เรื่องของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง : วงจรชีวิตคนไร้ที่พึ่ง (1)


ระหว่างที่ห่างหายไปมีอีเมลจากผองเพื่อนสอบถามเรื่องราวต่างๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งในจำนวนนั้นมีอีเมล 3 ฉบับ เสนอว่าอยากให้เล่าเรื่องราวเบื้องต้นที่เป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เรื่องราวของคนเร่ร่อน ขอทาน ทั้งภายในและภายนอกสถานสงเคราะห์ลงไว้ในบล็อกบ้าง เพื่อจะได้ปูพื้นทำความเข้าใจ... แต่ชีวิตระหว่างนี้ของผมค่อนข้างยุ่งเหยิงเอาการ เลยขออนุญาตตัด (ในบางส่วน) ต่อ (ขยายเพิ่มเติมในบางส่วน) จากเนื้อหาที่คณะทำงานจัดทำมาตรฐานการจัดบริการสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง สำนักบริการสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดบริการจากสถานแรกรับฯและสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง เป็นตอนๆ ไป

ตอนที่ 1  วงจรชีวิตคนไร้ที่พึ่ง

ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันคนไร้ที่พึ่งออกจากบ้านและครอบครัว

สภาพครอบครัวไทยในปัจจุบัน ขนาดครอบครัวเล็กลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบาง การหย่าร้างสูง ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบให้ครอบครัวยากจน หนี้สินมาก ต้องไปประกอบอาชีพไกลจากภูมิลำเนาเดิม ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้อยู่รอด จนสภาพครอบครัวอยู่ในภาวะอ่อนแอ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวขาดพลังเพียงพอที่จะรับภาระในการดูแล สมาชิกในครอบครัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการทางจิต ซึ่งไม่สามารถจะเป็นกำลังการผลิตของครอบครัว แต่กลายเป็นภาระของครอบครัว จนกลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้ง ไร้ผู้อุปการะ ปล่อยให้อยู่คนเดียว ไม่มีการดูแล ควบคุมพฤติกรรม ซึ่งบางครั้งอาจทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายผู้คน หรืออาจหนีหายออกจากบ้าน จนในที่สุดจึงเข้ามาสู่ความรับผิดชอบของรัฐ คือ สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งและนับวันจะมีจำนวนมากขึ้น

โดยทั่วไป  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  จำแนกผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

1. คนเร่ร่อน   ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง
2. คนไร้ที่พึ่ง  คนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
3. คนขอทาน  ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำส่ง  เนื่องจากกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484

ซึ่งการเก็บข้อมูลเบื้องต้นจากสถานสงเคราะห์และสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง  พบว่ากลุ่มผู้รับบริการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
กลุ่มที่ 1  ผู้พิการทางจิต
   ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ มีญาติหรือผู้ปกครองแต่ไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูที่บ้านได้   กับไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู  
กลุ่มที่ 2  คนขอทาน  แบ่งเป็น 1) คนขอทาน เร่ร่อน พิการร่างกาย สติปัญญาล่าช้า ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู   และ 2) คนขอทาน ทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่ขอทานเป็นอาชีพ



คนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง จำนวนไม่น้อยพักพิงใต้ร่มกาสาวพัสต์ และก็มีไม่น้อยทีเดียวที่พระในวัดนั่นเอง กลับต้องกลายเป็นพระเร่ร่อน เพราะเหตุแห่งการอาพาธด้วยโรคทางจิต


กลุ่มที่ 1  ผู้พิการทางจิต

เป็นกลุ่มใหญ่ ร้อยละ 70-80 ของผู้รับบริการทั้งหมดในสถานสงเคราะห์มาจากกลุ่มผู้มีอาการเจ็บป่วยทางจิต ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล เข้าออกระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลมาระยะหนึ่ง  จนญาติ ผู้ปกครองเอือมระอา ไม่สามารถให้ยาหรือปรับพฤติกรรมผู้ป่วยได้  บางครั้งผู้ปกครอง ญาติถูกทำร้าย หรือทำลายทรัพย์สิน จนเกิดความกลัวจึงต้องนำส่ง   ผู้ป่วยทางจิตบางส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้นำส่ง ตามที่มีผู้พบเห็นในสถานที่สาธารณะ หรือแหล่งชุมชนต่างๆ  ซึ่งอาจจะทำให้คนทั่วไป  หวาดกลัว  หรือเกรงว่าจะถูกผู้อื่นทำร้ายผู้ป่วย และโรงพยาบาลจิตเวชนำส่ง สาเหตุส่วนใหญ่ของความพิการทางจิตมาจาก
- การใช้ยาเสพติดต่อเนื่อง จนสมองถูกทำลาย
- พิษสุราเรื้อรัง 
- ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง จากอุบัติเหตุ จากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จนกลายเป็นโรคจิต

อาการส่วนใหญ่ มีลักษณะ ซึมเศร้า เหม่อลอย  ย้ำคิดย้ำทำ บางครั้งก้าวร้าว  อาจจะทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่น นอนไม่หลับ  เดินไปมาแบบไม่มีจุดมุ่งหมาย

กลุ่มผู้มีอาการทางจิต ส่วนหนึ่งไม่มีผู้ดูแลในบ้าน บางชุมชน ขาดองค์กรหรือหน่วยงานที่จะรองรับในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. สอ. โรงเรียน วัด ญาติหรือผู้นำชุมชนจึงนำส่งโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อรับการบำบัดรักษา ซึ่งจะมีการเข้า–ออกโรงพยาบาล เป็นระยะๆ จนสิ้นสุดการรักษาในโรงพยาบาล  กลายเป็นผู้พิการทางจิตที่มาอยู่ในสถานสงเคราะห์ 

คนพิการส่วนหนึ่งสามารถที่จะควบคุมอาการได้ ดำเนินชีวิตประจำวันได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง  และไปรับการตรวจประเมินจากแพทย์เป็นระยะๆ  ซึ่งในบางครอบครัวไม่สามารถจะรับภาระได้ จึงทอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวช  และเมื่อโรงพยาบาลจำเป็นต้องรับผู้ป่วยรายใหม่ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องจำหน่ายผู้ป่วยรายเก่า จัดส่งคนพิการทางจิตให้อยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งต่อไป 

ในบางครอบครัวสามารถรับกลับไปอยู่บ้านระยะหนึ่ง แต่ด้วยวิธีการดูแลแบบเดิมๆ จึงไม่สามารถขจัดสิ่งเร้าที่มากระตุ้นคนพิการได้ ทำให้ไม่สามารถดูแลคนพิการในครอบครัว  ครอบครัวจึงจำเป็นต้องนำส่งสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งโดยตรง หรือผ่านจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด  หรือใช้กลไกพิเศษเพื่อให้สถานสงเคราะห์ลัดคิวรับผู้ป่วยทางจิตเข้าสู่สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง  ซึ่งขณะนี้รายชื่อผู้ที่รอเข้าสถานสงเคราะห์มีจำนวนมาก จนเกินขีดความสามารถที่สถานสงเคราะห์จะรับได้

 
โครงการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิโอกาสในการดำเนินชีวิต โดยการออกสำรวจและให้การช่วยเหลือคนเร่ร่อนขอทานในทุกภูมิภาค ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการต่อเนื่องทุกเดือนตลอดปีงบประมาณ 2550 เจ้าหน้าที่ของผมถูกคนเร่ร่อน ขอทานเอาค้อนปาหัวโน และแตกกันไปบ้างแล้ว (ฮา)



กลุ่มที่ 2  คนขอทาน

กลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณร้อยละ 20 ของผู้รับบริการทั้งหมด แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่

1) กลุ่มคนขอทานที่เป็นคนพิการ เร่ร่อน
ประมาณร้อยละ 5 ของผู้รับบริการทั้งหมด

สาเหตุมาจากความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของตนเองและครอบครัวหรือมีคนชักชวนมา โดยจะมีคนดูแล เช่น รับ–ส่ง ตามจุดที่นั่งขอทานกับที่พัก ซึ่งส่วนใหญ่ขอทานจะมีที่พักเป็นห้องเช่าราคาถูก หรือรวมกันเช่าในเมืองใหญ่ จะมีโปรแกรมการเดินทางไปขอทานตามงานประจำปีในจังหวัดต่างๆ ซึ่งสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ

2) กลุ่มคนขอทานเป็นอาชีพ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว เป็นกลุ่มที่มีอยู่ในสถานสงเคราะห์ประมาณร้อยละ 15 ของผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์  

สาเหตุการประกอบอาชีพขอทานเนื่องจากปัญหาความยากจน หลายคนมีรายได้ดีมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ  รูปแบบของการขอทาน จะมีแบบ "ขอทานอิสระ" และ "ขอทานเป็นกลุ่ม" เป็นเครือข่าย มีการจัดการเป็นระบบพอสมควร บางคนมีการแกล้ง อำพรางว่าเป็นผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บ เป็นแผล เพื่อเรียกความสงสารจากสังคม
ตามนโยบายของจังหวัด หรือนโยบายของกรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือเจ้าหน้าที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งหรือสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง (ในกรณีที่มีอยู่ในจังหวัดนั้น) จะออกจับกุม กวาดล้างเดือนละ 2 ครั้ง

เมื่อจับกุมแล้วจะคัดแยก กลุ่มขอทานต่างด้าวไปไว้ที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอการส่งกลับ หากเป็นคนไทยจะส่งให้สถานแรกรับฯ หรือสถานสงเคราะห์ฯ ตามประเภทของแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะรับไว้และให้อยู่ประมาณ  1-3 เดือน จึงจะอนุญาตให้ญาติรับกลับ ไม่อนุญาตให้ออกไปเอง 


จะแขนหัก ขาหัก ป่วยเป็นวัณโรค โรคจิตประสาท แม้กระทั่งจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน ครั้งสุดท้ายที่ได้อาบน้ำ ฯลฯ เรา (สถานสงเคราะห์+โรงพยาบาล+ตำรวจ+ชุมชนโดยรอบ) ก็ต้องรับและให้การอุปการะ ฟื้นฟูสภาพกันต่อไป - -


ในหลายสถานสงเคราะห์ ขอทานที่เป็นคนไทย จะโทรศัพท์ติดต่อญาติ  ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน ให้รีบมารับรองตนและนำพาตนเองออกสถานสงเคราะห์โดยเร็ว เพื่อเป็นอิสระออกไปขอทานดั่งเดิม กรณีที่มีการกวาดล้างในกรุงเทพมหานคร  และปริมณฑล  จะนำส่งสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี  แต่ถ้าเป็นเมืองใหญ่  เช่น พัทยา  เชียงใหม่ จะมีขอทานต่างด้าวเป็นส่วนมาก  ซึ่งกลุ่มนี้จะเดินทางไปทุกภาคของประเทศไทย หากเป็นภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขาชนเผ่าต่างๆ หรือกลุ่มที่อยู่ตามชายแดน ขอทานต่างด้าวที่ออาศัยอยู่ในประเทศไทย บางคนอยู่นานจนมีลูกหลานเกิดในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานการเกิด ไม่ได้สัญชาติ ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่สามารถเข้าทำงานที่มีระบบสวัสดิการได้ จึงประกอบอาชีพขอทาน

หากเป็นคนเร่ร่อน ที่สติไม่สมประกอบ จะนำส่งโรงพยาบาลจิตเวชที่ใกล้ที่สุด ถ้าไม่มีจะส่งเข้าสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง หรือสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง เพื่อนำส่งโรงพยาบาลจิตเวช เมื่อรับการบำบัดรักษาแล้ว ติดตามญาติไม่ได้ ก็จะถูกส่งกลับไปอยู่สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งต่อไป 

ส่วนใหญ่ สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงพยาบาลจิตเวช และมีการส่งผู้พิการมาอย่างต่อเนื่อง  หากเป็นผู้พิการทางการเรียนรู้ มีสติปัญญาล่าช้า และมีอาการทางจิตร่วมด้วย มักเป็นกลุ่มที่ถูกส่งมาจากสถานสงเคราะห์คนพิการด้วยกัน เช่น บ้านบางปะกง บ้านการุณยเวศน์ จะนำส่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-10 คน เช่น กลุ่มอาการดาวน์ที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่มีผู้อุปการะดูแล  

 
อย่าได้บ่นให้ผมนักเลย ถ้าการสอบประวัติจะดำเนินไปด้วยความล่าช้า ก็เอากะพ่อสิ ไม่พอใจไม่พูด ไม่จา ไม่โต้ ไม่ตอบ ล้มตัวลงนอนหลับตาเสียเฉยๆ  เสียอย่างนั้น  กว่าเราจะหยอกล้อ กอดคอ จับมือ ถือแขนกันได้ ก็ใช้เวลาพอสมควรละ  ก็ประวัติส่วนตัวนี่เนอะ ใครเขาจะให้กันง่ายๆ ละ


ขั้นตอนการรับเข้า 
เมื่อจับกุมมาถึงสถานแรกรับหรือสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง จะให้อาบน้ำ เมื่อถึงตอนเช้า เจ้าหน้าที่จะตัดผม ถ้าเป็นผู้ชายจะโกนหนวดเคราให้ด้วย แล้วส่งไปอาคารแรกรับเพื่อรอแยกตามอาคารต่างๆ ซึ่งขั้นตอนนี้นักสังคมสงเคราะห์ต้องเกลี้ยกล่อมนานพอสมควรผู้รับจึงยินยอมปรับตัวเอง

เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการ มีการพูดคุยซักถามเพิ่มเติมเป็นข้อมูลรายบุคคล ถามชื่อ ที่อยู่ ภูมิลำเนา ตรวจเช็คร่างกายโดยละเอียด  และสำรวจทรัพย์สิน ถ้าวิธีการโต้ตอบไม่เป็นปกติแสดงว่ามีอาการทางจิต   ซึ่งต้องวางแนวทางในการฟื้นฟู แก้ไขต่อไป
หากเป็นคนไร้ที่พึ่งต่างด้าว จะดำเนินการขั้นตอนเพิ่มขึ้น

กลุ่มขอทานที่ไม่พิการจะอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และพยายามดิ้นรนออกจากสถานสงเคราะห์เพื่อไปประกอบอาชีพ  ดังนั้น สถิติจึงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ เช่น มีงานใหญ่ๆ หรือเทศกาล  เจ้าหน้าที่จะมีการกวาดล้างก่อนวันจัดงาน  เมื่อเสร็จงานเทศกาลต่างๆ  ก็จะอนุญาตให้ญาติรับกลับได้  กลุ่มนี้จึง เข้าๆ  ออกๆ สถานสงเคราะห์เป็นประจำ

หมายเลขบันทึก: 84056เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2007 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ดีใจครับ........

ที่กลับมาอีกครั้ง ผมจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้และกำลังใจครับ

 

เมื่อดูวัน-เวลาที่โพสต์แล้ว

แทบจะเรียกได้ว่าโดยทันทีเลยนะครับคุณเอก : จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ยังอบอุ่นอยู่เหมือนเดิม
ยังแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอยู่เหมือนเดิม

ขอบคุณครับ ขอบคุณ

ว่าแต่ว่าคุณเอก ได้รับอานิสงส์จากฝุ่นควัน หมอกควันกับเขาบ้างไหมละครับ ?

 

อยากทราบ ที่อยู่ของสถานสงเคราะห์ค่ะ เอาแบบสามารถส่งจดหมายได้เลยนะคะ

คุณ nann ครับ

ท่านสามารถติดต่อสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ทางจดหมายได้ที่

สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่
ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์
จังหวัดศรีสะเกษ ๓๓๑๔๐

โทรศัพท์/โทรสาร ๐๔๕-๖๓๐-๖๖๑

หรือเว็บไซต์ http://www.preuyaihome.com 

มีผู้ป่วยรายหนึ่งจะส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ฯนะค่ะยังหวั่นใจอยู่เลยค่ะว่าทางสถานสงเคราะห์ฯจะรับหรือเปล่าแต่ผู้ป่วยไม่มีญาติที่ไหนเลยค่ะใจดิฉันก็อยากให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัวแต่ครอบครัวย้ายไปทำงานที่กทม.กันหมดเลยล่ะค่ะ...ย้ายไป10ปีได้นะค่ะเดิมผู้ป่วยเป็นบุคคลเร่ร่อนนะค่ะ...ถ้ารับเราคงได้เจอกันนะคะ

อยากทราบว่า นายวรินทร์ แซ่ตั้ง ได้อยู่สถานสงเคราะห์คนไร่ญาติที่ 1 ไหมค่ะ

ศูนย์คนไร้ที่พึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะไม่มีการดูแล จนทำให้ผู้ป่วยตาย เป็นระบบราชการเกินไป

ผมป่วยเป็นเบาหวาน ถูกทาง รพ ใแถว สามเสนส่งไป ศูนย์คนไร้ที่พึ่งปากเกร็ด อยู่ ได้ 2 เดือน ก็ตาย เนื่องจากช็อกขาดน้ำตาล ไม่มีคนส่งโรงพยาบาล การทำงานล่าช้า เสาร์ อาทิตย์ ก็ห้ามเข้า  จึงอยากให้ปรับปรุงระบบการดูแลผู้ป่วยหน่อย

ขออนุญาตนำข้อมูลไปอ้างอิงในการทำดุษฏีนิพนธ์ค่ะ


คือเป็นคนพิการทางสมองอายุประมาณ37ปีอย่กให้มารับไปที่สถานสงเคราะห์เพราะทุกวันนี้คนที่อยู่บ้านติดกันเขาเดือดร้อนชอบก่อความวุ่นวายทำเสียวดัง..นิสัยก้าวร้าว..ญาติพี่น้องก้อทิ้งหมดย้ายไปอยู่ที่ต่างจังหวัด..ส่วนที่บ้านมีคุยยายคนนึงซึงป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้..วันดีคืนดีก้ออาระวาด..ปล่อยไว้กัวเป็นอัตราย.ขอความกรุณาช่วยมาดูหน่อยค่ะ..เดือดร้อนกันไปหมดข้างๆบ้านก้อเดือดร้อน..ขอความกรุณาช่วยเหลือด้วยนะค่ะ

สุชาติ กลั่นภูมีศรี

อยากรบกวนหาสถานที่ดูแลผู้ป้วยออทิสติกครับ บางวันมีอาการคลุ้มคลั่งอาลวาด ปล่อยให้อยู่กับปู่ที่แก่มากแล้วแถมมีโรคประจำตัวอีกกลัวทำร้ายปู่ ตอนนี้ผมต้องออกงานมาดูแล ทำให้ไม่มีรายได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท