การบริหารการเปลี่ยนแปลง (3)


คนเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้

ผมเขียนถึงผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ที่ต้องมีคุณสมบัติ  และมีสมรรถนะ (Competency) ของผู้นำอันได้แก่  Core Competency, Job Competency หรือ Role Competency หรือ Functional Competency และ Personal Competency  และคุณสมบัติสำคัญเพิ่มเติมในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (2)  แล้วก็ถามตัวเองว่า  คนอ่านจะสับสนหรือไม่ ?  เพราะผมเองก็เริ่มสับสนเลยขอขยายความเพิ่มเติม  วันนี้ขอหนักวิชาการหน่อยนะครับ

ในอดีตมีการกำหนดผู้นำตามลักษณะผู้นำ  อาทิ  ลักษณะทางกาย  มีรูปร่างสูงใหญ่  สง่างาม  ลักษณะทางสังคม  มีสถานะทางสังคม  มีการศึกษาสูง  ลักษณะทางสติปัญญา  มีความเฉลียวฉลาด  รอบรู้  ฯลฯ  ลักษณะทางบุคลิกภาพ  มีการแต่งกายดี  มีวุฒิภาวะทางอารมณ์  เชื่อมั่นในตนเอง  ฯลฯ  และลักษณะทางการปฏิบัติงาน  มีความขยัน  อดทน  รับผิดชอบสูง

การกำหนดการเป็นผู้นำไม่สามารถรับรองได้ว่า  ผู้นำตามลักษณะข้างต้นจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ  ต่อมาจึงบวกพฤติกรรมการเป็นผู้นำเข้าไปด้วย  รวมเรียกว่า  ภาวะผู้นำ

มีทฤษฎีภาวะผู้นำ  2  กลุ่มที่ขอยกเป็นตัวอย่าง  ดังนี้
1.  ผู้นำเชิงพฤติกรรม  กำหนดทฤษฎีโดยพฤติกรรมการนำ  ได้แก่
     1.1  ทฤษฎีภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio State Leadership Studies) ที่จอห์น เฮมห์ฟิล (John Hemphill) และ แอลวิน คูนส์ (Alvin Coons) ได้สร้างแบบทดสอบภาวะผู้นำ  เมื่อ ค.ศ. 1945  เป็นแบบทดสอบวัดภาวะทางผู้นำ  คือ  LBDQ (Leader Behavior Descriptive Quesionaire) โดยแบ่งพฤติกรรมผู้นำเป็น 2 ลักษณะ  คือ  ผู้นำที่คำนึงถึงตนเองเป็นหลัก (Initiating) และผู้นำที่คำนึงถึงผู้อื่นเป็นหลัก (Consideration)
     1.2  ทฤษฎีภาวะผู้นำของ เบลด (Robert Blake) และมูตัน (Jane Mouton) (Blake and Mouton’ s Managerial Grid) โดยทั้งสองได้พัฒนาทฤษฎีตารางการจัดการ (Managerial Grid) เพื่อแสดงแบบของภาวะผู้นำ  โดยแบ่งเป็นแกนตั้ง  มุ่งคน (Concern for People) และแกนนอน  มุ่งผลผลิต (Concern for Production) ได้ผู้นำ 5 แบบ  ได้แก่  แบบไม่เอาไหน  แบบชุมนุมสังสรรค์  แบบมุ่งแต่งาน  แบบเล่นเป็นทีม  และแบบทางสายกลาง
2.  ผู้นำเชิงสถานการณ์  กำหนดทฤษฎีโดยการวิเคราะห์จากสถานการณ์  ได้แก่
     2.1  ทฤษฎีของเฟรด  ฟิดเลอร์ (Fieldler’ s Contingency Theory)  โดย Fred Fieldler ได้พัฒนาแบบสอบวัดทัศนคติที่เรียกว่า  แบบสอบวัดผู้ช่วยงานที่พอใจน้อยที่สุด (Least Preferred Co-Worker Measure) และนำคะแนนจาก LPC มาวิเคราะห์แบบของผู้นำว่า  ผู้นำที่มี LPC ต่ำ  จะมุ่งประสิทธิภาพการทำงาน  ส่วนผู้นำที่มี LPC สูง  จะให้ผลทางมนุษยสัมพันธ์ในแง่บวก
     2.2  ทฤษฎีของเฮอเซย์  และบลังชาร์ด (Hersey and Blanchard’ s Situational Theory) อธิบายว่า  ผู้นำจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนำ  ไปตามสถานการณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อม (Readiness) ของผู้ตาม  โดยแบ่งตามแนวคิดพื้นฐานภาวะผู้นำ 4 แบบของ William Reddin  ได้แก่  ผู้นำแบบสั่งการ  ผู้นำแบบแนะนำ  ผู้นำแบบมีส่วนร่วม  และผู้นำแบบมอบหมายงาน

การกำหนดแบบของผู้นำข้างต้น  เป็นการกำหนดโดยคุณสมบัติ  และรูปแบบการนำ  ที่มุ่งคนกับมุ่งงานเป็นหลัก  ปัจจุบันเปลี่ยนไปศึกษาจากสมรรถนะ (Competency) ของผู้นำ โดยเชื่อว่า Competency ของคนเกิดได้จาก 3 ทาง  ได้แก่
    1.  เป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Born to be)
    2.  เกิดจากประสบการณ์การทำงาน (Experience & Skill)
    3.  เกิดจากการศึกษา  อบรม (Knowledge & Wisdom)

แนวคิดการเป็นผู้นำแม้เปลี่ยนไป  แต่ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะต้องประยุกต์ใช้แนวคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน  เปรียบเสมือนนิยายกำลังภายใน  ที่ตัวเอกต้องศึกษาวิทยายุทธจากสำนักต่างๆ  แต่เวลาใช้วิทยายุทธต่อสู้ต้องใช้แบบ “ไร้กระบวนท่า”  คือ  ผสมผสานนะครับ (ไม่ใช่ไม่มีท่า) เสมือนกระบี่อยู่ที่ใจ  กระบวนท่าคือ ฝีมือครับ

ท่านเลือกจะเป็นผู้นำแบบไหนครับ

คนเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้  แต่เลือกที่จะเป็นได้

การบริหารต้องฝึกฝน  อดทน  และผู้บริหารต้องยอมรับความเจ็บปวด

เครียดไปไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 92413เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2007 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ผมคงเกิดจากสองตัวนี้ครับอาจารย์
  •   เกิดจากประสบการณ์การทำงาน (Experience & Skill)
        3.  เกิดจากการศึกษา  อบรม (Knowledge & Wisdom)
  • ขอบคุณมากครับ

- ได้ความรู้มากเลยครับอาจารย์ จะนำหลักการ ที่อาจารย์กล่าวว่า

คนเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้  แต่เลือกที่จะเป็นได้

การบริหารต้องฝึกฝน  อดทน  และผู้บริหารต้องยอมรับความเจ็บปวด

ไปยึดถือปฏิบัติต่อไปครับ

- ขอให้อาจารย์ และอาจารย์พรรยุภา มีความสุขสุขภาพแข็งแรง เป็นร่มโพธิร่มไทรในการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการ และ สังคม ตลอดไปนะครับ

คุณขจิต ฝอยทอง

เห็นด้วยที่คุณขจิต  มองตนเอง  เพราะผมอ่านข้อเขียนคุณขจิต  บ่อยครั้ง  มองเห็นสิ่งที่อยู่ในตัวคุณ

คุณเทพฤทธิ์

ดีใจที่ได้ข่าวลูกศิษย์  ขอให้เป็นผู้นำด้วยสติ  และความอดกลั้น

มีขอสงสัยที่จะเรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ  มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของครูผู้สอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท