งานหน้างานของ กศน.ในโครงการอยู่ดีมีสุข


เครื่องมือการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบระดับความรู้ ฯลฯ คงเป็นเครื่องมือหลัก แต่เครื่องมือเท่านี้คงจะยังไม่พอ ต้องค้นหา สร้างเครื่องมือขึ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือสำหรับสร้างสร้างองค์ความรู้ซึ่งเป็นต้นทางของความรู้ ไม่ว่าจะเป็น โครงงาน โครงการ วิจัยชาวบ้าน เวทีชาวบ้าน บันทึกความรู้ การสัมภาษณ์ แฟ้มสะสม การสกัดความรู้ ถอดบทเรียน ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การยอมรับความรู้ประสบการณ์ของชาวบ้าน

บ่อยครั้งที่ผมไปอบรม ประชุมสัมมนา ความสนใจของผมมักจะอยู่ที่การนำเสนอของวิทยากรเป็นหลัก ขาดการเอาใจใส่เอกสารประกอบการอบรม ประชุมสัมมนา ที่เขาแจกตอนลงทะเบียน ถือว่าเอกสารอ่านเมื่อไรก็ได้ สุดท้ายก็ลืม มีเอกสารใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ของเก่าก็ไม่ได้อ่าน เป็นอย่างนี้อยู่นานแล้ว เห็นทีจะแก้ยาก

อย่างเอกสารที่หยิบขึ้นมาอ่านวันนี้ ก็เป็นเอกสารประกอบการประชุมสัมมนาวันเปิดตัวยุทธศาสตร์อยู่ดีมีขระดับจังหวัดและโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อเอกสารว่า แนวทางการขับเคลื่อนยุทธสาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ซึ่งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เขาแจกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550 ที่โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช

หยิบขึ้นมาอ่านก็ทำให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ในยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขตั้งมากมายยุบยับไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในเรื่องของกระบวนการแผนชุมชนพึ่งตนเอง ประเด็นเรียนรู้เนื้อหาใหญ่ๆในยุทธศาสตร์นี้ 5 เรื่อง คือ เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน การสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ และการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน นี่คือ 5 เรื่องใหญ่นะ ย่อยในแต่ละประเด็นใหญ่ได้ตั้งหลายเรื่องย่อย

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าชาวบ้านเขาสนใจมาทำตนเองทำสังคมตนเองให้เป็นสังคมอยู่ดีมีสุข ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ เขาควรจะได้อะไรที่เป็นผลพลอยได้บ้างตามสัดส่วนการกระทำของเขา นอกเหนือจากการที่ตนเองและสังคมที่ตนเองอยู่อาศัยนั้นจะเป็นสังคมอยู่ดีมีสุขได้แล้วหรือไม่ มีอะไรอีกหรือไม่ที่เขาควรจะได้

จะตอบคำถามนี้ ผมนึกถึงคำกล่าวของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านวิชม ทองสงค์ ที่ท่านเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเริ่มทำชุมชนอินทรีย์ (ชุมชนเรียนรู้)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชว่าทุกหน่วยงานที่มาเป็นภาคีเครือข่ายกันคือเครื่องมือของชาวบ้าน ชาวบ้านจะหยิบใช้เครื่องมือใดสำหรับเรียนรู้เรื่องอะไรก็ให้เป็นเรื่องของชาวบ้านเขา ในการทำยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขก็เหมือนกัน อันหลังนี่ผมคิดเอง ต่อไปเอง ที่คิดอย่างนี้เพราะผมคิดว่าฐานล่างสุดคือชุมชนอินทรีย์ อะไรที่ลงสู่ชุมชนหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นอยู่ดีมีสุข เศรษฐกิจพอเพียง(คพพ.) หรืออะไรก็ตาม สำหรับที่นครศรีธรรมราชแล้วก็คือมาต่อยอดจากชุมชนอินทรีย์ จะไม่เปิดหน้างานใหม่ หน่วยงานต่างๆก็ยังเป็นเครื่องมือให้กับหมู่บ้านชุมชนอยู่นั่นเอง

หน่วยงานใดจะผลิตหรือสร้างหรือออกแบบเครื่องมือใดสำหรับให้ชาวบ้านได้ใช้ ให้ชาวบ้านได้เดินไปสู่ชุมชนอินทรีย์ หรืออยู่ดีมีสุขก็ตาม สำหรับหน่วยงานนั้นแล้วผลของการใช้เครื่องมือนั้นก็คือธงหรือเป้าหมายแฝงของหน่วยงานนั้นนั่นเอง

ในส่วนของ กศน.ก็สนใจธงย่อยเหมือนกัน สนใจว่าเมื่อชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆรวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้นี้ด้วยแล้ว อะไรคือกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นผลพลอยได้ของชาวบ้าน ซึ่งถ้ามองในแง่ของการตกผลึกกระบวนการเรียนรู้ที่ กศน.ส่งเสริมอยู่ ซึ่ง กศน.มีวิสัยทัศน์ว่าไม่ว่าใครที่ไหนจะเรียนรู้เรื่องอะไรเมื่อไรก็ต้องส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สู่สังคมเรียนรู้ สู่สังคมอุดมปัญญาให้ได้ ชั่งสอดคล้องกันเหลือเกินกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ น่าอยู่ และยั่งยืน

ยกตัวอย่างถ้าชาวบ้านเขาเรียนรู้เรื่องกระบวนการแผนชุมชนได้ ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาและสร้างโอกาสให้ชุมชน การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน การสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ และการบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน องค์กรการเงินชุมชน ฯลฯ หรืออะไรก็แล้วแต่เขาจะหยิบยกขึ้นมาเป็นเนื้อหาในการเรียนรู้ อะไรคือผลพลอยได้ของเขาในแง่ของการเรียนรู้ที่ กศน.ส่งเสริมอยู่

เครื่องมือการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบระดับความรู้ ฯลฯ คงเป็นเครื่องมือหลัก แต่เครื่องมือเท่านี้คงจะยังไม่พอ ต้องค้นหา สร้างเครื่องมือขึ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือสำหรับสร้างสร้างองค์ความรู้ซึ่งเป็นต้นทางของความรู้ ไม่ว่าจะเป็น โครงงาน โครงการ วิจัยชาวบ้าน เวทีชาวบ้าน บันทึกความรู้ การสัมภาษณ์  แฟ้มสะสม การสกัดความรู้ ถอดบทเรียน ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การยอมรับความรู้ประสบการณ์ของชาวบ้าน

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากๆก็คือ การเรียนรู้ของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในโครงการชุมชนอินทรีย์ หรืออยู่ดีมีสุข หรือโครงการใดก็แล้วแต่ ต้องไม่ใช่การไล่ต้อนให้ผู้คนเขามาลงทะเบียน แล้วตั้งหน้าตั้งตาสอน แต่เป็นการสอดใส่เครื่องมือการเรียนรู้เข้าไปในจังหวะที่เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้าน ไม่ให้ชาวบ้านรู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้เรื่องอะไรอยู่ก็จะยิ่งดี จะต้องเป็นหลักสูตรที่ออกแนวไม่มีหลักสูตร

อย่างนี้แหละผมว่าคืองานหน้างานของ กศน.ในโครงการชุมชนอินทรีย์หรืออยู่ดีมีสุข และอาจจะรวมไปถึงโครงการของหน่วยงานอื่นๆที่เป็นภาคีต่างๆว่าส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายใดด้วยหลักสูตรและวิธีการใดเพื่อร่วมกันสกัดเอาความรู้มาเป็นผลพลอยได้แก่กลุ่มเป้าหมายนั้นๆ

เป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ ฉะนั้น กศน.จะต้องปรับเปลี่ยนและเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อยากจะให้ทุกระดับคิดเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณเอื้อระดับต่างๆต้องอาสาถือธงนำหน้าขบวนเสียแล้วละครับงานนี้ จะได้เห็นภาพการเคลื่อนงานที่เป็นภาพใหญ่ มิใช่จุดเล็กจุดน้อย

กศน.จึงจะได้ชื่อว่าเห็นงานหน้างานของตนเอง น่าจะได้มีเวิร์คช็อปเรื่องนี้กันสักครั้งสองครั้ง

อันนี้คือประโยชน์ของการอ่านเอกสารประกอบการประชุมสัมมนา ที่ผมมักจะละเลยอยู่เสมอครับ

นำมาแลกเปลี่ยนครับ

หมายเลขบันทึก: 91554เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2007 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ครูนงครับ อ่านบันทึกแล้วรู้สึกดีใจและเสียใจไปพร้อมๆ กัน คือดีใจที่ครูนำเสนอข้อมูลดีๆ ผ่านการวิเคราะห์ เขียนโดยละเอียดและเีขียนอย่างเข้าใจ แต่เสียใจกับสถานการณ์อย่างที่ครูเล่าให้ฟังว่า มีการเกณฑ์คนมาเข้ารับการอบรม

"หลักสูตรที่ออกแนวไม่มีหลักสูตร" นี่ผมเห็นด้วยมากๆ เลยครับ ในความหมายที่ว่าต้องมาหาหลักสูตรจากผู้เรียน ไม่ใช่ยึดบทเรียนหรือผู้สอน แต่อย่างที่ครูว่าแหละครับ ทำยาก ใช้เวลา ไม่ค่อยมีใครอยากทำ

ผมค่อนข้างมั่นใจว่าความหวังของหลักสูตรประเภทนี้จะเกิดได้ ก็จากคนในพื้นที่เท่านั้นล่ะครับ ด้วยความเข้าใจในวัฒนธรรม ระบบความเชื่อต่างๆ  น่าจะทำใ้ห้จัดหลักสูตรได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญที่ขาดความเข้าใจ

คุณแว้บ ครับ

           ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นนะครับ ส่วนที่ว่าจะต้องไม่ใช่การไล่ต้อนให้ผู้คนเขามาลงทะเบียน แล้วตั้งหน้าตั้งตาสอน แต่เป็นการสอดใส่เครื่องมือการเรียนรู้เข้าไปในจังหวะที่เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้านนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงนะครับ ซึ่งในโครงการที่ทำอยู่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มี อาจจะมีอยู่ในที่นั่นที่นี่ ในช่วงเวลานั้นเวลานี้นะครับ เพราะเป็นการทำเต็มพื้นที่แบบบูรณาการทั้งจังหวัด ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าไม่มี

         ขอบคุณอาจารย์มากนะครับที่เข้ามาให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์

  • คิดเหมือนกันเลยค่ะ ว่าเอกสารประกอบการประชุม หรือสัมมนานั้นก็สำคัญ
  • เพราะว่า เราสามารถมาขยายการรับรู้ของเราได้ในเรื่องนั้นๆ
  • ถ้าไม่มีซะเลย จะขาดความเข้าใจไปเยอะพอสมควร
  • ในงานตลาดนัดศูนย์อนามัยที่ 5 เมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันก็แสวงหาเอกสารประกอบกิจกรรมนี้เหมือนกัน แต่หาไม่เจอ ... หงุดหงิดพอควร เพราะทำให้ไม่รู้ว่า เอ ภาพงานมันเป็นอย่างไร
  • เพราะว่า นั่งฟังไปเรื่อยๆ มันไม่ตื่นเต้น
  • แค่พิธีกรบอกเล่า ก็ไม่เห็นภาพชัด

ครูนงค่ะอ่านแล้วทำให้คิดถึงคำพูดของดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ ม.มหิดล หัวหน้าทีมวิชาการโครงการพลังเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ที่ดิฉันโชคดีมีโอกาสร่วมเป็นทีมวิชาการอยู่ด้วยนั้น ว่าการทำงานชุมชนนั้นไม่ใช่เอางานของภาครัฐไปให้ชุมชนทำแล้วพอชุมชนเข้ามาช่วยกันทำก็สรุปผิดๆว่านี่แหละคือการมีส่วนร่วมของชุมชนและ ชุมชนนั้นเข้มแข็งแล้ว แต่แท้จริงแล้วการทำงานชุมชนให้ยั่งยืนต้องทำจากฐานรากของชุมชน ซึ่งรายละเอียดของการทำงานจริงไม่ใช่พูดจากตำรา เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ กรมคุมประพฤติที่มีประสบการณ์ตรง น่าจะตอบได้ดี

  • ครูนงค่ะ
  • วันนี้ตั้งใจแต่เช้าว่าจะทำงานที่ค้างไว้ให้เสร็จเพราะอยู่สำนักงานไม่ค่อยได้ทำมีแต่เรื่องต้องประชุมโน้น ประชุมนี่ทั้งวัน
  • แต่พอเปิดเครื่องจะทำงานอดไม่ได้ต้องแวะหาเพื่อนบนบล็อกเสียหน่อยตอนนี้เป็นแฟนประจำของครูนงไปเสียแล้ว
  • ก็ไม่ผิดหวังเลย ข้อความตรงนี้ดีจัง  ไม่ให้ชาวบ้านรู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้เรื่องอะไรอยู่ก็จะยิ่งดีจะต้องเป็นหลักสูตรที่ออกแนวไม่มีหลักสูตร
  • ทำยังไง....จะทำแบบนี้กับการพัฒนาข้าราชการหรือบุคลากรของ กศน. ได้บ้างล่ะ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะครูนง

เมื่อก่อนสงกรานต์ ได้ฝากเอกสารเรื่องยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขเท่าที่มีอยู่ไม่มากนักให้อาจารย์ภีมไปมอบให้ครูนงค่ะ    แต่สงสัยว่าครูนงจะมีอยู่แล้ว

ชอบใจการตั้งคำถามของครูนง "อะไรคือผลพลอยได้ของชาวบ้านในแง่ของการเรียนรู้ที่ กศน. ส่งเสริมอยู่"

ได้เรียนรู้จากครูนงและชอบใจข้อแนะนำที่ให้ "สอดใส่เครื่องมือการเรียนรู้เข้าไปในจังหวะที่เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้าน"  ถือว่าเป็นหลักการและวิธีการที่ดีมาก จะได้นำไปใช้บ้างค่ะ

เวลาสอนหนังสือเด็กมหาวิทยาลัย จะบอกเขาเสมอว่า  ความรู้เปลี่ยนแปลงไปตลอด ท่องจำไปก็แค่นั้น  สิ่งที่นักศึกษาควรจะได้ไป คือ เครื่องมือในการเรียนรู้ต่างหาก ..วิธีอ่าน วิธีค้นคว้า วิธีวิเคราะห์.. 

คุณทรงพลเคยบอกว่า นักวิชาการ นักศึกษา เรียนรู้ด้วยหัว  (by head)  ชาวบ้านเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (by hand) และ ด้วยหัวใจ (by heart)  (ซึ่งข้อหลังนี้ นักศึกษาไม่ค่อยมี เพราะวิชาที่เรียนบางทีก็แปลกแยกจากวิถีชีวิต)

เวลาทำงานกับชาวบ้าน  ยากกว่าสอนหนังสือนักศึกษาเยอะค่ะ  ยากเพราะเรายังแปลกแยกและเข้าไม่ถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้าน

ตัวเองจึงยกย่องคนที่ทำงานกับชาวบ้านมากค่ะ

คุณหมอนนทลี ครับ

            ผมรู้สึกว่าคุณหมอจะออกอาการมากถ้าหากไปงานไหนแล้วไม่มีเอกสารแจก จัดได้ว่าคุณหมออยู่ในประเภทสารัตถนิยมจริงๆครับ น่ายกย่องจริงๆ ข้อมูลจากเอกสารเหล่านั้นถ้าได้ต่อเข้ากับข้อมูลการพูดนำเสนอของวิทยากรก็จะดีมากๆเลย กำลังจะเลียนแบบคุณหมออยู่ครับ....กำลังหัดเดินครับ

คุณฉัตรลดา ครับ

           การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องร่วมมาจากข้างในของประชาชน จิตใจอยากเข้ามาร่วม อยากจะทำตนเองให้ดีขึ้น ถ้ามาด้วยใจอย่างนี้แล้วก็จะได้ชื่อว่าเป็นการทำงานชุมชนอย่างยั่งยืนที่รากฐานรากมาจากชุมชน แต่การที่เปลี่ยนหรือโน้มน้าวให้เกิดความอยากที่จะพัฒนาตนเองตรงนี้ก็นับเป็นภารกิจอันหนักอึ้งของทีมคุณอำนวยที่จะต้องทำบทบาท ทำอย่างไรให้เขาได้เปิดใจอยากมา อยากเข้าร่วมโครงการ

          ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ

อ.แอ๊ว ครับ

           สั้นๆสำหรับความเห็นผมที่ว่าทำอย่างไรไม่ให้ข้าราชการหรือบุคลากร กศน.เราไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกพัฒนาตนเองอยู่ด้วยหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งในทำนอง "ไม่ให้ชาวบ้านรู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้เรื่องอะไรอยู่ก็จะยิ่งดีจะต้องเป็นหลักสูตรที่ออกแนวไม่มีหลักสูตร" อยากจะให้นำแนวการอบรมแบบ ATM (Action Based Model) ของสถาบันฯสิรินธร ซึ่งเป็นแนว KM มากๆมาใช้ดู น่าจะดีนะครับ เข้าห้องเรียนเพื่อมาเติมเต็มศักยภาพ หรือเติมเต็มสมรรถนะตนเองในการทำงาน ไม่ใช่หวังจะมาเอาความรู้จากในห้องเรียนอย่างเดียว เวลาสำหรับเรียนรู้การทำงานจริงๆคือที่หน้างานของเขา.....ต้องค่อยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้เข้ารับการอบรมครับ ปุบปับคงไม่ดีแน่

         ก็คนเขาเคยชินมาแบบนี้ชั่วนาตาปีแล้วนี่ครับ

สวัสดีครับ อ.ปัทมาวดี

         "อะไรคือผลพลอยได้ของชาวบ้านในแง่ของการเรียนรู้ที่ กศน. ส่งเสริมอยู่" สิ่งนี้สำหรับผมแล้วผมคิดตลอดเวลาครับ แต่จะหาคนคุยด้วยก็ยังจะไม่สบโอกาสกันเท่าไหร่ แต่ก็จะหาพวกมาคุยด้วยให้เข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่นี้ไปครับ เพราะผมคิดว่าถ้าประชาชนเหล่าคุณกิจทั้งหลายมีกระบวนการเรียนรู้ตกผลึกอยู่ สิ่งนี้นี่แหละครับคือความยั่งยืนของการพัฒนา ความเป็นอินทรีย์ในชุมชนนั้นๆ

         ขอบคุณข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ของอาจารย์ครับ และโดยเฉพาอย่ายิ่งของ อ.ทรงพล ที่ว่านักวิชาการ นักศึกษา เรียนรู้ด้วยหัว  (by head)  ชาวบ้านเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (by hand) และ ด้วยหัวใจ (by heart)  (ซึ่งข้อหลังนี้ นักศึกษาไม่ค่อยมี เพราะวิชาที่เรียนบางทีก็แปลกแยกจากวิถีชีวิต) รู้สึกว่าชอบมาก กินใจมากครับ

  • ตามเข้ามาเรียนรู้จากบันทึกของครูนงครับ..สู้ๆ ครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

น้องสิงห์ป่าสักครับ

        การมองให้เห็นงานของตนเองเป็นทักษะอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ ต้องอาศัยระยะเวลาครับ ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังใจ

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี

เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้

ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ

กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น

การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด

" … ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน

มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน

ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอกิน

ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่มีความความพออยู่พอกิน มีความสงบ

เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้

เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ …

ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิดและมีอิทธิพล

มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน

ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร

พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้

ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล "

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 23 ธันวาคม 25

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท