครูศึกษาข้อมูลนักเรียนเพื่อจัดทำงานวิจัยแก้ปัหานักเรียนที่ดูแล และยังเป็นแรงบันดาลใจในการดูเด็กนักเรียน

บทความนี้มีคุณค่ามากค่ะ ทำให้เราได้รับความรู้สึกว่า “วิจัย” มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเรื่องยาก หากแต่เรามองปัญหาที่เจอจากการทำงานแล้วตั้งถาม มีการตั้งสมมติฐาน เก็บรวบรวมข้อมูลและอภิปลายผล ถ้าเราทำวิจัยจากปัญหาที่เราเจอ เราจะเจอกับวิธีแก้ปัญหา ขอบคุณบทความดีๆจากอาจารย์ค่ะ

ขอบพระคุณบทความดีๆของอาจารย์มากค่ะ เป็นบทความที่ทำให้ได้รับความรู้และมีแนวทางเพื่อที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหาของนักเรียนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วทำให้เข้าใจของคำว่า “ครูนักวิจัย” มากขึ้น ครูนักวิจัยนั้นไม่ใช่จะต้องทำวิจัยตามหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาหรือต้องทำวิจัยแบบหน้าเดียว ครูนักวิจัยนั้นควรทำเพื่ออยากที่จะช่วยเหลือหรือพัฒนานักเรียนอย่างใจจริง ไม่ใช่เพื่อเป็นการทดลองแบบลองถูกลองผิด หรือทำไปเพราะทำตามหน้าที่ เมื่อได้อ่านบทความของอาจารย์ทำให้ตัวดิฉันนั้นได้ตระหนักกับตนเองว่าต้องเป็นครูวิจัยที่ดีจะต้องชี้นำ สร้างเสริมการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและต่อนักเรียนให้ดีที่สุดค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับสำหรับบทความดีดี การเป็นนักวิจัยกับการเป็นครูมันไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัวเราเลย เพียงแต่เราต้องฝึกฝนและพยายามอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น การทำวิจัยต้องเริ่มจากการค้นหาสิ่งที่สงสัย สังเกตุและหาวิธีอธิบายหรือแก้ไขปัญหาจนเป็นที่ยอมรับได้

ขอบคุณอาจารย์ที่มีบทความดีดี ไว้ให้นิสิตและผู้สนใจได้อ่าน และนำปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน ซึ่งครูต้องมีความสนใจและสังเกตถึงสาเหตุของปัญหาของนักเรียนเพื่อนำไปทำการวิจัย และหาแนวทางในการช่วยเหลือศิษย์ จึงจะถือว่าเป็นครูมืออาชีพ ไม่ใช่แค่มีอาชีพครูเท่านั้น

ขอบคุณอาจารย์ที่มีบทความดีดี ไว้ให้นิสิตและผู้สนใจได้อ่าน และนำปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน ซึ่งครูต้องมีความสนใจและสังเกตถึงสาเหตุของปัญหาของนักเรียนเพื่อนำไปทำการวิจัย และหาแนวทางในการช่วยเหลือศิษย์ จึงจะถือว่าเป็นครูมืออาชีพ ไม่ใช่แค่มีอาชีพครูเท่านั้น

ขอบคุณอาจารย์ที่มีบทความดีดี ไว้ให้นิสิตและผู้สนใจได้อ่าน และนำปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน ซึ่งครูต้องมีความสนใจและสังเกตถึงสาเหตุของปัญหาของนักเรียนเพื่อนำไปทำการวิจัย และหาแนวทางในการช่วยเหลือศิษย์ จึงจะถือว่าเป็นครูมืออาชีพ ไม่ใช่แค่มีอาชีพครูเท่านั้น

การวิจัยเป็นการพัฒนาครูให้ได้เรียนรู้ และพัฒนานักเรียนต่อไป จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เหนือสิ่งอื่นใดคงไม่ไกลเกินความสามารถของครูนักวิจัย

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ อาจารย์ภาวิณี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท