BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๑๖ : สิ่งควรกระทำ (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

ประการแรกของสิ่งควรกระทำก็คือ ทาน... ชาวพุทธทั่วไปรู้ว่า ทาน แปลว่า การให้.... และสำหรับผู้ใจบุญสุนทรทานทั้งหลายก็คงเคยฟังพระเทศน์หรือโฆษกงานวัดบอกกล่าวเรื่องการทำบุญทำทานมาเยอะแล้ว... ฉะนั้น ผู้เขียนจะนำเพียงบางประเด็นมาเล่าพอได้ใจความเท่านั้น...

คนเราอยู่ร่วมกันก็ต้องเสียสละช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเสียสละช่วยเหลือนี้เอง เรียกว่า ทาน...

.....

ประเด็นการเสียสละช่วยเหลือที่เรียกว่า ทาน จัดเป็นหน้าที่ (สิ่งจะต้องกระทำ) หรือไม่ ? เป็นปัญหาหนึ่งในจริยศาสตร์ ดังความเห็นของชิสโฮลม์ (Chisholm) ว่า

ถ้าเราเป็นผู้มีส่วนแบ่งเกี่ยวกับสิ่งของจำนวนมากในโลก โดยมีข้อผูกพันที่จะต้องเสียสละส่วนเกินของเราแก่นาย ก. ซึ่ง นาย ก. เท่านั้นมีอยู่คนเดียวในโลก... ตามนัยนี้ ทานจัดเป็นหน้าที่

แต่ ในโลกนี้ ไม่ได้มีแต่ นาย ก. เท่านั้น ...ยังมี นาย ข. ค. ง. จ..... ดังนั้น เราจะเสียสละให้แก่ใคร ? ...ชิสโฮลม์ มีความเห็นว่า การที่เราจะต้องเสียสละจัดเป็นหน้าที่สมบูรณ์.. แต่การที่เราจะเลือกเสียสละให้แก่ใครนั้น จัดเป็นหน้าที่ไม่สมบูรณ์..

....

ตามคัมภีร์บอกว่า ทาน อาจเป็นชื่อของความหมายอื่นๆ หลายนัย เช่น ศรัทธาก็จัดเป็นทาน เพราะต้องมีความเชื่อบางอย่างเป็นพื้นฐาน ...วิรัติก็จัดเป็นทาน เพราะต้องมีเจตนาที่จะงดเว้นจากความตระหนี่เป็นพื้นฐาน... หรือ วัตถุก็อาจจัดเป็นทานได้ เมื่อบ่งชี้ถึงสิ่งของที่จะให้...ฯลฯ

แต่ ทาน ในที่นี้ หมายถึง จาคเจตนา ....จาคเจตนา คือ ความจงใจความตั้งใจ หรือความมุ่งหมายที่จะเสียสละบางอย่างที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่นนั่นเอง..

......

ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกผลของการให้ทานไว้เป็นชั้นๆ กล่าวคือ การให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานร้อยครั้ง ไม่เท่าการให้ทานแก่คนทุศีลครั้งเดียว ...การให้ทานแก่คนทุศีลร้อยครั้ง ไม่เท่าการให้ทานแก่คนมีศีลครั้งเดียว....ฯลฯ...การให้ทานแก่พระพุทธเจ้าร้อยครั้ง ไม่เท่าการให้ทานแต่สงฆ์ครั้งเดียว...

ประเด็นนี้ อาจสรุปความว่า การให้ทานต่อสัตว์ชั้นสูงมีผลมากกว่าการให้ทานต่อสัตว์ชั้นต่ำ ...การให้ทานต่อคนดีมีผลมากกว่าการให้ทานต่อคนชั่ว... และการให้ทานต่อสงฆ์ (หมู่คณะหรือสังคม) มีผลมากกว่าการให้ทานต่อปัจเจกชน (แม้เป็นคนดีที่สุดระดับพระพุทธเจ้าก็ตาม)...

......

อานิสงส์ของทาน ก็มีพรรณนาไว้หลายนัย เช่น พระบาลีว่า

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก

ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

ทายโก ปฏิทานํ ผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบแทน

คาถาในสีหสูตรว่า ทายกผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ชนเป็นอันมากย่อมคบหาทายกนั้น, อนึ่ง ทายกนั้นย่อมได้เกียรติ, ยศของทายกนั้นย่อมเจริญ, นระผู้ไม่ตระหนี่ ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขิน เข้าไปยังบริษัท, เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข นำมลทิน คือความตระหนี่ออกแล้ว ให้ทาน....

.....

ผู้เขียเคยได้ยินพระเถระบางรูปพูดว่า ผมทำคุณกับคนไม่ขึ้น ผมเลี้ยงใครทรยศทั้งนั้น ... ผู้เขียนก็สังเกตดูว่าเป็นเพราะเหตุใด ก็พบว่า ท่านมักจะให้ของเลว เช่น ข้าวปลาอาหาร จะไม่เรียกให้เมื่อยังดีๆ... แต่เมื่อใกล้ๆ จะเสียจะบูดแล้ว จึงเรียกให้... สิ่งอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน มักจะสละให้แต่ของชำรุด มีค่าน้อย หรือบางอย่างก็ใช้สอยไม่ได้แล้ว...

วัตถุทาน คือสิ่งของที่จะให้ ก็มีจัดไว้ ๓ ระดับ คือ ทาสทาน (ของเลวของชั้นต่ำ) สมานทาน (ของธรรมดาที่ตนเองใช้สอยอยู่) อภิทาน (ของยิ่งกว่าดีกว่าที่ตนเองใช้อยู่) ... ซึ่งหลักคำสอนก็บอกว่า การให้อภิทานและสมานทานจะมีอานิสงส์มาก ส่วนทาสทานจะมีอานิสงส์น้อย...

พระเถระตามที่ผู้เขียนเล่ามา... ท่านมักจะให้ทาสทาน คือให้ของเลวๆ ถูกๆ ต่ำๆ ...และมักจะให้คนเลวที่คอยมาเกาะกินอยู่ มิได้ให้คนดี... ดังนั้น อานิสงส์ในทานของท่านจึงมีผลน้อย...

.....

ยังมีนัยอื่นๆ อีกเยอะ เช่น การจำแนกทานไว้ ๓ นัย คือ อามิสทาน (ให้สิ่งของ) อภัยทาน (ให้อภัย) ธรรมทาน (ให้ความรู้)..

เฉพาะ ธรรมทาน คือ การให้ความรู้นี้ มีบาลีรับรองว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ความรู้ ย่อมชนะการให้ทุกอย่าง....

สรุปว่า ทาน คือ การให้เป็นสิ่งควรกระทำ สามารถเลือกได้ตามความสมัครใจ ไม่บังคับ ...เพราะนัยหลากหลายของทานนี้เอง จึงมีบาลีรับรองว่า วิเจยฺย ทานํ สาธุ การพิจารณาให้ เป็นการดี ....

คำสำคัญ (Tags): #มงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 88733เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีใจมากที่ท่านได้ให้ธรรมเป็นทานในองค์ความรู้เรื่องการให้ทานทำให้ดิฉันหูตาสว่างขึ้นเยอะเลยคะท่าน

พระอาจารย์ครับ...ทานแล้วครับ...

 

คนรับทาน...คนขอทาน....กับคนที่ช่วงชิงผลประโยชน์กัน...ต่างกันอย่างไรครับ

P

คิดถึงท่านเลขาฯ...ท่านเลขาฯ ก็มา...

คำว่า ทาน ในข้อความว่า ...ทานแล้วครับ... ลดรูปมาจากคำเต็มว่า รับประทาน หมายถึง กิน ..

ส่วนคำว่า ทาน ในมงคลสูตร หมายถึง จาคเจตนา

ส่วนข้อความว่า คนรับทาน...คนขอทาน....กับคนที่ช่วงชิงผลประโยชน์กัน...ต่างกันอย่างไรครับ

ระดับท่านเลขาฯ คิดเองได้ (.................)

เจริญพร

มงคลสูตรหมายถึงอารายหรือค่ะ

ลอง คลิกที่นี้ แล้วค่อยๆ อ่านไป อาจเป็นสาระบ้างก็ได้...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท