สงครามรหัส


เรื่องราวแห่งองค์ความรู้ และการต่อสู้ในทางปํญญา เมื่อมนุษย์ห่ำหั่นด้วยปัญญา บนคำตอบของสงคราม

สงครามรหัส 

24 เมษายน 2549                

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลง รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการพิเศษขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล บทสัมภาษณ์ ศึกษาและวิจัยเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงถูกกองทัพแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้าโจมตี โดยตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพ และอำนาจการทำลายล้าง ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศแห่งนี้

นอกจากนั้นยังตั้งโจทย์ว่า ทำไมญี่ปุ่นจึงต้องโจมตีสหรัฐอเมริกา และคำตอบแห่งความสำเร็จที่สงครามครั้งนี้จบลง เป็นผลมาจากปฏิบัติการใดบ้าง                 ในการจัดทำข้อมูล ผ่านการรวบรวมและเรียบเรียง ยังมีปริศนาบางอย่างปรากฏขึ้น ผ่านการอ้างอิงที่น่าสนใจโดยในงานเขียนชิ้นเยี่ยมของซิลเวีย นาซาร์ ผู้เขียนสารคดีชีวประวัติของ จอห์น แนช นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เสนอคำตอบในเรื่องทฤษฏีแห่งเกม ด้วยกฏเกณฑ์แห่งการแข่งขันว่าผู้คนสามารถที่จะเป็นผู้ชนะได้เท่าเทียม โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้สูญเสียหรือพ่ายแพ้เท่านั้น

เรื่องราวของชายผู้หลงอยู่ในห้วงเวลา ที่ไม่สามารถสัมพันธ์กับผู้คนนานกว่า 20 ปี เนื้อหาของหนังสือชื่อ Beautiful Mind ได้บอกเล่าคำกล่าวว่า ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ ได้เรียบเรียงข้อสรุปของสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่าเป็นสงครามแห่งนักวิทยาศาสตร์ และสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าเป็นสงครามของนักคณิตศาสตร์                 

ภายในโลกแห่งองค์ความรู้ โลกวิทยาศาสตร์ได้เผยให้เห็นถึงความรุนแรงจากความคิดของมนุษย์ อาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย ที่ถูกใช้ในการห่ำหั่นท่ามกลางสมรภูมิแห่งความเจ็บปวดสูญเสีย ได้ทำให้โลกตระหนักถึงสัญญาณบางสิ่งบางอย่างที่เริ่มต้นขึ้น เมื่อแต่ละฝ่ายต่างตระหนักในศักยภาพอันยิ่งใหญ่ขององค์ความรู้ การถอยหลังกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น การเดินไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาและคิดนวัตกรรมแห่งสงคราม จึงกลายเป็นคำตอบอันจำเป็นลำดับแรก                

ความเข้าใจในเนื้อแท้แห่งความสำเร็จของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพียงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา หรือนำทฤษฏีทางฟิสิกส์มาประยุกต์จนเกิดเป็นระเบิดปรมาณู ที่มีผู้พยายามอธิบายว่า คือผลงานอันยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถยุติสงครามไว้ได้ แต่ในบรรดานักคิดทั้งหลายต่างยกย่องความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นจากปัญญาและการต่อสู้ทางปัญญาของมนุษย์ ภายใต้คำจำกัดความว่าสงครามแห่งรหัสข้อมูล ซึ่งสร้างขึ้นบนฐานตัวเลขและตรรกะทางคณิตศาสตร์

เมื่อมีปฏิบัติการทางทหารย่อมต้องมีการสั่งการ และมีคำสั่งปรากฏ ดังนั้นการโจมตีด้วยการล้วงความลับ ต่อสู้ด้วยการรับรู้ทั้งของเขาและของเรา จึงกลายเป็นความจำเป็น                

นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ ทั้งของออสเตรียฮังการี เยอรมัน และญี่ปุ่น ต่างคิดนวัตกรรมของการเข้ารหัส และถ่ายทอดคำสั่งโดยไม่สามารถถูกตรวจสอบ และดักฟังจากฝ่ายตรงข้าม หลายครั้งที่กลิ่นอายความสำเร็จปรากฏขึ้นเบื้องหน้ากองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไม่สามารถทำสิ่งใดได้นอกจากรับฟัง รหัสที่ไม่สามารถถอดได้

ภารกิจสำคัญเพื่อเรียนรู้ตรรกะและความเข้าใจในภาษาที่ถูกเข้ารหัส จึงกลายเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ และเมื่อสามารถถอดรหัสได้ ก็ยิ่งต้องมีการสร้างรหัสชุดใหม่ หรือพัฒนารหัสให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น                 

 คำตอบของการต่อสู้ เพื่อใช้ตรรกะเดียวกันในการถอดรหัส และไขปริศนาซึ่งซ่อนอยู่ในตัวเลขแต่ละฐาน คือเวทีสำหรับการต่อสู้ทางปัญญาอย่างแท้จริง เท่ากับที่นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ถูกระดมสมอง เพื่อคิดถึงวิธีการสู่ชัยชนะ ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ถูกใช้ไปเพื่อสร้างคำตอบและข้อสรุปทางปัญญาให้เกิดขึ้น

ด้วยเบื้องหลังการทำงานที่นอกเหนือจากความโหดร้ายของสมรภูมิ ที่มีเลือดเนื้อชีวิตและหัวใจอันเจ็บปวดของผู้คนเป็นเครื่องเดิมพัน ยังมีปัญญาของผู้คนในการยุทธครั้งนี้                

ขณะที่ผู้คนต่างบ่นถึงเรื่องราวอันร้อนระอุทางการเมือง จากความไม่ไว้วางใจอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนชนชั้นกลาง และคนในเมือง พากันตระหนักถึงหนี้สินอันพอกพูนขึ้น โดยคาดการณ์ว่าเม็ดเงินแห่งอนาคตเหล่านี้ จะเริ่มต้นสร้างปัญหาในไม่ช้า หากยังไม่สามารถแก้ไขทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้

ครั้งหนึ่งขณะนั่งพูดคุยกับเพื่อนในค่ำคืน มีคำถามของผมที่แทบจะไม่แตกต่างจากเพื่อน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาดังกล่าว แต่ผมกลับคิดว่า สิ่งที่เรามองข้ามคือเสียงสะท้อนจากความเชื่อมั่นของกลุ่มคนส่วนใหญ่ ในภาคชนบทและสังคมเกษตรกรรม ซึ่งยังเชื่อมั่นว่าเงินในกระเป๋าของเขา อันเกิดจากนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ จะยังคงดำรงอยู่เช่นนั้นไม่เสื่อมคลาย หากทักษิณยังคงเป็นรัฐบาล เพื่อผลักทิศทางนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวต่อไป                

 ผมคิดว่าแรงปะทะของการรับรู้ ทั้งในเชิงข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมั่น ระหว่างความหมายของชนชั้นกลางกับการรับรู้ของสังคมชนบท ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือความหมายของการเข้ารหัสที่รัฐบาลทักษิณได้ทำไว้กับสังคมไทย สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ในระยะสั้นหรือระยะยาวนั้นไม่มีใครรู้ ไม่มีใครจะสรุปได้เพราะอนาคตยังมาไม่ถึง แต่เราต่างต้องใช้ปัญญาในการคาดการณ์สถานการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ ว่าการก่อหนี้นั้น จำเป็นต้องก่อในรูปใดบ้าง หรือกระทั่งว่าเม็ดเงินเหล่านั้นจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ควรต้องปฏิบัติเช่นไร

แต่สำหรับสังคมชนบทที่เงินเข้ากระเป๋าด้วยความง่ายดาย ทำมาหากินได้คล่อง และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในส่วนท้ายสุดของสังคมนั้น อาการวิตกหรือความไม่เข้าใจ คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ                 สิ่งซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็คือช่องว่างของความเข้าใจในสังคม ล้วนเป็นผลจากการเข้ารหัสของภาคการเมืองเพื่อหวังชัยชนะแห่งอำนาจแทบทั้งสิ้น เพราะความเชื่อว่าการพูดให้เกิดความเข้าใจเพียงครึ่งเดียวไม่ใช่การโกหก หรือการพูดถึงผลด้านบวกเพียงด้านเดียวโดยไม่กล่าวถึงผลเสียที่จะตามมา ล้วนเป็นการเข้ารหัสทางสังคมและการเมืองอย่างชัดเจน

ภาคการเมืองที่ต่างเรียนรู้ชัยชนะ และความสำเร็จจากความเข้าใจอันคลุมเครือของสังคม ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวังวนดังกล่าวได้ แต่สิ่งเหล่านี้กลับต้องเป็นหน้าที่ของคนซึ่งตระหนักและเข้าใจ ว่าความจริงเพียงครึ่งเดียว คือสิ่งที่ควรได้รับการถอดรหัส  ได้รับการไขปริศนาอันถูกเข้ารหัส ไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามกับคนส่วนใหญ่ ว่าทำไมไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ จนถึงกล่าวว่า ทำไมต้องโง่                 

 เพราะสิ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็น ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมาก็คือ นวัตกรรมแห่งศาสตราวุธอันทรงประสิทธิภาพสูงสุดของมนุษย์ ก็คือปัญญาและองค์ความรู้

ดังนั้นกระบวนการเพื่อนำไปสู่ชัยชนะ ทั้งในมุมมองของผู้ที่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวไม่ถูกต้อง และผู้ที่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวถูกต้อง ก็คือการใช้ปัญญาความคิดเข้าห่ำหั่นกัน แทนที่จะเป็นการใช้กำลังเข้าทุบตี ด่าทอ ขับไล่ และแบ่งแยกผู้คนให้กลายเป็นมวลชนฝูงชนกลุ่มใหญ่ กระตุ้นให้พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ในทุกขณะ

เพราะเมื่อถึงวันนั้นที่ความรุนแรงประทุขึ้น ความเข้าใจว่าสังคมก็เป็นเพียงโลกจำลองของความโหดร้าย โดยไร้ซึ่งความดีงามในใจผู้คน ก็ดูจะเป็นความจริงซึ่งเด่นชัดที่ยากปฏิเสธ มากกว่าการนั่งถามหาความดีงามอันอ่อนโยน                

รัฐบาลทักษิณ อาจจะโดดเด่นในด้านนโยบายที่ฉับไว โดดเด่น และนำจุดเชื่อมโยงจากโลกของทุนนิยมระดับโลกประสานกับทุนนิยมไทย แต่สิ่งที่โดดเด่นยิ่งกว่า ก็คือ ความเข้าใจในการเล่นตามกฎตามเกมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยมุมมองภายใต้ทฤษฏีแห่งเกม การแข่งขันที่สุดท้ายต้องมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว

รัฐบาลทักษิณสามารถใช้ทุกช่องทางแห่งการเข้าสู่อำนาจ จัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง และจากการเลือกตั้งเพื่อจัดระบบอันเป็นปึกแผ่นของนักการเมือง และเมื่อครอบครองอำนาจได้ ก็จัดระบบอำนาจในทุกกลไกของอำนาจรัฐ จนกระทั่งในทุกกลไกของสังคม ที่อำนาจการเมืองและอำนาจบริหารจะก้าวล่วงไปได้ บางครั้งอาจคาบลูกคาบดอก บางครั้งอาจล้ำเส้นโดยตั้งใจ ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้คำกล่าว ที่ว่าอยู่ในกติกาแทบทั้งสิ้น เพราะเงื่อนไขอันไม่ระบุความผิด ได้ทำให้เส้นจริยธรรมลางเลือนไป                 

การตีความถึงความดีงาม ในแต่ละสถานการณ์ของสังคมการเมือง กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัฐบาลทักษิณ ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจหรือตั้งใจก็ตาม แต่ทั้งหมดสะท้อนความรุนแรงที่แฝงอยู่ในจุดที่ไม่สามารถถอยได้ นอกเหนือจากการเข้าสู่แก่นแกนของปัญหา เพื่อแก้ไขให้เกิดความเข้าใจแล้ว ไม่มีสิ่งใดจะกระทำได้มากกว่านี้

ท่ามกลางสังคมที่แวดล้อมด้วยกลุ่มคนมากมาย หลากหลายทั้งการรับรู้ และความเข้าใจ สิ่งที่ควรจะบังเกิดได้คือการแลกเปลี่ยน เพื่อลดช่องว่างเหล่านี้  จนบ่อยครั้งการพูดถึงความจริงเพียงคนละด้าน และความปรารถนาเพียงคนละฝ่าย ก็คือรูปแบบของการเล่นเกม ภายใต้หนึ่งในทฤษฏีแห่งเกม ที่มีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว แต่สิ่งที่เรารับรู้ จากนักคณิตศาสตร์เช่น จอห์น แนช ก็คือ ภายใต้ทฤษฎีแห่งเกม ยังมีเงื่อนไขที่สามารถเพิ่มเติมพื้นที่ให้แก่ผู้ชนะได้มากขึ้น มากกว่าคนเพียงคนเดียวที่จะเป็นผู้ชนะ บางครั้งโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะยังมีคำตอบให้เรามีพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันได้มากกว่านี้  

หมายเลขบันทึก: 82131เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 02:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท