ทำอย่างไรให้เว็บไซต์ใหม่สามารถสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองได้


ช่องทางการสร้างรายได้ของเว็บไซต์ใหม่อยู่ที่ไหน อะไรคือรูปแบบในการทำธุรกิจที่เหมาะสม
ในยุคเว็บ2.0 ของไทย เรายังไม่ได้เห็นบริการบนอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างไปจากยุคเดิมมากนัก เว็บไซต์ที่อยู่รอดและติดชาร์ตทรูฮิตในอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นเว็บไซต์เดิมๆ ที่เราคนไทยรู้จักกันดี ไม่ต้องประกาศผลก็สามารถเดาได้ว่า Top 3 ในปี 2548 จะกลับมาในปี 2549 และมันก็เป็นจริงตามนั้น แต่ผมเชื่อว่าในปี 2550 นี้ เรากำลังจะได้เห็นเว็บสาธารณะดีๆ ที่นำเสนอบริการใหม่ๆ ให้สาธารณชนคนไทยได้ใช้กัน อีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น

gotoknow.org ที่ให้บริการ Blog สำหรับการจัดการความรู้ ได้กลายเป็นแหล่งรวบรวมผู้รู้จากทั่วประเทศมาเขียนและแสดงความคิดเห็นกัน

zickr.com เว็บที่ให้บริการ Social bookmark เหมือนอย่าง del.icio.us ในรูปแบบไทยๆ

seedang.com ก็เป็นอีกเว็บหนึ่งที่เริ่มจากการให้บริการ bookmark เค้าบอกว่าเหมือน digg.com และระยะหลังๆ ก็มีการให้บริการใหม่ๆ ในลักษณะ Online video sharing อย่าง youtube.com

นอกจากนี้ ยังมีอีกเว็บหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก นั้นก็คือ

wish.in.th ที่ให้บริการ Wish management ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการความหวัง ความฝัน โดยบริการแรกที่ออกมาสู่สายตาชาวไทยคือ Wish List แหล่งรวบรวมสิ่งของอยากได้อยากให้ ที่วาง position ตนเองไว้เป็น e-opinion space สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น เพื่อช่วยกันสานฝันของเพื่อนๆ สมาชิก (wishr) ให้เป็นจริง

แต่เว็บไซต์เหล่านี้จะสามารถให้บริการดีๆ กับเราต่อไปได้นานเท่าไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละเว็บไซต์จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร เพราะหากไม่มีรายรับที่ชัดเจน เว็บดีๆ ก็จะกลายเป็นแค่เว็บดังๆ ที่ตังค์ไม่มี แล้วสุดท้ายถ้าโชคร้ายก็อาจจะต้องปิดตัวเองลงในที่สุด

        โฆษณาแต่ไหนแต่ไรมาถือเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับเว็บไซต์สาธารณะ เนื่องจากผู้ลงโฆษณา (สปอนเซอร์) เล็งเห็นข้อดีของการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่ไม่ด้อยไปกว่าสื่อในรูปแบบอื่นๆ เพราะสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ไม่ได้ถูกจำกัดในเรื่องเวลาสถานที่ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถได้รับสารที่ส่งไปจากผู้โฆษณาได้ตลอดเวลา และทุกวันนี้มันยังถูกส่งผ่านไปยังอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ได้ไม่จำกัดชนิด ทั้ง คอมพิวเตอร์ พีดีเอ และมือถือรุ่นใหม่ๆ ที่เราเรียกกันว่า “any places, any time, any devices”

แต่กระนั้นเลย ที่ผ่านมาโฆษณาถูกจำกัดอยู่เฉพาะเว็บไซต์ดังๆ อย่างในปี 2549 เม็ดเงินรายได้จากโฆษณาบนเว็บก็ไปตกอยู่กับกลุ่มเว็บไซต์ชื่อดังกว่า 60% - 70% แล้ว ส่วนที่เหลือก็ไปตกอยู่กับเว็บไซต์ที่เจาะลึกเน้นเฉพาะด้านเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจน เช่น เว็บทีมฟุตบอล เว็บนักไต่เขา และ เว็บสัตว์เลื้อยคลานหายาก เป็นต้น ดังนั้นเว็บไซต์ใหม่ที่จะจัดทำในลักษณะกว้าง สร้างชุมชนตามหลักการของ เว็บ2.0 นั้น จึงจำเป็นจะต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ในการสร้างรายได้ก่อน อย่ายึดเพิ่งหวังรายรับจากโฆษณาเลย


สำหรับการเก็บค่าสมาชิกก็อาจจะเป็นไปได้ยาก ปัจจุบันยังมีเว็บไซต์จำนวนน้อยนักที่กล้าเก็บเงินค่าบริการจากสมาชิก เพราะในยุคที่ของฟรีสำหรับ  end-user ยังมีอยู่จริงเนื่องมาจากรูปแบบการทำธุรกิจที่สามารถแปลง Traffic เป็น Revenue โดย Google ทำให้บริษัทใหญ่ในวงการหลายค่ายต้องสะเทือน ไม่ว่าจะเป็น Yahoo หรือ Microsoft หากยังจำกันได้ ครั้งที่ Google เปิดให้บริการ Gmail เป็นครั้งแรกด้วยพื้นที่เก็บอีเมล์ฟรีถึง 1 GB ทำให้ Hotmail และ Yahoo mail ซึ่งมีรายได้เสริมจากการให้บริการพื้นที่เพิ่ม ต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก เพราะตอนนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการพื้นที่ 100 MB ต้องจ่ายเงินให้ Hotmail 59.95 USD/ปี หรือ 49.79 USD/ปี สำหรับ Yahoo mail ครั้นตอนนี้การที่ Google ออกมาให้บริการ Docs & Spreadsheet ฟรี ก็ทำให้ Microsoft ต้องกังวลถึงแหล่งรายรับหลักของตนจากการขายชุดซอฟต์แวร์  Microsoft Office เช่นกัน แล้วเว็บไซต์ใหม่เล็กๆ ในประเทศไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบริการที่สร้างขึ้นมานั้นจะมีคนจ่ายเงินให้

ถ้าบริการไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ทำให้ผู้ใช้งานเห็นคุณค่าจริงๆ ก็คงจะไม่มีใครยอมเสียเงินเพื่อบริการนั้น

ถึงแม้โชคดีมีคนยอมจ่ายเงิน แต่ถ้าเป็นจำนวนเงินน้อยๆ เว็บไซต์ก็อยู่ไม่ได้

โชคดีไปกว่านั้น ถึงได้เงินจำนวนน้อยๆ แต่ได้มาจากจำนวนคนเยอะๆ ก็อาจจะไม่ดีอีก เพราะเจ้าของเว็บต้องไปเสียเวลาในการจัดการทางการเงินมากกว่าการจัดการเทคโนโลยี ก็จะไม่มีเวลาไปทุ่มเทให้กับบริการที่ทำอยู่ และทำให้คู่แข่งตามทันได้ในที่สุด

เรื่องเก็บค่าสมาชิกจึงจะต้องสร้างสมดุลย์ในเหมาะสม หาจุดยืนให้ดีและค่อยหมั่นดูความเคลื่อนไหวของกระแสโลกาภิวัฒน์


หากมองอีคอมเมิร์ซ การซื้อขายบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า ในปี 2549 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยในส่วนของธุรกิจดอทคอมมีมูลค่าประมาณ 78,000 ล้านบาท (B2B 66,095 ล้านบาท และ B2C 11,395 ล้านบาท) จัดว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และเริ่มมีอิทธิพลต่อผู้ซื้อออนไลน์มากขึ้นจากปีก่อน กระนั้นคำถามสำหรับเจ้าของเว็บคือ 'จะขายอะไร ให้ใคร เท่าไร อย่างไร'

การจัดทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำหรับตนเองต้องรู้เสียก่อนว่าจะขายสินค้าอะไร หรือไม่งั้นก็ต้องทำตัวเป็น e-marketplace ศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าแบบออนไลน์ จากนั้นก็ต้องเจาะกลุ่มลูกค้าว่าอยู่ที่ไหน มีกำลังซื้อไหม ยอมรับและมีพฤติกรรมในการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า ถัดไปก็ต้องดูเรื่องราคาเพราะในพ.ศ. นี้คงจะไม่มีใครยอมเสียเงินซื้อของบนอินเทอร์เน็ตแน่หากรู้ว่าแพงกว่าการไปซื้อในห้างหรือร้านค้าจริงๆ ที่แปลกก็คือคงไม่มีใครรวมค่ารถค่าเสียเวลาตอนไปซื้อของจากห้างลงในราคาสินค้า แต่ผมเชื่อว่าทุกคนคำนึงถึงค่าขนส่งหากจะซื้ออะไรสักชิ้นออนไลน์ และก็แน่นอนสุดท้ายประเด็นหลักสำหรับอีคอมเมิร์ซก็คือเรื่องการขนส่ง สินค้าที่สามารถจับต้องได้ทุกชนิดจะต้องถูกลำเลียงจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ สภาพสินค้าจะเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าไรในการเดินทาง ผู้รับจะอยู่บ้านตอนสินค้าไปส่งไหม ประเด็นเหล่านี้อาจจะถูกละเลยจากเจ้าของเว็บที่ไม่ใช่พ่อค้ามืออาชีพ แล้วช่องทางนี้ก็อาจจะไม่ได้สร้างรายได้มากมายอย่างที่ตั้งใจไว้

        สุดท้ายคำตอบสำหรับช่องทางการสร้างรายได้ของเว็บไซต์ใหม่อยู่ที่ไหน อะไรคือรูปแบบในการทำธุรกิจที่เหมาะสม คุณหละคิดอย่างไร How do you think?
หมายเลขบันทึก: 91929เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2007 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ลูกศิษอาจารย์พุทธธาตุ
มี web site บางกลุ่มใช้รูปแบบการ donate แต่โดยส่่วนตัวก็ยังไม่ได้ศึกษาว่ามันเพียงพอขนาดไหน และใช้จิตวิทยาอย่างไรนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท