ส่วนหนึ่งจากหนังสือแจกในงานมหกรรมฯ


ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คุกทางสังคม
 ส่วนหนึ่งจากหนังสือแจกในงานมหกรรมฯ         
    การจัดการความรู้ : กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์

 

สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข

ประเวศ วะสี

 

        
2
คุกทางสังคม
            การถูกจับกุม การถูกคุมขัง การถูกบังคับ การถูกจับเป็นเชลย ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์อย่างยิ่ง เพราะการถูกจำกัดพื้นที่ทั้งทางกาย ทางสังคม และทางปัญญา หรือการไร้เสรีภาพ การไร้เสรีภาพทำให้จำกัดศักยภาพ เป็นไปได้หรือไม่ว่าสังคมปัจจุบันได้เกิดมี “โครงสร้างที่มองไม่เห็น” ที่ทำให้คนไร้เสรีภาพและศักยภาพ ทำให้ไม่มีความสุข เปรียบเสมือน “คุกทางสังคม” ที่กักขังผู้คนไว้ เราลองค่อยๆ มองให้เห็นคุกทางสังคมที่จองจำคนสมัยใหม่ไว้
          สัตว์ เช่น แพะ แกะ หรือวัว ต้องกินหญ้าเหมือนๆ กันทุกวัน คนสมัยแรกๆ ก็ต้องหากินเหมือนๆ กันทุกคน แต่ต่อมาคนมีความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น จึงเกิดประกอบการงานจำเพาะอย่างต่างกัน ทำให้ต้องเอาของมาแลกกัน ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นอาชีพค้าขาย คนบางจำพวกถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นผู้ปกครอง ระบบการปกครองวิวัฒนาการจากระบบหัวหน้ากลุ่มหรือเผ่ามาเป็นระบบกษัตริย์ ระบบการปกครองเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการบริหารการอยู่ร่วมกัน และการรวมตัวต่อสู้ศัตรู
          เมื่อมีการปกครองก็มีผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจกับผู้ถูกปกครองหรือผู้ไม่มีอำนาจ เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจขึ้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจวิวัฒนาการจากง่ายๆ เช่น ระหว่างหัวหน้าเผ่ากับสมาชิกเผ่า ไปเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อนกว้างขวางขึ้น อาจแบ่งอำนาจเป็น ๓ อย่าง คือ (๑) อำนาจรัฐ (๒) อำนาจเงิน (๓) อำนาจความรู้ อำนาจรัฐคืออำนาจของการใช้พลกำลังบังคับให้คนอื่นทำตาม คือมีกำลังตำรวจและทหารอยู่ในมือ สังคมก่อนรู้จักระบบเงินกับหลังมีระบบเงินแตกต่างกันมาก ก่อนมีระบบเงินมนุษย์แตกต่างกันได้ไม่มาก แต่เมื่อระบบเงินพัฒนาวิจิตรขึ้น ความแตกต่างระหว่างคนก็แตกต่างกันอย่างสุดๆ เพราะเงินเป็นสมมติที่แปลก เพราะสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นจะเติมเลขศูนย์หลังตัวเลขไปได้เรื่อยๆ เช่น ๑๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐... เงินจึงนำมาซึ่งความโลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความโลภนี้จึงดึงเอาอำนาจรัฐและอำนาจความรู้ไปรับใช้
          ความรู้แต่แรกเกิดที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์นั้น เป็นความรู้เพื่อชีวิตและการอยู่ร่วมกัน เช่นอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ จะทำมาหากินอย่างไร จะอยู่อย่างไร จะอยู่ร่วมกันอย่างไร เกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนาขึ้น ความรู้เหล่านี้กับชีวิตและวิถีชีวิตบูรณาการอยู่ด้วยกัน บางทีเรียกว่า ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
            แต่อำนาจและเงินต้องการความรู้อีกอย่างหนึ่ง
          คือต้องการความรู้ไปเป็นอำนาจและเงิน ตัวอย่างที่เด่นชัดก็เช่นเมื่อวิทยาศาสตร์แรกเกิดในยุโรปได้ถูกนำไปใช้สร้างอาวุธที่มีอำนาจอย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล แล้วใช้อำนาจการยิงอันมหึมาแย่งชิงจากคนพื้นเมืองจากทุกทวีป การแย่งชิงด้วยอำนาจไปกำหนดทิศทางการสร้างความรู้ คือหันมาสร้างความรู้เพื่ออำนาจ ทอดทิ้งความรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน
            อำนาจ – เงิน – การวิจัยสร้างความรู้ใหม่  กลายเป็นจักรกลขนาดใหญ่ที่มีอำนาจบังคับมนุษย์ให้ต้องหมุนเร็วขึ้นๆ หยุดไม่ได้ มีผู้เปรียบเทียบว่าเหมือนสุนัขที่หลุดไปวิ่งบนทางด่วน แล้วหาทางลงไม่ได้ มันจะต้องถูกรถที่วิ่งเร็วทับตาย หรือมันต้องวิ่งเหนื่อยจนตัวตาย บริษัทคอมพิวเตอร์จะคิดเครื่องที่คิดได้เร็วขึ้นๆ คนทั้งโลกก็ต้องไปซื้อ ถ้าไม่ซื้อก็กลัวแข่งขันสู้คนอื่นไม่ได้ จึงต้องทั้งเสียเงิน และเงินที่เสียก็มาบีบบังคับให้ต้องทำงานเร็วขึ้นๆ โลกที่หมุนเร็วขึ้นๆ อย่างนี้ ประสาทของมนุษย์ทนไม่ไหว แม้แต่ประธานธนาคารแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงก็ยอมรับว่าพวกเขาทุกคนเครียดมาก ไม่มีเวลาจะคิดไปช่วยใครเพราะถ้าพลาดจะล้มและตาย จะเห็นได้ว่าการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้งเป็นโครงสร้างใหญ่และหนักที่กดทับและบีบคั้นคนทั้งโลกอย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้
          นอกจากนั้นองค์กรต่างๆ ในสังคมล้วนมีความบีบคั้นในตัวเองเพราะมีความสัมพันธ์ทางดิ่งในทุกองค์กรทางสังคม คือ องค์กรทางการเมือง องค์กรทางราชการ องค์กรทางการศึกษา องค์กรทางธุรกิจ และองค์กรทางศาสนา องค์กรทางดิ่งหมายถึงองค์กรที่สัมพันธ์กันด้วยอำนาจระหว่างคนข้างบนกับคนข้างล่าง เน้นการใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และการสั่งการจากบนลงล่างในองค์กรชนิดนี้ การเรียนรู้จะมีน้อยเพราะคนมีอำนาจก็ใช้การ “สั่งการ” มากกว่าการใช้ความรู้และการเรียนรู้ และต้องการให้คนไม่มีอำนาจ “ทำตาม” มากกว่าการเรียนรู้ คิดเอง ตัดสินใจเอง โครงสร้างทางดิ่งจึงเป็นโครงสร้างที่บีบคั้น ไม่ได้ให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทุกคน คนที่อยู่ในองค์กรเช่นนี้จึงไม่มีความสุข ไม่รักกัน ขัดแย้ง และมีพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่น เกงาน นินทาว่าร้าย ออกใบปลิวโจมตีกัน วิ่งเต้นเส้นสายเข้าหาเจ้านายเพื่อแสวงหาอำนาจอิทธิพลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว มีคอร์รัปชั่นสูงได้ทุกรูปแบบ
          เพราะพฤติกรรมองค์กรในทางลบดังกล่าว ซึ่งรวมถึงมีการเรียนรู้น้อยด้วย
          องค์กรชนิดนี้จะทำงานให้สำเร็จได้ยาก ขาดความสำเร็จที่แท้จริงในการทำงาน อันนำไปสู่พฤติกรรมไม่ดีอื่นๆ ต่อไปอีก เช่น ไม่กล้าเปิดเผยความจริง ทำอะไรเป็นความลับ อยู่ในที่มืด ไม่โปร่งใส ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพพจน์
          ในวัฒนธรรมอำนาจ สถาบันต่างๆ จะดูถูกชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นคนต่ำต้อยไม่มีเกียรติ ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน ไม่มี “ความรู้” จะทำอะไรก็ไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดหรือผลประโยชน์ของชาวบ้าน เพราะเหตุนี้จึงสร้างความไม่เป็นธรรมต่างๆ นานาขึ้น แก้ความยากจนไม่ได้ ความยากจนเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางสังคม แต่คนมีอำนาจจะคิดว่าเป็นเพราะความผิดของคนจน
          ทั้งหมดเป็น “โครงสร้าง” ทางความคิดและโครงสร้างทางสังคมที่บีบคั้นซึ่งกันและกันทั้งสังคม ทุกคนเหมือนติดคุกทางสังคม ไม่มีเสรีภาพและศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ แทนที่ทุกคนจะมีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติ มีศักยภาพ รักและเมตตากัน เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ซึ่งจะยังให้เกิดความสุขความสร้างสรรค์ ในสังคมปัจจุบันที่มีเป็น “โครงสร้าง” อำนาจ จึงแก้ปัญหายากๆ ไม่ได้ เช่น ความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งและความรุนแรง สังคมจึงไร้ศีลธรรม ระส่ำระสาย และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหยุดยั้งไม่ได้ คนที่อยากทำให้ดีขึ้นก็รู้สึกไม่มีอำนาจ ไม่มีความหวัง เพราะ “โครงสร้าง” ที่บีบคั้นทุกคนมันใหญ่โตและหนักเหลือกำลังยก จนรู้สึกว่าไม่สามารถจะทำอะไรได้
          เราควรจะทำความเข้าใจความทุกข์เชิงโครงสร้าง เข้าใจสาเหตุและเข้าใจทางออก
         

“” () () () “” “” “” “” “” “”          
คำสำคัญ (Tags): #km#กับ#อิสรภาพ
หมายเลขบันทึก: 8422เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท