ความแตกต่างของสัญญายืมใช้คงรูปกับสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง 2


ความแตกต่างของสัญญายืม
9.ในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นกรณีที่ไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมจะเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินเมื่อใดก็ได้(ใช้ในกรณีที่ผู้ให้ยืมไม่ทราบแล้ว่าผู้ยืมนั้นได้ยืมทรัพย์ไปเพื่อการใด) ส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นกรณีที่ไม่มีการกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สิน ผู้ให้ยืมจะต้องบอกกล่าวให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร                 เหตุที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ให้ยืมสามารถใช้สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์สินที่ให้ยืมโดยสัญญายืมใช้คงรูปได้โดยพลันนั้นก็เนื่องจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกำหนดระยะเวลาในการคืนทรัพย์ที่ยืมไป อีกทั้งให้ยืมมิได้ว่าผู้ยืมนั้นยืมทรัพย์สินไปเพื่อการใด จึงอาจทำให้ผู้ยืมคงได้แต่เพียงรอคอยให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมไป ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ก่อให้เกิดความลำบากแก่ผู้ให้ยืมที่จะต้องรอคอยทรัพย์สินที่ยืมไป กฎหมายจึงให้สิทธิแก่ผู้ให้ยืมที่สามารถที่จะเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมไปได้โดยพลัน เหตุที่กฎหมายกำหนดสิทธิเช่นนี้ก็เนื่องจากผู้ยืมนั้นมิพักต้องหาทรัพย์สินเพื่อมาคืนอีกเพราะการคืนทรัพย์สินในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ยืมจะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืม ดังนั้นเมื่อผู้ให้ยืมได้ทวงคืนทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมก็ย่อมมีสิทธิที่จะคืนทรัพย์สินได้โดยพลันดุจกัน ซึ่งต่างกับกรณีของการคืนทรัพย์สินในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองที่ผู้ให้ยืมมิพักต้องรู้ว่าผู้ยืมได้ยืมทรัพย์สินไปเพื่อการใด หากคู่สัญญามิได้ตกลงกำหนดเวลาคืนทรัพย์สินที่ยืมไป  ข้าพเจ้าคิดว่าผู้ให้ยืมก็ต้องให้เวลาแก่ผู้ยืมสักระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ผู้ยืมได้จัดหาทรัพย์สินที่เป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา ซึ่งอาจจะหาได้ง่ายหรือยากต่างกันไปตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น หากผู้ยอมจะต้องคืนเงินแต่ผู้ยืมไม่มีเงินครบตามจำนวน ดังนี้ผู้ยืมก็จะต้องไปหามาให้ได้ไม่ว่าจะด้วยการยืมมาอีกทอดหนึ่งก็ตาม เป็นต้น               
ตัวอย่าง นายเสือตกลงยืม computer notebook เครื่องหนึ่งจากนายสิงโดนนายเสือมิได้แจ้งแก่นายสิงว่าเอาไปเพื่อการใดและทั้งคู่ก็มิได้ตกลงกำหนดระยะเวลาที่ให้นายเสือต้องคืน computer notebook แต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่นายสิงต้องการให้นายเสือคืน computer notebook นายสิงก็ย่อมสามารถที่จะทวงคืนได้โดยพลันมิพักต้องบอกให้นายเสือทราบล่วงหน้า และนายเสือจะมาอ้างว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระเพราะมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้มิได้ และหากนายเสือยังไม่ยอมคืนนายสิงก็ย่อมมีสิทธิในการฟ้องศาลได้ (วิธีแก้ไขเรื่องนี้ก็คือคู่กรณีจะต้องตกลงรายละเอียดในการยืมให้ครบถ้วนก่อนส่งมอบทรัพย์) ส่วนในกรณีที่เป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองนั้น เช่น นายกระทิงขอยืมแป้งเด็กแคร์จากนายแรดโดยทั้งสองฝ่ายมิได้ตกลงกันว่าจะให้นายกระทิงต้องคืนแป้งเด็กแคร์เมื่อใด ดังนั้นหากนายแรดต้องการใช้แป้งขึ้นมาก็ย่อมที่จะไปทวงคืนทรัพย์สินที่นายกระทิงยืมไปได้โดยนายแรดก็จะต้องให้เวลาแก่นายกระทิงที่จะต้องไปหาแป้งเด็กแคร์ที่มีคุณสมบัติ และปริมาณ เดียวกันกับที่ยืมไปมาคืนแก่ตน และนายแรดจะเรียกให้นายกระทิงชำระหนี้โดยพลันนั้นข้าพเจ้าคิดว่านายแรดมิอาจทำได้ ทั้งนี้เนื่องจากโยสภาพแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นเป็นการยืมทรัพย์สินที่ใช้ไปสิ้นไป ดังนั้นโอกาสที่ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมไปแล้วนั้นมีสูง ดังนั้นหากผู้ให้ยืมต้องการให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินแก่ตนก็จะต้องให้เวลาพอควรแก่การจัดหาทรัพย์สินมาคืนเพราะหากผู้ที่ยืมมีทรัพย์สินนั้นแล้วหรือเพียงพอแล้วก็คงมิต้องไปขอยืมจากบุคคลอื่นแต่อย่างใด 
10.ในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ยืมจะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้นส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นผู้ยืมจะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม ณ ภูมิลำเนาของผู้ให้ยืม            เนื่องจากสัญญายืมใช้คงรูปนั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อมีการแสดงเจตนาสอดคล้องต้องตรงกันแล้วก็มีการส่งมอบทรัพย์ที่ยืมดังนั้นจึงถือไดว่าสัญญายืมย่อมสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบ โดยการที่ผู้ให้ยืมได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมนั้นหาได้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นการเพื่อให้สัญญายืมนั้นสมบูรณ์เท่านั้นเอง แต่การที่ผู้ยืมกระทำการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่ผู้ยืมนั้นถือว่าเป็นการชำระหนี้เพราะเนื่องจากว่า ณ เวลาที่ผู้ให้ยืมได้ส่งมอบทรัพย์ที่ยืมให้แก่ผู้ยืมแล้ว ก็ย่อมเป็นบ่อให้เกิดหนี้ที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้นคืนให้แก่ผู้ให้ยืม เพราะฉะนั้นผู้ยืมย่อมเป็นหนี้ต่อผู้ให้ยืม ณ เวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมนั่นเอง แต่เวลาในการคืนทรัพย์สินนั้นเป็นเรื่องของเวลาในการชำระหนี้ซึ่งเป็นคนอีกประเด็นหนึ่ง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ซึ่งก็คือเวลาที่ผู้ที่ยืมทรัพย์สินไปจำต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืมนั้น หากเป็นสัญญายืมใช้คงรูปนั้นสถานที่ที่ใช้ในการชำระหนี้ก็สุดแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกันเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด แต่หากมิได้ตกลงกัน ก็จะต้องบังคับกันไปตามกฎหมายในเรื่องของหนี้ในมาตรา 324 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้ ดังนั้นเมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเป็นการยืมทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง(คือไม่สามารถนำทรัพย์สินอื่นมาแทนทรัพย์อันนั้นได้อีกไม่ว่าจะเหมือนกันทุกประการก็ตาม)ก็จะต้องบังคับให้การคืนทรัพย์สินที่ยืมเป็นไปตาม มาตรา 324 ตอนต้นที่กำหนดให้ส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นก็เช่นกัน คือหากคู่กรณีได้ตกลงให้มีการส่งมอบทรัพย์กัน ณ ที่ใดก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่หากมิได้มีการตกลงกันก็จะต้องนำหลักทั่วไปในเรื่องการชำระหนี้มาใช้คือมาตรา 324 ตอนท้ายได้กำหนดให้ลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ที่มิได้เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแก่เจ้าหนี้ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้นั่นเอง สาเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้นข้าพเจ้าคิดว่าเนื่องจากทรัพย์ที่จะคืนนั้นมิได้เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งดังนั้นความสำคัญในตัวทรัพย์ก็ย่อมไม่เทียบเท่าทรัพย์เฉพาะสิ่งเป็นแน่ และเนื่องจากทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นเป็นทรัพย์ที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลกและจัดเป็นวัตถุของสัญญาในสัญญายืมใช้คงรูป ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัย ความคงสภาพอยู่หรือความสมบูรณ์ของทรัพย์เฉพาะสิ่งกฎหมายจึงกำหนดให้ต่างไปจากทรัพย์ทั่วไปคือกำหนดให้ลูกหนี้จะต้องส่งมอบ ณ สถานที่ที่ก่อหนี้นั้น
ตัวอย่าง นายเสือได้ตกลงยืมกระด้งโบราณจากนายสิงที่บรรพบุรุษของนายสิงได้รักษาไว้(มีชิ้นเดียวในโลกและจัดเก็บไว้ที่บ้านในจังหวัดยะลา)เพื่อนำไปจัดแสดงในงานพืชสวนโลกและเมื่อตนได้นำไปจัดแสดงเสร็จแล้วจะนำมาคืนให้นายสิงภายในสามวันนับแต่วันปิดงาน ดังนี้เมื่อครบกำหนดชำระหนี้แล้วนายเสือจะต้องนำกระด้งโบราณใบนั้นมาคืนให้แก่นายสิง ณ สถานที่ที่มีการส่งมอบกระด้งโบราณใบนั้นซึ่งในที่นี้ก็คือบ้านของนายสิงที่จังหวัดยะลา นายเสือจะนำกระด้งโบราณมาคืนให้นายสิงที่บ้านของนายสิงในจังหวัดพิษณุโลกไม่ได้ เว้นแต่คู่สัญญาทั้งสองจะได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้วหากนายเสือขอยืมข้าวสารจำนวน 10 กระสอบจากนายสิงเพื่อไปเลี้ยงแขกในงานขึ้นบ้านใหม่ แล้วต้องการจะคืนแก่นายสิง ดังนี้หากนายสิงกำหนดให้นายเสือต้องส่งมอบข้าวสารที่เป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมไป ณ โกดังเก็บข้าวของนายสิงเท่านั้น นายเสือจะมาอ้างว่าตนจะส่งมอบข้าวสารให้แก่นายสิงที่บ้านของนายสิงไม่ได้เพราะคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ก่อนมีการส่งมอบข้าวสารดังกล่าวแล้ว แต่คำกล่าวอ้างของนายเสือจะฟังขึ้นถ้าหากว่าตนและนายสิงมิได้กำหนดสถานที่ในการส่งมอบทรัพย์สินกัน ดังนี้นายสิงก็ต้องส่งมอบทรัพย์สินอันมิได้เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งจากสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งในที่นี้ก็คือข้าวสาร 10 กระสอบที่เป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมไปคืนให้แก่นายสิง ณ บ้านที่นายสิงอาศัยอยู่
11.ในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นถือว่าหากผู้ยืมตายย่อมทำให้สัญญายืมระงับแต่ในสัญญายืมใช้สิ้นเลืองนั้นหากผู้ยืมตายก็ไม่ทำให้สัญญายืมระงับแต่อย่างใด           ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสัญญายืมใช้คงรูปนั้นถือเอาตัวผู้ยืมเป็นสำคัญ คือหากผู้ให้ยืมได้ส่งมอบทรัพย์ที่ยืมผิดคน ก็ย่อมทำให้สัญญายืมนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 156 ได้เพราะถือว่าเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา และการที่ผู้ให้ยืมได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมในสัญญายืมใช้คงรูปนั้น ผู้ให้ยืมก็ย่อมพิจารณาโดยยึดเอาตัวผู้ยืมเป็นสำคัญในการที่จะดูว่าผู้ยืมนั้นเป็นบุคคลที่สามารถดูแลรักษาทรัพย์สินของตนได้หรือไม่ หรือสามารถที่จะไว้เนื้อเชื่อใจได้หรือไม่นั่นเอง ดังนั้นเมื่อผู้ให้ยืมได้ตกลงส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดความผู้พันที่เรียกว่าหนี้ระหว่างผู้ยืมที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้ยืม ซึ่งความผูกพันนี้ไม่สามารถที่จะกล่าวอ้างเพื่อยันแก่คนอื่นนอกจากคู่สัญญาได้ และส่วนที่เป็นสาระสำคัญขงการยืมใช้คงรูปคือการที่ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมด้วยตนเอง หาอาจจะให้ผู้อื่นใช้สอยได้ไม่ ดังนั้นเมื่อผู้ยืมตายก็ย่อมทำให้เจตนาที่ผู้ยืมได้แสดงแก่ผู้ให้ยืมสิ้นสุดความผูกพันลงด้วยเพราะเจตนาของผู้ยืมย่อมที่จะยืมทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่ตนเป็นสำคัญเพราะฉะนั้นทายาทผู้ยืมจะกล่าวอ้างสิทธิของทายาทในการสืบทอดสิทธิและหน้าที่ของผู้ตายนั้นมิได้เพราะกฎหมายมิได้กำหนดให้สิทธิในการยืมนั้นตกไปยังทายาทแต่อย่างใด แต่กฎหมายกำหนดให้สัญญายืมนั้นเป็นอันสิ้นสุดลงทันที ซึ่งปรากฏเป็นการชัดแจ้งในมาตรา 648 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม  ในกรณีมาตรานี้หาได้บังคับแก่กรณีที่ผู้ให้ยืมได้ตายลงไม่ เพราะฉะนั้นหากผู้ให้ยืมทรัพย์ได้ตายลงก็ไม่ทำให้สัญญายืมใช้คงรูประงับลงแต่อย่างใด และในส่วนของสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นกฎหมายไม่ได้กล่าวถึงว่าสัญญายืมจะระงับลงด้วยการตายของฝ่ายใดหรือไม่ ดังนั้นก็ย่อมแสดงว่าถึงแม้ผู้ยืมจะตายลงก็ย่อไม่ทำให้สัญญายืมระงับไปอย่างเช่นสัญญายืมใช้คงรูปไม่
ตัวอย่าง นายเสือได้ตกลงยืมรถยนต์ของนายสิงเพื่อจะเอาไปใช้ในการแห่นางแมวในอีกสามวัน แต่นายเสือได้ยืมล่วงหน้าไว้ก่อนโดยทั้งนี้นายสิงก็ยินยอมตกลงและส่งมอบกุญแจรถเป็นที่เรียบร้อย แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่จะถึงวันงานแห่นางแมวหนึ่งวัน นายเสือสิ้นชีวิตลงด้วยโรคหัวใจวายเนื่องจากตกใจจิ้งจกในตู้เสื้อผ้า ดังนั้นลูกของนายเสือจึงอ้างแก่นายสิงว่าตนคือทายาทดังนั้นย่อมได้รับสิทธิในการยืมรถยนต์คันดังกล่าวต่อจากนายเสือ ดังนี้คำกล่าวอ้างของลูกนายเสือนั้นย่อมฟังไม่ขึ้นเนื่องจากกฎหมายได้กำหนดเอาไว้แล้วว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ยืมได้ตายลง ย่อมทำให้สัญญายืมใช้คงรูประงับลงทันที ลูกของนายเสือจึงต้องคืนรถยนต์คันที่ยืมมาให้แก่นายสิงในทันที ส่วนหากเปลี่ยนจากรถยนต์เป็นกะปิเมื่อนายเสือตายลงก็ไม่อาจทำให้สัญญาระงับลงแต่ประการใด ดังนั้นลูกของนายเสือก็ย่อมยังสามารถใช้กะปิเพื่อปรุงอาหารได้ดังที่นายเสือได้ตั้งใจไว้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องคืนกะปิเพราะเหตุที่นายเสือตายแต่อย่างใด  
12.ในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นดอกผลจากทรัพย์สินที่ยืมตกแก่ผู้ให้ยืมส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นดอกผลจากทรัพย์สินที่ยืมตกแก่ผู้ยืมหากในกรณีที่เป็นการยืมใช้คงรูปนั้นเมื่อมีกรส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมก็ย่อมมีผลโดยตรงที่จะทำให้ผู้ยืมมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่ยืมและมีหน้าที่ที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว ส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมแล้วก็ย่อมเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมไปยังผู้ยืมโดยทันที หาได้มีเพียงสิทธิครอบครองไม่ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าสัญญายืมทั้งสองชนิดจะมีความแตกต่างกันในนามธรรมดังที่ได้กล่าว และจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างในนามธรรมอันเกี่ยวกับดอกผลของทรัพย์สินที่ยืมด้วย กล่าวคือหากเป็นสัญญายืมใช้คงรูปเมื่อกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินที่ยืมมิได้โอนไปยังผู้ยืมด้วยการส่งมอบ ดังนั้นหากในช่วงเวลาที่ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินอยู่แล้วเกิดดอกผลงอกเงยอันมาจากทรัพย์ที่ยืมนั้น ดอกผลดังกล่าวก็ย่อมเป็นของเจ้าของทรัพย์สินที่ยืมซึ่งก็คือผู้ให้ยืมนั่นเอง ผู้ยืมจะกล่าวอ้างในกรรมสิทธิ์ของดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินที่ยืมนั้นหาได้ไม่ แต่หากเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นจะมีผลที่ต่างไปจากในสัญญายืมใช้คงรูปเพราะว่าเมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมคือผู้ยืมเอง ดังนั้นเมื่อเกิดดอกผลแก่ทรัพย์สินที่ยืม ดอกผลดังกล่าวก็ย่อมตกแก่ผู้ยืมเอง หาใช่ตกแก่ผู้ให้ยืมดังเช่นสัญญายืมใช้คงรูปไม่ สาเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้นก็เนื่องจากเป็นการกำหนดให้สอดคล้องไปตามหลักผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั่นเอง
ตัวอย่าง นายเสือได้ตกลงทำสัญญายืมลิงจำนวน 10 ตัวจากนายสิง เพื่อนำไปจัดแสดงในงานสัตว์โลก ณ ประเทศลาว ในขณะที่นายเสือกำลังจัดแสดงลิงในงานอยู่นั้นปรากฏว่ามีลิงตัวหนึ่งคลอดลูกออกมาจำนวน 10 ตัว ดังนั้นลิงทั้งหมดรวมแล้วเป็น 20 ตัว เมื่อถึงเวลาคืนลิงให้แก่นายแรดนายเสือเกิดความอยากได้ลิงลูกลิงเพื่อจะได้นำไปจัดแสดงในงานต่อๆไปอีก นายเสือจึงอ้างแก่นายสิงว่าในเมื่อตนเป็นผู้ให้อาหารและน้ำแก่ลิงที่เป็นแม่ อีกทั้งตนคือผู้ครอบครองลิงทั้งหมดในขณะนั้น ดังนั้นเมื่อมันคลอดลูก ลูกลิงทั้งหมดก็ย่อมตกเป็นของตน จากคำกล่าวอ้างของนายเสือนั้นเมื่อพีเคราะห์แล้วหาฟังขึ้นไม่ ทั้งก็เนื่องจากลิงที่นายเสือยืมในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นถูกโอนสิทธิการครอบครองไปยังนายเสือจริง แต่หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในลิงทั้งหมดให้แก่นายเสือไปด้วยไม่ ดังนั้นเมื่อกรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายสิงลูกลิงที่คลอดลูกออกมาในระหว่างที่มีสัญญายืมใช้คงลูกก็ยังเป็นของนายสิงผู้เป็นเจ้าของลิงอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นนายเสือจะต้องคืนลิงทั้งหมดรวมลูกลิงที่เพิ่งคลอดออกมาให้แก่นายสิงรวมแล้ว 20 ตัวในกรณีที่เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองหากเปลี่ยนจากการที่นายเสือได้ยืมลิงมาจากนายสิงเป็นยืมไก่บ้านจากนายสิงจำนวน 20 ตัวเพื่อนำมาใช้เลี้ยงแขกในงานขึ้นบ้านใหม่ โดยทั้งนี้นายเสือได้ยืมไก่มาล่วงหน้าก่อนที่จะถึงวันงานจริง 3 วันและทั้งสองก็ได้ส่งมอบทรัพย์สินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าก่อนจะถึงวันงาน 1 วัน ไก่ที่ยืมมา ออกไข่จำนวน 100 ฟอง(มาจากไก่หลายตัว) เมื่อความรู้ไปถึงนายสิง นายสิงจึงเกิดความอยากได้ไข่ไก่ทั้งหมดเพื่อนำมาฟักให้เป็นตัวลูกไก่ นายสิงจึงไปบอกล่าวแก่นายเสือว่าให้นายเสือคืนไก่และลูกไก่ทั้งหมดทันทีหลังจากเสร็จงานเลี้ยง เมื่อนายเสือได้ทราบดังนั้นจึงแย้งนายสิงไปว่า เมื่อตนได้ตกลงยืมไก่จากนายสิงจำนวน 20 ตัวเพื่อมาเลี้ยงในงานเลี้ยงแล้วนั้นกรรมสิทธิ์ในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองซึ่งมีไก่เป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นย่อมโอนมายังตนนับแต่มีการส่งมอบไก่แล้ว เพราะฉะนั้นตนจึงถือว่าเป็นเจ้าของไก่ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อตนเป็นเจ้าของไก่ก็ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินที่ยืมในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองด้วย นายสิงจะมาทวงเพื่อเอาไข่ไก่นี้อีกไม่ได้ เมื่อพิเคราะห์แล้วคำกล่าวอ้างของนายเสือนั้นฟังขึ้นและสมเหตุผลดังที่ได้กล่าวอ้างจริง เพราะฉะนั้นนายเสือจึงมีหน้าที่เพียงแค่คืนไก่ชนิดเดียวกันกับที่ยืมมาจำนวน 20 ตัวเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ต้องคืนไข่ไก่ที่เกิดจากไก่ที่ยืมมาให้แก่นายสิงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างไร 
13.ในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินไม่ได้ แต่ในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นผู้ยืมย่อมสามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจากในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยืมก็คือผู้ยืมแต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้ให้ยืมหาได้มีค่าตอบแทนจากการยืมไม่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากกฎหมายได้วางหลักเพื่อให้ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินโดยได้เปล่านั่นเอง ดังนั้นเมื่อกฎหมายได้กำหนดให้เป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ยืมแล้วกฎหมายจึงกำหนดหน้าที่ของผู้ยืมเพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินที่ยืม โดยมีบทบัญญัติอันชัดแจ้งในมาตรา 644 ที่ว่า  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง (ซึ่งในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนแรกแล้วจึงขอไม่กล่าวซ้ำอีก) แล้วในส่วนหลักของความรับผิดของผู้ยืมอันเกิดจากความบกพร่องในการดูและและใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้นกฎหมายก็ได้วางหลักเอาไว้ในมาตรา  643 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดีเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง จากบทบัญญัติจะเห็นว่ากฎหมายได้ใช้คำว่า ...การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น...หมายความว่าโดยสภาพของทรัพย์ที่ยืมแล้วมีสภาพเพื่อใช้ในการใด การนั้นถือว่าเป็นการอันเป็นปกติแก่ตัวทรัพย์เช่น รถเก๋งส่วนบุคคลซึ่งโดยสภาพแห่งตัวทรัพย์อันปกติแล้วใช้เพื่อให้คนนั่งเพื่อเดินทางเท่านั้น อันได้แก่เดินทางไปพักผ่อน เดินทางไปต่างจังหวัด เมื่อมีสัมภาระก็สามารถใส่ไว้ในกระโปรงท้ายรถได้ แต่หากนำเครื่องจักกลที่มีนำหนักและขนาดใหญ่มากมาใส่แทนสัมภาระ อันนี้ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สอยทรัพย์สินอันไม่ปกติแก่ทรัพย์ที่ยืมเพราะรถเก๋งส่วนบุคคลมิได้ผลิตขึ้นมาเพื่อบรรทุกของที่มีน้ำหนักมากแต่อย่างใด แต่หากผู้ยืมยังคงใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมมาในสัญญายืมใช้คงรูปในแบบอันไม่ปกติแก่ทรัพย์ที่ยืมต่อไป หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ที่ยืมเพราะการใช้สอยนั้น ผู้ยืมจะต้องรับผิดในความเสียหายนั้นส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นกฎหมายมิได้ห้ามผู้ยืมให้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมอันไม่ปกติแก่ทรัพย์แต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เนื่องจากผู้ยืมนั้นคือเจ้าของทรัพย์สินที่ยืมนั่นเอง ดังนั้นผู้ยืมจะนำทรัพย์สินที่ยืมไปใช้สอยเป็นประการใดก็ได้ หากไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อยแก่ผู้อื่น และหากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยืมผู้ยืมก็ต้องรับบาปเคราะห์นั้นโดยลำพัง จะมาเรียกร้องให้ผู้ให้ยืมรับบาปเคราะห์นั้นไปหาได้ไม่
ตัวอย่าง นายกระทิงตกลงยืมรถมอเตอร์ไซต์(ชนิดธรรมดา)จากนายแรดเพราะเนื่องจากเห็นว่าเป็นรถใหม่โดยในการยืมรถมอเตอร์ไซต์ครั้งนี้นายแรดก็มิได้ถามไถ่ถึงว่านายกระทิงจะนำไปใช้เพื่อการใด ปรากฎว่านายกระทิงนำรถมอเตอร์ไซต์ของนายแรดไปแข่งขันความเร็วกับเพื่อนจนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ของรถพังจนใช้การไม่ได้(นายกระทิงเร่งความเร็วจนเครื่องยนต์พัง) จากนั้นนายกระทิงก็นำรถมอเตอร์ไซต์คันดังกล่าวไปคืนแก่นายแรดโดยบอกแก่นายแรกว่า เนื่องจากสัญญายืมที่ตนได้ทำกับนายสิงนั้นเป็นสัญญายืมใช้คงรูปดังนั้นกรรมสิทธิ์ก็ยังไม่ได้โอนไปยังตน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะต้องซ่อมแซมคือตัวของนายแรดเองเพราะนายแรดเป็นเจ้าของ คำกล่าวอ้างของนายกระทิงนั้นพิเคราะห์แล้วฟังไม่ขึ้น กล่าวคือไม่สมเหตุสมผล เพราะเนื่องจากรถมอเตอร์ไซต์ของนายแรดนั้นโดยการปกติแล้ว เพื่อใช้ในการคมนาคมโดยทั่วไปเท่านั้น หาใช้รถมอเตอร์ไซต์ชนิดที่ใช้สำหรับแข่งขันไม่ ดังนั้นการที่นายกระทิงนำรถของนายแรดไปใช้แข่งขันความเร็วกับเพื่อนจนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ของรถพังจนใช้การไม่ได้นั้นถือว่านายกระทิงนั้นได้ใช้สอยทรัพย์สินอันเป็นการไม่ปกติแก่ทรัพย์สินที่ยืมจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ นายกระทิงจะต้องรับผิดชอบในบรรดาความเสียหายอันเกิดแก่รถมอเตอร์ไซต์ของนายแรดทั้งปวงสำหรับกรณีที่เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นข้าพเจ้าจักขอยกตัวอย่างดังนี้ นายเสือตกลงยืมโคเนื้อมาจากนายสิงจำนวน 2 ตัว โดยนายเสือได้บอกให้นายสิงทราบถึงวัตถุประสงค์ของการยืมว่าจะยืมไปชำแหละเนื้อขายเพื่อชำระหนี้ก่อน แล้วตนจะนำโคดังเช่นที่ยืมนี้มาคืนแก่นายสิงเมื่อครบเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่ยืม จากนั้นนายสิงก็ได้ส่งมอบโคจำนวน 2 ตัวให้แก่นายเสือเป็นที่เรียบร้อย เมื่อนายเสือได้โคมาแล้วก็ได้นำโคดังกล่าวไปใช้ไถนาแทนควายที่ล้มตายลง จนเป็นเหตุให้วัวทั้งสองตัวล้มตายลงเช่นกัน ส่วนเนื้อของโคเนื้อก็ขายไม่ได้เนื่องจากมีความแข็งกระด้าง(เคี้ยวไม่ออก) ดังนี้เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่านายเสือนั้นได้ยืมโคเนื้อซึ่งเป็นโคที่เลี้ยงเพื่อชำแหละเนื้อขายเท่านั้นมาไถนาจนเป็นเหตุให้โคทั้งสองต้องตาย ซึ่งถือได้ว่านายเสือนั้นได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเป็นการไม่ปกติแก่ทรัพย์จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ที่ยืม โดยนายเสือจะยกข้อต่อสู้เพื่อเอาผิดแก่นายสิงที่ตนขายเนื้อโคไม่ออกเพราะเนื้อโคแข็งกระด้างนั้นไม่ได้ เพราะสภาพของโคที่ยืมมาในตอนที่ยังไม่ได้ไถนานั้นยังคงสมบูรณ์ซึ่งเหมาะแก่การชำแหละ แต่เมื่อนายเสือนำโคมาไถนาจึงทำให้โคเกิดกล้ามเนื้อที่แข็งและเหนียวจนเกินแก่การเคียว จึงทำให้นายเสือขายเนื้อโคไม่ออก เพราะฉะนั้นเมื่อนายเสือทำสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองกันนายสิงแล้วก็ย่อมทำให้กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ตกโอนไปยังนายเสือโดยทันทีที่มีการส่งมอบ เพราะฉะนั้นความเสียหายดังกล่าว(ขายเนื้อโคไม่ได้)จึงต้องตกเป็นพับแก่นายเสือผู้เป็นเจ้าของเอง
14.ในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญาไม่ได้ส่วนในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นผู้ยืมสามารถที่จะเอาเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญาได้เนื่องจากบทบัญญัติที่กฎหมายได้วางหลักเอาไว้นั้นเป็นมาตราเดียวกันกับข้อ 13 ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอกล่าวอ้างถึงหลักการและตัวอย่างจากข้อ 13 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องกันดังนี้เนื่องจากในสัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยืมก็คือผู้ยืมแต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้ให้ยืมหาได้มีค่าตอบแทนจากการยืมไม่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากกฎหมายได้วางหลักเพื่อให้ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินโดยได้เปล่านั่นเอง ดังนั้นเมื่อกฎหมายได้กำหนดให้เป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ยืมแล้วกฎหมายจึงกำหนดหน้าที่ของผู้ยืมเพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินที่ยืม โดยมีบทบัญญัติอันชัดแจ้งในมาตรา 644 ที่ว่า  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง (ซึ่งในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนแรกแล้วจึงขอไม่กล่าวซ้ำอีก) แล้วในส่วนหลักของความรับผิดของผู้ยืมอันเกิดจากความบกพร่องในการดูและและใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้นกฎหมายก็ได้วางหลักเอาไว้ในมาตรา  643 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดีเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง คำว่าการอันปรากฏในสัญญานั้น หมายถึงความตกลงต่างๆอันเกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สินที่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมได้ตกลงตรงกันก่อนที่จะมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมนั่นเอง ดังนั้นหากผู้ยืมมิได้ใช้สอยทรัพย์สินตามที่ตกลงกันหรือใช้สอยทรัพย์สินจนเกินที่ตกลงกันก็ย่อมหมายความว่าผู้ยืมนั้นใช้สอยทรัพย์สินนอกจากการอันปรากฏในสัญญา ดังนั้นในกรณีที่เป็นสัญญายืมใช้คงรูป(ทรัพย์เฉพาะสิ่ง)นั้น หากเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สิน ผู้ยืมจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยจะกล่าวอ้างถึงการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้ให้ยืมนั้นไม่ได้ แต่หากเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นก็ย่อมเป็นการแน่นอนที่ถ้าหากว่าเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเอง อันนี้ก็เนื่องจากผู้ยืมก็คือเจ้าของทรัพย์ที่ยืมมานั่นเอง
ตัวอย่าง  นายเสือตกลงยืมรถยนต์คันหนึ่งจากนายสิงเพื่อนำไปเยี่ยมนายแรดที่กำลังป่วยอยู่ที่จังหวัดชุมพร นายสิงเกิดความเห็นใจจึงยอมตกลงด้วย โดยทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่านายเสือขับรถไม่เป็น เมื่อนายสิงส่งมอบกุญแจรถให้นายเสือแล้วนายเสือก็ได้ให้บุตรชายของตนเป็นคนขับและตนก็นั่นด้านข้างไปด้วย เมื่อนายเสือเยี่ยมนานแรดเสร็จแล้วก็เดินทางกลับแต่เมื่อบุตรของนายเสือขับรถมาถึงจังหวัดอ่างทอง นายเสือรู้สึกเหนื่อยมากจึงอยากพักผ่อน นายเสือจึงบอกให้บุตรของตนขับรถไปเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมาสัก 1 วันเพราะไหนๆก็ยืมรถมา
หมายเลขบันทึก: 88202เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท