ที่บูธ “กุดขาคีม” ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 1 1-2 ธ.ค.2548 ผมประทับใจสิ่งหนึ่งที่เห็นในทันที คือ จิ๊กซอแผนที่ที่ทราบว่าชุมชนได้ร่วมกันสำรวจ วาด ลงรายละเอียดโดยคนใน (ดังภาพ) ประทับใจครับ ผมเชื่อลึก ๆ ว่าตอนที่ลงมือทำแผนที่นี้กันขึ้นมีผลพวงที่ได้เป็น Impact อีกมากมาย เช่น ความสามัคคีของคนในชุมชน การค้นพบศักยภาพของชุมชนเพิ่มเติม หรือการเห็นโอกาสในการพัฒนาชุมชน นอกจากเป้าหมายที่จะนำแผนที่นี้มาใช้ประโยชน์ที่ตั้งไว้ในครั้งแรก
ที่นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้กิจกรรมในโครงการวิจัย
“กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป็นตัวเดินเรื่องในการสร้างความรู้
และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน กุดขาคีม อยู่ในอำเภอรัตนบุรี
จังหวัดสุรินทร์ โจทย์ของชาวกุดขาคีม คือ
การจัดการกับแหล่งน้ำของชุมชนโดยองค์กรชุมชน
สืบเนื่องมาจากผลพวงของการพัฒนาทำให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำเดิมใช้ประโยชน์ไม่ได้ดังเดิม
โดยเฉพาะจากการสร้างเขื่อนราศีไศล
การเลือกคนเข้ามาเป็นทีมนำ จะเลือกจาก “แกนนำ” เพราะเป็นทุนเดิมที่คนอื่น ๆ ในชุมชนให้การยอมรับ และนับถือแกนนำเหล่านี้อยู่ก่อนแล้ว แกนนำเหล่านี้เข้ามาเป็นนักวิจัยหลัก ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การใช้เวทีย่อยที่เรียกว่า “โสแหร่” เติมเต็มข้อมูลที่ทีมนักวิจัยหลักได้มาแล้วแต่ขาดไปในแต่ละส่วน เวทีโสแหร่ จะเป็นการพูดคุยกันอย่างธรรมชาติโดยมีผู้รู้คอยให้ข้อมูลในอดีต เวทีก็นำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก่อนร่วมกันหาข้อสรุปถึงเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น
ชุมชนกุดขาคีมได้ใช้วิธีการสร้างความรู้โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเอง นำมาใช้ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ พัฒนา สร้างขุมความรู้ และต่อยอดเพิ่มเติม จากนั้นก็วนใหม่อย่างไม่รู้จบ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะทำให้ชุมชนพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน
ขอบคุณตัวแทนที่ได้ให้ผมได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการนำเสนอข้อมูลไว้ เพื่อได้นำมาประยุกต์ใช้และได้ถ่ายทอดต่อ ซึ่งอาจจะไม่ได้สักเท่าไหร่ของของจริงที่ชุมชนนี้มีอยู่