โวยกปส.ตัดหน้าจัดเรตติ้ง นักวิชาการห่วง"ไฟไหม้ฟาง"


ผู้ผลิตรายการทีวีขานรับจัดเรตติ้ง ชี้ช่วยให้ทำงานสะดวก นักวิชาการห่วงไฟไหม้ฟางและไม่ต่างจากระบบเซ็นเซอร์เดิม แนะควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะอาจมีมุมมองต่างกัน
ผู้ผลิตรายการทีวีขานรับจัดเรตติ้ง ชี้ช่วยให้ทำงานสะดวก นักวิชาการห่วงไฟไหม้ฟางและไม่ต่างจากระบบเซ็นเซอร์เดิม แนะควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะอาจมีมุมมองต่างกัน ก.วัฒนธรรมโวยถูกกรมประชาสัมพันธ์ตัดหน้าจัดเรตติ้งทั้งที่เป็นความรับผิดชอบของ ก.วัฒนธรรม ที่ได้รับงบประมาณและเริ่มสำรวจความเห็นไปแล้ว

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี ทำการจัดระดับ (เรตติ้ง) รายการโทรทัศน์เพื่อแบ่งประเภทรายการที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับคือ "ด" หมายถึงรายการสำหรับเด็กอายุ 2-12 ปี "ท" รายการทั่วไปที่ชมได้ทุกเพศทุกวัย "น" รายการที่ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ และ "ฉ" รายการเฉพาะที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปนั้น ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์

ทั้งนี้ ในการจัดเรตติ้งนั้นแต่ละสถานีจะเป็นผู้จัดแบ่งเองตามหลักการที่กรมประชาสัมพันธ์มอบหมาย คือ ในการพิจารณาเพื่อจัดเรตติ้งนั้นจะดูจากทั้งภาพ เสียง และเนื้อหารายการ ดังนั้น ในรายการหรือละครที่แบ่งเป็นหลายช่วงหรือหลายตอนจึงอาจมีเรตติ้งที่แตกต่างกันได้ตามภาพ เสียง และเนื้อหาที่จะปรากฏในตอนนั้นๆ อย่างไรก็ตาม มีบางรายการที่ไม่ต้องจัดระดับคือ ข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน,รายการที่มีความยาวน้อยกว่า 15 นาที รวมถึงรายการถ่ายทอดสดบางประเภท เช่น พระราชพิธี งานประชุมทางวิชาการ การแสดงดนตรี และกีฬา เป็นต้น เนื่องจากเป็นรายการที่ออกอากาศพร้อมหรือเกือบพร้อมกับการถ่ายทอด

ส่วนรายการถ่ายทอดสดบางประเภทที่มีการวางแผนล่วงหน้าได้ เช่นการวิเคราะห์ สนทนาข่าว รายการเรียลิตี้ โชว์ จะต้องมีการจัดเรตติ้งตามปกติ ทั้งนี้ ประเด็นในการพิจารณาแบ่งเรตนั้นจะดูในเรื่องความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ เรื่องทางเพศ การโป๊ เปลือย การใช้ภาษา สิ่งเสพติดและของมึนเมา รวมถึงการต่อต้านหรือล่วงละเมิดบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเหล่านี้จะพิจารณาเจตนาของการนำเสนอประกอบด้วย

สำหรับระดับเรตติ้งซึ่งมี 4 ระดับนั้น ในส่วนของ "ด" ที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2-12 ปีนั้น ยังจะมีการแยกย่อยเป็น "ก" ซึ่งหมายถึงรายการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน คือ 2-6 ปี เช่นเดียวกับ "น" ที่แยกเป็น "น 13" ที่หมายถึงรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 13 ปี และ "น 18" รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 18 ปี

นายสยาม สังวริบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด ผู้ผลิตละครป้อนให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า การจัดเรตติ้งดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีต่อการทำงานในอนาต เพราะถ้าไม่มีการกำหนดชัดเจนอย่างที่เป็นมาผู้ผลิตก็ทำงานลำบาก การจัดเรตติ้งได้ประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย คือผู้ผลิตก็จะสบายใจสามารถทำงานได้แบบรู้แนวและทำงานได้เต็มที่ไปเลย คนดูก็จะได้มีสิทธิเลือกรายการที่จะชมได้ตามที่ชอบและเหมาะสม ส่วนหน่วยงานที่สร้างเรตติ้งนี้ขึ้นมาก็ได้ทำงานตามหน้าที่ที่เขารับผิดชอบ

ขณะที่ ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีซีน จำกัด ผู้ผลิตละครป้อนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่แน่ใจว่าจะบังคับใช้ได้ผลขนาดไหน เพราะเด็กๆ มีลักษณะแบบยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ จึงเกรงว่าอาจจะไม่ทำตามคำแนะนำของการจัดเรตติ้งรายการ

นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้ผลิตรายการ คุยแหกโค้ง เปิดเผยว่า ในมุมของผู้ผลิตรายการแล้วคงไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะว่าได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว แต่ตนยังสงสัยว่า ถ้าทำรายการอย่างรายการตอบปัญหาทางเพศ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เด็กควรรู้ แต่ก็เป็นรายการที่มีเนื้อหาทางเพศแล้วเด็กไม่ดู จะใช้เกณฑ์อย่างไร

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิชาการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดเรตติ้งเป็นเรื่องที่ดีและน่าจะมีการทำมานานแล้ว แต่ที่ห่วงคือจะทำกันอย่างจริงจังและทำไปได้นานขนาดไหน ขณะเดียวกันการจัดแบ่งครั้งนี้เป็นการจัดระดับก่อนออกอากาศโดยสถานีที่ถึงจะมีคู่มือกลางกำหนด แต่ก็ย่อมมีมุมมองในแง่ธุรกิจซึ่งมักจะมีความเห็นที่เหลื่อมกับภาคประชาชนที่เป็นเด็กและผู้ปกครองอยู่เสมอ อย่างเช่นละครโทรทัศน์สถานีอาจจะมองบางตอนเป็นรายการทั่วไป แต่ภาคประชาชนอาจจะพบว่ามีความรุนแรงต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่องก็ได้ นอกจากนี้ไม่รู้ว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดมีการเก็บข้อมูลและใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยาเข้ามาเป็นส่วนขนาดไหน อีกอย่างการใช้ระบบที่จำแนกเรตก่อนโดยสถานีก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งปกติผู้ผลิตรายการและสถานีก็มีอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าทิศทางเหมือนเดิมก็ไม่ต่างกันระหว่างแปะเรตติ้งหรือไม่แปะ ดังนั้น ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสะท้อนความเห็นด้วย

ด้าน น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมกำลังจะทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามถึงการจัดเรตติ้งที่กรมประชาสัมพันธ์กำลังทำอยู่ เพราะตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2548 ระบุให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ และกระทรวงได้ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งในส่วนของการเก็บข้อมูลทางวิชาการ และการสอบถามความเห็นประชาชนไปแล้ว โดยกรมประชาสัมพันธ์เองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ซึ่งหากกรมประชาสัมพันธ์คิดจะทำเรื่องนี้ก็น่าจะมีการประสานงานกันก่อน

"การไม่ประสานกันอาจจะเป็นเพราะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนใหม่ยังไม่ทราบเรื่องก็ขอให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยแจ้งให้ทราบด้วย" น.ส.ลัดดากล่าว
หมายเลขบันทึก: 82002เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท