สองมือโฮมแฮงแบ่งปันน้ำใจสู่ไทบ้าน : อีกความท้าทายของชาวค่ายในการเรียนรู้แบบฝังลึก


ชาวบ้านหลายท่านบอกเล่ากับผมว่า “ตื่นเต้น” เป็นอย่างมากที่มีโอกาสได้มี “ลูกฮัก” ต่างแดนเป็นนิสิต .. ตื่นเช้ามามีคนช่วยทำงานบ้าน ปัดกวาดบ้าน ถูบ้าน นึ่งข้าว หุงหาอาหาร ช่วยเลี้ยงน้อง บ้างก็นำวัวควายออกไปผูกเลี้ยงไว้ที่ชายทุ่ง

ผมเดินทางออกจากมหาสารคามด้วยรถตู้เมื่อเวลาประมาณ  5  นาฬิกาเศษของวันที่  15  มีนาคม 2550  โดยมีจุดมุ่งหมายภาคเช้าอยู่ที่การไปเยี่ยมค่ายโครงการ “สองมือโฮมแฮงแบ่งปันน้ำใจสู่ไทบ้าน”  ของชมรมยุวชนประชาธิปไตยและชมรม MSU  CARP (พัฒนาผู้นำ) ที่จัดขึ้น  ณ  โรงเรียนบ้านเหล่าม่วง  ต.ธาตุ  อ.รัตนบุรี  จ.สุรินทร์

 

โครงการ “สองมือโฮมแฮงแบ่งปันน้ำใจสู่ไทบ้าน”  เป็นความร่วมมือขององค์กรนิสิต 2 องค์กร คือชมรมยุวชนประชาธิปไตยและชมรม MSU  CARP (พัฒนาผู้นำ)  โดยทั้งสององค์กรเป็นชมรมสังกัดองค์การนิสิต  ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก  คือ  การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในเกิดแก่นิสิต  การเสริมสร้างโอกาสให้นิสิตได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงในเรื่องวิถีวัฒนธรรมชุมชน  ตลอดจนการให้บริการด้านวิชาการและการรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ แก่ชุมชน  

 

 

 

โครงการดังกล่าวมีลักษณะที่เป็น  “สหกิจกรรม”  หรือเป็น “ค่ายบูรณาการ”  ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบ  อันได้แก่   การสร้างห้องสุขาขนาด 4  ที่นั่ง   การทาสีอาคารเรียน  การสอนหนังสือนักเรียน   การรณรงค์เรื่องลดละอบายมุข (ปลอดเหล้า  ปลอดบุหรี่)   การสำรวจข้อมูลและแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ   การเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของประชาชน  รวมถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมในชุมชน

 

ผมและคณะเดินทางมาถึงสถานที่ออกค่ายในเวลาที่ยังไม่ถึง  9  นาฬิกา  นักเรียนระดับประถมศึกษายังคงเข้าแถวหน้าเสาธงรับฟังโอวาทจากคุณครู   ขณะที่นิสิตส่วนหนึ่งเริ่มลงงานต่อการสร้างห้องสุขา  ส่วนหนึ่งยังคงติดอยู่ในหมู่บ้านกับพ่อฮักและแม่ฮัก

  
 

 

ท่าที่ผมสังเกตจะเห็นได้ว่า  บ้านเหล่าม่วง -  เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย 2 หมู่  (หมู่ 11  และหมู่  14)  ห่างจากตัวเมืองอำเภอรัตนบุรีประมาณ  10  กิโลเมตร  ชาวบ้านเป็นเกษตรกรทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลัก  มีวิถีวัฒนธรรมเฉกเช่นชาวอีสานทั่วไป ยึดฮีตสิบสองคองสิบสี่เป็นแบบแผนวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต

 

ค่ายครั้งนี้  นิสิตจำนวน  40  คนเลือกที่จะพักแรมอาศัยอยู่กับชาวบ้าน (พ่อฮัก – แม่ฮัก)  เพื่อเน้นให้สามารถเรียนรู้และฝังตัวสัมผัสจริงอย่างลึกในวิถีชีวิตของชาวบ้าน  โดยอาหารเช้าพึ่งพาชาวบ้าน  แต่อาหารเที่ยงและอาหารเย็นเป็นหน้าที่ของชาวค่ายทั้งหลายที่จะลงแรงทำอาหารช่วยกัน

ชาวบ้านหลายท่านบอกเล่ากับผมว่า “ตื่นเต้น”   เป็นอย่างมากที่มีโอกาสได้มี “ลูกฮัก”  ต่างแดนเป็นนิสิต  ”ตื่นเช้ามามีคนช่วยทำงานบ้าน  ปัดกวาดบ้าน ถูบ้าน นึ่งข้าว หุงหาอาหาร  ช่วยเลี้ยงน้อง  บ้างก็นำวัวควายออกไปผูกเลี้ยงไว้ที่ชายทุ่ง”  


แต่ก็น่าสงสัยจับจิตจับใจเพราะนิสิต “นอนดึก”  กันมากและก็ไม่รู้ว่าเข้ามานอนตอนไหน !    รู้แต่เพียงว่าทั้งวันก็ทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย  กลางคืนจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์  ตกดึกประชุมสรุปงานและเตรียมงาน  

 

 


ผมชื่นชอบและให้ความสำคัญต่อกิจกรรมนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากิจกรรมอื่น ๆ  แต่ก็ยอมรับว่าค่ายนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ  เพราะกิจกรรมที่จัดขึ้นมีความหลากหลายและเน้นการเรียนรู้มากกว่าการสร้างถาวรวัตถุ  รวมถึงความชาญฉลาดที่จะระดมทุนทำกิจกรรม  ทั้งการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรภายนอก อย่าง สสส. และมูลนิธิโกมลคีมทอง  รวมถึงการจัดตั้งกองทุนผ้าป่าการศึกษา  เพื่อขอรับบริจาคปัจจัยจากนิสิตและบุคลากร  ตลอดจนชาวมหาสารคามเพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการออกค่าย


วันแรกชาวค่ายได้ใช้เวลาการพบปะกับชาวบ้านทำความเข้าใจเรื่องที่มาที่ไปของกิจกรรม  มีการแห่ “ต้นดอกเงิน”  กันอย่างคึกคัก  มีขบวนดนตรีประโคมแห่แหนอย่างสนุกสนาน  จากนั้น  ดร. พุฒิพงศ์  สัตยวงศ์ทิพย์  (คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มมส)  ก็ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ชาวบ้านในเรื่อง  “สุขภาพพอเพียง”  

วันถัดมา อ.มณีรัตน์  มิตรปราสาท ก็เป็นวิทยากรร่วมเวทีชาวบ้านเปิดประชาคมในหัวข้อ “การบริหารท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

 

 

ผมทราบว่าชาวค่ายกำหนดให้ทุกคนทำการเรียนรู้และจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน  รวมถึงการเน้นให้แต่ละคนเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาพพอเพียงแก่ชาวบ้าน  รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของชาวบ้าน  ทั้งการกินอยู่ การรักษาสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น   ขณะเดียวกันก็เรียนรู้กับกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจชุมชน  ทั้งการทำไม้กวาดจากทางมะพร้าวและการทำขนมกล้วยฉาบ

 

ผมพยายามย้ำเตือนเรื่องความชัดเจนของโจทย์การศึกษา -  ความมีระบบของการบริหารงาน  การรู้จักสรุปบทเรียนและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของ “ชาวค่ายและไทบ้าน”  โดยเฉพาะกิจกรรมในเชิงนามธรรมทั้งหลายควรต้องมีการสรุปบทเรียนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม  ซึ่งชุมชนต้องสัมผัสรับรู้ได้จากสิ่งที่เป็นผลพวงของการเรียนรู้  ไม่ใช่ทำแค่ผ่าน ๆ  พอให้เสร็จ ๆ ไปในแบบชนิดวันต่อวัน !

 

ที่สำคัญคือ  ค่ายนี้มีความโชคดีในทางชุมชนอยู่หลายประการที่เอื้อต่อการทำงานให้ประสบความสำเร็จ  ได้แก่   นิสิตที่มาออกค่ายเป็นคนในชุมชนโดยตรง  ชาวบ้านให้ความร่วมไม้ร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง  ทั้งในฐานะ "พ่อฮักแม่ฮัก  พ่อช่าง แม่ครัว"  และกิจกรรมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็มาจากการสำรวจแล้วว่าชุมชนต้องการอะไรบ้าง

 

นอกจากนั้นผมยังฝากแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างกระบวนการเพื่อให้สามารถวางแผนและกำหนดเป้าประสงค์การทำงานที่เป็นรูปธรรม (ability  to  plan  and  set  objectives)  เพราะการทำค่ายคงมิใช่ชี้วัดที่แรงงานและหยาดเหงื่อสถานเดียว  แต่ต้องไม่ลืมที่จะสร้างหรือนำความรู้ทางการบริหาร  (business  knowledge)   มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเรียนรู้กระบวนยุทธของทักษะการทำงานกันเป็นทีม  (teamwork  skill)  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ที่ต้องกำหนดให้ชัดแจ้ง

 

ถ้าไม่รู้ว่าโจทย์ของการทำงานคืออะไร  ก็ย่อมไม่ต่างไปจากการไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร  มาจากไหน  จะทำอะไร  ปรารถนาอะไร (need)  ราวกับกำลังตกอยู่ในสภาวการณ์ที่กำลังสับสนในความต้องการ (neurotic  need)  เลยไม่รู้ว่าในฐานะของผู้เรียนรู้ต้องทำอะไรบ้าง  และในฐานะของผู้ให้ก็ต้องหยิบยื่นอะไรไปบ้าง !

 

ผมไม่อยากให้ค่ายนี้เป็นแฟชั่นแต่เพียงลมปากว่าเป็นเสมือน “ทางเลือกใหม่”  ของการทำค่ายที่สวยหรูว่า  “ไม่เน้นการสร้างวัตถุ  หากแต่เน้นเรื่องการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมอย่างฝังลึก”  แต่ก็ยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าค่ายนี้ท้าทายความสามารถของนิสิตอยู่ไม่น้อย    


น่าเสียดายที่ผมและทีมงานมีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายแค่ราว ๆ 3  ชั่วโมงเศษเท่านั้น  เนื่องจากต้องรีบเดินทางต่อมายัง  อ.พยัคฆภูมิพิสัย  จ.มหาสารคาม   เพื่อเข้าเยี่ยมให้กำลังใจต่อชาว “วงแคน”  ที่ออกค่ายด้านดนตรีและนาฏศิลป์อยู่ที่นั่น 

 

 

 

ผมเชื่อว่าการสร้างห้องสุขาเพียง 4 ที่นั่งก็ไม่ยากเย็นเกินกำลังของนิสิตและชาวบ้านที่จะสร้างให้แล้วเสร็จได้อย่างไม่ยากเย็น  

กระนั้นก็ปรารถนาที่จะเห็นกิจกรรมอื่น ๆ ที่เน้นกระบวนการแห่งการเรียนรู้ที่ฝังลึกได้ก่อเกิดเป็นรูปรอยอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

และเชื่อมั่นว่าพวกเขาทำได้  …  อย่างน้อยก็ได้เป็นอีกทางเลือกของค่ายในแบบบูรณาการที่น่าสนใจ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 84340เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2007 07:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  •   ปรบมือดังๆ
  • ให้กับทีมงานที่แข็งขันค่ะ

Thumbs Up



ขอบคุณมากครับ คุณพิชชา

P

ชมรมยุวชนฯ  เป็นชมรมที่ตั้งขึ้นใหม่ปีนี้เอง  มุมมองวิธีคิดกิจกรรมน่าสนใจแต่ก็ยังขาดทักษะเรื่องการวางระบบงาน  ส่วนอีกองค์กร  ก็สันทัดเรื่องอบรมสัมมนาเป็นหลัก  พอลงพื้นที่จัดค่ายเลยปรับตัวขนานใหญ่

แต่ภาพรวมผมก็ถือว่า "ผ่าน" ..และจุดแข็งคือชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก

ขอบคุณครับ

  • เห็นนิสิตทำงานแล้วชื่นใจค่ะ การฝึกให้เขาเหล่านั้นบริหารงานบางครั้งอาจจะยาก แต่เมื่อเขาทำได้ เราเองก็ชื่นใจเหมือนเราส่งเขาข้ามฝั่งไปได้
  • นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในเรื่องระบบงาน เพราะเขายังไม่มีประสบการณ์ แต่เขาได้ทำกิจกรรมหนึ่งปีผ่านไป เขาเก่งขึ้นมาก เพราะเด็กสอนง่ายกว่าผู้ใหญ่ พี่เชื่ออย่างนั้นจริงนะ
  • การลงพื้นที่ค่าย การเข้าถึงชุมชนนี่คือเรื่องใหญ่ หากค่ายไหนชุมชนไม่เอาด้วย ลำบากที่จะสานฝันค่ะ
  • เห็นภาพรู้สึกชื่นชม คงจะทั้งสุข สนุก เหนื่อยและขอเป็นกำลังใจค่ะ
  • เป็นการทำงานร่วมกันและฝึกให้นิสิตได้แบ่งบันและมีหัวใจบริการสาธารณะ   สามารถนำไปใช้กับตนเองและการทำงานร่วมกับผู้อื่น

น่าชื่นใจครับ

  • มีพ่อฮักแม่ฮัก
  • มีลูกฮัก
  • กลมเกลี่ยวดังญาติมิตรแบบไทอีสานบ้านเฮา

ขอบคุณสำหรับกิจกรรมนิสิตที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นบ้านเฮาครับ

เอ....แล้ว "ห้องสุขาขนาด 4 ที่นั่ง" มันเป็นยังงัยน้า หรือว่าในห้องเดียว มีคอห่านอยู่ 4 อัน ?

กัมปนาท

  • มาชื่นชมครับ
  • ร่วมแรงแข็งขัน  สร้างสรรค์สังคม
เห็นภาพความเหนื่อยล้า แต่เต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน อิสานบ้านเฮา เสน่ห์อยู่ที่ตรงนี้แหล่ะครับ หากใครจะมองว่าเป็นกิจกรรมฉาบฉวย สร้างภาพ ก็อย่าท้อแท้นะครับ มันเป็นแรงเสียดทานเบาๆ ไม่ระแคะระคายเคืองความรู้สึกได้เท่าความตั้งใจจริง ปรารถนาทำความดีนี้แน่นอน ผมชอบการเรียนรู้แบบนี้จริงๆเลย "ห้องเรียนธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต" ***ผมยังไม่หายไปไหนนะครับ ยังคงรักพื้นที่เสมือนนี้อยู่ แต่ว่าช่วงนี้เกิดช่องว่างระหว่างการทำงาน ทำคิดเรื่องที่ไม่น่าจะคิด แถมยังพลอยทำให้ท้อแท้ใจ ก็เลย........ แต่เวลาจะช่วยเยียวยาให้ดีขึ้น (อีกไม่นาน)
เป็นสุดยอดอีกโครงการหนึ่งค่ะเห็นความขยันขันแข็งของเหล่านิสิตแล้วขอชื่นชมค่ะ...และที่สำคัญชอบกระบวนการของอาจารย์นะคะที่ติดตามเยี่ยมและมีแนวคิดต่างๆที่เป็นแนวทางให้นิสิต..รับรองผลที่ได้ต้องเยี่ยมแน่ๆ

ขอบคุณครับ...พี่อัมพร

P

ข้อสังเกตทุกข้อเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพี่อัมพรชัดเจนอยู่กับกระบวนการพัฒนานิสิตมายาวนานและลึกซึ้ง

ปีนี้ผมไปเยี่ยมค่าย..แต่เน้นการนิเทศภายในอย่างจริงจังและเป็นกันเอง...

มีค่ายมากกว่า 20  ค่าย....เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องไปให้ถึงให้มากที่สุด ...ผมย้ำกับเจ้าหน้าที่เราต้องไปให้มากที่สุด ... ไปดู ไปขอบคุณนิสิต... ไปขอบคุณชาวบ้าน...

พรุ่งนี้ผมเดินทางเช้าตรู่อีกครั้งครับ...คราวนี้ขึ้นภูพานไปสกลนคร..

พี่อนงค์ ครับ
P

งานค่ายสอนให้นิสิตได้เรียนรู้ตนเอง เพื่อนรอบข้างรวมถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี

และเขาก็จะถูกค้นพบตัวตนของตนเองโดยวิธีของเขาเอง

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณครับ  คุณออต

P

อยู่บ้านท่าน  อย่านิ่งดูดาย

ปั้นวัว ปั้นควาย ไล่ขวิดลูกท่านเล่น ...(ฮา...ผมแซวนิสิตเราเช่นนั้น ครับ)

เออ  หรือพี่จะสื่อสารผิดครับน้องแจ็ค
P
...อาคารสุขา 1 หลัง จำนวน 4 ห้อง  (ประมาณนี้)  หรือเปล่า ...พี่ก็เริ่มงง

เป็นไงครับ  ลูกศิษย์ออกค่ายที่ไหนบ้าง ?

P

ปีนี้ มมส  มีค่ายเยอะจริง ๆ ทำเอาผมต้องสัญจรร่อนเร่ กินนอนบนรถตู้ 

แต่ก็มีความสุขมากครับที่ได้ไปให้กำลังใจนิสิต

มมส.มีค่ายมากนะ ของม.อ ปีนี้เบาบาง แต่ก็มีนะ เพราะได้ตัดพื้นที่ที่มีปัญหาบางส่วนออกไป พี่เอาใจช่วยสานฝันทั้งนิสิตและนักกิจกรรมนะ พี่เข้าใจและเห็นภาพว่าเราต้องกินนอนในรถ เพราะหากเราไม่ติดตามไปดู เราก็ไม่ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง นำมาปรับปรุงแก้ไขได้ไม่ถูกจุด

การไปดูด้วยตนเอง หรือแม้แต่การมอบหมายให้ จนท. ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจและดูแลนิสิต  ผมให้น้ำหนักความสำคัญมากเป็นพิเศษ  จากนั้นจะนำมาศึกษาวิเคราะห์ต่อยอดในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรนิสิต

เหนื่อยบ้างแต่ก็มีความสุขครับ

ของคุณพี่อัมพร

P
มากครับ

สมัยเป็นนักศึกษาตลอด 4 ปี  ผมก็เคยร่วมออกค่ายในลักษณะนี้เหมือนกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเชิงนามธรรมซักหน่อย คือ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับชุมชน ผนวกกับกิจกรรมเชิงรูปธรรม แต่ละปีกรอบงานค่อนข้างจะเป็นสูตรสำเร็จพอสมควร เช่น

  • โครงงานพัฒนา มุ่งเน้นที่การสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงถาวรวัตถุ
  • โครงงานศึกษาชุมชน มุ่งศึกษาและเรียนรู้บริบทชุมชน
  • โครงงานอนามัย มุ่งให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน
  • โครงงานศึกษา มุ่งเน้นการทำกิจกรรมกับเด็ก
  • โครงงานเกษตร มุ่งการให้ความรู้ด้านการเกษตร

แม้จะมีกรอบค่อนข้างสำเร็จรูป แต่ในรายละเอียดกิจกรรมจะได้มาจากการสำรวจปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน...ซึ่งในกิจกรรมที่เป็นการให้ความรู้ก็จะเชิญวิทยากรที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ...บางทีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เคยมาหมู่บ้านนั้นด้วยซ้ำ

การกินอยู่ก็พักกับชาวบ้านเหมือนกันตลอด 9 วันหลังละ 2-3 คน ...ที่แตกต่างไปหน่อย คือ อยู่กินกับชาวบ้านทั้ง 3 มื้อ...โดยแจกจ่ายเสบียงให้แต่ละคนไปทำอาหารร่วมกับชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนชาวบ้านมากเกินไป...และสร้างความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี...ได้พ่อฮัก แม่ฮัก พี่ฮัก น้องฮัก กลับมา ปัจจุบันก็ยังติดต่อกันอยู่...การร่วมการกินอยู่กับชาวบ้าน มีหลักการง่ายที่ตกลงกันคือ ชาวบ้านพาทำอะไรก็ทำ พาไปไหนก็ไป พากินอะไรก็กิน ฯลฯ การที่จะซึมลึกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน...

ในการจัดโครงงานแต่ละโครงงานก็จะมีหัวหน้าโครงงานเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยสมาชิกแต่ละคนจะได้สัมผัสกับทุกโครงการเวียนไปในแต่ละวัน และร่วมสรุปบทเรียนที่ได้ในแต่ละวันในการประชุม

...บางทีการจัดกิจกรรมดึกดึกก็เป็นการรบกวนชาวบ้านเหมือนกัน...เช่น การประชุม ซึ่งพ่อฮักแม่ฮักบางคนก็มารอ หรือพ่อฮักแม่ฮักบางคนก็ยังไม่หลับไม่นอนเพราะเป็นห่วง...ยังไม่นับเรื่องการร่ำเมรัย...ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกในค่าย...

แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้เรียนรู้ว่า ความไม่สมบูรณ์แบบของค่าย ช่วยให้เราได้เรียนรู้ว่า เราควรจะทำอย่างไรกับค่ายต่อไป...

คุณพรหมลิขิต ..ครับ
P

ผมเองไม่เข้าไปจัดการกระบวนการใด ๆ ของนิสิต เพียงแต่ให้คำแนะนำ  และเสนอแนะ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์บางประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของนิสิต  เพื่อให้นิสิตสามารถขับเคลื่อนและมองงานให้ทะลุปรุโปร่งมากยิ่งขึ้น

ผมย้ำกับนิสิตว่าการกินอยู่กับชาวบ้าน  ถือเป็นโอกาสอันดีของการเรียนรู้แบบฝังตัวที่ต้องระมัดระวังเรื่องการวางตัว  รวมถึงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีนั้นอย่างไม่รู้สึกแปลกแยก...

ผมเป็นกำลังใจให้เสมอนะครับ...

 

คุณโก๊ะ ครับ

เปิดเรียนผมนัดนิสิตเหล่านี้กลับเข้ามาห้องเรียนกิจกรรมอีกครั้ง เพื่อสรุปบทเรียนและแบ่งปันบทเรียนนั้นไปสู่เพื่อนชมรมต่าง ๆ รวมถึงการประมวลผลการประเมินของผมและทีมงานเพื่อร่วมเรียนรู้กับนิสิต

ยังคิดอยู่เลยว่าจะประกวดภาพถ่าย "วิถีค่าย"  คงมีภาพดี ๆ ความหมายดี ๆ ...จำนวนมากมายมหาศาล  ซึ่งภาพเหล่านี้จะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของค่ายนั้น ๆ สืบต่อไป

ขอให้มีความสุขกับการใช้ชีวิตนะครับ

ขอบคุณมากครับ

P

ประเด็นที่นำเสนอชัดเจน "คม ชัด ลึก"  มาก ๆ  ซึ่งวันนี้ผมก็นั่งประมวลทัศนะตนเองจากการเที่ยวเยี่ยมเยียนค่ายต่าง ๆ  โดยบางส่วนก็นำเสนอผู้บริหารในทำนองเดียวกับที่คุณชอเลี้ยวเฮียงได้กล่าวถึง

นิสิตมองงานไม่ทะลุ  กระบวนการยังไม่แจ่มชัด  ทำการบ้านก่อนลงพื้นที่น้อยไปหน่อย  แต่เชื่อว่าการสรุปบทเรียนดังที่ไม่เคยทำมาก่อนจะช่วยเป็นเสมือน "กระจกเงา"  ที่สะท้อนภาพการทำงานให้นิสิตได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และนำไปสู่การพัฒนาระบบที่ดีในโอกาสต่อไป

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างสูงสุด

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท