สังคมมลพิษ


สังคมมลพิษ

สังคมมลพิษ

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาวะมลพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย เหตุการณ์น้ำเน่าเสียที่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่ปรากฏการณ์ครั้งแรกของการแพร่กระจายมลพิษออกมาสู่สาธารณะจนส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งกับทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สินของเอกชน

พร้อมกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมไทยต้องเผชิญกับอันตรายและผลกระทบจากการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายนับครั้งไม่ถ้วน การแพร่กระจายของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี, อุบัติเหตุสารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย, ภาวะมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม, สารแคดเมียมปนเปื้อนในนาข้าวของเกษตรกรที่แม่ตาว จังหวัดตาก เป็นต้น

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ซึ่งมีความรุนแรงเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ โดยที่ยังไม่ได้รวมถึงจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นข่าวขึ้นมาให้เป็นที่รับรู้ซึ่งเป็นปัญหาในระดับพื้นที่

ภาวะมลพิษได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางและมีระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัวกลับคืนสภาพเดิม เช่น ทำให้เกิดภาวะเน่าเสียหรือการปนเปื้อนจนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ ทั้งในแง่ของการดื่มกินหรือจับสัตว์น้ำมาบริโภค ดังที่เกิดขึ้นกับลำห้วยคลิตี้ แม้จะทอดเวลามานับสิบปีแต่กระทั่งปัจจุบันชาวบ้านก็ยังไม่สามารถใช้น้ำได้ตามปกติ

นอกจากผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ภาวะมลพิษยังส่งผลกระทบต่อบุคคลเป็นจำนวนมากในด้านความปลอดภัยต่อชีวิต บุคคลที่ได้รับสารพิษอาจต้องเจ็บป่วยหรือล้มตาย หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ปลาในกระชังที่ลอยแพตายเป็นเบือ ข้าวมีสารแคดเมียมตกค้าง ก็เป็นตัวอย่างอันดีของความวิบัติที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป

ภายใต้ปรากฏการณ์ของสังคมแห่งมลพิษนี้ กฎหมายสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

การบังคับใช้กฎหมายโดยเอกชน

หากมีการแพร่กระจายของมลพิษและทำความเสียหายให้เกิดขึ้นกับบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลก็ถือว่าเป็นการละเมิดซึ่งได้รับการคุ้มครองไว้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถใช้สิทธิของตนในการเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิด เช่น เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ผู้รับผิดชอบขนส่งสารเคมี ให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากเหตุมลพิษมีลักษณะที่ซับซ้อนแตกต่างไปจากการทำละเมิดโดยทั่วไป เช่น การขับรถชนกัน การทำร้ายร่างกาย ส่วนในคดีมลพิษการบ่งบอกถึงตัวบุคคลผู้กระทำ สาเหตุและผลของความเสียหายไม่อาจกระทำได้โดยง่าย เช่น การเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศที่มาจากโรงงานนับร้อยแห่งในนิคมอุตสาหกรรม ก็เป็นเรื่องที่ยากจะชี้ให้เห็นว่าโรงงานแห่งใดเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย

ปัญหาสำคัญบางประการของการดำเนินคดีโดยเอกชนในเหตุมลพิษมีดังนี้

ก.การระบุถึงที่มาของมลพิษ เนื่องจากความเสียหายของคดีมลพิษมักเป็นผลจากสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่สามารถแพร่กระจายไปได้ทั้งน้ำและอากาศ ไม่มีลักษณะชัดเจนหรือคงที่ จึงเป็นการยากต่อการพิสูจน์ถึงแหล่งที่มา เช่น ควันเสียหรือน้ำเสียถูกปล่อยมาจากโรงงานแห่งใด ถ้าเป็นกรณีที่มีแหล่งมลพิษอยู่เป็นจำนวนมากดังโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

หรือหากเป็นการลักลอบปล่อยมลพิษก็เป็นการยากในการพิสูจน์ถึงแหล่งที่มา การระบุเพียงว่าเป็นควันหรือน้ำเสียจากแหล่งที่มีโรงงานหลายแห่ง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของโรงงานใดยังไม่เป็นการเพียงพอต่อการทำให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิด

ข.การพิสูจน์ถึงผลที่เกิดจากมลพิษ การจะให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นผู้เสียหายต้องพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ของความเสียหายกับการกระทำของผู้ก่อมลพิษ อันเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากเนื่องต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประกอบ การยืนยันว่าปลาตายเพราะน้ำเสียก็ต้องมีการพิสูจน์ถึงสารเคมีในน้ำว่ามีผลต่อปลาอย่างไร ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านจะสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง หากต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลประกอบ

ความยากลำบากของการดำเนินคดีด้านมลพิษจึงต่างไปจากการกระทำความเสียหายในคดีละเมิดทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยความพยายามและต้นทุนในการดำเนินที่มากกว่าคดีปกติทั่วไป

อีกทั้งความเสียหายจากมลพิษมักจะเกิดขึ้นกับประชาชนในระดับรากหญ้าในท้องถิ่นต่างๆ ทำให้ไม่ค่อยปรากฏการดำเนินคดีทางกฎหมายเกิดแม้จะได้รับผลอย่างรุนแรงก็ตาม

อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพที่ทำให้สามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิของตน ดังกรณีสารเคมีระเบิดที่คลองเตย หรือกรณีเครื่องฉายโคบอลท์ 60

การบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ

หน่วยงานรัฐเป็นองค์กรหนึ่งที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายทั้งในด้านของการป้องกันและการลงโทษผู้ที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น โดยมีกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.การสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านของการกำหนดนโยบายและแผนด้านสิ่งแวดล้อม และการระงับเหตุที่เป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจาย

อำนาจที่สำคัญอีกประการคือการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่เป็นเจ้าของแหล่งมลพิษที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และหากหน่วยงานรัฐได้ดำเนินการใดๆ ไปเพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นก็สามารถเรียกจากผู้ที่เป็นต้นเหตุได้

แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าการดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูความเสียหายของมลพิษ มักเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทันท่วงทีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีสารตะกั่วแพร่กระจายในลำห้วยคลิตี้ซึ่งปรากฏเป็นข่าวมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 จวบจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดสารตะกั่วออกไปจากลำน้ำแต่อย่างใด แม้จะมีสารชาวบ้านทุพพลภาพและเสียชีวิตด้วยเหตุให้สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับภาวะปนเปื้อนตะกั่วในลำน้ำก็ตาม

ดังนั้น ถ้าจะไม่มีการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่อ่างทองนอกจากปล่อยให้น้ำเน่าไหลไปตามธรรมชาติ ก็พึงตระหนักว่าเป็นมาตรการตามปกติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หรือในกรณีที่หน่วยงานรัฐได้เข้าแก้ปัญหาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสภาวะปกติ ก็ไม่เคยปรากฏว่าจะมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐในการเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการไปจากผู้ก่อเหตุ

การแพร่กระจายของสารแคดเมียมที่แม่ตาว จังหวัดตาก รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในอดีตยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องหาต้นเหตุ เพียงการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายก็เป็นการเพียงพอแล้ว

ลำน้ำพองซึ่งเคยเกิดน้ำเน่าเสียจนทำให้สัตว์น้ำทั้งลำน้ำแทบสูญพันธุ์ เมื่อเหตุการณ์ยุติลงทางผู้ก่อมลพิษก็ไม่ได้ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายในการกระทำของตนเอง ท่าทีที่ในลักษณะเช่นนี้ไม่แตกต่างไปจากที่ได้เกิดขึ้นในเหตุการณ์แพร่กระจายมลพิษอื่นๆ

รัฐเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ไว้ ซึ่งท้ายสุดก็คือประชาชนที่เป็นผู้แบกรับความเสียหายซึ่งอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อขึ้น

มุ่งหน้าสู่สังคมมลพิษ

การแพร่กระจายของมลพิษในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญหรือเพราะโชคชะตา หากเป็นผลเกี่ยวข้องกับนโยบายและระบบกฎหมายที่หย่อนยานในการควบคุมมลพิษของภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่เริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกสืบเนื่องติดต่อกันมา

ท่ามกลางนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อบรรยากาศและความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ทำให้ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพโดยหน่วยงานรัฐแม้ว่าตัวบทกฎหมายให้อำนาจไว้จะมีอยู่ไม่น้อย ไม่มีอุตสาหกรรมใดถูกลงโทษจากการปล่อยมลพิษเข้าสู่พื้นที่สาธารณะอย่างสาสม ประเทศไทยจึงเป็นสวรรค์ของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษโดยนักลงทุนและผู้ประกอบการไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการลงโทษ หากมีบ้างก็เป็นเพียงค่าปรับจำนวนเล็กน้อย

สำหรับบุคคลธรรมดา หากต้องการใช้มาตรการทางกฎหมายเมื่อได้รับความเสียหายจากมลพิษ ก็ประสบกับอุปสรรคและความยุ่งยากนานัปการทั้งที่เกิดขึ้นจากตัวบทกฎหมายและขั้นตอนของการฟ้องร้องคดี จนทำให้มีเหลือจำนวนน้อยมากที่จะใช้ช่องทางทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน การดำเนินคดีโดยบุคคลธรรมดาเป็นข้อยกเว้นที่หาได้ยากยิ่ง

ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่าสังคมไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมที่อุดมมลพิษอย่างเต็มที่

ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act04230350&day=2007/03/23&sectionid=0130

คำสำคัญ (Tags): #สังคมมลพิษ
หมายเลขบันทึก: 85844เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นอกจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ผมว่า "วินัย" ของทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง การใช้ทรัพยากรต่างๆ โดยที่ไม่ได้ตระหนักถึงสำนึกร่วมว่าทรัพยากรเหล่านั้นเป็นสมบัติของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันใช้อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้มลพิษในสังคมน้อยลงได้

ด้วยความเคารพรัก

มันก็จริงนะคะ ที่จะบอกว่าสารพิษเหล่านี้มาจากไหน ควันพิษที่ลอยมาตามอากาศก็ไม่ได้บ่งบอกว่ามาจาโรงงานแห่งใด หากอยู่ในแหล่งอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ปัญหาเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยนักวิจัยหรือผู้ชำนาญมาพิสูจน์ ซึ่งก็ทำได้ยากค่ะ นอกจากจะขึ้นโรงขึ้นศาล และศาลมีคำสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ แต่ชาวบ้านธรรมดาจะไปร้องเรียนทั้งทียังบอกไม่ได้เลยค่ะว่าจะเอาผิดกับใคร จะแจ้งเอาผิดกับทุกโรงงานที่อยู่เเถวนั้นคงขำดีนะคะ ^_^

*** ปัทได้ตอบคำถามที่คุณถามมาแล้วนะคะ***

http://gotoknow.org/ask/minisock/4907

P

ขอบคุณครับที่มาเยี่ยมชมและตอบคำถาม

ด้วยรัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท