ใครจำได้บ้างว่า อริยสัจ ๔ คืออะไร


ดิฉันก็เคยท่องจำมาเมื่อสมัยเด็กๆ โดยแต่ก่อนก็จำได้ว่า สมุทัยก็คือเหตุแห่งทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ คือหนทางไปสู่ความดับทุกข์ ส่วนนิโรธนั้นจำไม่ได้เลยว่าคืออะไร ...

เราคงเคยได้เรียนหรือได้ยินกันมาบ้างว่า อริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ดิฉันก็เคยท่องจำมาเมื่อสมัยเด็กๆ โดยแต่ก่อนก็จำได้ว่า สมุทัยก็คือเหตุแห่งทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ คือหนทางไปสู่ความดับทุกข์ ส่วนนิโรธนั้นจำไม่ได้เลยว่าคืออะไร (พอเขียนถึงตรงนี้ก็ขำตัวเองว่า แต่ก่อนมีความรู้บ้างแต่ขาดปัญญามากๆ 555)

จนกระทั่งอาจารย์ศิริศักดิ์ มอบหนังสือ หลวงปู่ฝากไว้* ให้อ่านเวลาว่างเพราะเป็นหนังสือสอนธรรมสั้นๆ ไม่ต้องใช้เวลาอ่านนาน เข้าใจง่ายและเป็นเรื่องสั้นๆ เป็นตอนๆ

วันนี้ได้เวียนกลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีก เมื่ออ่านมาถึงในเรื่อง "การปรารภธรรมเรื่องอริยสัจ ๔" ที่หลวงปู่ดูลย์ได้กล่าวไว้ตั้งแต่วันเข้าพรรษา ปี ๒๔๙๙ ว่า

จิตที่ส่งออกนอก 

 เป็นสมุทัย

 ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก     

 เป็นทุกข์

 จิตเห็นจิต

 เป็นมรรค

 ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต

 เป็นนิโรธ

จากการอ่านนี้  ทำให้เกิดความปรารถนาที่จะแลกเปลี่ยนและมอบเรื่องนี้กับ blogger ทั้งหลายเพราะรู้สึกว่าหลวงปู่ดูลย์ ได้สรุปเรื่องอริยสัจ ๔ ไว้ได้ดีเหลือเกิน สั้น กระชับ ได้ใจความ

ดิฉันอ่านที่ท่านสรุปไว้แล้ว ทำให้เข้าใจอริยสัจ ๔ ถ่องแท้มากขึ้น นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เช่น

  • ได้เห็นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ของตนเอง เมื่อจิตออกนอกลู่นอกทางคิดเรื่องสมมติต่างๆ มาก เช่น บางครั้งจิตของดิฉันก็ แวบไปคิดกังวลถึงงานบริหารโครงการหลักสูตรฯ งานเตรียมสอน งานวิจัยที่ต้องส่ง งาน review papers ที่รับมาอ่าน ฯลฯ 
  • แต่เห็นทางออกว่าถ้าตัวเรามีสติ ดูจิตของตัวเองทัน นี้เป็นหนทางดับทุกข์ (มรรค) ที่ชัดเจนจริงๆ เพราะเจริญสติจนรู้ทันว่ามโนจิตกำลังคิดถึงปัญหาสารพัดที่ยังไม่เกิดจริง
  • ดังนั้นถ้าเรามีสติตามดูจิตของตนเองทัน ไม่เกิดเวทนา ไม่เกิดกิเลส (ถึงแม้บางครั้งเกิดเวทนา อารมณ์ กิเลส ก็รู้ว่าเกิดและยับยั้งผ่อนหนักเป็นเบาได้) สิ่งนี้ก็คือผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต (นิโรธ) นั่นเอง เช่นเมื่อรู้ว่าจิตคิดล่วงหน้า ก็เพียงแต่รับทราบปัญหาที่อาจเกิด แต่ไม่มีอารมณ์กังวลตามความคิดแต่อย่างใด เพราะอยู่กับสติอยู่กับปัจจุบันและรู้ว่าปัญหายังไม่เกิด

ดิฉันปฏิบัติได้แค่นี้ก็รู้สึกโล่งแล้ว เพราะ รู้ปัญหา เห็นปัญหา แต่ไม่เป็นปัญหาค่ะ


หนังสืออ้างอิง

*หลวงปู่ฝากไว้ บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา ของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ที่รวบรวมโดยพระโพธินันทมุนี

หมายเลขบันทึก: 86200เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเหมือนกันครับ แต่เป็นฉบับ PDF
  • หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นลูกศิษย์ท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น ที่เน้นการดูจิตอย่างเดียว ดังที่ท่านเคยพูดว่า จิตคือพุทธะ
  • ซึ่งคล้องจองกับนิกายเซ็นเลยครับ
  • ศิษย์เอกท่านหนึ่งที่น่าติดตามคือ ท่านสันตินันต์ ในสมัยฆราวาส  หรือตอนนี้ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตแล้วใช้นามว่า พระอาจารย์ปราโมชย์
  • ลองหาหนังสือเล่มเล็กๆ ของท่านอ่านดูนะครับ ผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว  แต่น่าสนใจมาก
  • ลองอ่านชิมลางจากลิงก์นี้ก่อนก็ได้ครับ http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000373.htm หรือนี่ครับ http://se-ed.net/yogavacara/niranam.html
  • หรือ เต็มๆ ได้ที่นี่ครับ http://www.wimutti.net/pramote/

ธรรมะสวัสดีครับ

ขอบคุณคุณP ธรรมาวุธ นะคะเรื่อง link ดีมากเลยค่ะ

ดิฉันเคยอ่านของท่านสันตินันต์นิดหน่อยตอน browse เจอใน web และก็ได้หนังสือ "ประทีปส่องธรรม" ของพระอาจารย์ปราโมชย์ มาจากเพื่อนอาจารย์ที่จุฬาฯ เป็นหนังสือที่ดีมากๆ ค่ะ และอ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ก็เป็นอาจารย์ที่อยู่ที่ สจพ.นี่แหละค่ะ  ดีจริงๆ ใช่ไหมคะ ที่มีพระอาจารย์และเพื่อนร่วมทางปฏิบัติธรรม

สวัสดีครับอาจารย์

  • ข้อดีของการสื่อสารตอนนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ธรรมะได้อย่างกว้างขวาง แค่กดปุ่มไม่กี่ปุ่มธรรมะก็วิ่งตามสาย(หรือไร้สาย) มาถึงบ้านอย่างถึงใจ
  • แต่ปัญหาก็คือ ด้วยข้อมูลที่มากมายเราต้องกรองให้ได้ว่าอันไหนแท้อันไหนเทียม อันไหนแท้มากแท้น้อย  ซึ่งปัญญาอย่างเราๆ ก็ลำบากครับ
  • ผมเคยเข้าคอร์สปฏิบัติแนวยุบหนอ-พองหนอมานิดหน่อย
  • ศึกษาจากการอ่านของท่านอาจารย์พุทธทาสมาพอสมควร และตอนนี้ก็ตามงานของพระอาจารย์ประยุตอยู่
  • ส่วนพระเถระอื่นๆ ที่ดังๆ ของไทย เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ ก็ตามอ่านบ้างตามสมควร
  • จากข้อสังเกตที่ได้  ผมสรุปเอาเองว่าท่านสอนสิ่งเดียวกันครับ แต่ปัญหาคือศิษย์รุ่นหลังๆ ที่ยึดติดกับอาจารย์ แล้วทำให้เราดูถูกดูแคลนแนวทางของท่านอื่นๆ
  • เอาง่ายๆ ที่ผมเจอกับตัว เมื่อวานซืน ผมไปดูคอมพิวเตอร์ให้พระที่วัดแถวๆ ที่ผมอยู่ พอดีผมเห็นที่ภาพหน้าจอท่าน เป็นภาพที่ท่านถ่ายที่วัดแห่งหนึ่งดูร่มรื่นมาก ผมชอบ เลยถามท่านว่าถ่ายที่ไหน ท่านก็บอกว่าถ่ายที่วัดหนึ่งที่พังงาและไปฝึกวิปัสสนามา  ผมก็ถามอีกว่าฝึกแนวไหน  ท่านก็ตอบ(แบบที่ได้ยินบ่อยๆ)ว่าแนวพระพุทธเจ้า
  • ถ้าพูดอย่างนี้ก็พูดต่อลำบากครับ  ต่างคนต่างก็อ้างว่าแนวพระพุทธเจ้า  ซึ่งตามความจริงก็ควรเป็นอย่างนั้น  แต่ผมฟังแล้วก็เฉยไว้  แต่คำตอบหลังจากนั้นซิที่ทำให้ผมไม่อยากสนทนากับท่านต่อ
  • ท่านบอกประมาณว่าแนวนี้แหละดี(หมายถึงยุบหนอ-พองหนอ)  แนวหลวงปู่มั่นน่ะก็ปล่อยให้พวกท่านทำไป
  • ฟังแล้วก็ผงะเล็กน้อยครับ  คนเราถ้าฝึกปฏิบัติจริงแล้วสรุปไม่ได้หรอกครับว่าแบบไหนถูกหรือผิด  ท่านอาจารย์แต่ละท่าน ท่านก็มีจริตที่ต่างกัน มีเทคนิคต่างกัน  ยิ่งหลวงปู่มั่นถ้าเราศึกษาดูแล้วท่านสอนศิษย์แต่ละคนของท่านต่างกัน แล้วแต่จริตของศิษย์ท่าน  เช่น หลวงปู่ดูลย์นี่ท่านออกไปแนวเซ็นเลย  แนวดูจิตอย่างเดียว
  • ขอโทษที่เขียนยาวหน่อยครับ  สรุปว่าเดี๋ยวนี้เราต้องระวังมากที่จะศึกษาการปฏิบัติธรรม ไม่งั้นจะเสียเวลาเปล่า  หรือเข้ารกเข้าพงไป รู้สึกตัวอีกทีก็เสียไปแล้วชาติหนึ่ง
  • แต่เท่าที่อ่านของหลวงพ่อปราโมชย์  น่าสนใจทีเดียวครับ  เป็นแนวที่ผมคิดว่าเป็นกลางและตรงจุดมาก  ผมก็พยายามศึกษางานของท่านอยู่ครับ  ที่เว็บไซต์ก็มีเสียงเทศน์ท่านให้โหลดมาฟังด้วยครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

  • เห็นด้วยกับคุณธรรมาวุธ ค่ะว่า พระอาจารย์ที่ปฏิบัติดีทั้งหมายล้วนแล้วแต่สอนธรรมะเหมือนกัน มีรากฐานเหมือนกัน
  • พระอาจารย์แต่ละท่านก็มีความเมตตา สั่งสอนตามที่ท่านเห็นถูกเห็นควร บางทีท่านก็คงดูจริตของลูกศิษย์ด้วย อย่างหลวงปู่มั่น 
  • เป็นปกติที่แต่ละคนนั้นจริตต่างกัน ก็เลยมีประสบการณ์จากเรื่องเดียวกัน ต่างกัน แต่แย่หน่อยที่บางคนยังยึดมั่น ถือมั่นอยู่ (แม้กับเรื่องของแนวทางการปฏิบัติธรรม!!)
  • สำหรับส่วนตัวดิฉันเอง คิดว่าแต่ละคนจะมีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไปบ้าง เหมาะกับจริตของตัวเอง ถ้าเราค้นคว้าปฏิบัติจริง ดิฉันว่าเราจะได้แนวทางการปฏิบัติที่สมกับตัวเรา เพราะถ้าปฏิบัติได้ จะรู้ตัวค่ะ ว่าผ่านแล้ว ได้แล้ว เพราะเราจะรู้แจ้งเองว่าอันนี้แหละ ใช่แล้ว ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเคยสอนไว้ ว่าอย่าเชื่อ จนกว่าจะรู้ได้ด้วยตนเอง
  • อย่าเพิ่งคิดว่าเสียเวลาเปล่านะคะ ดิฉันว่าความตั้งใจดีที่จะปฏิบัติธรรมเป็นอานิสงค์อันหนึ่งที่จะส่งให้เราสำเร็จค่ะ
เห็นด้วยกับเรื่องยึดมั่น ถือมั่น เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่า เราล้วนขึ้นต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่คนละกิ่งเท่านั้น

สวัสดีค่ะคุณ P ทีน่า

ใช่เลยค่ะ การยึดมั่น ถือมั่น ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องเสมอเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง เราเพียงแต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีหนทางของตน อย่างที่คุณทีน่าว่าไว้เลยค่ะ

มาอ่านอยู่ เงียบๆนะคะ : )

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

  • ไม่ได้แวะมานาน gotoknow นานเลยครับเพราะช่วงนี้เป็นอะไรไม่ทราบ เรื่องเรียนก็ไม่อยากทำ เรื่องเขียนบันทึกก็ไม่อยากเขียน ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น เป็นมาจะสองเดือนแล้ว
  • ในความไม่อยากทำอะไร นับได้ว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของพระอาจารย์ปราโมทย์เรื่อง "วิธีแห่งความรู้แจ้ง" ทำให้ "คิด" ว่าเข้าใจพื้นฐานและแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับศาสนาพุทธมากขึ้น แม้เป็นเพียงความความใจจากการอ่านแต่ก็เป็นกำลังใจในการศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นไปครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะ

P

เอ...ฟังอาการแล้วไม่ค่อยดีเลยนะคะ... เคยเป็นตอนเรียน ป.เอกเหมือนกันค่ะ ตอนนั้นรู้สึกเซ็งๆ เหมือนไร้เป้าหมาย ต้องหาอะไรที่ break routine ทำค่ะ การอ่านหนังสือก็เป็นสิ่งดีนะคะ จริงๆ แล้วเข้ามาใน GTK บ้าง ถึงไม่ได้เขียนให้ข้อคิดเห็น แต่อ่านไปเรื่อยๆ ก็อาจจะช่วยนะคะ ไปอ่านเรื่องขำๆ ของ ดร.บัญชาก็สนุกดีค่ะ อ่านหนังสือที่คุณธรรมาวุธ ให้ไว้ในข้อคิดเห็นข้างต้นก็ดีนะคะ 

ตอนที่หายจากอาการอย่างนี้ เมื่อครั้งโน้น..มักจะมีอะไรมากระตุ้นให้รู้สึกอยากทำต่อค่ะ เหมือนกับเกิด inspiration ขึ้นมาน่ะค่ะ

พยายามเจริญสตินะคะ มีทุกข์ก็ดูให้เห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้ามีอาการเบื่อก็ดูให้เห็นความเบื่ออันนี้ แล้วพิจารณาดูสาเหตุ แล้วดูว่าจะแก้ที่เหตุได้อย่างไร บางทีถ้าความคิดวนไปวนมา ก็มองให้เห็นว่าความคิดวกวนอยู่กับเรื่องอะไร อาจอ่านหนังสือเพื่อตัดความคิด อาจพิจารณากายเพื่อตัดความคิด เช่น ถ้าเดินก็ให้พิจารณาการย่างเท้าเดิน ถ้าเขียนให้ก็พิจารณามือที่กำลังเขียน หรือออกไปข้างนอก ออกกำลัง สูดอากาศบริสุทธิ์ เพื่อตัดกระบวนความคิดค่ะ

บางที ลองตัดใจเขียนบันทึกว่าเรากำลังเบื่อลงใน GTK สักบันทึกหนึ่ง อาจจะดีขึ้นก็ได้นะคะ จะได้โต้ตอบกับสมาชิกต่างๆ ด้วย

ลองดูนะคะ ทำอะไรก็ได้ น่าจะดีขึ้นค่ะ เอาใจช่วยนะคะ ^ ^

 

บันทึกไว้เป็น Follow-up

จากหนังสือ "สำหรับผู้เห็นปัญญา นิกายเซน" ของ รศ.ดร.บุรัญชัย จงกลนี

  • ทุกข์ ได้แก่ การเคลื่อนไหวของกายและใจ
  • สมุทัย ได้แก่ การไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกายและใจ
  • มรรค ได้แก่ การรู้สึกถึงการเครลื่อนไหวของกายและใจ
  • นิโรธ ได้แก่ ผลของการรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกายและใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท