การส่งจิตออกนอก


ภาวะการส่งจิตออกนอกของดิฉันคือ ในขณะที่ส่งจิตออกนอกนั้น ดิฉันไม่เห็นตัวเองในปัจจุบันค่ะ...

จากที่คุณ P ฉัตรชัย ได้เขียนถามดิฉันเรื่องการส่งจิตออกนอก ในบันทึก เมื่อความคิดไม่อยู่กับปัจจุบัน ได้จุดประกายให้ดิฉันคิดจะเขียนตอบเป็นบันทึก เพราะอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองกับ blogger ทั้งหลายด้วยค่ะ

คุณฉัตรชัยถามว่า

ผมรู้สึกว่า   จิตส่งออกนอกเป็นจิตที่ไม่อยู่ในปัจจุบันขณะ      จิตที่มองเข้าไปข้างในคือจิตที่ถูกบังคับให้อยู่ในปัจจุบันขณะ (พยายามรู้ในปัจจุบันขณะ)       จิตที่ปล่อยวางไม่พยายามที่จะรู้ในปัจจุบันขณะ น่าจะเป็นจิตที่รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ     พูดแล้วงงครับไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่า

สำหรับ การส่งจิตออกนอก ของดิฉันนั้น รู้แต่ว่าตัวเองบางครั้งก็ส่งจิตออกนอกไปยังเรื่องในอดีต บางครั้งก็ส่งจิตออกนอกล่วงหน้าไปในอนาคต ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดทุกข์ มากหรือน้อยทันที เช่น เมื่อกังวลเรื่องการส่งงานที่ต้องทำให้เสร็จหลังสงกรานต์เป็นต้น   เรื่องนี้เป็นการส่งจิตออกนอกของดิฉันไปยังเรื่องที่ยังไม่เกิด (ทำงานไม่ทัน) ในอนาคต แทนที่จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วตั้งใจทำงานนั้นๆ ให้เสร็จไป

ท่านคงสงสัยเหมือนกันว่าเจ้า ภาวะส่งจิตออกนอก ของดิฉัน มันเป็นยังไง

ภาวะการส่งจิตออกนอกของดิฉันคือ ในขณะที่ส่งจิตออกนอกนั้น ดิฉันไม่เห็นตัวเองในปัจจุบันค่ะ... จะอธิบายอย่างไรดีคะ.... ประมาณว่า ดิฉันลืมว่าขณะนั้นตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ค่ะ เช่น อาจจะกำลังไขกุญแจปิดรถอยู่ แต่ไม่รู้สึกตัวน่ะค่ะ ทำโดยอัตโนมัติเพราะจิตไปอยู่กับเรื่องในอนาคต  แล้วพอเดินไปถึงห้องทำงานแล้วกำลังไขกุญแจเข้าห้องทำงาน เห็นกุญแจรถแต่จำไม่ได้ว่าเมื่อครู่ทำอะไรไปบ้าง หรือได้ปิดรถหรือไม่ เป็นต้นค่ะ

ดังนั้น ที่คุณฉัตรชัยว่า ผมรู้สึกว่าจิตส่งออกนอกเป็นจิตที่ไม่อยู่ในปัจจุบันขณะ นั้น ตรงกับประสบการณ์ของดิฉันค่ะ 

แต่เรื่อง จิตที่มองเข้าไปข้างในคือจิตที่ถูกบังคับให้อยู่ในปัจจุบันขณะ (พยายามรู้ในปัจจุบันขณะ) หรือเปล่านั้น ดิฉันไม่แน่ใจค่ะ ดิฉันไม่ค่อยได้บังคับจิตน่ะค่ะ  ดูตามสภาวะไปเรื่อยๆ ค่ะ เช่น บางครั้งเจ็บป่วยอยู่ก็เห็นความเจ็บ เพราะมันชัดมาก ดูจนมันเห็นเป็นเรื่องปรกติค่ะ ที่ร่างกายมีปฏิกิริยากับความเจ็บป่วย เห็นสภาวธรรม เห็นธรรมชาติของสังขาร คิดได้แล้วใจมันเบา สบายขึ้นค่ะ

สำหรับคำถาม จิตที่ปล่อยวางไม่พยายามที่จะรู้ในปัจจุบันขณะ น่าจะเป็นจิตที่รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ หรือเปล่านั้น สำหรับดิฉัน จิตที่ปล่อยวางจะคล้ายๆ กับกรณีข้างบนที่ดิฉันปล่อยวางความเจ็บปวดทางกาย หรือคล้ายกับที่ดิฉันประสบในบันทึกนี้  แต่ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าตัวเองพยายามที่จะรู้ในปัจจุบันขณะหรือเปล่าค่ะ แต่จากประสบการณ์พบว่า การที่จิตรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะนั้น จะทำให้เกิดการปล่อยวางได้ค่ะ

หวังว่าอ่านบันทึกนี้ของดิฉันแล้ว คงไม่สับสนมากขึ้นนะคะ ถ้าอ่านจนจบ แล้วจำได้ว่าอ่านอะไรไปบ้าง แสดงว่าท่านอยู่กับการอ่านปัจจุบันของท่านแน่นอนค่ะ ; )

หมายเลขบันทึก: 90118เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

สวัสดีครับอาจารย์

  • อยากขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ
  • เรื่องฝึกจิตฝึกสติ  คิดว่าหลายคนคงทำ  ไม่มากก็น้อย  ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบฟุ้งซ่าน(มีนิวรณ์มาก) ตั้งแต่เด็กๆครับ  เป็นพวกชอบคิด  ชอบฝัน  หรือจินตนาการครับ 
  • โชคดีมากครับที่วิถีชีวิตได้พบและพอเข้าใจหลักพุทธรรมบ้างครับ  ก็เลยปฏิบัติมาเรื่อยๆครับ  ตอนเป็นวัยรุ่นก็มักนั่งสมาธิครับ  แต่ตอนนี้ไม่ค่อมีเวลา  จึงพยามฝึกขณะที่เราทำงาน  หรือใช้ชีวิตทั่วไปครับ  เน้นที่กายานุปัสสติ เพราะว่าทำได้ง่ายกว่า  หรือบางทีก็พิจารณาที่เวทนา  ที่ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นครับ
  • เห็นประโยชน์ของการฝึกและการตามดูจิตมากครับ  ยิ่งทำยิ่งได้และยิ่งเข้าใจมากขึ้นครับ  ถ้าไม่ทำก็จะรู้สึกว่าฟุ้งซ่าน  ขี้ลืม  หรือไม่ทันต่ออารมณ์ต่างๆ  หรือสิ่งต่างๆมากมายที่มากระทบเราครับ
  • ...ขอบคุณครับอาจารย์
  • สวัสดีปีใหม่ไทยครับ....

สวัสดีค่ะคุณหมอ สุพัฒน์ P kmsabai

ขอบคุณคุณหมอที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

เห็นด้วยเลยค่ะว่ากายานุปัสสนาเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และเข้าใจได้ง่ายกว่าจิตตา หรือ เวทนานุปัสสนา ค่ะ

ดิฉันก็เริ่มจากกายานุปัสสนาเช่นกันค่ะ แต่ไม่เคยฝึกสมาธิเหมือนคุณหมอค่ะ อาจทำให้ไม่ค่อยนิ่งเวลาปฏิบัติวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ความคิดแวบไปแวบมาตลอด เลยตามดูจิตแล้วก็ลืมดูกายค่ะ

ตอนนี้ก็พยายาม back to basics กลับสู่ปัจจุบันโดยดูกายเป็นหลักอยู่เหมือนกันค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนและช่วย confirm ว่าสิ่งที่ดิฉันประสบจากการปฏิบัตินั้นไม่ได้หลอกตัวเองค่ะ ; ) แต่เป็นธรรมที่เป็นปรมัตถ์และทุกคนประสบได้เช่นกัน ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

สวัสดีค่ะทุกท่านและอาจารย์  ดร. กมลวัลย์ ลือประเสริฐ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูอ้อย P สิริพร กุ่ยกระโทก

เป็นบุญวาสนาของดิฉันเช่นกันค่ะ ที่ครูอ้อยจะมาช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะฉะนั้นที่จะเป็นลูกศิษย์นั้น สงสัยจะไม่ได้ค่ะ เพราะอาจขอเป็นลูกศิษย์ครูอ้อยเหมือนกัน ; )

ดิฉันตามไปอ่านที่ครูอ้อยเขียนแล้วค่ะ ไม่รู้จะสรุปทั้งหมดได้อย่างไรเหมือนกันค่ะ ; ) เพราะดิฉันเป็นพวกปฏิบัติธรรมแบบความรู้ทางปริยัติธรรมน้อยมากค่ะ พยายามอ่านอยู่เหมือนกันค่ะ แต่พบว่าถ้ามัวจำ technical term ทำให้ท้อได้ค่ะ เพราะเยอะมากจริงๆ ส่วนใหญ่จะศึกษาโดยการอ่านและทำความเข้าใจในหลักการในขณะนั้น แล้วก็ไม่ท่อง เพราะจำได้ไม่หมด แต่ถ้าเรื่องไหนเข้าใจจริงๆ จะจำได้ เพราะเมื่อทดลองมาปฏิบัติแล้วเห็นว่าได้ตรงกันกับหนังสือหรือคำสอน ก็จะเข้าใจยิ่งขึ้น (แต่ก็ยังจำ technical term ไม่ได้อยู่ดีค่ะ)

ดิฉันปฏิบัติโดยใช้แนววิปัสสนากรรมฐาน แต่ทำในชีวิตประจำวันค่ะ ใช้มหาสติปัฏฐาน๔ เป็นหลัก เน้นการเป็น "ผู้ดู" ไม่เป็น "ผู้เป็น" ดังตัวอย่างในบันทึกเรื่องมาดูความโกรธกันเถอะ ค่ะ ตอนนี้ก็ยังปฏิบัติตามแนวนี้ไปเรื่อยๆ อยู่ ทำได้บ้าง หลุดบ้างค่ะ

ดิฉันยึดหลักว่าพยายามทำให้ง่ายๆ เข้าไว้และปฏิบัติได้ตลอดค่ะ เพราะธรรมควรจะเป็นอะไรที่เป็นธรรมชาติ บังคับไม่ได้ค่ะ

แล้วเรามา ลปรร กันต่อนะคะ มีคุณหมอสุพัฒน์ กับคุณธรรมาวุธ แล้วก็คุณฉัตรชัยที่มาช่วยกันต่อยอดเป็นประจำค่ะ

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ

ต้องขอความกรุณารบกวนอาจารย์อีกนิดนะครับ พอดีเรื่องนี้สนใจมากครับ ในความรู้สึกของผม จิตที่รู้เท่าทันคือผู้ดูที่เห็นอาการที่จิตที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองไม่ว่างที่เป็นสมุทัยเช่นความโกรธ ความอยาก ความไม่พอใจ  ผมทราบมาว่าจิตของผู้ปฏิบัติระดับสูงจะสามารถเห็นสมุทัยเหล่านั้นและเป็นเหตุให้เกิดและดับในน้อยกว่าช่วงเสี้ยววินาที ผมอ่านหนังสือพระอาจารย์ชา ท่านเขียนว่านั้นๆมาอีกแล้ว ทำให้ผมassume ว่าน่าจะใช่  ทำให้ท่านไม่ต้องรู้สึกถึงอาการโกรธ ความเศร้าหมองนาน กว่าจะดับ รวมถึงเมื่อก่อนผมสงสัยว่าทำไม พระสอนต้องบอกให้ปล่อยวางในจิตที่เป็นกุศล เช่น ความเมตตา ศรัทธา สมาธิ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหมดไป มีการเกิดดับทำให้จิตใจไม่ว่าง และจิตที่ไม่ว่างก็ยังมีทุกข์อยู่ไม่รู้ว่าคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่าอาจารย์ตอบผมสั้นๆก็ได้ครับรู้สึกเกรงใจมาก อาจารย์ยังเมตตาใช้เวลาที่มีค่าตอบผมยาวๆทุกที 

สวัสดีครับอาจารย์

  • ขอลปรรกับคุณฉัตรชัยครับ  ..น่าจะใช่ครับกับการรู้เท่าทันอย่างรวดเร็วต่อสิ่งที่มากระทบทั้ง 6 ด้าน ถ้าอ่าเรื่องกระบวนการปฏิจสมุปบาท(?) ก็จะมองเห็นกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาทีครับ  ผมก็จำไม่ได้มากคงต้องเปิดตำราอีกครั้งครับ 
  • อาจารย์กมลวัลย์ครับ   ผมเห็นด้วยกับแนวทางอาจารย์ครับ  คือควรเป็นธรรมชาติ  มีหนังสือที่น่าสนใจอันหนึ่งคือพุทธรรม ของท่านธรรมปิฎก(ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นพระราช.. จำไม่ได้ครับ)
  • ขอบคุณบันทึกนี้ของอาจารย์ครับที่ทำให้ระลึกได้หมายรู้ว่าตนเองควรหมั่นฝึกสติอยู่ทุกเวลาครับ
สวัสดีค่ะคุณ ฉัตรชัย และ คุณหมอสุพัฒน์ kmsabai

 

ก่อนอื่นขอขอบคุณคุณหมอที่ช่วยดิฉันตอบคุณฉัตรชัยค่ะ ส่วนคุณฉัตรชัยก็ไม่ต้องเกรงใจนะคะ ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่ได้ตอบค่ะ เพราะทำให้ได้คิดทบทวนใคร่ครวญการปฏิบัติของตนเอง ได้เล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ดิฉันเห็นหัวเรื่องปฏิจสมุปบาทหลายครั้งแล้วค่ะ แต่ยังไม่ได้อ่านจริงๆ จังๆ ซักที แล้วจะลองค้นคว้ามาคุยกันตามโอกาสค่ะ

 

ส่วนพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น พระพรหมคุณาภรณ์ อันนี้คัดมาจาก wikipedia ค่ะ ; )

 

ขอบคุณคุณหมอที่เข้ามาแลกเปลี่ยนและเสริมเรื่องที่ดิฉันเขียนเสมอนะคะ ประสบการณ์ของคุณหมอจะได้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผู้อ่านได้รับไปด้วย เพราะคุณหมอน่าจะมีความรู้ทางปริยัติธรรมมากกว่าดิฉัน

 เช่นเดิม ดิฉันขอตอบคุณฉัตรชัยตามบันทึกนี้ค่ะ ; )

สวัสดีค่ะดิฉันไม่รู้เป็นอะไรนะคะ  

เพราะว่าดิฉันเดินไปที่ไหนก็จะ

เดินไปอย่างไม่รู้สึกตัว 

ใครสกิดฉันก็ไม่รู้สึกตัวเลย 

อยากทราบว่าอาการอย่างนี้ 

เป็นอะไรคะ

สวัสดีค่ะคุณ ไม่มีรูป 8. น้ำขุ่นไว้ใน 

ดิฉันไม่แน่ใจเหมือนกันนะคะ ว่าเป็นอะไร.. เพราะเห็นบอกว่าสะกิดแล้วยังไม่รู้ตัว.. ปรกติน่าจะเหม่อลอยเวลาทำอะไรเพลินๆ คิดโน่นคิดนี่เรื่อยๆ แต่ถ้าสะกิดหรือมีคนมาทักทายก็จะหยุดเหม่อลอยได้ 

พยายามควบคุมสตินะคะ อย่างน้อยอย่าให้เหม่อลอยมากขนาดนี้น่ะค่ะ คนเราพลั้งเผลอขาดสติได้บ้าง แต่ถ้ามากไปจะเป็นอันตรายน่ะค่ะ

ขอให้โชคดีนะคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท