บันทึกครั้งที่ ๒๓ ข่าวเก่าเรื่องข้อมูลดาวเทียมไทยคมที่เราควรรู้ไว้


ก่อนที่เราจะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการใดใด เราต้องรู้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงก่อน แล้วจึงจะสามารถเข้าไปจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้ทั้งในด้านดีที่ควรส่งเสริม และด้านไม่ดีที่ควรเข้าไปแก้ไขหรือป้องกัน จึงขอนำข้อมูลเบื้องต้นของดาวเทียมไทยมาเสนอครับ

นำมาจากข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ครับ

 ดาวเทียมไทยคม1 ถึงไทยคม5

 ขณะที่สถานการณ์ตรวจสอบเพื่อนำดาวเทียมไทยคมกลับคืนสู่อ้อมกอดคนไทยกำลังดุเดือด... กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เดินเครื่องขอร่วม ตรวจสอบการถือครองหุ้นของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL เจ้าของสัมปทานดาวเทียม ซึ่งเป็นบริษัทอยู่ในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ขายหุ้นให้กับกลุ่มบริษัท เทมาเสก ไปแล้วนั้นมีต่างชาติถือครองหุ้นเกิน 49% หรือไม่ ซึ่งเกี่ยวโยงกับ บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ที่เป็นตัวแทนของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ผู้ถือสัมปทานดาวเทียมไทยคม ว่ากระทำผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่ หากพบ มีต่างชาติถือครองหุ้นเกิน 49% กระทรวงไอซีทีสามารถเรียกคืนสัมปทานได้ แต่ถ้ามีการถือครองหุ้นอย่างโปร่งใส กระทรวงไอซีทีพร้อมดำเนินการซื้อสัมปทานดาวเทียมคืน ราคาประเมินไว้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที กล่าวว่า ดาวเทียมเป็นสิ่งชั่วคราว แต่ตำแหน่งของการจอดพักดาวเทียม ซึ่งไทยเจรจากับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้มีดาวเทียมจอดอยู่ได้ 4-5 ดวง ในจุดเดียวกัน แต่ในอดีตเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้ดาวเทียมจอดได้เพียง 1 ดวง/ 1 จุด โดยดาวเทียมก็ถือเป็นสมบัติของรัฐบาลไทยตามสัญญาสัมปทานด้วย ระหว่างที่เรื่องราวกำลังดำเนินไปตามครรลอง วันนี้ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับ ดาวเทียมไทยคม 1 ถึง ดาวเทียมไทยคม 5 มาเป็นข้อมูลให้ทราบ

เริ่มจากชื่อ ไทยคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานนามดาวเทียมของ โครงการอย่างเป็นทางการว่า "ไทยคม" (THAICOM) เพื่อเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงประเทศไทย กับเทคโนโลยี สื่อสารใหม่

ดาวเทียมไทยคม1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 ก่อนย้ายตำแหน่งวงโคจรจาก 78.5 องศาตะวันออก ไปที่ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ดาวเทียมไทยคม1A  สำหรับดาวเทียมไทยคม 1 เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนมกราคม 2537 ส่วนดาวเทียมไทยคม 1A เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนมิถุนายน 2540

ดาวเทียมไทยคม 2 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 เริ่มให้บริการในเดือนธันวาคม 2537 อยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก สำหรับดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 เป็นดาวเทียมรุ่นแรกของโครงการดาวเทียมไทยคม มีอายุการใช้งาน 15 ปี โดยเป็นดาวเทียมรุ่น HS-376 ผลิตโดย บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือบริษัทโบอิ้งในปัจจุบัน พื้นที่การให้บริการย่านความถี่ C-Band ของดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 ครอบคลุมประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น และชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน โดยมีความแรงของสัญญาณด้านขาลง (Down Link) ณ ประเทศไทย 36 เดซิเบลวัตต์ ส่วนพื้นที่การให้บริการในย่านความถี่ Ku-Band ของดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 ครอบคลุมประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีน โดยมีความแรงของสัญญาณด้านขาลง (Down Link) 50 เดซิเบลวัตต์

 ส่วน ดาวเทียมไทยคม 3 เป็นดาวเทียมรุ่น 3 แกน ผลิตโดย บริษัท อัลคาเทล สเปซ ซิสเต็ม ปัจจุบันดาวเทียมไทยคม3 เลิกใช้งานแล้ว เพราะประสบปัญหาระบบพลังงานขัดข้องบางส่วน ส่งผลให้ไทยคม 3 ให้บริการได้ไม่เต็มที่ บริษัทจึงย้ายลูกค้าในส่วน Transponder ที่ขัดข้องไปยังไทยคม 1A-2

ดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPStar-1 หรือ Thaicom-4) เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุดในปัจจุบันมีช่องการสื่อสารแบบ KU-Band จำนวน 87 ช่อง และ KA-Band จำนวน 10 ช่อง น้ำหนัก 6,505 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ด้วยจรวดแอเรียน 5 จากดินแดนเฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่บริการของดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด สามารถให้บริการแก่ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 2 พันล้านคน ดาวเทียมไทยคม 4 –ไอพีสตาร์ นี้เป็นดาวเทียมที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย และได้จดสิทธิบัตรเป็นเทคโนโลยีของคนไทยด้วย

 และ ดาวเทียมไทยคม 5 เป็นดาวเทียมสื่อสาร ยิงสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 27 พ.ค.49 ดาวเทียมไทยคม 5 มียูบีซีเป็นลูกค้ารายใหญ่ ในฐานะพันธมิตรด้านกลยุทธ์ที่ย้ายการใช้งานจากดาวเทียมไทยคม 3 มีระยะเวลาสัญญา 13 ปี โดยได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีก 88 % เป็น 36 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 ทรานสพอนเดอร์ และ 54 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ทรานสพอนเดอร์ จากเดิมไทยคม 3 ได้รับจัดสรรช่องสัญญาณ 36 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 4.25 ทรานสพอนเดอร์ หรือ 50 % ของเคยู แบนด์ในไทยคม 5

ทั้งนี้ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (SATTEL) เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2534 เพื่อให้บริการสื่อสารดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่องตามสิทธิที่ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติจากกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันอำนาจการดูแลสัญญานี้ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที) เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดสัญญาในปี 2564

หมายเลขบันทึก: 88026เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท