รับเลือดเสี่ยงเท่าไหร่


นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสเอดส์มาประมาณ 20 ปี (2 ทศวรรษ) ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการคัดกรองเลือดตลอดกระบวนการอย่างเข้มงวดที่สุด

  • การให้เลือดเพื่อการรักษาโรคมีตั้งแต่ปี 2338 นับจนถึงปีนี้ (2548) ก็ครบ 210 ปีพอดี

สมาคมคลังเลือดอเมริกัน (American Association of Blood Banks / AABB) รายงานว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสเอดส์มาประมาณ 20 ปี (2 ทศวรรษ)

  • ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการคัดกรองเลือดตลอดกระบวนการอย่างเข้มงวดที่สุด ตั้งแต่การคัดกรองผู้บริจาค การตรวจเลือด การเก็บเลือด จนถึงการให้เลือด

 

  • คนอเมริกันต้องการเลือดมากกว่า 4 ล้านคนต่อปีจากประชากรกว่า 200 ล้านคน ความเสี่ยงจากการรับเลือดที่ยังมีอยู่ในอเมริกาแม้จะน้อยมากก็ยังมีอยู่

ถ้าใครต้องการลดความเสี่ยงจากการรับเลือดของคนอื่น และต้องเข้ารับการผ่าตัดชนิดรอได้ (elective surgery) ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และคลังเลือด เพื่อขอเก็บเลือดตัวเองไว้เป็นเลือดสำรอง (autologous blood transfusion)

 

  • ถ้าเก็บเลือดตัวเองสำรองไม่ได้ก็อาจจะขอเลือดญาติพี่น้องที่ “ไว้ใจได้” สำรองไว้ก่อน

ความเสี่ยงในเรื่องการรับเลือดนี้คล้ายกับความจริงในเรื่องอื่นๆ ของชีวิตคือ “ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง” เพียงแต่ทำอย่างไรความเสี่ยงนั้นจะน้อยพอที่จะยอมรับได้หรือไม่เท่านั้นเอง

  • ก่อนให้เลือดทุกครั้ง... แพทย์ย่อมพิจารณาความจำเป็นตามหลักวิชาการแล้ว เช่น อุบัติเหตุตกเลือด การรักษามะเร็ง ฯลฯ

ถ้าไม่ให้เลือดอาจจะมีความเสี่ยงตายสูงมาก หรือทำให้การรักษาไม่ได้ผล ฯลฯ แพทย์เห็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย จึงตัดสินใจให้เลือด

 

  • ผู้เขียนเคยได้รับคำบ่นจากพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเป็นผู้บริจาคขาประจำ (frequent donors) จำนวนมาก โดยเฉพาะพยาบาลจะบริจาคกันมาก

ญาติคนไข้บางคนต่อว่าโรงพยาบาลว่า ทำไมไม่หาเลือดมาให้พอ ความจริงญาติคนไข้ก็ควรมีส่วนในการหาเลือดบริจาคด้วย เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเลือด 1 ถุงหรือ 1 หน่วย แต่รับเลือดกันคนละหลายๆ ถุง

 

  • ญาติที่ชอบบ่นส่วนใหญ่จะไม่ยอมบริจาคเลือด ผู้เขียนพบมาแล้วหลายคน มีทั้งลูกที่ไม่ยอมบริจาคให้พ่อแม่ สามีภรรยาที่ไม่ยอมบริจาคให้อีกฝ่ายหนึ่ง ญาติที่ไม่ยอมบริจาคให้ญาติ

เวลาไม่มีเลือดก็ไม่ควรมาโทษโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลที่มีคลังเลือดเปิดรับบริจาคทุกวันราชการ โรงพยาบาลบางแห่งเปิดรับในวันหยุด เช่น วันเสาร์ ฯลฯ หรือรับบริจาคตอนเย็นนอกเวลาราชการ เพียงแต่ผู้บริจาคยังมีน้อย ไม่พอกับคนรับเลือด

  • ส่วนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่วนหนึ่งก็บริจาคเลือดเป็นประจำอยู่แล้ว จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันบริจาคเลือด ซึ่งจะได้ชั่งน้ำหนัก วัดความดันเลือด ตรวจหาความเข้มข้นของเลือด และไดัตรวจคัดกรองเชื้อโรคหลายอย่าง

ความเสี่ยงของการรับเลือดในอเมริกามีดังต่อไปนี้ครับ...

  • ไวรัสหลายชนิดรวมกัน:
    โอกาสได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV) ตับอักเสบซี (HCV) ตับอักเสบบี (HBV) และไวรัสกลุ่มใกล้เคียงกับไวรัสเอดส์ (HTLV-1 / ไม่ใช่ตัวเดียวกับเอดส์) ประมาณ 1:34,000 ต่อเลือด 1 หน่วย โดยร้อยละ 88 เป็นไวรัสตับอักเสบบี และตับอักเสบซี
  • เอดส์:
    โอกาสได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV) ประมาณ 1:450,000 – 1:676,000 ต่อเลือด 1 หน่วย ปัจจุบันมีการตรวจแน็ต (NAT / nucleic acid amplification test) ทำให้ตรวจสายพันธุ์หรือ DNA ของไวรัสได้โดยตรง ทำให้โอกาสพลาดลดลง

    เดิมถ้าผู้บริจาคติดเชื้อมาจะต้องใช้เวลา 20-80 วันกว่าจะตรวจพบ ปัจจุบัน NAT มีส่วนทำให้ตรวจพบได้เร็วขึ้น
  • ตับอักเสบซี:
    โอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (HCV) ประมาณ 1:103,000 ต่อเลือด 1 หน่วย ปัจจุบันมีการตรวจสายพันธ์หรือ DNA ของไวรัสโดยตรง (NAT) ทำให้โอกาสพลาดลดลง
  • ตับอักเสบบี:
    โอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ประมาณ 1:63,000 ต่อเลือด 1 หน่วย
  • ซิฟิลิส:
    โอกาสติดซิฟิลิสจากเลือดน้อยมาก เนื่องจากมีการตรวจคัดกรอง และมีการเก็บเลือดแช่เย็น อุณหภูมิที่ต่ำมากในตู้แช่ทำให้เชื้อซิฟิลิสตาย
  • แบคทีเรีย:
    โอกาสปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียพบน้อยมากในการรับเม็ดเลือดแดงประมาณ 1:1,000,000 หรือ 1 ในล้าน เนื่องจากมีการเก็บเลือดแช่เย็น ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโต หรือแบ่งตัวได้น้อยมาก

    ความเสี่ยงในการรับเกล็ดเลือดมากกว่าเม็ดเลือดแดงประมาณ 1:10,000 เนื่องจากการเก็บรักษาเกล็ดเลือดต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ไม่ได้แช่เย็น
  • เชื้ออื่นๆ:
    โอกาสติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัวบ้า(Creutzfeldt-Jakob disease) ไวรัสซีเอ็มวี (cytomegalovirus / CMV) ฯลฯ มีน้อยมาก ส่วนมาลาเรียจะแปรตามพื้นที่ที่ผู้บริจาคอาศัยอยู่
  • โอกาสติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัวบ้า(Creutzfeldt-Jakob disease) ไวรัสซีเอ็มวี (cytomegalovirus / CMV) ฯลฯ มีน้อยมาก ส่วนมาลาเรียจะแปรตามพื้นที่ที่ผู้บริจาคอาศัยอยู่
  • เม็ดเลือดแตก:
    ภาวะเม็ดเลือดแตก (hemolytic transfusion) พบประมาณ 1:33,000 ภาวะนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิต และมีอัตราตายเท่ากับ 1:300,000 – 1:700,000
  • ไข้หนาวสั่น:
    ภาวะนี้อาจเกิดจากสารเคมีบางอย่างในเลือด (inflammatory cytokines) โอกาสเกิดภาวะนี้มีประมาณ 1 % ของการรับเม็ดเลือดแดง และ 10-30 % ของการรับเกล็ดเลือด
  • น้ำท่วมปอด:
    น้ำท่วมปอด (transfusion-related acute lung injury) หรือของเหลวในเลือดรั่วเข้าไปในปอดและเยื่อหุ้มปอดเป็นภาวะที่พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ในอเมริกาพบประมาณ 40,000 รายต่อปี

แหล่งข้อมูล:

หมายเลขบันทึก: 8940เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2005 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท