เชื่อมกันได้...โยงกันเป็น


"ตีความ" ...."พูดต่อๆกัน"......และ..สรุปกันเอาเอง...

(40)

 

 

  การรู้เท่าทันการสื่อสาร : การเชื่อมโยงภาควิชาการ กับ ภาคปฏิบัติการ

ดิฉันสนใจเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร ตามบทบาทของครูสอนเด็กโต (หรือผู้สอนระดับอุดมศึกษา) ในมุมของการคิดหากลวิธีการสอนคนให้คิด การฝึกนิสัยคน การฝึกคนให้ทำงาน และการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารไปพร้อมๆกัน

อย่างไรก็ตาม ดิฉันได้พิจารณาตนเอง และมองเห็นข้อจำกัดของตนในการเป็นผ้สอน กล่าวคือการคิดไม่เป็นระบบ การมองไม่ครบมิติของการสอน การไม่สามารถพูดเชื่อมโยงวิชาการกับภาคปฏิบัติการ ให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ และการมีมุมมองที่ต่างออกไปบ้าง


คือดิฉันมิได้มองการสอนนิเทศศาสตร์ (หรือศาสตร์การสื่อสาร) เป็นวิชาเอกตามสื่อ เช่น เอกประชาสัมพันธ์ เอกโฆษณา เอกวิทยุโทรทัศน์ เอกวารสารศาสตร์ หรือเอกต่างๆเหล่านี้เพียงอย่างเดียว  

แต่ดิฉันมองว่าเราจำเป็นต้องสอน “นิเทศศาสตร์” (หรือศาสตร์การสื่อสาร)   ในฐานะที่เป็นความรู้เกี่ยวกับการสื่อสาร ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต

ดิฉันมักเพ่งไปที่อุปสรรคในการสื่อสาร การสื่อสารที่อาจทำให้เข้าใจผิดกัน เกิดความไม่เข้าใจกัน และมุ่งแก้ที่จุดสะดุดเล็กๆ อันอาจเกิดในกระบวนการสื่อสารเหล่านั้น ( ผู้ส่งสาร+ ผู้รับสาร + สาร+ สื่อ และช่องทางการสื่อสาร)

โดยมองเป็นปริบทเชิงวัฒนธรรม คือฟังดูออกจะหรูไปหน่อย แต่พูดง่ายๆคือมองว่า ใครสัมพันธ์กับใครในบทบาทใด ในปริบทแวดล้อมใด(ความสัมพันธ์+ พื้นที่+ เวลา) ความสัมพันธ์เหล่านั้น ทำให้เกิดการสื่อสารอย่างไร(ชุดใดบ้าง) และจะรู้เท่าทันการสื่อสารชุดนั้นๆได้อย่างไร โดยมองที่ผู้สื่อสาร (ทั้งบทบาทผู้ส่งและผู้รับ)

เช่น ถือเอาบทบาทผู้สื่อสารเป็นเกณฑ์ แยกเป็น การสื่อสารระหว่างเพื่อน การสื่อสารระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ การสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติ การสื่อสารของทีมงาน เป็นต้น

ถือเอาพื้นที่และกลุ่มกิจกรรมการสื่อสารเป็นหลัก เช่น การสื่อสารในชีวิตประจำวัน การสื่อสารในครอบครัว การสื่อสารในมหาวิทยาลัย การสื่อสารในชุมชน เป็นต้น

ถือเอาภาวะ(ความเป็นไป)ของการสื่อสารครั้งนั้นๆเป็นหลัก เช่น การสื่อสารในภาวะวิกฤต การสื่อสารในภาวะเสี่ยง การสื่อสารในภาวะโกลาหล (คือมีความไม่แน่นอนสูง) เป็นต้น

ดิฉันคิดว่าเมื่อเด็กๆต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น ต้องสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในฐานะใด หรือโดยสภาวะใดๆก็ตาม พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้และมีศักยภาพ (มีความสามารถ) ที่จะ “อ่าน” และ “ปรับ” การสื่อสาร

โดยคิดเป็นถ้อยคำให้จำง่ายขึ้นว่า

1. ปรับตัวให้ได้ ปรับใจให้ทัน (จะได้พ้นภาวะ Culture Shock เร็วๆ)

2. อ่านให้ออก บอกให้ได้ ใช้ให้เป็น

• แปลว่า อ่านคน อ่านพื้นที่ อ่านสถานการณ์ อ่านทุกอย่าง อย่างรวดเร็วและละเอียดลึกซึ้ง

• และสื่อสารอย่างฉลาด มองเห็นคุณค่าในตน และในบุคคลผู้อื่น เมื่อต้องทำงานร่วมกัน หรือมีชีวิตอยู่ร่วมกัน

• และที่สำคัญ ต้องเริ่มต้นทุกอย่างด้วยจิตใจเนื้อแท้ที่ดีงาม คิดอย่างเป็นกุศลอยู่เสมอ (คืออยากฝึกให้ครบทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม)

ในฐานะครูที่สอนการสื่อสาร ดิฉันถือเป็นความรับผิดชอบหลักที่จะฝึกลูกศิษย์ให้เป็น “มนุษย์ที่ดี มีการสื่อสารอันเป็นกุศล”

ทั้งหมดนี้ มีข้อตกลงเบื้องต้นอยู่ว่า ดิฉันได้คิดเอาตามปริบทแคบๆที่ตนมีประสบการณ์ตรงเท่านั้น และจำแนกประเภทไว้เพื่อให้ง่ายแก่การฝึกเด็ก ในปริบทจำเพาะ ของมหาวิทยาลัยที่ดิฉันทำงานอยู่เท่านั้น

เพื่อนเดินเฉียดมาดูพร้อมกับแซวว่าใจคอจะคิดอยู่ในวงกลมเล็กๆเท่านั้นหรือ


ดิฉันตอบไปว่า "อันว่าแม่ที่เลี้ยงลูกมากับมือนั้น ย่อมรู้ว่าเสียงกริยาท่าทางหรือเสียงร้องของลูกน้อยแต่ละแบบ ว่าหมายความว่ากระไร เปรียบเช่น คนทำงาน...ที่อยู่วงไหน ก็ย่อมเข้าใจ  "คนที่ทำงานอยู่วงนั้น”   เป็นอย่างดี จึงทำให้สามารถฝึกฝนร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ"  ไม่ใช่ฝึกเฉพาะนิสัยเด็ก ...แต่ฝึกนิสัยครูด้วย......อ่า...อ้าว..!

เพื่อนฟังไม่ทันจบก็รีบเดินหนีไป (อย่างรวดเร็ว)ทั้งๆที่ดิฉันพยายามจะอธิบายต่อดังนี้

เช่น หนึ่ง การสื่อสารในภาวะโกลาหล (คือมีความไม่แน่นอนสูง)
(ส่วนข้อสองสามสี่ที่จะตามมา เมื่อเพื่อนเดินหนีเอาดื้อๆอย่างนี้ ดิฉันก็เลยพิมพ์เก็บไว้ก่อน เอาไว้เวลาเหมาะๆค่อยแสดงปาฐกถาในวงพาพาย่าสลัดต่อไป)

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมต่อเนื่องติดกันสองสัปดาห์ และสัปดาห์ถัดไปจากสองสัปดาห์นั้น จะเป็นการสอบปลายภาค ในขณะที่อาจารย์ทุกคนต้องปฏิบัติงานด้วย ต้องนิเทศเด็กด้วย ต้องสอนให้ทันด้วย แถมยังต้องประชุมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกต่างหาก ข้างเด็กๆปีหนึ่งที่สอนก็ถูกเกณฑ์ เอ๊ย ถูกกำหนดให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆจำนวนมาก

เมื่อเด็กๆเห็นว่ามีกิจกรรมเยอะ ตลอดสัปดาห์ อาจารย์แจ้งว่าสัปดาห์นี้ไม่สอนเพราะมีกิจกรรม แต่ไม่ได้บอกว่าสัปดาห์ถัดไปจะงดสอนด้วยหรือไม่ (เพราะอาจารย์ยังไม่แน่ใจว่าจะถูกเรียกประชุมในระยะกระชั้นชิดหรือไม่)

เด็กบางคนก็ "ตีความ"  ว่า เนื่องจากมีกิจกรรมติดกันสองสัปดาห์ และดูอาจารย์ยุ่งๆเป็นอันมาก ดังนั้นอาจารย์ต้องไม่สอนทั้งสองสัปดาห์แหงๆ แล้วก็ "พูดต่อๆกัน" ว่าอาจารย์ไม่สอน แล้วก็ สรุปกันเอาเอง ว่า อาจารย์ไม่สอนแหงๆเลย

สัปดาห์ถัดมา เมื่ออาจารย์ไปถึงห้องสอนตามเวลาเรียนปกติ เพื่อสอนคาบสุดท้าย และบอกแนวข้อสอบอย่างดูดีมีระดับ ก่อนสอบไฟนอล ปรากฏว่าไม่มีนักศึกษาโผล่มาเรียนแม้แต่คนเดียว เป็นต้น

อาจารย์คือดิฉันก็บ่น คือไม่เชิงบ่นแต่ก็ทำนองว่าเปรยๆไปบ้างว่า ครูไม่ได้บอกว่า “ไม่เรียน” นะเนี่ย ทำไมเด็กๆไปตัดสินว่าไม่เรียน โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เด็กๆบอกว่า ก็คิดว่าอาจารย์คงไม่สอนอ่ะค่ะ

ดิฉันบอกว่า เด็กๆคิดเอง โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆน้อยๆเช่นนี้ เช่นนี้ ทำให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องที่เราไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้น ใช่หรือไม่ เธอก็ตอบอย่างเสียใจว่าใช่

ดิฉันบอกเด็กว่า อะแฮ่มดีมาก หัวไวดี เอ้า....ไหนใครก็ได้ ลองสมมุติตนเองเป็นนักศึกษาที่ฉลาด และรู้เท่าทันการสื่อสารในภาวะโกลาหล แล้วก็หาวิธีออกแบบการสื่อสารที่จะทำให้ครูกับนักศึกษาไม่ต้องเข้าใจผิดกันมาหน่อยซิคะ เอ้า...ช่วงโปรโมชั่นข้อละ 2 คะแนนขาดตัว

แล้วเธอก็ยกมือกันจ้าละหวั่น หมดชั่วโมงนั้นดิฉันก็ตั้งใจสรุปให้เธอฟังอย่างสั้น กระชับ เข้าประเด็นอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะเราต่างก็ได้รับผลกระทบจาก “การไม่รู้เท่าทันการสื่อสาร” ร่วมกัน

ผลสืบเนื่องต่อมาก็คือ ปีต่อๆมาเมื่อมีกิจกรรมโกลาหลเช่นนี้อีก เด็กๆกลุ่มนี้ก็จะส่งหัวหน้าห้อง (มาเป็นหน้าม้า) ถามดิฉันก่อนว่าคาบถัดไปจะเรียนไหม ถ้าไม่เรียนจะสั่งงานเพื่อนๆไหม ฯลฯ คือเธอได้เห็นผลกระทบสืบเนื่องของ “การไม่รู้เท่าทันการสื่อสาร ในภาวะโกลาหล” แล้ว และรู้จักวางแผนปรับกระบวนการในการสื่อสาร รู้จักจัดหน้าที่คน คิดวางแผนงาน และระมัดระวังผลกระทบสืบเนื่องได้อีกด้วย

เมื่อเธอเกิด “ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร” ในภาวะโกลาหลขึ้นมา เธอก็อ่านสถานการณ์ออกและ ปรับตัวได้ ทำให้ดิฉันไม่ต้องนั่งหวั่นใจว่าเด็กๆจะโดด...เอ่อ...จะมาเรียนหรือไม่อีกต่อไป.....

ดิฉันหวังเป็นว่า เด็กๆจะสามารถเชื่อมสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ได้ฝึกร่วมกันในวันนี้ เข้ากับสถานการณ์ชีวิตจริงๆได้ในวันหน้า เชื่อมโยงภาควิชาการ กับภาคปฏิบัติการได้ (สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ ถ่ายโอนประสบการณ์ได้)

..........ถ้าได้อย่างที่ฝันไว้นี้ ดิฉันคงดีใจมาก......

 

 ........................................................

 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)   ความเห็นเพิ่มเติมที่ 72  (13 ก.พ. 2550)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 82336เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท