อบรม-เผชิญความตายอย่างสงบ ๑: แค่ชื่อก็ได้เรื่องแล้ว


แค่อ่านชื่อการอบรมได้จบบรรทัด แล้วสังเกตความคิดของตนเอง ก็เหมือนได้ดูหนังตัวอย่าง ได้อะไรเป็นข้อคิดกลับไปแล้ว

    ๑๗-๑๙ มีนาคม ที่ผ่านมา มีการอมรมเรื่อง เผชิญความตายอย่างสงบ ที่สวนสายน้ำ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเครือข่ายพุทธิกา เสมสิกขาลัย และหน่วย palliative care ชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์              

    การอบรมนี้ เดิมเป็นหนึ่งกิจกรรมในโครงการชื่อเดียวกันของเครือข่ายพุทธิกา ที่ีมี หลวงพี่ไพศาล วิสาโล เป็นองค์ประธาน พี่นก..นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ เป็นผู้ประสาน ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. แต่เนื่องจากมีผู้สนใจสมัครเข้าอบรมกันเกินจำนวนทุกครั้ง ทั้งๆที่ชื่อฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าเข้าร่วมสักเท่าไร

    ลองจินตนาการดูสิครับ เวลาตัวท่านเองบอกคนที่บ้านว่าจะมาเข้าอบรม... หรือตั้งใจจะชวนหรือบอกคนที่เรารักให้มาร่วมอบรม ท่านรู้สึกอย่างไร
    อาจารย์แพทย์รุ่นน้องคนหนึ่ง มาบอกผมตรงๆว่า "อยากชวนพ่อมาเข้า แต่เห็นชื่อแล้วไม่กล้า"
    ปีกลายเราจัดอบรมที่นครปฐม ตอนพาผู้เข้าอบรมไปปฏิบัติจริงที่โรงพยาบาลนครปฐม ต้องเหมารถตู้หลายคันเดินทาง ตรงหน้ารถตู้เราเอากระดาษเขียนชื่อการอบรมไปติดไว้หรา ..ก็เขาก็ติดกันทั้งนั้น ผมวาดภาพไม่ออกว่าคนขับรถเขาจะทำหน้ายังไง เวลามีรถสวนหรือคนเดินผ่าน แล้วเห็นข้อความสั้นๆแต่ได้ใจความที่หน้ารถว่า ..เผชิญความตายอย่างสงบ
    กลัวจังว่าจะมีคนโบก..ขอไปด้วย..
    ตอนไปถึงโรงพยาบาล รถของกลุ่มเราก็จอดหน้าโรงพยาบาลพร้อมป้ายอันนี้ ไม่ทันสังเกตว่าคนไข้และญาติที่เดินผ่านไปผ่านมาทำหน้ายังไง


    หลวงพี่ไพศาลท่านจงใจให้ใช้ชื่อการอบรมแบบนี้ครับ
มันกระแทกใจได้ชะงัดนัก ผมว่า แค่อ่านชื่อการอบรมได้จบบรรทัด แล้วสังเกตความคิดของตนเอง ก็เหมือนได้ดูหนังตัวอย่าง ได้อะไรเป็นข้อคิดกลับไปแล้ว แล้วก็เป็นเช่นนั้น แฟนพันธ์ุแท้ไม่กลัว(คำว่า)ความตาย สมัครกับตรึม จนเครือข่ายพุทธิการับไม่ไหว องค์กรต่างๆที่สนใจโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ตื่นตัวด้านนี้ จึงต้องขอวาระพิเศษ..การอบรมเป็นพิเศษนอกเหนือจากตารางตามโครงการเดิม

    การอบรมครั้งนี้หน่วย palliative care โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยอาจารย์สกล และ น้องแย..คุณสุนี นิยมเดชา พยาบาลประจำหน่วย ต้องขอคิวล่วงหน้าข้ามปี เพราะท่านวิทยากรหลักคือ หลวงพี่ไพศาล น้องเล็ก..ปรีดา เรืองวิชาธร น้องแป้ง..กิติพร พรหมเทศน์จากเสมสิกขาลัย มีกิจนิมนต์และตารางอบรมแน่นมาก  ผมแอบเห็นปฏิทินงานของทั้งสามท่านแล้ว นึกในใจว่า เล่มมันเล็กเกินไป กระดาษก็บอบช้ำราวกระดาษชำระใช้แล้ว

    นับว่าเป็นความเมตตาของหลวงพี่เป็นอย่างสูง ต่อชาวใต้อย่างเรา


  : ทีมวิทยากรกำลังปรึกษากันเรื่องการจัดอบรมครั้งต่อไป

   ผมมีโิอกาสไปร่วมในฐานะ..วิทยากรทางการแพทย์ ร่วมกับพี่ฟ่ง..คุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ พยาบาลหน่วยรังสีรักษา..วิทยากรด้านการพยาบาล ซึ่งต่างคนก็เคยร่วมในโครงการนี้ มาตั้งแต่ต้น

    ตั้งใจจะทะยอยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ กระบวนการ ลง blog นี้ในอัตราช้า..ถึงช้ามากและอาจไม่จบ สำหรับผู้ที่สนใจการอบรม แต่ยังมีเหตุผลดีๆขออนุญาตคนที่บ้านมาร่วมจริงๆไม่ได้ ลองติดตามและตอบคำถามต่างๆใน blog นี้ไปเรื่อยๆนะครับ   

 

    ส่วนใครที่อดใจไม่อยู่ รออ่านของผมไม่ไหว ลองหาหนังสือที่หลวงพี่กับน้องเล็กเขียนไว้ ชื่อ เผชิญความตายอย่างสงบ: สาระและกระบวนการเรียนรู้ (ฉบับความรู้พื้นฐาน) มาอ่านได้ครับ หรือถ้าอยากอ่านเกี่ยวกับ เนื้อหา ที่ได้จากการอบรมที่สวนสายน้ำครั้งนี้ ก็ต้อง ที่นี่่ เลย เขียนโดยอาจารย์สกล ซึ่งมีอัตราการเขียนตรงกันข้ามกับผมอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ปาเข้าไป ๑๐ ตอนจบแล้ว

    คำถามสำหรับบันทึกนี้                                                                                             


    ๑. เห็นชื่อการอบรมนี้แล้ว รู้สึกอย่างไร อยากเข้าร่วมหรือไม่ เพราะเหตุใด
    ๒. ข้อนี้ขอแบ่งเป็นสองกรณี
        ๒.๑. ถ้าท่านอยากเข้าอบรมเอง ท่านจะบอกคนใกล้ชิดอย่างไร เช่น คุณสามีต้องขออนุมัติงบประมาณจากศรีภรรยา
        ๒.๒. ถ้าท่านอยากให้คนที่ท่านรักเข้าร่วม ท่านจะไปชวนเขาอย่างไร


    อยากชวนคิด ชวนให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ

 

                                                         อบรม-เผชิญความตายอย่างสงบ ๒: ทำไมต้อง..สวนสายน้ำ >>

หมายเลขบันทึก: 85837เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • เป็นการอบรมที่ดีมากเลยครับ
  • ดูทีมวิทยากรเป็นกันเองดี
  • ดูจากภาพทุกๆท่านน่าจะมาความสุขนะครับ
  • ขอบคุณครับ

อาจารย์ขจิต  ครับ

  • ยังไวเหมือนเดิมเลยนะครับ
  • อยากชวนให้ตอบคำถามท้ายบันทึกด้วยครับ 
  • 1 ตอบว่า อยากเข้ารับการอบรมครับเพราะเป็นคนสนใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ
  • 2.1 บอกว่าไปฝึกจิตใจ(หาคนรู้ใจยังไม่ได้ครับ)
  • 2.2 ชวนแน่นอนแต่ต้องดูก่อนว่าเธอชอบแบบเราไหม(ไม่กล้าขัดใจเธอเกรงใจ)
  • ขอบคุณมากครับผม

อัตราเร็วไม่สำคัญครับ บทความพี่เต็มผมว่ามีคนจองคิวไม่แพ้ Harry Potter ภาคอวสานนี้แน่นอน (แฮ่ะๆ เว่อไปนิด จิตแจ่มใส)

  1. เรื่องชื่อ ผมเฉยๆ ไม่รู้สึกด้านลบอะไร ด้านบวกคิดว่าน่าสนใจ เพราะคนจะเผชิญความตาย คิดก็เริ่มไม่สงบ คำว่า "อย่างสงบ" เลยเป็น contradiction กับสิ่งที่แวบมาในสมองพอดิบพอดี (อย่างกะรู้ใจ)
  2. พอดีง่ายครับ ผมอบรมและเป็นวิทยากรมืออาชีพอยู่แล้ว อืม.... ถ้าจะชวนใครมาด้วยหรือ อันนี้ไม่เคยคิด อาจจะเป็นเพราะผมคิดว่าเรื่องเรียนเป็นเรืองความพร้อมส่วนตัว แต่ก็ถามทุกครั้งนะครับ ไม่เคยขะยั้นขะยอ ผมไม่เคยคิดว่าคนที่ยังไม่ได้อบรมจะแปลว่ายังไม่ได้เตรียมตัว เพราะเชื่อว่าการเตรียมตัวมีหลายแบบ และแต่ละแบบนั้นก็เหมาะต่อแต่ละคน การอบรมอะไรดีๆ (เช่นโครงการนี้ หรือสุนทรียสนทนา) ผมก็แค่เล่าให้ฟังว่าชอบ กับเกร็ดเล็กน้อย ถ้าใครสนใจถามเพิ่มก็ตอบเพิ่ม ไม่ค่อยสอดใส่อารมณ์มากมาย อย่างมากก็โยนคำถาม "กวน" (คำฮิตยุคนี้ บรรดากระบวนกรใช้เยอะมาก บ่อยมาก) ลงไป

อาจารย์ขจิต ครับ

  • ชวนแบบว่า "นี่เธอ ไปอบรม..เผชิญความตายอย่างสงบ..กับฉันมั๊ย" ทำนองนี้รึเปล่าครับ
  • ผมว่า ถ้าเพิ่งคบกันใหม่ๆ อาจได้เป็นโสดไปตลอดชีวิต  ..เหมือนผมนะครับ

สกล

ครับ

  • เพิ่งเห็นว่าเปลี่ยนรูปใหม่
  • คราวอบรมครั้งที่แล้ว มีคนบอกว่า ไม่ได้ชวนโดยตรง แต่ใช้วิธีแกล้งทำแผนพับโฆษณาวางทิ้งไว้ให้เขามองเห็น

ชอบบันทึกชุดนี้ของอาจารย์นะคะ อ่านย้อนหลังมาจากบันทึกที่ 3 ค่ะ ได้บรรยากาศไปอีกแบบ รู้สึกว่าอ่านความเห็นโต้ตอบของอาจารย์หมอทั้ง 2 ท่านแล้วสนุกจังค่ะ เวลาคุยกันจริงๆก็เป็นแบบนี้หรือเปล่าคะ

ตอบคำถามประจำบันทึกค่ะ (อันนี้ก็เท่ห์ดีนะคะ เป็นการเป็นงานดีค่ะ...ยิ้ม...ยิ้ม)

1. ชอบชื่อค่ะ ชวนคิดดี เห็นว่าคนไปเยอะแล้วก็เลยไม่อยากไปแย่งคิวค่ะ และเป็นมนุษย์ภาระเยอะค่ะ ไม่ชอบไปไหนแบบลูกตามตัวไม่ได้เป็นวันๆ รวมทั้งคิดว่าตัวเองมีมรณานุสติติดตัวทุกวันเลยค่ะ ไม่รู้เป็นยังไง คิดได้ทุกวันว่าถ้าพรุ่งนี้ไม่ตื่นขึ้นมา ก็ไม่ห่วงอะไร เพราะทำวันนี้เต็มที่แล้ว เคยคิดบ่อยๆเหมือนกันค่ะว่า ถ้ารู้ตัวว่าเหลือเวลาอีกแค่วันเดียวจะทำอะไร แล้วก็ตอบตัวเองได้ว่า ก็ทำแบบที่ทำอยู่นี่แหละค่ะ เดาเอาว่าตัวเองคงเผชิญความตายได้อย่างสงบค่ะ (ของตัวเองนะคะ แต่ของคนอื่นรอบๆตัวนี่ ทำใจไม่ค่อยได้อยู่เรื่อย)

2. ก็บอกตามความจริงค่ะ ถ้าตัวเองอยากไป แต่ปกติจะพยายามไม่ตัดสินใจอะไรแทนคนอื่นถ้าทำได้ ก็คงเคารพความคิดเห็นของคนที่เรารักนะคะ ก็เล่าให้ฟังว่ามีการอบรมแบบนี้นะ สนใจไหม เป็นคล้ายๆคุณ Phoenix ที่คิดว่าความพร้อมของคนไม่เหมือนกัน ถ้าคิดว่าอะไรดี ก็แค่บอก และเล่าให้ฟังว่าเราชอบยังไง (ถ้าเขาสนใจ) ว่าแล้วก็เหมือน GotoKnow นี่แหละค่ะ ก็บอกว่าดี เราชอบยังไง ใครจะเข้ามาก็ช่วยถ้าเขาต้องการแต่ไม่เซ้าซี้ค่ะ

ตอบยาวไปไหมคะนี่ ยิ่งเขียนยิ่งเพลิน เดี๋ยวยาวกว่าเจ้าของบันทึกละ...แย่เลย ขอบคุณที่อ่านมาจนจบค่ะ

ดีใจครับ ที่มีคนไม่เสทือนกับคำว่า ความตาย อย่างคุณโอ๋

แต่เท่าที่สังเกต เรื่องทำนองนี้ ทั้งบันทึกของผมและอาจารย์สกล มีคนแวะเข้ามาดูน้อยนัก เป็นธรรมดาของคนเราจริงๆครับ

คำถามที่ดูเป็นทางการของผม ก็เพราะมันเป็นประเด็นที่เจอในการจัดอบรมทุกครั้งครับ

  • เห็นชื่อแล้วไม่กล้าเข้า
  • ไม่กล้าบอกคนข้างตัว

 

     ตามมาอ่านค่ะ คุณหมอเขียนได้เพลินเพลินมากค่ะ

      ไม่พูดพล่ามทำเพลงนะคะ ตอบคำถามเลยค่ะ (มีรางวัลไหมคะเนี่ย)

      1.เห็นชื่อนี้แล้วรู้สึกชอบค่ะ อยากเข้าร่วมค่ะ เพราะอยากจะเตรียมตัวไว้สำหรับตอนตัวเองเผชิญกับความตายอย่างสงบให้ได้เหมือนกัน

       2.1 จะบอกว่าขอไปอบรมเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องนึงในชีวิต ของบประมาณเยอะหน่อยนะคะ เอ๊ยไม่ใช่ขออนุมัติไปหน่อยค่ะ

        2.2 จะบอกว่าเรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะเราต้องเจอกันทุกคน และเราก็กลัวกันแทบทุกคน และเราก็ไม่รู้จักความตายด้วยตัวเองด้วย ลองไปด้วยกันไหมหรือถ้าไม่ไปเราลองไปดูก่อนก็ได้ ถ้าดีคราวหน้าเธอค่อยไปเนอะ

หมอนิด ครับ 

  • ค่อนข้างมั่นใจครับ น่าจะเป็นรุ่นน้องผม คิดว่างานนี้ผมไม่น่าจะพลาดแบบ พี่มาโนช อีก
  • ยินดีต้อนรับเข้าวงครับ
  • ดูจากคุณหมอเขียนแล้ว คนที่ชวนหรือคนที่อนุญาตให้มาอบรม น่าจะชินกับเรื่องนี้พอสมควรแล้ว มาท้งคู่เลยก็ได้ครับ ผมเห็นหลายคู่ที่มาในการอบรม ต้องบอกว่า น่ารักมากๆ ที่เรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน

ตามมาอ่านค่ะ ทราบมาเหมือนกันว่าอาจารย์หมอเต็ม อาจารย์สกล ก็ถือเป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายพุทธิกา กุ้งเข้าอบรมครั้งเเรกทีมวิทยากรก็เป็นคุณเล็ก พี่ฟ่ง พระอาจารย์ไพศาล ขาดท่านไม่ได้อยู่แล้วใช่มั๊ยคะ โดยส่วนตัวรู้สึกว่าทุกครั้งที่เข้าเห็นบรรยากาศการอบรม เชื่อว่าทุกคนได้อะไรกลับไปมากกว่าที่คาดไว้ กุ้งก็ได้หนังสือที่อาจารย์เเละทีมรวบรวม เรื่องราวการดูเเลผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับบ้านไป 1 เล่มและหนังสือที่พระอาจารย์เขียนหลายเล่ม เพราะคิดว่าสามารถเป็นเเนวทางในการช่วยเหลือคนไข้ระยะสุดท้ายได้ดีทีเดียว

  • ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายพุทธิกาและหลวงพี่ นับเป็นบุญของตนเองนะครับ ขออนุโมทนาด้วย
  • ความรู้สึกส่วนตัว คือ ทำงานด้วยแล้วเรารู้สึกเย็น ไม่ร้อนเหมือนทำงานกับบางองค์กรหรือผู้ทรงคุณวุฒิบางคน
  • น้องกุ้งคงเคยสังเกตนะครับ เวลาเราเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมบางอย่าง ทั้งๆท่ีเป็นกิจกรรมที่ดี แต่ใจเรากับไม่สงบ ร้อนรุ่ม 
  • ลองตามดูใจของเราเองด้วยนะครับ

กุ้งเห็นด้วยค่ะอาจารย์ เพราะว่าเเค่มองเพ่งพิศดูท่านเราก็สงบเเล้ว ท่านผ่องใสมาก

ใบหน้าอิ่มเอิบ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ได้เเจ้งทางทีมเครือข่ายพุทธิกาในวันสุดท้ายของการอบรมว่าหากคิดว่าสิ่งที่กุ้งเเชร์ออกไปนั้นถ้าเป็นประโยช์บ้างก็ขอปวารณาเข้าร่วมเป็นวิทยากรด้วย จริงๆวันนั้นอาจารย์หมอมดตั้งใจจะให้พูดเรื่อง bereavement care

ด้วยเเต่พอดีไม่ได้เตรียมกับพี่สุ้ย กุ้งเลยได้รับมอบหมายให้พูดแทนพี่เกศเรื่อง หลักการ

approach คนไข้ เพราะพี่เกศติดเป็นวิทยากรให้ทางศิริราช อาจารย์คะพอเห็นการเขียนจดหมายถึงผู้ตายกุ้งเลยปิ๊งไอเดีย เรื่องที่เราจะเเทรก bereavement care

ให้ผู้เข้าอบรม น่าจะมีบทบาทสมมุติให้กำลังใจคนที่สูญเสีย อาจจะสมมุติให้เขาเขียนจดหมายโดยเขียนจากใจพยาบาลที่เคยดูแลคนไข้ถึงครอบครัวสูญเสีย กุ้งอยากเห็นค่ะ

เสนอไอเดียในการทำ work shop ค่ะ อ่ออีกอย่างเจอพี่เเก้วค่ะวันนี้

ความคิดถึงเดินทางมาถึงเเล้วนะคะ รับเอาไว้เเล้วค่ะ

P

  • น่าสนใจครับ บทบาทสมมุติ เรื่องการให้กำลังใจผู้สูญเสีย 
  • ผมคิดถึงเรื่องเล่าของอาจารย์แชมป์..พรเลิศ ที่จุฬาฯ

วีรบุรุษตัวจริงในเหตุการณ์ซานติก้าผับชาวญี่ปุ่น ที่เข้าไปช่วยคนจนตัวเองต้องมาเสียชีวิตในไอซียู​รพ.จุฬาฯ พี่สาวที่มาดูใจกันตอนเสียชีวิต หมอและพยาบาลยืนอยู่เฉยๆในช่วงเวลานั้น อยู่กับความสูญเสียของพี่สาว แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท