ไปเที่ยวตลาดนัด ... ที่โคราช (5) ลปรร. 5 เรื่อง 5 รส ... เทคนิคการเป็นผู้นิเทศงาน


ความรู้ที่พวกเราส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสเรียนรู้จากตำรา คือ ความรู้ว่าด้วยวิธีการทำงาน

 

คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นผู้ดำเนินการในช่วงนี้ค่ะ โดยท่านได้ทำหน้าที่ทั้งบทบาท Facilitator และ Note taker ไปพร้อมๆ กัน ... สรุปแต่ละช่วงตอนได้ชัดเจนมาก มาก ค่ะ ... (ลูกน้อง 3 คน กระซิบกันว่า เรื่องนี้ต้องยกให้ท่าน เป็นเลิศ ค่ะ ... พวกเราทำยังไง๊ ยังไง ก็ตามท่านไม่ทันในเรื่องนี้)

ท่านมีคู่สนทนา 5 เรื่อง 5 รส 5 คน (เบ็ดเสร็จรวมกันแล้ว เท่ากับ 5 ค่ะ) ก็เป็นเรื่องของ

คุณหมอบอกไว้ว่า "... วันนี้มาทำหน้าที่แคะความรู้ ล้วงความรู้ ... ซึ่งการจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องที่ยาก ถ้าฟังง่ายๆ จะมี 2 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 คือ ระดับคนแต่ละคน ... การจัดการความรู้ ก็คือ การจัดการตัวเอง เพื่อให้มีความรู้ในการดำรงชีวิตและทำงานได้อย่างเป็นพลวัต คือ ให้มีความรู้ที่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ทันกับงานใหม่ๆ เหตุการณ์ใหม่ๆ เพราะว่าทุกคนจะเจอเรื่อยๆ กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็มีภาคีใหม่ๆ ลูกน้องใหม่ๆ หรืองานใหม่ๆ

ระดับที่ 2 เป็นระดับองค์กร ก็ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้ เพราะว่าคนเราอยากเรียกรู้ แต่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อก็ต้องพัง

วันนี้เป็นตัวอย่าง การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ประเด็น 1 คือ การที่เราเลือกมาประชุมที่โรงแรม ก็เพื่อว่า "อยากมา" ... เป็นโอกาสที่ดี ... และก็เชิญวิทยากรจากข้างนอกมา ก็คือ ผม ศูนย์อนามัยที่ 1 และกองคลัง ก็เป็นการจัดสิ่งแวดล้อม ... รวมทั้งให้มีรายการ BTV เข้ามาร่วมส่งข่าวด้วย

วันนี้ผมจะล้วงความรู้ เพื่อที่จะทำให้พวกเราได้เห็นกระบวนการ ... จากการฟัง ให้พวกเราได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ความรู้มีหลายแบบ และความรู้ที่พวกเราส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสเรียนรู้จากตำรา คือ ความรู้ว่าด้วยวิธีการทำงาน ทั้ง 5 ท่านวันนี้จะมาเปิดเผยเคล็ดลับวิธีการทำงานที่สำเร็จด้วยตัวของท่านๆ เอง ในภาษาของการจัดการความรู้ เขาก็จะเรียกว่า Tacit knowledge (... ความรู้ฝังลึกในตัวคน) ต้องเก็บออกมา จึงจะได้รู้กัน และจะเป็นประโยชน์ เพราะว่าการเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ" 

เรื่องแรก ก็เป็นเรื่องของ เทคนิคการเป็นผู้นิเทศงาน โดยพี่ยุบลรัตน์ พี่เป็นผู้คร่ำหวอดในเรื่องการนิเทศงานมานานค่ะ

  • ตอนที่อยู่ศูนย์อนามัยโรงเรียนได้รับมอบหมายการนิเทศงาน ก็ตื่นเต้น
  • ก็มาทบทวนว่า เราต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ก็คือ
    ... เตรียมร่างกายให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
    ... เป็นรูปแบบที่ดีของผู้พบเห็น
    ... ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะว่าผู้นิเทศสมัยก่อนต้องเดินทาง หนทางไม่สบายนัก
    ... เตรียมใจไม่ให้หวั่นไหว เพราะเวลาที่ตื่นเต้น หวาดเสียว จะทำให้เราเสียบุคลิก
    ... จิตใจมั่นคง
    ... มีองค์ความรู้เรื่องการนิเทศให้แม่น สมัยก่อนต้องทำกิจกรรมให้ดูด้วย ตั้งแต่ ตรวจสุขภาพ ตรวจสายตา ... เราก็ต้องเป็น
    ... แบบฟอร์มนิเทศเป็นยังไง ตัวชี้วัดเป็นอย่างไรบ้าง 
    ...เนื้อหาที่จะไปพูดคุยว่า ในผู้บริหารจะพูดเรื่องอะไร เรื่องของผู้รับผิดชอบงานในจังหวัดจะคุยเรื่องอะไร ในพื้นที่จะคุยอะไร ไป รร. จะคุยอะไร
  • เวลาออกไปนิเทศ ครั้งแรกๆ ไปเป็นผู้ช่วยสาธิต การตรวจร่างกาย วัดสายตา ตรวจสอบการได้ยิน และพูดถึงระบบรายงานต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำ
  • พอวันจริง ลูกพี่ที่เป็นผู้นิเทศจริงไม่สบาย ... เราก็ต้องมาทำใจของเราเองแล้วว่า เรื่องอนามัยโรงเรียน ไม่มีใครรู้ดีมากกว่าเราหรอก เรารู้ดีที่สุด และเราก็ต้องไป เพราะว่านัดหมายไว้หมดแล้ว
  • เตรียมข้อมูลพื้นที่ วิเคราะห์สถานการณ์ก่อนไปว่าเป็นอย่างไร
  • มีอุปกรณ์ สิ่งสนับสนุนอะไร ที่จะไปให้จังหวัด
  • ต้องรู้จักสายการบังคับบัญชาด้วย ว่าเขาเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารที่นั่น งานที่นั่นเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องรู้ล่วงหน้า

มี Tricks เล็กน้อยก็ตรงที่

  • เวลาไป สอ. เราก็มี trick ว่า ตอนไปอำเภอ ก็คุยกับทีม ถามว่า สาธารณสุขอำเภอชื่ออะไร วุฒิการศึกษา ประวัติครอบครัวอย่างไร พูดคุยเพื่อเก็บรายละเอียดไว้ ... พอไปถึงที่ สสอ. เวลาเราเจอก็ทักชื่อเลย แต่ก็ดูก่อนว่า ที่เขาให้ข้อมูลเรา กับที่ชื่อจริงตรงกันไหม … พอเราทักท่าน ก็ดีใจที่เรารู้จัก
  • คุยในเรื่องสัพเพเหระ ก่อนที่จะนิเทศเรื่องงาน ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรบ้าง
  • ตอนไป สอ. ระหว่างนั่งรถ ก็หาข้อมูลว่าเรื่องราวของงานโรงเรียนที่ สอ. เป็นอย่างไรบ้าง
  • แต่โชคดีที่ว่า งานที่อนามัยแม่และเด็กมีงานผดุงครรภ์ ก็เลยรู้จักน้องผดุงครรภ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ พอเราไปถึงก็มองว่า ตรงนี้มีใครอยู่ เรารู้จักเขาไหม ก็ทักทายกัน
  • ตอนนิเทศก็ต้องจำเนื้อหา เกริ่นนำ สร้างความคุ้นเคย การนิเทศไม่ต้องนิเทศตามข้อ เราต้องมีในใจว่า เราจะพูดอะไรกับเขา ก่อนนิเทศก็ต้องทบทวนเรื่องที่จะนิเทศให้แม่น และนิเทศให้ตรงกับเรื่องที่เขาขาด
  • ถ้าพบว่าเขามีปัญหาในเรื่องงาน ก็จะหาจุดเด่น เป็นการพูดเรื่องดีดีก่อน และพอเรื่องไม่ดีก็ค่อยๆ ถามเหตุผล
  • แต่ถ้าเจอรุ่นพี่ก็เกร็งๆ เหมือนกัน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า เรื่องอนามัยโรงเรียน เราต้องรู้ดีกว่าพี่ เพราะว่าแต่ก่อนองค์ความรู้ยังไม่ค่อยถึงจังหวัด
  • บางทีถูกลองของ ก็ต้องยิ้มสู้ และค่อยๆ คุยกับเขา และบอกว่า สิ่งที่เขาถามนี่ มันเป็นอย่างไร เช่น มีเรื่องเกลือไอโอดีนที่จะให้ทดสอบ อย.น้อย เขาก็จะถามมาเลยว่า ไอโอดีนไม่เกี่ยวกับผม ... ก็ต้องอธิบาย เขาก็ OK

AAR (... ทันสมัยมะ ถูกใจ KM จ้ะ)

  • ผู้นิเทศไม่ใช่นิเทศครั้งเดียวจบ ต้องมาปรับปรุงตัวเราในวันนั้นว่า เรานิเทศเป็นอย่างไร ในการออกนิเทศเราต้อง feedback ตัวเราเองด้วย ว่าตอนนี้เราหลุดอะไรบ้าง เราตกม้าตายตอนไหน มีอะไรเสริมบ้าง เราก็ต้องถามเขา

นพ.สมศักดิ์ (ผู้เป็น Fa และ Note) ให้รายละเอียดของวิธีการสรุปด้วยละค่ะ

ข้อสรุปของผมมี 3 ส่วนใหญ่

ส่วนที่ 1 ตรงไปตรงมาคือ การเตรียมตัว ซึ่งการเตรียมตัวให้รู้จักคน เนื้อหา เป็นเรื่องที่สำคัญ ก็เป็นเรื่องของเนื้อหาว่าด้วยวิชาการที่จะต้องไป กับเนื้อหาว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ของของจริงที่ต้องดู ต้องมี evidence

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องบุคลิกร่างกาย เตรียมร่างกาย และเทคนิคเล็กๆ น้อย คือ เทคนิคเรื่องการทำความคุ้นเคย

ส่วนที่ 2 เรื่อง AAR คือ AAR ตัวเอง วิธีการก็คือ ถามรุ่นพี่ที่ไปด้วยกัน หรือถามรุ่นน้อง

ส่วนที่ 3 คือ ไปถามเรื่องวิธีการนิเทศว่า พูดเรื่องที่ดีก่อน ก่อนที่จะพูดในเรื่องที่ไม่ดี

นี่ละคะ เรื่องเล่า ปนกระบวนการแคะ หรือล้วงความรู้ 

 

หมายเลขบันทึก: 91639เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2007 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
สมัยก่อน(สมัยนี้ไม่มีแล้ว)เคยไปนิเทศงานสถานีอนามัยแห่งหนึ่งที่สภาพไม่ค่อยสะอาด มีพี่เจ้าหน้าที่กำลังไกวเปลลูกไปด้วยให้บริการคนไข้ไปด้วย ก็เลยไปช่วยพี่เขาเลี้ยงลูกอยู่พักหนึ่ง อุ้มลูกเขาไปด้วยนิเทศไปด้วย ถามถึงข้อมูล รายละเอียดการทำงานก็มีอย่างกระพร่องกระแพร่ง เราก็ให้เสนอแนะไปหลายอย่าง กลับไปนิเทศงานอีกครั้งพบว่าปรับโฉมหน้าไปเลยสะอาดเอี่ยม ผลงานเพียบ ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรแฮะ
  • แหม ก็คุณอ้วน ใช้เทคนิคสวมรอยแบบหนิทหนม หนิทหนม ... เป็นคุณแม่ไปด้วยกระมัง
  • พี่เจ้าหน้าที่เขาก็เลยไว้ใจ เชื่อใจ และยอมรับ คำแนะนำนั้นน่ะ
  • พอปรับปรุง ทำจริง ก็เลยดีขึ้นเลยเน๊าะ
วิธีการนิเทศแบบประชาชน คือ เราเป็นประชาชนไป ใช้บริการ ประเมินแบบไม่บอกล่วงหน้าได้ก็คงดีคะ เจอเรื่องจริงแน่ๆ แต่ถ้าเราต้องการให้เขาตื่นตัวก็ต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เขารู้ว่าเราจะมาแล้วนะ อย่าลืมผักชีล่ะ อย่างน้อยก็ได้กลับมาทบทวนเรื่องที่จะถูกนิเทศแล้วล่ะ ใช่จุดประสงค์นี่มั้ยคะ เราถึงต้องบอกล่วงหน้าว่าเราจะไปนิเทศแล้ว
  • ก็มีเหมือนกันเน๊าะ ... ท่ารองฯ ท่านหนึ่งของกรมอนามัย เคยไปเยี่ยมศูนย์อนามัยแห่งหนึ่งในวันหยุด ด้วยเครื่องแต่งกาย เสื้อ กางเกงคลุมเข่าธรรมดา ไม่บอกด้วยว่าเป็นใคร
  • ... ก็พบว่า ยามถามไถ่อย่างดี มีมารยาท ไม่กระโชกโฮกฮาก ก็เลยมีภาพพจน์ที่ดีไปละค่ะ
  • พี่ว่า ... ผู้นิเทศต้องมีเทคนิคที่ดีเน๊าะ
  • ไปด้วย ความอยากไปรับฟังของเขา มีข้อมูลของเขา ไปช่วยเขารับรู้ปัญหา ข้อดี ข้อเสีย ค้นหาสิ่งที่ดีดี และให้กำลังใจ ... เออเน๊าะ ... เขาเรียกว่าเอา KM ไปใช้ประโยชน์จ้ะ
  • แบบนี้ก็ไม่ต้องโรยผักชีเท่าไร แล้วละมั๊ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท