ผู้บริหารบูรณาการถึงผู้เรียน...ก็ได้ : สมพร เพชรสงค์


ผู้บริหารบูรณาการถึงผู้เรียน...ก็ได้

เช้าวันนั้น...สังเกตเห็นผู้อำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่ง นั่งหน้าระเบียงชั้นบนของอาคารหลังที่สองของโรงเรียน ก้มหน้าก้มตาตรวจเอกสารอย่างเอาจริงเอาจัง ที่ด้านซ้ายบนโต๊ะมีสมุดกองวางซ้อนทับจำนวนหนึ่ง.. .น่าจะเป็นสมุดฝึกงานบางอย่างของผู้เรียนทำนองนั้น...
ด้วยความสนใจจึงเข้าไปขออนุญาตสนทนาได้ความว่า  สมุดกองนี้คือสมุดแบบฝึกหัดตามที่เข้าใจตอนต้น  และได้ความว่าเป็นงานที่ผู้บริหารสถานศึกษามอบหมายให้ผู้เรียนทุกคนทำเป็นการบ้านวันต่อวัน คือ คัดไทย ที่แยกสมุดเล่มนี้ออกเป็นการเฉพาะ
ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้นและทำไมต้องตรวจเอง หัวข้อสนทนาต่อไปก็ออกมาเป็นชุด ทราบว่าทุกวันผู้เรียนจะต้องมีงานการบ้าน นอกเหนือจากที่ครูประจำชั้นหรือครูประจำสาระการเรียนรู้มอบหมาย  คือคัดไทยตัวเต็มบรรทัดมาส่งโดยตรงที่โต๊ะผู้อำนวยการเอง  เช้าและเวลาว่างของวันจะใช้เวลามาตรวจงานเหล่านี้ด้วยตนเอง ตอนเย็นผู้เรียนจะมารับคืนกลับไป 
ขั้นตอนการดำเนินการ มีดังนี้ 
เริ่มด้วยเหตุจูงใจของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสงค์จะให้ผู้เรียนมีสมาธิ โดยใช้วิธีคัดไทย ผู้บริหารจะสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองตั้งแต่ช่วงเทอมต้น
มอบหมายการบ้านคัดไทยซึ่งมีรูปแบบหัวกลมตัวเหลี่ยมเป็นตัวอย่างให้ 
ปริมาณเนื้อหา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เริ่มต้นการคัดพยัญชนะและพัฒนาเป็นคำ พยางค์ในวันต่อๆ ไป ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2,3,4,5,6 จะค่อยพัฒนาไปตามลำดับปริมาณจำนวนคำ จำนวนประโยค เรื่องราว ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จะมีปริมาณครึ่งหน้ากระดาษสมุดปกติ 
ทุกพยัญชนะ คำพยางค์ ประโยค เรื่องราวที่คัดนั้นให้เป็นอิสระของผู้เรียนที่จะเลือกเอง 
เมื่อคัดแล้วผู้ปกครองต้องมีการลงชื่อบรรทัดสุดท้ายกำกับไว้ 
ผู้เรียนมาส่งด้วยตนเองในวันรุ่งขึ้น ที่โต๊ะผู้อำนวยการที่จัดไว้นอกเหนือจากโต๊ะทำงานบริหารจัดการปกติคือหน้าระเบียงอาคารที่มองเห็นบริเวณรอบๆ โรงเรียนได้กว้างขวาง     
ผู้อำนวยการตรวจแก้ไขลงนามรับรองทุกราย 
ผู้เรียนมารับกลับไปตอนเย็น ยกเว้นบางรายที่แยกเอาไว้เพื่อพบผู้เรียนรายบุคคลเพื่อปรับปรุงพัฒนา
วันใหม่ก็วนเข้าสู่วงจรเดิมคือผู้เรียนเลือกอิสระที่จะคัดมาส่งในวันรุ่งขึ้น
ความคิดลิงโลดในสมอง...ใช่เลยนี่คือผู้บริหารมืออาชีพตัวจริง ด้วยเหตุสนับสนุนดังกล่าว
ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่องานที่มอบหมาย (สอดคล้อง มฐ.1)
ผู้เรียนได้พัฒนาสมาธิของตนเอง (สอดคล้อง มฐ.6)
ผู้เรียนรู้จักคิดเลือกวิเคราะห์คำพยางค์หรือเรื่องราวที่จะคัดเอามาส่ง (สอดคล้อง มฐ.4)
ผู้เรียนเกิดทักษะการอ่านพัฒนาสู่รักการอ่านรักการเรียนรู้ (สอดคล้อง มฐ.6)
ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น (สอดคล้อง มฐ.5)  
ครูได้การแบ่งเบาการพัฒนาผู้เรียนด้านภาษาไทย เสริมทักษะสาระการเรียนรู้ภาษาไทย(สอดคล้อง มฐ.5)
ครูมีเจตคติที่ดีต่อผู้บริหาร
ผู้บริหารและครูได้รู้จักผู้เรียนรายบุคคล (สอดคล้อง มฐ.๙)
ผู้บริหารได้ชื่อว่ามุ่งมั่นและเสียสละในการปฏิบัติงาน (สอดคล้อง มฐ.10)
ผู้บริหารสามารถมองเห็นสภาพทั่วไปความเคลื่อนไหวการทำงานของครูและบุคคลภายนอกชัดเจน (สอดคล้อง มฐ.10) 
ผู้บริหารได้เรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนจากเนื้อหาที่คัด เช่น คำยาก สุภาษิต คำพังเพย นิทาน ข่าวสารใหม่ๆ  เรื่องร้อนๆ ในสังคม (สอดคล้อง มฐ.10)   
ผู้ปกครองได้เรียนรู้กับผู้เรียนที่บ้านเพราะต้องอ่านและลงนาม 
ผู้ปกครองใกล้ชิดกับผู้เรียน เกิดความอบอุ่นภายในครอบครัว  
ผู้ปกครองมีเจตคติที่ดีต่อผู้บริหารโดยตรงและต่อโรงเรียนโดยอ้อมเสริมกลไกความสัมพันธ์กับชุมชน (สอดคล้อง มฐ.14)
ผู้ปกครอง ผู้เรียน ครู และผู้บริหารมีความสุข ที่ได้เห็นพัฒนาการจากผลงานรายบุคคลตั้งแต่บรรทัดแรกเปิดเรียนใหม่ ๆ กับปลายภาคเรียนที่สองบรรทัดล่าสุดอย่างชัดเจน ใช้ประกอบการประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริงได้อีก (สอดคล้อง มฐ.9)
เช่นนี้เองผู้บริหาร “คนนั้น”    
แต่เมื่อวิเคราะห์เทียบเคียงมาตรฐานคุณภาพการศึกษา สนองตอบให้บรรลุมาตรฐานทั้งด้านผู้เรียน ด้านครูด้านผู้บริหารและสถานศึกษา ยังคิดต่อได้อีก...ที่นั่นผู้เรียนร้อยกว่าคนสะดวกดี  แล้วถ้าหากผู้เรียนมีมากกว่านี้ทำอย่างไรดี   ให้ทั่วถึง  
ลองสมมติว่า ยึดหลักการผู้บริหารได้ตรวจงานผู้เรียนโดยตรงสม่ำเสมอ ก็อาจสามารถปฏิบัติได้ ตัวอย่างเช่น หมุนเวียนรายชั้นหรือรายช่วงชั้น ให้การบ้านวันเว้นวันหรือมากกว่านั้น ไม่เฉพาะภาษาไทยก็ได้ การตั้งโต๊ะส่งงานและตรวจ ไม่เจาะจงที่เดียวอาจวางไว้เป็นจุดๆ ทุกอาคารสะดวกแก่ผู้เรียน  ผู้บริหารเป็นผู้เดินไปที่กองงานการบ้านแถมยังมีโอกาสเดินดูบริบทของโรงเรียนอย่างหยาบๆ ทั่วๆ ไป มูลค่าที่ได้ยังมีอีกคือ ได้ใกล้ชิดได้ยินได้เห็นการจัดการเรียนการสอนของครู  
ช่างเยี่ยมยอดเสียนี่กระไร... จากการฝึกสมาธิเด็กโดยใช้สื่อด้วยคัดไทยแต่ผลที่ได้ช่างยิ่งใหญ่กว่าที่คิดตอนต้น เป็นการบูรณาการจากผู้บริหารถึงผู้เรียนโดยแท้
ขอขอบพระคุณผู้บริหารสถานศึกษาคนนั้น คุณอำพล  ผลประทีปสุริยา โรงเรียนแสนชื่นปานนุกูล อำเภอหนองเสือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 2 ทำให้เกิดความคิดดีๆ มาบอกต่อ...  

อ้างอิง : นายอำพล  ผลประทีปสุริยา.  โรงเรียนแสนชื่นปานนุกูล.  อำเภอหนองเสือ  จังหวัดปทุมธานี : 2550

หมายเลขบันทึก: 84228เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2007 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เคยได้รับฟังเรื่องราวเช่นนี้จากคนคุ้นเคยคนหนึ่งและเคยพูดคุยเล่นๆว่าถ้าผู้เป็นบริหารจะคนนั้นไปตรวจงานเด็กที่อาคารต่างๆของโรงเรียนก็น่าจะดี เพราะได้เห็นบริบทส่วนอื่นไปด้วย  แปลกจังนะทำไมคิดตรงกัน

ขอตัวอย่างการเขียน ก- ฮ หัวกลมหน่อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท