วิชชาธรรมกายเบื้องต้น การรวมใจทำอย่างไร?


วิชชาธรรมกายเบื้องต้น การรวมใจทำอย่างไร?

โดยอาจารย์การุณย์  บุญมานุช

     การรวมใจทำอย่างไร? พระศาสดาสอนอย่างไร

(๑) สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำชั่ว (บาป) ด้วยประการทั้งปวง

(๒) กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำดี (กุศล) ทุกประการให้บริบูรณ์

(๓) สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจให้สว่างใส

     คำสอนข้อ ๓ ให้ทำใจใสสว่าง เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุด มุ่งการพัฒนาใจเป็นสำคัญ เพราะใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ใจสั่งอย่างไร กายก็ทำอย่างนั้น

     ถ้าใจสว่างใส ก็สั่งทำแต่สิ่งที่เป็นกุศล
     หากใจขุ่นมัว ก็สั่งแต่สิ่งที่เป็นบาป
     การพัฒนาใจนี้เอง หากฝึกให้ยิ่งขึ้นแล้ว จะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ คือให้พบธรรมวิเศษ

     ในขั้นนี้ เรามาทำความข้องใจของเราให้ยุติเสียก่อน ความข้องใจของเรามีอยู่ว่า การพัฒนาใจมนุษย์ช่วยแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงหรือ? พระศาสดาได้กล่าวยืนยันไว้ที่ไหนและอย่างไร? พระศาสดาทรงกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก

     นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ แปลว่า สุขอื่นใดไม่เท่าความสงบแห่งใจ

     มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา สิ่งทั้งหลายมีใจปกครอง ใจย่อมเป็นใหญ่ งานใดๆ สำเร็จด้วยใจ

     พระศาสดากล่าวถึงประโยชน์ของการพัฒนาใจไว้มาก ดังนี้

๑) จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกจิตเป็นการดี

๒) จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้

๓) จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต

๔) จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ จิตที่คุ้มครองดีแล้วนำสุขมาให้

๕) มนสา สํวโร สาธุ การสำรวมใจเป็นการดี

๖) มโนปโกปํ รกฺเขยฺย พึงรักษาความกำเริบทางใจ

๗) มนสา สํวุโต สิยา พึงเป็นผู้ระวังทางใจ

๘) มโนทุจฺจริตํ หุตวา พึงละมโนทุจริต

๙) มนสา สุจริตํ จเร พึงประพฤติสุจริตทางใจ

๑๐) จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคคติ ปาฏิกงขา เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้

๑๑) จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้

๑๒) เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ผู้สำรวมจิตจึงพ้นบ่วงมาร

ใจคืออะไร ?

     เรื่องของใจ เป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะใจไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น
     เมื่อยากอย่างนี้ แล้วเราจะฝึกใจของเราได้อย่างไร พระศาสดาทรงทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว ถึงจะยาก เราก็ต้องพยายาม พระไตรปิฎกพูดถึงเรื่องของใจไว้บ้าง ดังนี้

(ก) ใจที่ยังไม่ได้ฝึกมีลักษณะ ๔

๑) ผนฺทนํ มีลักษณะดิ้นรน
๒) จปลํ กลับกลอก
๓) ทุรกฺขํ รักษายาก
๔) ทุนฺนิวารยํ ห้ามได้ยาก

(ข) ธรรมชาติของใจ ๕

๑) สุทุทฺทสํ เห็นได้ยาก
๒) สุนิปุณํ ละเอียดยิ่งนัก
๓) ทุนฺนิคฺคหํ ข่มได้ยาก
๔) ลหุ เร็ว (เกิดดับเร็ว)
๕) ยตฺถ กามนิปาตินํ มักตกไปในอารมณ์ความใคร่

(ค) ธรรมชาติใจ ๒ อย่าง

๑) ใจนี้ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
๒) จะให้ใจผ่องใสเหมือนเดิม ก็ด้วยจิตภาวนา

     ใจเป็นของละเอียด มองด้วยตาไม่เห็น แต่ใจแสดงอาการ ๔ อย่าง คือ

๑) เห็น ได้แก่ การที่เรามองเห็นสิ่งทั้งหลายรอบตัวของเรา เราเกิดความรู้สึกว่า “เห็น”

๒) จำ ได้แก่ การที่เราจำเรื่องราว จำชื่อคน เราเกิดความรู้สึกว่า “จำ”

๓) คิด ได้แก่ การที่เรานึก ใคร่ครวญ ลองทำ มุ่งเอาความรู้สึกว่า “คิด”

๔) รู้ ได้แก่ ความสำเร็จจากการคิด การนึกได้ มุ่งเอาความรู้สึกว่า “รู้”

     ดังนั้น ใจ คือ การรวมเอา เห็น จำ คิด รู้ เข้าด้วยกันให้เป็นจุดเดียวกัน

การรวมใจทำอย่างไร

     มีใครบอกให้เรารวมใจ เราจะทำอย่างไร ในทางปฏิบัติท่านให้รวมความรู้สึกนึกคิด เป็นหนึ่ง คือให้เป็นจุดเดียวกัน นั่นคือให้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ รวมเป็นจุดเดียวกัน

     ผลของการรวมใจเป็นจุดเดียวกัน ช่วยให้ใจมีสุขภาพดีขึ้น ใจรู้สึกมีกำลัง มีความแข็งแรง มีความเข้มแข็ง พอที่จะทำการใดๆ ประหนึ่งสายน้ำหลายกระแสรวมเป็นกระแสเดียวกัน ย่อมมีพลัง

     ใจของคนมีสติ ต่างกับใจของคนขาดสติ คนมีสติรวมใจได้ง่าย แต่คนขาดสติรวมไม่ได้ ถึงจะรวมได้ก็ใช้เวลาฝึกกันนาน ส่วนคนที่เสียสตินั้น รวมใจไม่ได้เอาทีเดียว

     การรวมใจ คือ การเอา เห็น จำ คิด รู้ มารวมกัน นั่นคือการเอาความรู้สึกมารวมเป็นจุดเดียวกัน เราเคยทำใจลักษณะนี้ เมื่อเรามีความตั้งใจที่จะต่อสู้หรือเมื่อมีโอกาสที่เราเตรียมใจที่จะรับ กับเหตุการณ์อะไรสักอย่าง แต่เราไม่ได้สังเกตว่าเราทำใจอย่างไรเท่านั้น

จะรวมใจตั้งไว้ที่ตรงไหน

     ถ้าตั้งใจในที่ ถูก เราจะปลอดภัยไปตลอด

     ถ้าตั้งใจในที่ ผิด เราจะพลาดไปตลอดชีวิต

*******************

     จุดหมาย “ที่ตั้งของใจ” คือศูนย์กลางกาย อยู่ในท้องของเราตรงฐานที่ ๗ เมื่อตั้งใจไว้ตรงศูนย์กลางกายแล้วใจก็จะทำงาน งานของใจคือ แสวงหาทางเดิน แต่ทางเดินของกายกับทางเดินของใจไม่เหมือนกัน กายก็มีทางเดินของกาย ส่วนใจก็มีทางเดินของใจ ดังนี้ คือ

(ก) กายมรรค (ทางเดินของกาย) มี ๓ คือ

๑ สถลมรรค ทางบก
๒ ชลมรรค ทางน้ำ
๓ อากาศมรรค ทางอากาศ

(ข) มโนมรรค (ทางเดินของใจ) มี ๕ อย่าง คือ

๑ มรรคอบาย ได้แก่ การประพฤติ อกุศลกรรมบถ ผู้ประพฤติไปสู่อบาย(ทุคติภูมิ)
๒ มรรคสวรรค์ ได้แก่ การประพฤติ กุศลกรรมบถ ผู้ประพฤติไปสู่สวรรค์(สุคติภูมิ)
๓ มรรคทางพรหม ผู้ประพฤติได้ รูปฌาณ ๔
๔ มรรคทางอรูปพรหม ผู้ประพฤติได้ อรูปฌาณ ๔
๕ มรรคทางนิพพาน ผู้ประพฤติได้ อริยมรรค ๘

     ใจของเราจะเลือกเดินมรรคทางใด

     แน่นอน ท่านเลือกมรรคทางนิพพาน เมื่อเลือกมรรคทางนิพพาน ก็ต้องเรียนอริยมรรค ๘ ให้เข้าใจ เพื่อจะได้เดินตามหลักมรรค ๘ ได้ถูกต้อง

****************

อริยมรรค ๘ หรือ มรรค ๘ นั้น เป็นดังนี้

๑ สัมมา วาจา วาจา ชอบ
๒ สัมมา กัมมันตะ การงาน ชอบ
๓ สัมมา อาชีวะ เลี้ยงชีพ ชอบ
๓ อย่างนี้เป็น ศีล

๔ สัมมา วายามะ ความเพียร ชอบ
๕ สัมมา สติ ระลึก ชอบ
๖ สัมมา สมาธิ ตั้งใจ ชอบ
๓ อย่างนี้เป็น สมาธิ

๗ สัมมา ทิฏฐิ ความเห็น ชอบ
๘ สัมมา สังกัปปะ ดำริ ชอบ
๒ อย่างนี้เป็น ปัญญา

     สรุปแล้ว มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญหาจึงเกิดแก่เราว่า ทำอย่างไร จึงจะเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นมรรค ๘

     ศีล ที่ควรแก่การงานตามนัยมรรค ๘

     “ปกติศีล” สภาพใจที่สำรวม ไม่ละเมิดข้อศีล เช่น ไม่คิดฆ่าสัตว์ แต่ถ้าคิดก็ระงับความคิดนั้น ศีลในลักษณะนี้ กำจัดอวิชชาไม่ได้ กำจัดทุกข์ไม่ได้ กำจัดภัยไม่ได้ กำจัดโรคไม่ได้ ปกติศีลจึงไม่มีฤทธิ์ ไม่มีอานุภาพ กิเลสไม่กลัว ศีลลักษณะนี้

     “อธิศีล” คือ ศีลตามนัยมรรค ๘

     เป็นการรวมใจ ระวังใจ เข้มงวดกวดขันยิ่งกว่า “ปกติศีล”
เป็น การรวมใจ ระวังใจ จนสภาพใจ ใสสะอาด เกิดความบริสุทธิ์ด้วย “ใจ” เป็นดวงแก้ว ใสสว่างโชติ ในท้องของตน คือมีใจใสเหมือนดวงแก้วมณีโชติ ใจลักษณะนี้ เป็นสภาพใจตามนัยมรรค ๘ เรียกว่า “อธิศีล” เป็นใจที่ควรแก่งาน กำจัดอวิชชาได้ กำจัดทุกข์ได้ กำจัดภัยได้ กำจัดโรคได้ เป็นใจที่มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ

     กิเลส ตัณหา อุปาทาน กลัว อธิศีล ยิ่งนัก
     อธิศีล อยู่ที่ไหน กิเลสพังที่นั่น
     ถ้าอยากพ้นทุกข์ อยากหมดกิเลส จงทำ อธิศีล ให้เกิดแก่ใจตน

     สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น หรือยึดมั่นอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว สมาธิที่ว่านี้เป็นสมาธิเบื้องต้น ไม่เป็นสมาธิที่ควรแก่งาน
     ส่วนสมาธิ ตามนัยแห่งมรรค ๘ จำต้องประคองใจ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น จนกระทั่งเห็นสภาพใจมั่น เป็นดวงใสด้วยใจของตน จึงเป็นสมาธิที่ควรแก่งาน ควรทำให้เป็นขึ้น ทำให้มีขึ้น

     ปัญญา แปลว่าความรอบรู้ การคิดได้ นึกได้ ให้สังเกตว่าในสภาวะที่ใจเราฟุ้งซ่านเรามักนึกอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออกเกิดความสับสน
แต่ เวลาที่เราอารมณ์ดี หรือขณะที่ใจเราสงบระงับ เรามักคิดอะไรได้ นึกอะไรได้ นึกอะไรออก นี่คือ ถ้าสมาธิดีทำให้ปัญญาเรือง หากสมาธิทราม ปัญญาก็อ่อน

     ดังนั้น การฝึกดวงปัญญา ขึ้นอยู่กับการทำสมาธิ ถ้าดวงสมาธิเกิด ดวงปัญญาย่อมเกิดตาม เป็นอันสรุปได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

     การกำหนดใจ การวางใจ การตั้งใจ จะตั้งตรงไหน
     จะเอาใจไปตั้งไว้ตรงไหน ท่านต้องทราบ
     ถ้าท่านตั้งใจ ผิดที่ ท่านจะ ผิด ตลอดไป
      ถ้าท่านตั้งใจ ถูกที่ ท่านจะ โชคดี จนตลอดชีวิต

     ที่ตั้งของใจ คือ “ที่ศูนย์กลางกาย” ตรงฐานที่ ๗ ในท้องของท่าน 

เหตุใดจึงเอาใจไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย

     ๑ เพราะที่ศูนย์กลางกาย เป็นที่ตั้งของดวงธรรม ที่เรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเรียกอีกอย่างว่า ดวงปฐมมรรค ถ้าไม่ตั้งใจตรงนี้ แปลว่า ไม่ถูกมรรค คือไม่ถูกทาง

     ๒ เพราะที่ศูนย์กลางกาย เป็นที่สุดชองลมหายใจเข้า เป็นที่เกิด เป็นที่ดับ เป็นที่หลับ เป็นที่ตื่น ที่สุดของลมหายใจเข้าเป็นจุดหมายที่หยุด เป็นจุดหมายที่นิ่งของใจ เป็นจุดหมายเห็นธรรมของใจ

     เป็นที่เกิด หมายความว่า เป็นจุดที่ใจของมนุษยโลก ต้องหยุดและนิ่งตรงนั้นจึงเกิดได้

     เป็นที่ดับ คือตาย เมื่อจะตายใจต้องหยุดตรงนั้นก่อนแล้วจึงตาย

     เป็นที่หลับ คือนอนหลับ ใจหยุดตรงนั้นจึงหลับ ถ้าใจไม่หยุดตรงนั้นจะหลับไม่ได้เลย

     เป็นที่ตื่น คือตื่นจากนอนหลับ ใจหยุดตรงนั้นแล้วจึงตื่น อีกความหมายคือ ตื่นจากอวิชชา หมายความว่า “เห็นธรรมตรงนั้น”

     รวมความว่า ถ้าไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกาย แปลว่า เราไม่เห็นความเกิด ความดับ ความหลับ และความตื่น คงอยู่ใต้ปกครองของอวิชชาตลอดไป อวิชชา แปลว่า ความเขลา คือไม่รู้อดีต ไม่รู้ปัจจุบัน ไม่รู้อนาคต ไม่เห็นอริยสัจ ๔

     ๓ เพราะศูนย์กลางกาย คือ ตรงฐานที่ ๗ เป็น “เอกายมรรค” ซึ่งแปลว่า “ทางเอก” คือ ทางสายเดียวไม่มี ๒ ทาง ไม่มี ๓ ทาง


**************

     ในครั้งต่อๆ ไปก็จะเริ่มเข้าสู่ภาคปฏิบัติเข้าไปเรื่อยๆ นะครับ ตอนนี้ปูพื้นความเข้าใจก่อน ท่านใดที่สนใจฝึกสมาธิแนววิชชาธรรมกายเบื้องต้น คือตั้งแต่ภาควิธีการ ภาคปฏิบัติการ และภาคสิทธิการ(วัดผล) ผมก็จะพยายามนำเสนอเพื่อท่านที่สนใจจะนำไปปฏิบัติส่วนตัวที่บ้านได้

     ค่อยๆ ไปทีละบทฝึกครับ ครั้งหน้าจะเข้าสู่ภาคปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อให้เกิดดวงใสในท้องของเรา(ฐาน ที่๗) ท่านใดสนใจลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ เพราะสิ่งที่นำมาเสนอนี้ ได้ใช้ฝึกมาแล้วหลายครั้งหลายครา และผู้นำไปฝึกได้รับผลตามต้องการของผู้ฝึก คือสามารถเห็นดวงใส(ปฐมมรรค)ได้ สามารถทำวิชชาธรรมกายเบื้องต้นได้ จนไปถึงเดินวิชชา ๑๘ กายเองได้ จะพยายามนำมาเสนออย่างต่อเนื่องครับ

     เนื่องจากมีหลายท่านแจ้งความจำนงอยากได้วิธีฝึกให้เป็นธรรมกายแบบง่ายๆ พร้อมด้วยเหตุผลที่มาที่ไป เห็นว่าไม่เหลือบ่าฝ่าแรงจนเกินไป จึงเริ่มต้นนำเสนอบทแรกนี้ก่อนนะครับ

     ครั้งหน้าจะเข้าสู่บทฝึกใจ หวังว่าท่านจะได้นำความรู้นี้ไปปฏิบัติเองได้ที่บ้าน ท่านใดกำหนดดวงใสได้แล้ว ต้องการต่อวิชชา ๑๘ กาย ทางคณะของผมยินดีต่อวิชชาให้ วิชชาธรรมกายอย่างน้อยที่สุดท่านต้องเป็นวิชชา ๑๘ กายจึงจะถือว่า เป็นธรรมกายเบื้องต้นแล้ว ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ถือว่ายังใช้ไม่ได้ เห็นดวงอย่างเดียวอย่าปล่อยเลยตามเลยควรรีบต่อวิชชาให้เป็น ๑๘ กาย เพราะวิชชา ๑๘ กายเป็นทางสู่วิชชาชั้นสูงทั้งภาคสมถะและวิปัสสนาต่อไป

 

******************************



ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ ได้ประโยชน์มากเลยครับ ขออนุโมทนา สาธุครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท