มหัศจรรย์สังสรรค์สนทนา (4): คันฉ่องส่องกลับ สรรพสิ่งเชื่อมโยง


คันฉ่องส่องกลับ สรรพสิ่งเชื่อมโยง

มันเป็นรสชาติอีกแบบหนึ่งที่แตกต่าง ระหว่างการที่เราได้เล่าเรื่องของเราเอง กับการที่เราได้ฟังเรื่องของเราเองผ่านจากปากคนอื่น

ลักษณะการเล่าของเรื่องเล่าเยาว์วัยนั้น เราแทบจะไม่ต้องคิด เป็นอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจเราเองมาโดยตลอด อะไรๆที่เราเคยคิดว่าจำไม่ได้ ลืมไปแล้ว พอเราเริ่มเล่า เหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นค่อยทะยอยกันเดินออกมาจากห้องความทรงจำ (theta rooms) แต่งเนื้อ แต่งตัว แต่งหน้า ทำผม เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ถึงขนาดชัดเจนเป็นภาพยนต์ และผมเชื่อว่าคงจะถูกปรุงแต่งด้วย self (self ในความหมายของ voice dialogue) ณ ปัจจุบันไม่น้อย ซึ่งก็แปลว่ามองวันนี้ เล่าวันนี้ อารมณ์นี้ อาจจะไม่เหมือนกับมองวันพรุ่งนี้ เล่ามะรืนนี้ ด้วยอารมณ์อื่นๆ

แต่ที่ถ้าเราพยายามเล่าอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องคิดเรียบเรียง (เหมือนเขียนบทความแบบมองเตเนอสเซอรี ไม่ต้องยกปากกา ห้ามขีดฆ่า) เราอาจจะได้ innocent version ของประวัติเราสดๆได้เหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นเอง เป็นอะไรที่มีค่ามาก ไม่เพียงแต่ความทรงจำที่มีความสุข แต่รวมทั้งความทรงจำที่ขมขื่น ที่เศร้าสะเทือนใจ จากความจริงทีว่า ตอนนี้ เราได้ผ่านพ้นมาแล้ว เรากำลัง มองย้อนอดีต สิ่งที่เป็น ผลงานชีวิต ของเราเอง เป็นสิ่งที่ใคร อะไร โรคแบบไหน สภาวะใด ก็ไม่อาจจะพรากสิ่งเหล่านี้ไปจากเราได้ เรื่องทุกเรื่องมีความหมาย อาจจะเป็นพลังให้สู้ต่อไป อาจจะเป็นบทเรียนที่นำมาศึกษาได้ใหม่ อาจจะเป็นความสุขที่เราพอจะนำมาใช้หล่อเลี้ยงยามหดหู่ อาจจะเป็นความสะเทือนใจ เศร้าใจ ที่สามารถเตือนใจเราถึงความเป็นมนุษย์ ความมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ interconnectedness ได้ดีขึ้น เตือนเราว่าเราไม่ได้ห่างไกล หรือไม่ได้ปราศจากจากการถูกกระทบจากสิ่งแวดล้อมเลย ตั้งแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน แล้ว เราจะทำอย่างไรกับความเชื่อมโยงเหล่านี้ดี?

อาจารย์น้องให้สลับบทบาทบ้าง ให้ผู้อาวุโส (กว่า) เป็นผู้เล่า และผู้เยาว์เป็นผู้ฟัง เนื่องจากตอนนี้รู้แล้วว่าต้องเล่ากลับ หลายๆคนทำท่าตั้งสมาธิ (ปลอบใจตนเอง) ว่าจะจำมันให้หมดเลย ลางคนเตรียมขยับปากกากระดาษ (กลัวจำผิด) แต่แล้วก็ถูก ban โดยกระบวนกรว่าผิดกติกา ขอให้ฟังให้ดีก็พอแล้ว

พี่น้อยหน่าเล่าเรื่องให้ฟัง ลื่นไหล ไปเรื่อยๆ มีลำดับขั้นตอนชัดเจน ตั้งแต่วัยเยาว์ มีพี่น้องกี่คน ได้ไปอยู่บ้านตายายกับพี่ชาย เป็นชีวิตบ้านในชนบทที่สงบสุข เรียบง่าย อบอุ่น และสันติอย่างยิ่ง บรรยายเห็นโรงเรียนซึ่งก็คือศาลาวัด มีหลวงพ่อหลวงปู่เป็นครู บรรยายธรรมะซึ่งก็คือบทเรียนชนิดหนึ่ง (อย่างเดียว?) ของชีวิต สัจจธรรมต่างๆให้เด็กๆนักเรียนตัวกระเปี๊ยก นั่งเจี๊ยวจ๊าวฟังอย่างไม่รู้สา ที่จริงๆรู้สา และกำลังนึกย้อนทบทวนให้ฟังต่อหน้าต่อตาว่าสิ่งเหล่านั้นยังคงอยู่ ไม่ได้ไปไหน

จาก ป.หนึ่ง ถึง ป.สี่ จากโรงเรียนศาลาวัด ก็ได้ย้ายโรงเรียน ยังเดินไปโรงเรียน เดินไปตามคันนา แวดล้อมด้วยที่นาข้าวเป็นแปลงๆ คันนาเป็นโคกเนินสูงขึ้นมาเป็นสัน เป็นแนวยาว เด็กๆเดินเรียงเดี่ยวไปโรงเรียนแต่เช้า เดินดีๆบ้าง เดินเล่นๆบ้าง เดินตกน้ำ ตกคนนาบ้าง ตามประสาเด็กเดิน (ที่ไม่มี วิธีเดินสวยแบบผิดธรรมชาติ มากำกับการเดิน) เป็นการเดินที่หล่อเลี้ยงจินตนาการ หล่อเลี้ยงพลังความสร้างสรรค์ ทำให้ระหว่างเดินนั้น สามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่เป็นไปรอบด้านได้อย่างสุนทรีย์ เห็นน้องแมลงปอบินมาด้วยความสนใจ หนูๆทั้งหลายๆไปไหนมากันจ๊ะ จะไปโรงเรียนเหรอ สวัสดีจ้ะน้องแมลงปอ มานี่มา แล้วเด็กๆก็เด็ดก้นแมลงปอออก เติมหางให้ด้วยพวงดอกหญ้ายาวเป็นสาย นี่ไงล่ะจ๊ะ หางใหม่ของเธอ น้องแมลงปอ (ซึ่งหลงผิด) บินจากไปอย่างกะปลกกะเปลี้ย เด็กๆมองตามน้องแมลงปออย่างชื่นชมในความสวยงาม ของน้องแมลงปอ และหางใหม่ที่ช่วยกันประดิษฐ์ แล้วเจอกันใหม่นะจ๊า สวัสดีจ้า (เมินซะเถอะย่ะ.... น้องแมลงปอบินงุดๆไปเท่าที่สามารถจะทำได้)

เต๊ง !! หมดเวลา

เกือบคะมำแน่ะ กำลังล่องลอยตามน้องแมลงปอไปตามคันนา เป็นความรู้สึกผสมผสาน (ไหมครับ) ระหว่างความ innocent บริสุทธิ์ของเด็กๆ เล่นกันไม่ได้คิดอะไรมาก กับความสงสารเจ้าแมลงปอน้อย เด็กๆเรียนรู้อะไรโดยไม่มีความกลัวเกรง ไม่ได้คิดจะทรมาน คิดอยากจะรู้ มองเห็นความสวยงามได้ทุกที่ แม้ในภาวะความไม่สบายก็ตาม (ผมเคยเจอลูกอาจารย์แพทย์ท่านนึง ท้องเสีย มีไข้สูง อายุแค่ไม่กี่ขวบ ภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง เรียกว่า septicemia คนงานก็เอาเครื่อง X-ray เคลื่อนที่มาที่เตียงเพราะเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ เพื่อจะถ่ายภาพ X-ray ท้อง เครื่อง X-ray ของ ม.อ. นี้ คล้ายๆรถเครนก่อสร้าง มีคอยาวๆ มีหัวฉาย X-ray ตรงปลายดูน่ากลัว แต่ก็อุตส่าห์วาดรูปยีราฟคอย้าวยาวไว้ข้างๆ เสียงคุณแม่ตะโกนบอกน้องว่า "เอ้า น้องบุ้ม ถ่ายรูปหน่อยค่า" น้องบุ้มหยุดดิ้น หยุดร้องไห้ นอนหันมามองจอ X-ray แล้วก็ยิ้มให้!! ")

เป็นเรื่องเล่าที่ดีมากๆ บางอย่างเราก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยเห็นกับตา แต่ก็ไม่พ้นความพยายามบรรยายของผู้เล่า ประสบการณ์ตรงนี่เป็นอะไรที่แปลก พอเล่าออกมาเองแล้ว มันมีชีวิต ยังไงๆมันก็ไม่เหมือนกับการเล่าต่อๆกันมา ไม่ว่าผู้เล่าทีหลังจะเป็นนักประพันธ์ชื่อก้อง หรือนักภาษาศาสตร์ แต่มักจะขาดอะไรบางอย่างไปจากการที่เจ้าของประสบการณ์เป็นผู้เล่าเอง

ประสบการณ์เก่าที่ประทับใจนั้น นานเท่านานแค่ไหนเราก็ยังจำได้ แม้ว่าเราอาจจะมีมุมมองอะไรเพิ่มเติมลงไป แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ผลสะท้อนที่เราเคยคิดว่าไม่มี ก็มีชัดเจน ลักษณะความซุกซน ความมีจินตนาการ ความเรียบง่าย ความชัดเจน และความสัมผัสต่อธรรมชาติรอบๆตัว ก็ยังอยู่ในตัวพี่น้อยหน่าคนปัจจุบันนี้ ลักษณะอะไรต่อมิอะไรหลายๆอย่างของเด็กชายนกไฟในอดีต คนที่กระโดดโลดเต้นอยู่หน้ากระดานดำ พยายามวาดฉากศรพลายวาต พรหมมาศ ถล่มกองทัพอสุราของทศกัณฐ์ ก็ยังออกมาในตอนสอนจริยศาสตร์ สอน immunology เพียงแต่เราอาจจะเข้าใจในที่มาที่ไปของเราในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น อ้อ.... มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ไอ้ท่าเกาคอเวลารำคาญใจ ดูๆแล้วก็คล้ายๆท่าหนุมานขุ่นเคือง สำนวนบางอย่างก็ออกจะคล้ายมาจากปากรพินทร์ ไพรวัลย์ นางเอกตัวจริง เอ๊ะ ดารินรึเปล่า (เปล่าครับ อันนี้เว่อร์ไปนิด)

ตกลงเราได้อะไรกันบ้างเนี่ยวันนี้? สงสัยต้องรอตอนต่อไป!

หมายเลขบันทึก: 91910เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2007 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 

"ตกลงเราได้อะไรกันบ้างเนี่ยวันนี้?"

ได้ความสนุกค่ะ  คนอ่าน อ่านสนุกไปเลย

อีกอย่างนึง...ได้รสชาติแปลกประหลาดของแมลงหวี่

เพราะว่าอ่าน (ฟัง)จนอ้าปากหวอ แมลงหวี่บินเข้าปากโดยไม่รู้ตัว อิอิ

แมลงหวี่มันคงสงสัย.. "ถ้ำอะไรหนอ... กว๊าง..กว้าง"

จึงเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องแลกด้วยชีวิต

^________^

 

 

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกของอาจารย์บ่อยๆ

ชอบประโยคว่า

ประสบการณ์เก่าที่ประทับใจนั้น นานเท่านานแค่ไหนเราก็ยังจำได้

เกิดขึ้นกับตัวเองเลย

และที่ไม่ประทับใจ แต่ก็ยังจำ ทำไงดีคะ อยากลืมค่ะ

คุณจูนครับ P

แน่ใจนะครับว่าเป็นแมงหวี่ ไม่ใช่ปิศาจแมลงปอพร้อมหางดอกหญ้าบินมาเข้าปาก อาไร้ เป็นสาวเป็นนางนั่งอ้าปากหวอหน้าคอมฯ เดี๋ยวถูกจับส่ง John Robert Power นาครับ จะหาว่าไม่เตือน

คุณ sasinanda ครับ P

สวัสดีครับ เคยเห็นคุณ sasinanda เตร็ดเตร่แถวๆ blog อ.เต็มศักดิ์ ใช่ไหมเอ่ย ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

เหตุการณ์ที่ไม่ประทับใจ น่าจะหมายถึงประทับใจแต่เป็นเรื่องไม่ดีรึเปล่าครับ? เพราะถ้าไม่ประทับใจเรามักจะจำไม่ใคร่ได้ แต่เรื่องที่เรา อยากจะลืม มักจะประทับใจ (คือ ประทับลงไปบนใจ) มากกว่า

เราเคยเจอคนไข้บางคน เก็บเรื่องบางเรื่องไว้สามสิบ สี่สิบปี คิดว่าลืมไปหมดแล้ว คิดว่าหมดปัญหาไปแล้ว เพื่อที่จะกลับมาหลอน มากวนใหม่ ตอนที่ร่างกายจิตใจเรา vulnerable มากที่สุด สมองมนุษย์นั้นมห้ศจรรย์ จนบางครั้งก็เหนือความควบคุม เรื่องประทับใจนั้นเกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็น spontaneous สาเหตุส่วนใหญ่เพราะมันกระแทก core values หรืออะไรที่เรารัก หวงแหน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นสาเหตุของ existence ของตัวเราเอง

ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่การลืมก็ได้นะครับ แต่เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา ค้นหาตัวตนทีแท้จริงของเราว่าอะไรที่ทำให้จิตเราพัวพันกับเรื่องนี้ ค้นหาไปที่ราก แก้ไขที่ราก once and for all ก็เป็นวิธีที่น่าจะดีอีกอย่างครับ ส่วนการลืมนั้น ผมไม่ทราบจริงๆว่าลืมถาวรทำยังไง ลืมชั่วครั้งชั่วคราวก็ไม่ใช่ลืมจริงๆ ใช่ไหมครับ

ใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ จะเอาใจช่วยครับ

สวัสดีค่ะ อ.หมอสกล (Phoenix)

ชอบการเขียนบรรยายในบันทึกนี้มากเลยค่ะ สามารถลอยละล่องจินตนาการเห็นแมลงปอ แล้วก็ชอบมากตอนที่อาจารย์ว่าถึงท่ารำคาญใจแบบท่าหนุมานขุ่นเคือง ; ) อ่านแล้วต้องยิ้มค่ะ

ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเปล่า แต่อ่านแล้วรู้สึกได้ถึง "สุนทรียสนทนา" มากๆ เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท