ความตายคือ "จุดเริ่มต้น"


ความตายคือ "จุดเริ่มต้น"

โยดาบอกให้ "เริ่มเขียนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับความตาย" ผมฟังปุ๊บก็นึกขันในใจ เพราะมันดูเหมือนจะ contradiction ในตัวมันเอง ความตาย และ เริ่มต้น นั่นจึงเป็นที่มาของโจทย์อันน่ารัก น่าสนใจ นี่ขึ้นมา ผมตั้งขึ้นโดยที่ยังไม่มีอะไรอยู่ในหัวจะเขียนเลย แต่จะใช้หลัก "ไม่ยกปากกา" ร่ายไปเรื่องๆ เพราะคิดว่าเรื่องนี้มันซึมเข้าไปอยู่ตามลมหายใจ ขุมขน ต่างๆอยู่พอประมาณแล้ว

ที่จรีงที่ผมตั้งชื่อ Phoenix นี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะนกไฟเป็นนกที่จะ เริ่มต้นใหม่ หลังจากมอดมลายไป เคยอ่านเจอบางคนเปรียบ Phoenix เป็นสัญญลักษณ์ของพระเยซูเนื่องจาก similarity ของการกลับเกิดใหม่นี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่านก Phoenix พอจะเป็นอะไรๆที่สะท้อนว่าเรายัง อยู่ในวัฏสังสารนี้อยู่ จงอย่าได้ลำพองใจ ในขณะเดียวกัน มองอีกมุมหนึ่ง ก็คล้ายๆกับมันจะปลอบใจเราได้กลายๆว่า ยังไงๆสำหรับกืจที่ยังคั่งค้างอยู่ ผมคิดว่าถ้าเราตั้งใจมั่นจริงๆ เราก็คงจะได้กลับมาใหม่ ประภัสสรกว่าเดิม สานต่อปณิธานที่ค้างคาไว้ ฟังดูๆแล้วจะเหมือน "อะไรกันนี้ หมอนี่ (no pun intended) คิด หรือ เชื่อ เรื่องกลับช่ง กลับชาติด้วยหรือ" แต่ผมว่าพวกเราทุกคนถ้าคิดดูดีๆ มันมีอะไรหลายครั้งหลายหน ที่การตัดสินใจของเราทำไป อย่างมั่นใจจนบอกไม่ถูก ว่ามันเป็นสิ่งที่ควร ว่าเราอยู่ตรงนี้เพราะเพื่อการณ์นี้ โดยไม่ทราบเหตุผลมาก่อน

ความตายนำเอามาซึ่ง "การเปลี่ยนแปลง"

และการเปลี่ยนแปลงนี้แหละที่เป็น "จุดเริ่มต้น" ของของจำนวนมหาศาล เด็กบางคนโตเป็นผู้ใหญ่เพียงแค่ข้ามคืนเมื่อพ่อ หรือแม่ตาย ผู้ใหญ่บางคนได้สะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเหมือน flash back ต่อหน้า ต่อตา เมื่อเห็นลูกตาย เกิดดวงตาเห็นอะไรหลายๆอย่าง เช่นนี้แล้วยกเว้นเรื่องซาก "ดักแด้เก่าๆ" (ขอยืม analogy ของ Elizabeth Kubler-Ross มาหน่อยเถอะ) ที่ถูกทิ้งไว้ให้คนยังปลงไม่ตกได้ยึดไว้ เหนี่ยวไว้ ทุกครั้งที่มีการตายเกิดขึ้น มี การเปลี่ยนแปลง มากมายที่ได้เริมต้น

พลังของความตายนั้นยิ่งใหญ่ แทรกสอดเข้ามาทะลุทะลวงอารมณ์ ความคิด ของคนทุกชาติศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์ มานานเท่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเทียว การฉลอง หรือสัญญลักษณ์ของความตายนั้นมีอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมากมาย เช่น มหาปิรามิด ทัชมาฮาล และอนุสาวรีย์ต่างๆทั่วโลกของวีรบุรุษ/สตรี รัฐบุรุษ วีรกษัตริย์ มากกว่าการฉลองการเกิด การแก่ การเจ็บ หรืออะไรหลายๆอย่างที่เป็นสัจจธรรมชีวิตอื่นๆ

มนุษย์เราแต่ก่อนคุ้นเคยกับความตายมากกว่านี้มาก แทบจะเรียกได้ว่าทุกบ้าน ทุกเรือนเคยมีคนตาย คนมีความสนิทสนม ไม่แปลกหน้าต่อความตาย ซึ่งในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไป คนย้ายสถานที่ไปตายในโรงพยาบาล ไปตายในห้อง ICU (ญาติบางคนถึงกับพยายามวิ่งเต้น เพื่อให้คนป่วยได้เข้า icu พอเข้าไปสมใจนึก ก็ภาคภูมิใจ ผมก็แปลกใจว่าทำไมดีใจที่ญาติได้เข้า ICU ที่แท้เขาคิดว่า ICU ทำให้โอกาสหาย โอกาสรอดมากขึ้น ซึ่งจากตัวเลขทางสถิติจริงๆ สงสัยจะไม่ใช่) เมื่อโรงพยาบาลเป็นสถานที่รับคนเจ็บหนัก ในที่สุดคนก็เริ่มไม่คุ้นเคยกับการมีคนเสียชีวิตในบ้าน ความตายกลายเป็นของแปลกหน้า เป็นของที่ "ผู้เชี่ยวชาญ" เป็นผู้ดูแล (หารู้ไม่ว่า "ผู้เชี่ยวชาญ" นั้น ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องตายสักเท่าไร เรื่องเป็นล่ะก็ไม่แน่)

ผลกระทบต่อการที่เรา "แปลกหน้า" ต่อความตายนั้น ผมว่ายิ่งใหญ่และซับซ้อนมาก ต่อทั้งระดับสังคม และปัจเจกเลยทีเดียว

อะไรบ้าง อยากจะทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ อยากจะฟังประสบการณ์ ตรง เฉียง ป้าน ทู่ ของบรรดากัลยาณมิตร อยากจะฟังเสียง ฟังเรื่องราว (สุดท้าย) ที่เคยได้ยิน ได้มีประสบการณ์มา เพราะ เรื่องเหล่านี้ เป็น highlight ของชีวิตคนๆหนึ่ง ที่เขาได้ "เลือก" มาเล่าให้ฟัง

Namaste

ps: ที่จริงนี่เป็น style การเขียน webboard มากกว่าการเขียน blog รึเปล่าก็ไม่รู้ แต่ขออนุญาตโยน "ตัวกวน" ลงมา กะว่าไม่ให้ใครสามารถเขียนแค่ว่า "เห็นด้วย จบ" ต่อได้ อิ อิ

หมายเลขบันทึก: 86438เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2007 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • คุณพ่อดิฉันเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางภรรยาและลูกหลานอันเป็นที่รัก
  • พวกเราจำได้ติดตาถึงภาพที่พ่อเสียชีวิต และคิดว่าพ่อคงมีความสุขที่ได้ตายท่ามกลางญาติมิตรของตนเอง
  • พ่อสั่งไว้ว่า พ่อขอตายที่บ้าน
  • ดิฉันจึงนึกว่าถ้าพ่อตายใน icu พ่อจะว้าเหว่แค่ไหน เพราะอยู่ท่ามกลางแพทย์ พยาบาล ซึ่งเป็นคนไม่รู้จัก
  • พวกเรารู้อยู่แล้วว่าพ่อ end of life ดังนั้นไม่จำเป็นอะไรที่จะนอนรอความตายที่โรงพยาบาล

อยากให้ประสบการณ์ที่แตกต่างนะครับ

ผมเคยไปดูคนไข้ที่บ้านรายหนึ่ง เป็นมะเร็งปอด สมัยที่ยังเพิ่งสนใจเรื่องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใหม่ๆ

พอผมออกจากบ้านขับรถกลับมารพ. ไม่นาน ญาติผู้ป่วยก็ขับรถพาผู้ป่วยตามมาด้วย เพราะผู้ป่วยหอบเหนื่อยมาก ทนดูสภาพนั้นไม่ไหว แล้วเขาก็ก็ยอมรับสภาพในห้อง ICU ได้เป็นอย่างดีทั้งผู้ป่วยและญาติครับ

เป็นอะไรไม่รู้  ชอบนักกับเรื่องความตาย  ทั้งๆที่ยังไม่เคยเฉียดตายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับตัวเองซักที  ขอแจมหน่อยละกันครับ

เมื่อไม่กี่วันก่อน  ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนๆหนึ่ง  เห็นกันมาหลายทีก็ไม่ทันสังเกตว่าแกโกนหัวมานานนม  เพราะทุกทีที่เจอกันแกมักจะใส่หมวกไหมพรมด้วยเสมอ  วันนั้นเลยถามไปว่าบวชให้ใครเหรอ  แกก็บอกว่าบวชให้แม่  ผมก็ถามว่าแม่เสียไปตั้งนานแล้วนี่  แกก็บอกว่าใช่  แต่หลังจากบวชแล้วก็พลอยไม่อยากไว้ผมยาวแล้ว  ผมเลยถือโอกาสคุยกับเขาเรื่องแม่  เพราะผมก็คุ้นเคยกับแม่เขาพอสมควร

เขาเล่าว่า  ช่วงที่แม่ป่วยเป็นมะเร็ง  เขาได้ไปบนไว้ว่าขอให้แม่หาย(ผ่าตัดสำเร็จ)หรือหากไม่หาย  ก็ขอให้แม่อย่าได้ทุกข์ทรมานตอนตาย  ต่อมาภายหลัง  คำบนบานข้อแรกไม่เป็นผล  แกเลยน้อมรับต่อทางเลือกที่สองที่บนไว้  แต่ไม่ใช่การน้อมรับโดยไม่ทำอะไร  แกได้เตรียมตัวรับความตายทั้งในฐานะของตัวเองและเตรียมตัวให้กับแม่ด้วย  หนังสือหนังหาดีๆที่แกจะหามาได้  แกจะอ่านและเอามาเล่าให้แม่ฟัง  พร้อมๆกับการให้แม่ปฏิบัติตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ข้างหน้า  "เผอิญ"ว่า แกเคยบวชมาก่อน  ก็พอจะนึกถึงหลักคำสอนทางศาสนาได้บ้าง  เลยเอามาประยุกต์ใช้กับการดูแลแม่

เย็นวันหนึ่ง  จู่ๆแม่ก็เกิดอาการกำเริบ  น๊อคไปเฉยๆ  เขาต้องรีบนำแม่ไปส่งโรงพยาบาล  ตลอดเส้นทางที่พาแม่ไปโรงพยาบาล  แม่เหมือนไม่รู้สึกตัว  แต่บางทีก็เหมือนจะรู้สึกตัว  แกก็พูดกับแม่ไปเรื่อยๆ  กระทั่งถึงโรงพยาบาล  แม่ถูกส่งตัวเข้าห้องไอซียูทันที  แต่ตัวเขาเองได้ขอกับทางพยาบาลไว้ว่า  แกอยากอยู่กับแม่จนถึงที่สุด  ผมไม่ทราบว่าอาการเป็นอย่างไรนะครับ  น่าแปลกใจอยู่ที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูแลแม่  เขาเล่าว่า  เขาประเมินจากอาการครั้งนั้นแล้วคิดว่า  แม่มีโอกาสรอดน้อยมาก  แกเลยพยายามพูดคุยกับแม่  พูดถึงคำสอนที่แกเคยร่ำเรียนมาตอนบวช  เนื้อหาหลักคือเรื่องการครองสติก่อนที่จะตาย  การมีความสามารถที่จะนึกคิดถึงสิ่งดีๆเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนตาย  และได้บอกแม่ไปว่าจะบวชให้กับแม่

เขาเล่าต่อด้วยความภาคภูมิใจว่า  เขาเองก็แทบไม่เชื่อว่าคนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งจะตายอย่างสงบได้  สิ่งที่แกจำได้คือ  แม่ค่อยๆจากไป  สงบ ราบเรียบ  ในความเห็นของเขา เขาคิดว่า"สมบูรณ์แบบ"

ผมเห็นหัวข้อเรื่องกระทู้นี้แล้ว  เห็นด้วยกับคำๆนี้มาก  ความตายคือจุดเริ่มต้นของชีวิต  บางที  ชีวิตที่ว่านั้น  อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ชีวิตของคนตาย  แต่หมายรวมไปถึงชีวิตของคนที่ยังอยู่ด้วย  คำว่าชีวิตในที่นี้  ก็มิได้หมายถึงแค่การมี vital sign เท่านั้น!!!

 

มรณวิทยา (thanatology) นั้น ว่าด้วยผลกระทบของความตายต่อจิตใจและคนในสังคม เป็นศาสตร์ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันระหว่างอะไรหลายๆอย่าง ที่แปรกผันเปลี่ยนได้ไปตามกาลเวลา พลังขับเคลื่อนของเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงบางครั้งแม้กระทั่งการเมือง หรือเหตุการณ์อย่างสงคราม ภัยธรรมชาติครั้งสำคัญๆต่างๆ

ของบางอย่างสำหรับคนๆหนึ่งแทบจะไม่มีค่า ไม่มีความหมายใดๆ แต่สำหรับอีกคนกลับมีความหมายมากที่สุดในโลก อุปสรรคของเรื่องแบบนี้บางทีอยู่ที่เพียงแค่ ความเข้าใจ เท่านั้นเอง

เรื่องของเรื่องบางทีเราไม่สามารถจะยอมรับสิ่งที่เรา "ไม่เข้าใจ" ได้ สิ่งไหนที่เราไม่เข้าใจ กลายเป็น non-existence หรือ "ไม่จริง" ไป การทำความเข้าใจต่างๆถูกกำหนดกรอบโดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  แม้ว่าเราจะทราบว่ามี ความไม่แน่นอน ของประสาทสัมผัสเหล่านี้ แต่ทำอย่างไรได้ นั่นคือ ทั้งหมดที่เรามี (จริงๆหรือ???)

สิ่งที่มากระทบต่อ "การรับรู้ และความเข้าใจ" ไม่เพียงเฉพาะความไม่แน่นอนของประสาทรับรู้เท่านั้น ยังอยู่ที่ระดับของ "การแปลผล" ได้อีกด้วย ซึ่งมีทั้งองค์ประกอบของ ความทรงจำ ความเชื่อ ความศรัทธา สังคม ประสบการณ์เก่า เป็นสิ่งที่เราจะใช้อยู่ตลอดเวลาที่เรา แปล อะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่การที่คนเราไม่มี "ความทรงจำ ความเชื่อ ความศรัทธา สังคม และประสบการณ์เก่า" เหมือนกันจะแปลอะไรๆแตกต่างกัน

ที่น่าสนใจมากๆก็คือ แล้วสำหรับเรื่องความตาย การรับรู้ และความเข้าใจ มีผลอย่างไรเวลาที่เราเผชิญหน้ากับความตาย ไม่ว่าจะเป็นของคนที่เราไม่รู้จักเลย คนที่เราเคยได้ยินถึง คนที่เรารู้จัก คนที่เรารัก คนที่เราเกลียด หรือคนในครอบครัว ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท