มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory License)


ก้าวแรกของไทยที่รอมานาน

จะมีใครสักกี่คนเชียวที่จะรู้ว่าเดือนมีนาคมนี้นอกจากวันมาฆบูชาแล้วจะมีวันสำคัญอย่างอื่นอีก อ้ะ ๆ ใครที่กำลังมองหาปฏิทินและหาวันหยุดที่เป็นตัวเลขสีแดงอยู่แล้วหละก็ ดิฉันขอใบ้ให้อีกนิดนึงว่าวันที่ว่านี้ไม่ได้เป็นวันหยุดหรอกค่ะ แต่นับเป็นวันสำคัญระดับสากลทีเดียว มาเฉลยกันดีกว่า นั่นก็คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากลซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคมค่ะ หากจะถามว่าทำไมมันถึงสำคัญขนาดนั้น คุณลองคิดดูสิคะว่าใครบ้างที่เป็นผู้บริโภค คำตอบก็คือมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ไงคะ พอจะเห็นความสำคัญของมันขึ้นมานิดนึงแล้วใช่ไหมคะ อ้อ ลืมบอกไปอีกนิดว่าวันคุ้มครองผู้บริโภคของไทยเองก็มีโดยจะตรงกับวันที่ 30 เมษายน ของทุกปีค่ะ

เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคสากลที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปสัมมนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค” ที่ตึกสหประชาชาติ ณ กรุงเทพฯ แบบสุดยอดจะกระทันหันมาค่ะ แต่ประสบการณ์ที่ได้มาก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว เพราะนี่เป็นการไปสัมมนาครั้งแรกในชีวิตการเป็นอาจารย์

 

                   

ซึ่งก็มีประเด็นที่น่าสนใจอันตกเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ คือเรื่อง "มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร" หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า "Compulsory License -CL" ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ชนิด (Efavirenz และ Kaletra) และยาสลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจอีกหนึ่งชนิด (Clopidogrel หรือชื่อทางการค้าว่า Plavix) รวมทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน ถ้ายังนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้เป็นข่าวที่พิเศษและน่าฮือฮายังไง ก็ให้ลองนึกถึงประเทศกำลังพัฒนาเล็ก ๆ ที่หาญกล้าออกมาต่อสู้กับบริษัทยายักษ์ใหญ่ซึ่งมักจะมีอิทธิพลอย่างสูงทางการเมืองแถมยังมีเจ้าของเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ประชาชนผู้เจ็บไข้ได้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่ราคาแพงได้ดูสิคะ และนี่ก็ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้มาตรการบังคับสิทธิดังกล่าวด้วย หลังจากมีความพยายามศึกษาและผลักดันมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ผ่านการล็อบบี้ต่าง ๆ นานา จนกระทั่งถึงรัฐบาลยุคปัจจุบันจึงจะได้ประกาศใช้จริงค่ะ

จากการประกาศใช้มาตรการบังคับสิทธินี้ ไทยก็ได้รับการโจมตีจากบริษัทยาว่า ไทยละเมิดกฎหมายสิทธิบัตร การที่ไทยใช้มาตรการบังคับสิทธิเช่นนี้ ก็จะไม่มีบริษัทยาที่ไหนกล้ามาจดทะเบียนยากับไทย และขู่ว่าจะชะลอแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในไทย และแม้แต่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) ก็ยังประกาศท่าทีไม่เห็นด้วยกับไทย ซึ่งเป็นที่น่าผิดหวังอย่างมาก เพราะหากจะว่าไปแล้วก็มิใช่ครั้งแรกในโลกหรอกนะคะที่มีการใช้มาตรการบังคับสิทธิ แม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาระดับเดียวกับเรา เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็เคยมีการใช้มาตรการนี้แล้ว ยังถือว่าประเทศไทยใช้มาตรการนี้ล่าช้าเสียไปด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศเอง ตามข้อตกลงสำคัญในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO : World Trade Organization) ที่เรียกว่า TRIPs Agreement (Agreement on Trade-Related Aspect of Intellectual Property Rights) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกับด้านสาธารณสุข ที่กระทำขึ้นที่เมือง Doha ประเทศ Qatar และเรียกว่าปฎิญญาโดฮา (Doha Declaration) ซึ่งโดยสรุปแล้วระบุให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะปกป้องการสาธารณสุข โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้าด้วยการบังคับใช้สิทธิ และประเทศสมาชิกมีเสรีภาพในการอ้างเหตุผลความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้สิทธิด้วย ทั้งนี้ไทยเราเองก็เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ที่ได้ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าไทยปฎิบัติตามกติกาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศครบถ้วน ไม่ได้กระทำการอันละเมิดกฎหมายใด ๆ ตามที่บริษัทยากล่าวอ้าง อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ยาซึ่งถูกบังคับใช้สิทธินั้น ก็จะเห็นได้ว่าทั้งโรคเอดส์ และโรคหลอดเลือดอุดตัน ต่างเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ประกอบกับผู้ป่วยโรคดังกล่าวก็มีอยู่จำนวนมาก ตัวยาก็ราคาแพง เฉพาะจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอดส์ก็มีมากกว่าล้านคน แต่รัฐสามารถแบกรับค่ารักษาดูแลได้เพียงแค่ราวแสนคนเท่านั้น จะต้องมีผู้คนนับแสน ๆ คนต้องล้มตายไปตามยถากรรม ส่วนยาสลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจก็นับเป็นยาที่มียอดขายสูงเป็นอันดับสองในปี 2548 ทีเดียว (705.01 ล้านบาท) และมีผู้ป่วยสูงถึง 350 ต่อแสนราย แม้จะอยู่ในบัญชียาหลักประจำแห่งชาติ แต่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่อาจแบกรับภาระจากยานี้ได้ คนไข้มักจะต้องออกตังค์จ่ายเอง ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขระดับหนึ่งทีเดียวค่ะ ดังนี้แล้วจึงไม่น่าจะมีข้ออ้างอะไรเลยที่จะห้ามไม่ให้ประเทศไทยประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิในยาดังกล่าว

มาถึงตอนนี้ดิฉันอยากให้พิจารณาถึงคำว่า “สิทธิในการเข้าถึงยา” ดูสักหน่อยว่ามันมีความสำคัญอย่างไรนะคะ หากย้อนเวลาไปถึงเมื่อสมัยเราเป็นเด็ก เราคงเคยเรียนเรื่องปัจจัย 4 มากันทุกคนใช่ไหมคะ ยังคงจำได้ไหมคะว่ามีอะไรบ้าง...อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยา ถึงตอนนี้บางคนอาจจะเพิ่มกันเองว่าเงิน โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เป็นปัจจัยที่ 5 บ้าง ที่ 6 บ้าง หรือกว่านั้นเข้าไปอีก แต่ไม่ว่าอย่างไรทุกคนก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าปัจจัย 4 แต่ดั้งเดิมนั้นยังคงเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของคนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกฐานะ ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีใครเถียงว่าการเข้าถึงการรักษาเป็นสิทธิพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์เช่นกันจริงไหมคะ

หากจะว่าไปแล้วกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นเสมือนตัวกลางที่คอยปรับสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ให้ประโยชน์แก่เอกชนมากเกินไปกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะกลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าและผูกขาดการขายสินค้านั้นเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรไป หรือในอีกแง่หนึ่งถ้าให้สิทธิประโยชน์แก่ส่วนรวมมากเกินไป ก็จะไม่มีการแข่งขันค้นคว้าพัฒนาอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาให้เราได้ใช้กัน ดังนั้น ดิฉันเห็นว่าการใช้สิทธิผลิตยาก็ควรคำนึงถึงความสมดุลทางการค้าและสุขภาพควบคู่ไปด้วยกันค่ะ

หมายเลขบันทึก: 86593เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ยินดีต้อนรับ blogger คนใหม่ครับ
  • เป็นประเด็นน่าสนใจมากครับ

ขอบคุณมากครับที่ได้แบ่งปันความรู้ให้เรา
หากให้ดีกว่านี้ขอให้ประชาชนทุกท่านมีร่างกาย แข็งแรงทั่วกันครับ

"ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ"

และขอแถมนิดครับ
"ความไม่มีลาภ เป็นทุกข์อันประเสริฐ"

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะคะ ส่วนตัวแล้วไม่นึกว่าจะมีใครสนใจอ่านหัวข้อนี้สักเท่าไหร่ เพราะเนื้อหายาวมาก ๆ แต่ก็ถือเป็นความตั้งใจของดิฉันเองที่จะไม่แยกหัวข้อออกจากกัน เพราะรู้สึกว่าจะทำให้ไม่ได้อรรถรสน่ะค่ะ ใครที่ปวดตาเพราะเพ่งอ่านมากเกินไป ในส่วนนี้ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ ค่ะ
อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยครับ  แต่ความเก่งกับสำนวนการเขียนไม่รู้เหมือนใคร  คุ้นๆอยู่

แห่ะๆ ผมไไม่ได้อ่านหรอกคับ ผมเข้ามาดูรูปอาจารย์ อาจารย์น่ารักดีคับ

เนื้อหาดีครับ ผมขอนำมาใช้หน่อย จากเด็กฝึกงาน tnn24 : D

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท