ปลัด วธ.ยันจัดเรตติ้งไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกรมประชาฯ


นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดระดับความเหมาะสมของสื่อแต่ละประเภท กล่าวว่า ต้องการให้สัญลักษณ์ ด.เด็ก กรมประชาสัมพันธ์ขยับอายุเด็กจาก 2–5 ขวบ มาเป็น 3-5 ขวบ

กระทรวงวัฒนธรรม 4 ธ.ค.- ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมชี้จัดระบบเรตติ้งไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับกรมประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันเพื่อปกป้องไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ส่วนนักวิชาการเสนอให้สัญลักษณ์ ด.เด็ก ขยับอายุเด็กเป็น 3-5 ขวบ อ้างนักจิตวิทยาเห็นเหมาะสม ขณะที่ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯ เชิญชวนประชาชนเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดประชุมหารือการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ (เรตติ้ง) ของเครือข่ายเฝ้าระวังวัฒนธรรม คณะทำงานภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย และผู้ผลิตสื่อราย การโทรทัศน์ โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมกล่าวว่า การจัดระบบเรตติ้งของ วธ. คงไม่ทำงานซ้ำซ้อนของกรมประชาสัมพันธ์อย่างแน่นอน แต่จะเป็นการผนึกกำลังร่วมกัน เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 20 ล้านคน ที่เป็นเป้าหมายของผู้ผลิตรายการ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทางบริโภค และต้องการให้ได้รับชมสื่อที่มีคุณภาพ ให้ความรู้ พัฒนาสติปัญญาของเด็กให้ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุก ๆ ด้านอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของชาติ

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดระดับความเหมาะสมของสื่อแต่ละประเภท กล่าวว่า ต้องการให้สัญลักษณ์ ด.เด็ก กรมประชาสัมพันธ์ขยับอายุเด็กจาก 2–5 ขวบ มาเป็น 3-5 ขวบ ซึ่งนักจิตวิทยา นักวิชาการศึกษา เห็นว่าความเหมาะสมตามหลักวิชาการแล้วเด็กควรจะดูสื่อได้นั้นตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป โดยขณะนี้กรมประชามสัมพันธ์ได้เริ่มใช้ตัวอักษรแนะนำ ด.(เด็ก) ท.(ทั่วไป) ฉ.(เฉพาะ) น.(แนะนำ) แต่ไม่ได้จัดช่วงเวลาของเวลาต่าง ๆ ยังพบว่ารายการขึ้น ท.(ทั่วไป) นำเสนอภาษา เพศ ความรุนแรงเจือปนอยู่ในรายการ ซึ่งควรจะใช้รหัส น.(แนะนำ) มากกว่า ท. ซึ่งประชาชนติดตามดูแจ้งให้ทราบ ซึ่งจะประมวลเรื่องทั้งหมดส่งมาที่ วธ. เพื่อประสานงานกรมประชาสัมพันธ์รับทราบ และจะประสานงานความร่วมมือระหว่างปลัด วธ. ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมพูดถึงทั้งภาพการแสดงมิวสิควิดิโอและการแสดงของสาวโคโยตี้ในห้างสรรพสินค้าที่ไม่เหมาะสม ตรงนี้ศูนย์เฝ้าระวังฯ จะทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และแจ้งไปยังห้างดังกล่าวให้รับทราบอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นเวลานี้อยากให้ทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกที่ดี ไม่ควรกระทำขัดศีลธรรมอันดี และขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสให้ วธ. รับทราบเพื่อแก้ไขปัญหาให้น้อยลง และเร็ว ๆ นี้ วธ. จะเชิญผู้บริหารสื่อที่ดีและไม่ดีมาทำความเข้าใจร่วมกันในการนำเสนอภาพสู่สาธารณะ.- สำนักข่าวไทย

หมายเลขบันทึก: 82001เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท