เทคนิคการนำให้ถูกทาง (4)


                  ผมค้างการเขียนเรื่องผู้นำ  ที่จะนำให้ถูกทางนานพอสมควร  ทั้งที่ในใจมีประเด็นการเขียนมากมาย  แต่ขาดความพร้อมเรื่องเวลา  และการตัดสินใจเลือกประเด็น  แต่แล้วก็เหมือนฟ้ามาโปรด  เมื่อ  พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรี  และรัฐบุรุษ  ท่านได้ปาฏกถาเรื่อง “แนวทางพระราชดำริสู่การบริหารจัดการภาครัฐ” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549  ผมจึงขออนุญาตนำแนวทางพระราชดำริ 14 ประการดังกล่าว  มาเติมเต็มแนวคิดเรื่องเทคนิคการนำ (องค์กร) ให้ถูกทาง  ดังนี้ครับ
                  1.  การบริหารจะต้องเป็นการบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติ
                  2.  การบริหารจะต้องบริหารด้วยความสามัคคี
                  3.  การบริหารจะต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
                  4.  การบริหารจะต้องเป็นการบริหารที่ถูกต้อง  คือถูกต้องตามกฎหมาย  ตามกฎเกณฑ์  เที่ยงธรรม  เที่ยงตรง  มีประสิทธิภาพ  และให้ประสิทธิผลสูง
                  5.  การบริหารจะต้องเป็นการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ
                  6.  การบริหารต้องบริหารด้วยความเฉียบอย่างต่อเนื่อง
                  7.  ผู้บริหารต้องไม่หวาดกลัวต่ออิทธิพลใดๆ และต้องอยู่กันคนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง
                  8.  ผู้บริหารจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง  อย่างลึกซึ้ง  อย่างกว้างขวาง  ทั้งทางลึกและทางกว้าง
                  9.  ผู้บริหารจะต้องมีความสำนึกในความรับผิดชอบ  และเห็นความสำคัญของงาน
                  10. ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด  มีความถูกต้องเหมาะสม
                  11. ผู้บริหารจะต้องมีสติมีปัญญา  สามารถพิจารณาปัญหาได้กว้างไกลรอบคอบทุกแง่มุม
                  12. ผู้บริหารต้องแน่วแน่ที่จะแก้ไขในสิ่งผิด
                  13. ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
                  14. ผู้บริหารทุกระดับที่มีผู้ใต้บังคับบัญชา  ต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
                  แนวทางพระราชดำริข้างต้น  สามารถนำมาใช้ในการบริหารได้ทุกองค์กรครับ  และหากจะแยกแยะเพื่อการศึกษา  จะเห็นว่า ข้อ 1-6  เป็นการบริหารตามแนวทางของ “ธรรมรัฐ” (Good Governance)  ส่วนข้อ 7-14  เป็นคุณสมบัติของผู้นำ (Leader) ที่มีภาวะผู้นำ (Leadership) ครับ
                  ผมมีทัศนะว่า  ผู้นำที่ดี (Good Leader) ควรจะมี 4 Q’ s ครับ
                  “Q” ในที่นี้  ผมหมายถึง  Quality (คุณภาพ)  ซึ่งถ้าจะซ้ำกับ Q ในความหมายอื่น  ก็คงไม่เป็นไรนะครับ 4 Q’ s ของผมมีดังนี้ครับ
                  1.  I.Q. (Intelligence Quotient) ซึ่งเป็นคะแนนชี้บ่งระดับเชาวน์ปัญญา  I.Q. สูง  แสดงว่าฉลาดมาก  เช่น  คะแนน 140 ขึ้นไป  แสดงว่ามีเชาวน์ปัญญาระดับอัจฉริยะ  (Very Superior) ผู้นำที่ดีต้องไม่นำความฉลาดไปใช้แบบ “ฉลาดแกมโกง” นะครับ
                  2.  E.Q. (Emotional Quotient)  คือ  ความฉลาดทางอารมณ์  หรือการรู้จักบริหารอารมณ์  แบ่งเป็น 2 ส่วน  คือ  ส่วนแรก “การกำกับอารมณ์ตนเอง”  ได้แก่  รู้จักอารมณ์ของตนเอง (Self awareness)  ควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Manage emotion) และสร้างสรรค์อารมณ์ของตนเอง (Innovate inspiration)  ส่วนที่สอง “การบริหารอารมณ์ของผู้อื่น”  ได้แก่  เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น (Listen with head and heart) และประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นตลอดจนสร้างสังคมที่เกื้อกูล (Enhance Social Skill) ถ้าผู้นำอารมณ์บูด  อารมณ์เน่า  อารมณ์บ่จอยบ่อยๆ  เป็นผู้บริหารที่ดีไม่ได้ครับ
                  3.  C.Q. (Competency Quality)  คือ  บุคลิกลักษณะของคนที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ (Knowledge)  ทักษะ (Skill)  ทัศนคติ (Attitude)  ความเชื่อ (Believe)  และอุปนิสัย (Trait)  แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ  Core Competency, Job Competency  และ Personal Competency  ผู้บริหารที่ดีต้องมี Competency (สมรรถภาพ) เหมาะสมกับการบริหารองค์กร  และมีครบทั้ง 3 ประเภท  เพื่อบริหารองค์กรให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ  และประสิทธิผล
                  4.  M.Q. (Moral Quality)  คือ  คุณภาพด้านศีลธรรม  ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึง  ธรรมทั้งหลายที่ผู้บริหารควรมี  ได้แก่
                  คุณธรรม  คือ  สภาพคุณงามความดี
                  จริยธรรม  คือ  ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม
                  มโนธรรม  คือ  ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี, ความรู้สึกว่า  อะไรควรทำ  อะไรไม่ควรทำ
                  คุณธรรม  จริยธรรม  และมโนธรรม  ควรมีอยู่ครบถ้วนในตัวผู้นำที่ดีครับ
                  ผมขอแถมโจ๊กของผู้ว่าฯ  ให้ครบเครื่อง  เรื่องผู้นำ  ครับ
                  เรื่องเล่าว่า  มีผู้สังเกตว่า  ลายเซ็นของผู้ว่าฯ CEO ไม่เป็นระเบียบ  และไม่เหมือนลายเซ็นเดิม  จึงไปถามว่า “ทำไมเดี๋ยวนี้ลายเซ็นท่านไม่เหมือนเดิม  ดูเอียงๆ ชอบกล”
                  ผู้ว่าฯ ตอบว่า “ผมจะเซ็นให้เหมือนเดิมได้ยังไง  เดี๋ยวนี้เวลาเซ็นหนังสือผมต้องเอียงตัวเซ็นด้วยมือขวา  ส่วนมือซ้ายต้องจับเก้าอี้ไว้  เดี๋ยวเก้าอี้หาย (ฮา)”
                  ขอจบเทคนิคการนำให้ถูกทาง  ด้วยคุณสมบัติของผู้นำที่ดี 4 Q’ s เพื่อนำองค์กร
                  ลองให้คะแนนผู้นำของท่านทั้ง 4 Q’s สิครับ  ได้คะแนนรวมเท่าไหร่?  สอบผ่านไหมครับ?
                  มี Q ไหนบ้างที่ขาดแล้ว  ท่านรับไม่ได้
                  เป็นผู้นำต้องคิดครับ  คิดว่าบริหารยากจริงๆ  ถ้าจะเป็นผู้นำที่ดี

หมายเลขบันทึก: 88731เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านพี่สมบัติ

 ตามมาเรียนรู้จากท่านพี่มีดี ดี ให้น้องได้เรียน

 ขอเติมอีก 2Q = TQ Team Quality + SQ = Social Quality

 ผู้นำที่ดีต้องร่วมอยู่ในสังคมของการเรียนรู้ที่เป็นทีมงานครับ

ขอบคุณ คุณหมอ JJ ที่ต่อยอดความรู้

ตกลงผู้นำที่ดีควรมี 6 Q's นะครับ ท่านผู้อ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท