การสร้าง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์


การรู้เท่าทันการสื่อสาร มิใช่การนำเสนอเฉพาะความรู้ แต่เน้นที่การฝึกให้เห็นจริง

(50)

 

 

การสร้าง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์

เพื่อนบอกว่า ".....ง่ายนิดเดียว แค่ใส่คำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร ลงไปในหลักสูตรก็จบแล้ว...."

นี่คือวรรคทองของเพื่อนดิฉัน และดิฉันคิดว่าเธอพูดถูกอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ดิฉันมองไปถึงการลงมือฝึกเด็กทุกระดับด้วยความทุ่มเทของครูจริงๆ 

(คือแปลว่าคุณครูต้องทำใจเลยว่าท่านจะเหนื่อยจริงๆ  แต่ผลที่จะเกิดในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าก็จะทำให้ท่านชื่นใจดี) 

เลยขอนำเสนอต่อ(โดยไม่ฟังเสียงเพื่อน)ดังต่อไปนี้นะคะ

ระดับอนุบาล :

ดิฉันไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะยังไม่มีโอกาสศึกษาหลักสูตรระดับอนุบาลเลยค่ะ แต่เท่าที่ดิฉันอ่านตามเขาไป และจากประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการเลี้ยงหลานๆ ก็คิดว่า ในเบื้องต้นการฝึกตั้งคำถาม ให้เด็กๆตอบว่าอะไรดี หรือไม่ดี อย่างง่าย โดยที่เราให้หลักคิดเขาไว้ในเบื้องต้น ก็น่าจะเป็นขั้นตอนการสร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรมให้เด็กๆได้ดีวิธีหนึ่ง

อดยกตัวอย่างไม่ได้นะคะ เช่น “หนูตีน้องแรงๆอย่างนี้ไม่ได้นะคะลูก บาปนะคะลูก” เด็กๆอาจยังไม่เข้าใจในเบื้องต้น แต่หากเราลงโปรแกรมคำๆนี้ และสร้างปริบทความหมายของคำเหล่านี้ให้เหมาะสม โตขึ้นเขาก็จะมีฐานคิดที่หนักแน่นพอ เป็นต้น

ระดับประถม : เหมือนระดับอนุบาลค่ะ

(เพื่อนอดไม่ได้ยื่นหน้ามาแซวว่าเนี่ยแหละน้า..ไม่รู้แล้วยังอยากเขียน ดิฉันก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย ถึงแม้จะเสียฟอร์มไปเล็กน้อยก็ตาม)

ระดับมัธยม : ดิฉันขออนุญาตนำเสนอดังนี้ค่ะ

1 . หัวข้อ การสื่อสาร มีอยู่ในหนังสือภาษาไทยระดับมัธยมแล้ว
ขออนุญาตเรียนเสนอคุณครูภาษาไทย ว่า หากท่านพอมีเวลา ใคร่ขอเรียนเสนอท่านได้ลองเลือกอ่านบทความหรือข้อเขียนด้านนิเทศศาสตร์บ้างตามความสนใจ โดยเฉพาะที่ว่าด้วยการหลักสื่อสารรูปแบบต่างๆ กระบวนการสื่อสาร หรือจิตวิทยาการสื่อสาร เนื่องจากจำเป็นในการเชื่อมโยงเพื่อใช้อธิบายที่มาที่ไปของการสื่อสาร โดยท่านสามารถละคำฝรั่ง และเลือกใช้คำไทยแทนได้ตามความเหมาะสม

2. หัวข้อ การรู้เท่าทันการสื่อสาร คุณครูอาจารย์น่าจะสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เองอย่างอิสระ คือตอนนี้เมื่อยังไม่มีหนังสือภาคบังคับมาจากส่วนกลาง หากคุณครูสนใจเรื่องนี้ ท่านก็สามารถสร้างกระบวนเนื้อหาเองได้ (โดยการถอดกระบวนการรู้เท่าทันการสื่อสารเป็นโมเดล) ทดลองสอนในชั้นเรียนได้อย่างอิสระ แถมผลพลอยได้เป็นงานวิจัยในชั้นเรียนที่เห็นผลจริงอีกด้วย

ดิฉันยังเชื่อว่า คุณครูภาษาไทย ระดับมัธยมจะสอนเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสารได้ดีที่สุด เพราะสาระการเรียนรู้เอื้อให้นำเสนอได้เต็มที่ และเด็กก็มีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบการสอน ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ตามความถนัดของแต่ละท่าน

โดยไม่จำเป็นต้องรออาจารย์มหาวิทยาลัยเลย....... 


3. หัวข้อ การรู้เท่าทันการสื่อสาร มิใช่การนำเสนอเฉพาะความรู้ แต่เน้นที่การฝึกให้เห็นจริง เข้าใจจริง และตระหนักจริง

หากท่านเชื่อว่า งานของครู คือการส่งไม้ต่อมือกัน

คุณครูมัธยมเปรียบเหมือนผู้ส่งไม้ - ผู้สร้างวัตถุดิบอย่างประณีต

และครูอุดมศึกษา ก็เป็นผู้รับไม้ต่อมือ - รับวัตถุดิบนั้นมาขึ้นรูปเป็นลักษณะเฉพาะ ตามเอก ตามสาขา ตามคณะวิชาต่อไป

หากคุณครูมัธยมได้กรุณาฝึก ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร มาให้อย่างดีแล้ว ครูอุดมศึกษาก็ สามารถรับมือไปขึ้นรูป ( ไป Shape) ขัดเกลาตกแต่ง ให้เกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ต่ออย่างปราณีตโดยบรรจงเต็มบรรทัด

ขณะเดียวกัน ดิฉันเชื่อว่าครูทุกคนก็เข้าใจข้อจำกัดของการทำงาน ดังนั้นไม่ว่าวัตถุดิบลักษณะใดมาถึงมือเรา เราต่างก็จะพร้อมที่จะเข้าใจและเต็มใจ หากจะต้องจะขัดถูขูดลอกกันใหม่ ด้วยกระดาษทรายทั้งกล่อง เพราะเข้าใจดีว่าด้วยภาระของครูทุกวันนี้นั้นทำให้เราแทบหมุนตัวไม่ทันจริงๆ

ดิฉันต้องขออภัยคุณครูทุกท่านหากสิ่งที่ดิฉันจินตนาการไปเองนี้ จะดูเป็นการผลักภาระให้เพื่อนครูด้วยกันนะคะ ในฐานะครูคนหนึ่ง ดิฉันรู้สึกเข้าใจอย่างยิ่งว่าภาระของคุณครูทุกวันนี้หนักอึ้งเพียงไหน ดิฉันก็ได้แต่คอยให้กำลังใจ และเมื่อท่านส่งมาให้ ก็ตั้งใจว่าจะ “ทำงาน” นี้ อย่างเต็มความสามารถเช่นกัน

ระดับอุดมศึกษา : ขออนุญาตเสนอดังนี้ค่ะ

1. เสนอว่าน่าจะลองจัดเป็นหัวข้อ ในชื่อวิชาที่ระบุถึงทักษะการสื่อสารโดยตรง เช่น การสื่อสารเพื่อชีวิต ( เข้าใจว่ามีหนังสือ เขียนโดย อาจารย์วาสนา จันทร์สว่าง ชื่อเรื่องเดียวกันนี้ด้วยค่ะ) หรือแทรกอยู่ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานการสื่อสาร ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อฝึกทักษะชุดนี้ และนักศึกษาจะได้เห็นความสำคัญ

เราใช้ Problem Baseในการฝึกปฏิบัติ การรับมือกับ ปัญหาการสื่อสารในชีวิตประจำวัน    ของนักศึกษาเป็นฐานคิดได้


เช่น เด็กๆทำรายงานกลุ่ม แล้วมักจะผิดใจกัน, เด็กๆโกรธกับเพื่อนๆ หรือครู ด้วยเหตุใดๆ, เด็กๆตกหลุมรัก อกหัก ไม่เข้าเรียน, เด็กๆสื่อสารกับคนในหน่วยงานไม่เข้าใจกัน, เด็กๆมีปัญหาครอบครัว ปัญหาการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ปัญหาการแต่งกายล่อแหลมยั่วยุ ปัญหาการขาดหลักคิดทางศีลธรรม ฯลฯ

จะทำให้ออกแบบเนื้อหา รูปแบบการสอนและการฝึกได้กว้างและหลากหลาย สามารถเลือกประเด็นให้ตรงกับสภาพจริงของแต่ละมหาวิทยาลัย และแต่ละกลุ่มผู้เรียนได้อย่างอิสระ

ทั้งนี้หัวข้อ (ประเด็นสำคัญ) ที่เด็กๆอุดมศึกษาควรได้เรียนรู้และลงมือฝึกอย่างง่าย โดยครูต่อมือรับไม้จากชั้นมัธยมได้ทันที คือ

ก. การสื่อสาร ( Communication)

ฝึกให้รู้หลักการ ทฤษฎี กลไก และการเลือกรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมในชีวิตประจำวัน

ข. การรู้เท่าทันสื่อ ( Media Literacy)

ฝึกให้รู้เท่าทันสื่อ คือ

  • รู้ลักษณะเฉพาะ และจุดมุ่งหมายเฉพาะของสื่อแต่ละประเภท 
  • รู้กลไกของการประกอบสร้างและจุดมุ่งหมายในการสร้างสื่อเหล่านั้น
  • รู้ว่าสื่อกำลังทำอะไรกับเรา  หรือทำให้เราเกิดความคิดอะไร  เกิดวิธีคิดอะไร  เกิดกลไกการรับรู้และการมองโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร
  • รู้ว่าสื่อมีวิธีบิดเบือนความจริงอย่างไร 
  • รู้เท่าทันว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอ มิใช่ความจริงแท้เสมอไป
  • เราควรมีวิธีหาความจริง  นอกเหนือจากการรับรู้"ความจริง" ผ่านสื่อ  ได้อย่างไรบ้าง

ดิฉันว่านอกเหนือจากการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์และวินิจฉัย ประเมินค่า   สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ วิทยุ โทรทัศน์ (พัดลม ตู้เย็น อุ้ย....)   แล้ว 

สื่ออันตรายอันดับแรกที่ต้องฝึกให้เด็กๆรู้เท่าทัน   คือสารพิษที่ส่งผ่านทางมือถือ ที่มาทั้งภาพและเสียงส่งตรงถึงอายตนะทั้ง 5 ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

เรื่องนี้ต้องยอมรับตรงๆว่าค่อนข้างสาย   แต่อย่างไรเสีย  ผู้ใหญ่ในบ้านก็ต้องรีบคุยกันอย่างจริงจังก่อนจะถึงเย็น     คือก่อนจะสายเกินไป 

 และหวังว่ายังพอมีเวลาที่เหลืออยู่ให้ได้รีบคุยกับเด็กๆของท่าน  ก่อนที่เขาจะไปไกลเกินแก้

ค. การรู้เท่าทันการสื่อสาร ( Communication Literacy )

ฝึกให้รู้เท่าทันการสื่อสารทั้งกระบวนการ เสนอว่าควรฝึกอย่างง่าย ยิ่งง่าย และใกล้ตัวเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใจง่ายมากขึ้นเท่านั้น แล้วก็จะยิ่งเชื่อมโยงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้นด้วย

การบรรจุคำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร ให้เป็นทักษะพื้นฐานของเด็กๆนั้น กรณีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ    มี วิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการสืบค้น     พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน     ความจริงของชีวิต อะไรเหล่านี้ ก็อาจจะพอจัดแทรกเข้าไปได้ แต่ก็ยังติดอยู่ที่คำอธิบายรายวิชาซึ่งมีแต่เดิม อาจทำให้ไม่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นก็อาจจะจัดเป็นกระบวนวิชา หรือเป็นวิชาใหม่  หรือครูผู้สอนที่เห็นความสำคัญก็ใช้กุศโลบายในการสอดแทรกให้เนียนไปกับเนื้อวิชา   เช่นนี้ก็ได้    ตามความเหมาะสม   ไม่มีสูตรสำเร็จแต่อย่างใด

การบรรจุคำว่า  การรู้เท่าทันการสื่อสาร ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์  

ดิฉันอยากคุยกับพี่ๆน้องในหลักสูตรนิเทศศาสตร์   ว่า น่าจะใส่ คำว่าการรู้เท่าทันการสื่อสาร ในรายวิชา หลักนิเทศศาสตร์   

แต่ครั้นมาคิดอีกทีก็ไม่รู้ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร  และที่สนุกกว่านั้น คือไม่รู้จะอ้างทฤษฎีอะไร  ก็นึกๆอยู่ว่าเห็นทีจะได้ใส่คำว่า กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10  ลงไปด้วย   จากนั้นเพื่อนๆก็คงเชิญให้ย้ายวิก  ดิฉันก็เลยไม่ใคร่กล้าบ่นยาวๆเท่าไหร่

2. เสนอว่า แต่ละหลักสูตร น่าจะได้กำหนด คุณลักษณะบัณฑิต ให้มีทั้งทักษะการสื่อสาร และ ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร

สำหรับตัวชี้วัด หรือการประเมิน อาจใช้วิธีสร้างกิจกรรมวัดคุณภาพการสื่อสารของบัณฑิต ซึ่งจะอยู่ในหรือนอกราย วิชาก็ได้ วัดผลโดยกิจกรรมปกติของหลักสูตรก็ได้ วัดผลโดยจัดกิจกรรมที่สามารถประเมินทักษะเหล่านี้ได้ในเวลาจำกัดก็ได้ เช่น กิจกรรมสมัครงาน กิจกรรมสอบสัมภาษณ์ เพื่อดูไหวพริบ สติ ทัศนคติ และวิธีคิด เป็นต้น

เหตุที่กำหนดเป็นคุณลักษณะในหลักสูตร และต้องมีการวัดผลประเมินผล ก็เพื่อให้เด็กๆตระหนักถึงความสำคัญ ของทักษะอันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตนี้ และเพื่อให้เกิดทักษะชุดนี้ในตัวคนที่เราฝึกอย่างแท้จริงด้วย

.......และสุดท้ายนี้ ขอเสนอในภาพรวม ทุกระดับชั้นว่า ครูทุกคนก็สามารถสร้างทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้โดยไม่ต้องรอให้มีคำนี้ในหลักสูตรค่ะ เพราะที่วิธีการคุณครูหลายๆท่านสอนอยู่ ก็สามารถทำให้เด็กเกิดทักษะการสื่อสารได้แล้ว

เพียงแต่เพิ่มคำนี้เข้าไป และสื่อสารเป็นความถี่ซ้ำๆ เพื่อให้เด็กๆจำได้ ติดหู และสักวันเขาจะตระหนักรู้ในคุณค่า ของ "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ค่ะ......

 

 .............................................................................

 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)    ความเห็นเพิ่มเติมที่ 88  , 89  20 ก.พ. 2550

หมายเลขบันทึก: 84317เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2007 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ว๊าวๆๆๆๆๆใส่รูปแล้ว  ดูเด็กจังเลยค่ะ
  • ดีจัง...น่าดูกว่ารูป winter เยอะเลย...
  • อย่างนี้่ค่อยรู้สึกว่าเหมือนคุยกันหน่อยจ้ะ

ขอบคุณค่ะ อ.ลูกหว้า  พี่ก็มีอยู่รูปเดียวเลยค่ะ อาจารย์แป๋วช่วยแนะนำให้วันก่อน เลยกล้าโพสต์ (ตอนแรกนึกว่ายาก  อิอิ)

เอ่อ...รูปนี่แสงสีเสียงช่วยไว้เยอะเลยอ่ะค่ะ  :-)

  • แน่ใจหรือคะว่าเป็นพี่ของหว้า   หน้าดูเด็กจะตายไป......่

สงสัยต้องกลับไปขอบคุณช่างภาพกันขนานใหญ่ค่ะ...

:)       :-)       &     (^_^)'  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท